สอนนักเรียนทำวิจัยท้องถิ่น - เปิดทำเนียบ ครูดีครูเด่น
 


สอนนักเรียนทำวิจัยท้องถิ่น - เปิดทำเนียบ ครูดีครูเด่น


สอนนักเรียนทำวิจัยท้องถิ่น - เปิดทำเนียบ ครูดีครูเด่น
โรงเรียนธารทองวิทยา (ป่ารวก)  ตำบลธารทอง  อำเภอพาน  จังหวัดเชียงราย แม้ว่าตั้งอยู่ในชนบท แต่ในชุมชนก็ยังเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น การพังทลายของหน้าดินอย่างมากในฤดูฝน  การตัดไม้เพื่อมาทำฟืน การเผาป่า การเสื่อมของดินที่ใช้ในการเกษตร

ครูประคอง  กลิ่นจันทร์  ครูชำนาญการพิเศษ  ของโรงเรียนจึงได้ฝึกฝนให้นักเรียนเรียนรู้โดยการปฏิบัติการศึกษาสภาพจริงในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และได้เริ่มผลักดันให้นักเรียนทำผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบเมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ภายใต้โครงการ GLOBE (Global Learning and Observations to Benefit the Environment) ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) 

ซึ่งผลงานของนักเรียนที่ได้รับทุนวิจัยจาก สสวท. ตั้งแต่ปี 2549-2556 จำนวน  15 เรื่อง ล้วนแต่เป็นงานวิจัยที่ศึกษาสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติ  เช่น การวิเคราะห์ดิน พืชปกคลุมดิน การศึกษาคุณภาพแม่น้ำที่ได้รับผลกระทบจากการพังทลายของดิน เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืน

ครูประคองเล่าถึงแรงบันดาลใจว่า  ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์กับชีวิตมนุษย์อย่างแยกกันไม่ออก  การที่จะอนุรักษ์สิ่งมีค่าเหล่านี้ไว้ได้นั้น  เบื้องต้นเราต้องรู้จักและเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้คืออะไร  แต่ละสิ่งสำคัญอย่างไร  เกี่ยวข้องกันอย่างไร มีปัจจัยใดบ้างที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งเหล่านี้ และทำให้สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป   จึงจะทำให้เราสามารถดำเนินการอนุรักษ์หรือฟื้นฟูได้  ดังนั้นฐานความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติจึงจำเป็นสำหรับทุกคน  เมื่อมีความรู้ความเข้าใจ จึงจะเกิดความตระหนัก เกิดความสนใจที่จะอนุรักษ์  ซึ่งวิธีการที่จะทำให้การศึกษามีประสิทธิภาพคือการเรียนรู้และสัมผัสด้วยตนเอง จึงเกิดแนวคิดให้นักเรียนสืบค้นและเรียนรู้โดยการวิจัยสิ่งแวดล้อม โดยใช้แนวทางการสอนของ สสวท. ตามหลักสูตรเนื้อหาวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ  และได้ปรับเพิ่มเติมกระบวนการสอนให้เข้ากับท้องถิ่น นำทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติจริง โดยมีผู้อำนวยการโรงเรียนและคณะครูให้การสนับสนุนเรื่อยมา   ซึ่งการให้นักเรียนได้เรียนรู้ผ่านการทำวิจัย ทำให้ได้เรียนรู้จากธรรมชาตินอกห้องเรียน และยังสามารถนำกระบวนการและขั้นตอนการวิจัยไปใช้ในรายวิชาอื่น ๆ รวมถึงใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันได้อีกด้วย

“ในการทำวิจัยนักเรียนต้องศึกษาเพิ่มเติม ลงสถานที่จริงในช่วงวันหยุด อีกทั้งในการรวบรวมข้อมูล  การรายงาน นักเรียนยังได้ฝึกฝนทั้งการใช้ภาษา  คอมพิวเตอร์ คณิตศาสตร์ควบคู่กันไป ส่งผลให้นักเรียนมีทักษะทางวิทยาศาสตร์ดีขึ้น  ซึ่งครูอยากให้นักเรียนทุกคนคิดแบบนักวิทยาศาสตร์ มีกระบวนการทำงานที่ตั้งอยู่บนเหตุและผล  รู้จักคิดวิเคราะห์ ไม่เชื่องมงาย และเชื่อมั่นว่าหากทุกคนมีความคิดที่ดี มีแนวทางในการทำงานเป็นระบบ ก็จะสามารถพึ่งพาตนเองได้  จึงอยากให้ผู้ที่มีบทบาทในการศึกษาสนับสนุนงานวิจัยนักเรียน ซึ่งจริง ๆ แล้วนักเรียนสามารถทำงานวิจัยได้” ครูประคอง กล่าว

จากผลงานดังกล่าวทำให้ครูประคองได้รับรางวัลทั้งในระดับภูมิภาคและระดับชาติ อาทิ ครูแกนนำวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบดีเด่น จาก สสวท. ในปี 2551, รางวัลครูวิทยาศาสตร์ดีเด่น จากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย และรางวัลหนึ่งแสนครูดีของคุรุสภา ปีการศึกษา 2555.

สินีนาฎ ทาบึงกาฬ



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.