สอนอาชีพในมัธยมแก้เด็กออกกลางคัน
 


สอนอาชีพในมัธยมแก้เด็กออกกลางคัน


สอนอาชีพในมัธยมแก้เด็กออกกลางคัน
วันนี้(15ก.ค.) ที่โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส กรุงเทพฯ มีการประชุมเสวนาวิชาการนานาชาติด้านการศึกษาครั้งที่ 4 ในหัวข้อ " Career Academies ระบบเตรียมความพร้อมด้านอาชีพในระบบโรงเรียนสายสามัญ” จัดโดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) ซึ่งนายทอม คอร์คอแรน ผู้อำนวยการร่วมสถาบันวิจัยนโยบายการศึกษา มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ในสหรัฐอเมริกาก็เคยมีปัญหาคล้ายกับประเทศไทยที่มีปัญหาเด็กลาออกกลางคัน ไม่จบม.ปลายจำนวนมาก ทำให้ต้องเข้าสู่การทำงานโดยไม่มีความพร้อม ในขณะที่เด็กจำนวนมากก็ไม่อยากเรียนสายอาชีพ เพราะคิดว่าจะทำให้เสียโอกาสในการเข้ามหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ จึงเกิดแนวคิดจัด Career Academies หรือโรงเรียนอาชีพขึ้นในโรงเรียนมัธยมเมื่อ 30 ปีก่อน เพื่อดึงดูดนักเรียนให้ได้มีการเตรียมความพร้อมเข้าสู่อาชีพการทำงานในอนาคต โดยยังสามารถเรียนควบวิชาสามัญ และมีโอกาสเข้ามหาวิทยาลัยได้เหมือนเดิม
นายทอม กล่าวต่อไปว่า โรงเรียนอาชีพจะเป็นเพียงส่วนเล็กๆในโรงเรียนมัธยม หรือบางแห่งอาจแยกออกมาจัดต่างหาก โดยมีเด็กไม่มากแค่ 150-200 คน ซึ่งเจตนารมณ์สำคัญก็เพื่อดึงเด็กให้อยู่ในโรงเรียนไม่ให้ลาออกไป มีการบูรณาการผสมผสานวิชาชีพกับวิชาสามัญ นับหน่วยกิตร่วมกัน และเด็กได้มีโอกาสฝึกปฏิบัติเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ ซึ่งจะทำให้เด็กได้รู้จักตัวตนของตนเอง และมองเห็นเส้นทางชีวิตในอนาคตว่าอยากทำงานอะไร
“ ต้องย้ำว่าโรงเรียนอาชีพไม่ใช่การจัดอาชีวศึกษา แต่เป็นเพียงการเตรียมความพร้อม ซึ่งปัจจุบันต้องถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะสามารถลดอัตราการลาออกกลางคันได้มาก และที่สำคัญสังเกตุได้จากสถิติของเด็กที่จบจากโรงเรียนอาชีพที่เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยจะสามารถเรียนจบปริญญาตรีภายใน 4ปีได้ถึงร้อยละ 52 เปรียบเทียบกับเด็กที่จบสายสามัญตามปกติจะเรียนจบป.ตรี ภายใน 4ปีได้เพียงร้อยละ 32 เท่านั้น” นายทอม กล่าว
ด้านดร.เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ ที่ปรึกษาสสค.อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า เด็กที่ออกกลางคันส่วนใหญ่เป็นเพราะความยากจน จึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องปรับการจัดการเรียนการสอนระดับมัธยมให้เหมาะกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้ผู้เรียนมีความพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งความจริงแล้วกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ก็เคยทำอยู่ระยะหนึ่ง แต่อยู่ดีๆก็หายไป ซึ่งการนำแนวคิดโรงเรียนอาชีพมาปรับใช้อาจเริ่มโดยการนำร่องในโรงเรียนที่มีความพร้อมก่อน แล้วจึงขยายผลต่อไป



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.