ทปอ.มั่นใจทุกมหาวิทยาลัยมีระบบป้องกันแฮกข้อมูล
 


ทปอ.มั่นใจทุกมหาวิทยาลัยมีระบบป้องกันแฮกข้อมูล


ทปอ.มั่นใจทุกมหาวิทยาลัยมีระบบป้องกันแฮกข้อมูล
จากกรณีศูนย์ปราบปรามการปลอมวุฒิของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)จะนำกรณีตัวอย่างของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)ซึ่งถูกมิจฉาชีพแอบอ้างทำวุฒิปลอม มาศึกษาเป็นกรณีตัวอย่างเพื่อปราบปรามแก๊งมิจฉาชีพนั้น ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการมาแอบอ้างว่าสามารถทำวุฒิการศึกษาของของ มธ.ได้ ทางมธ.จึงแจ้งความดำเนินคดีเจ้าของเว็บไซด์ แต่ไม่สามารถตามจับได้ เพราะไหวตัวทัน และเรื่องนี้เคยมีการหารือใน ทปอ. เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานาน และทุกมหาวิทยาลัยก็ให้ความสำคัญที่จะช่วยกันตรวจสอบปราบปราม เช่น เมื่อมีการรับสมัครบุคลากร ซึ่งจะต้องนำปริญญาบัตรมาสมัคร แต่ละมหาวิทยาลัยก็จะตรวจสอบซึ่งกันและกัน ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยสกัดมิจฉาชีพได้ในระดับหนึ่ง ส่วนกรณีหน่วยราชการอื่น บริษัท ห้างร้าน ทุกมหาวิทยาลัยก็พยายามประชาสัมพันธ์ให้นำวุฒิมาให้ตรวจสอบ

"ผมสนับสนุนนโยบายของนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศึกษาธิการ ที่ให้ สกอ.ตั้งศูนย์ปราบปรามการปลอมวุฒิ เพราะแสดงถึงความจริงจังของภาครัฐที่จะปราบปรามการทุจริต แต่ปัญหาที่พบคือเมื่อปราบได้กลุ่มหนึ่งก็จะมีกลุ่มอื่นๆ โผล่ขึ้นมาอีก ต้องวิ่งไล่จับกันตลอด ตราบใดที่ยังมีกลุ่มคนที่พร้อมจะจ่ายเงินเพื่อใช้วุฒิปลอม โดยไม่ต้องเรียน แต่โอกาสที่กลุ่มมิจฉาชีพจะหลอกลวงคนจะน้อยลง เพราะมาตรการตรวจสอบของแต่ละมหาวิทยาลัยเข้มข้น และมีการเสนอข่าวเป็นระยะ ยกเว้นคนที่ขาดการศึกษาจะตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพ" ศ.ดร.สมคิด กล่าวและว่า ส่วนที่กลุ่มมิจฉาชีพโฆษณาชวนเชื่อว่า สามารถเจาะฐานข้อมูลสถาบันการศึกษา เพื่อเพิ่มชื่อให้กับผู้ซื้อวุฒิบัตรปลอมได้นั้น แต่ละมหาวิทยาลัยมีแนวทางป้องกัน สำหรับมธ. จะมีเจ้าหน้าที่ไม่น้อยกว่า 3 คน จัดทำฐานข้อมูล โดยข้อมูลของเจ้าหน้าที่ทั้ง 3 คนจะต้องตรงกันจึงจะเป็นข้อมูลที่ถูกต้องใช้ได้ ขณะเดียวกันทุกมหาวิทยาลัยก็มีระบบป้องกันการเจาะฐานข้อมูลของตนเองอยู่แล้ว  ซึ่งตนมั่นใจว่าขณะนี้ยังไม่มีใครสามารถปลอมแปลงวุฒิได้ถึงต้นขั้วอย่างแน่นอน

รศ. นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า การตรวจสอบการปลอมวุฒิการศึกษาเป็นเรื่องที่ยาก เพราะสกอ.ไม่มีข้อมูลของมหาวิทยาลัยทั้งหมด ดังนั้นวิธีการแก้ปัญหาเบื้องต้นหากต้องการรู้ว่าวุฒิการศึกษานั้นๆปลอมหรือไม่ จะต้องตรวจสอบรายชื่อมหาวิทยาลัยก่อนว่าได้รับการรับรองจากสกอ.หรือไม่ โดยเช็คข้อมูลได้ทั้งที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และสกอ.  หรือตรวจสอบที่ตัวสถาบันโดยตรง แต่ถ้าจะให้แน่ใจจริง ๆ ควรทดสอบความรู้ความสามารถของผู้สมัครก่อนรับเข้าทำงาน และหากใครมีเบาะแสข้อมูลของสถาบันที่จัดการศึกษาโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือมหาวิทยาลัยเถื่อน หรือสถาบันที่น่าสงสัยว่ามีการปลอมวุฒิการศึกษา สามารถแจ้งมาได้ที่ศูนย์ปราบปรามการปลอมวุฒิการศึกษาที่สกอ.

ด้านศ.(พิเศษ)ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา(มพ.) กล่าวว่า ในส่วนมพ.ยังไม่เคยได้ยินว่ามีการนำวุฒิการศึกษาปลอมมาสมัครเข้าเรียนหรือมีการอ้างว่าทำวุฒิปลอมของมพ.ได้ อาจเป็นเพราะมหาวิทยาลัยเพิ่งตั้งใหม่ อีกทั้งมีระบบการตรวจสอบวุฒิก่อนเข้าเรียนด้วย และที่สำคัญหากบุคคลใดนำวุฒิการศึกษาปลอมมาสมัครเข้าเรียนและถูกจับได้หรือจบการศึกษาไปแล้วก็จะถูกถอนปริญญาทันที อย่างไรก็ตามการที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ตั้งศูนย์การปราบปรามวุฒิปลอม ตนเห็นด้วย และยังเป็นการคุ้มครองนิสิตนักศึกษาไม่ให้ถูกมิจฉาชีพหลอกลวง แต่ทั้งนี้ตนเห็นว่าเราไม่ควรให้ความสำคัญกับปริญญามากนัก แต่ควรให้ความเอาจริงเอาจังว่ามีความรู้ความสามารถมากน้อยเพียงใด



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.