การเริ่มลงทุนของนักลงทุน Gen-Y :จีที เวลธ์ แมเนจเมนท์
 


การเริ่มลงทุนของนักลงทุน Gen-Y :จีที เวลธ์ แมเนจเมนท์


การเริ่มลงทุนของนักลงทุน Gen-Y :จีที เวลธ์ แมเนจเมนท์

การเริ่มลงทุนของนักลงทุน Gen-Y :จีที เวลธ์ แมเนจเมนท์


พัฒนาการของตลาดทุนไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมามีการก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ความหลากหลายของสินทรัพย์เพื่อการลงทุน ช่องทางในการลงทุนรวมถึงกลุ่มนักลงทุน ถ้าย้อนไปในช่วงแรกของการก่อรางสร้างตลาดทุนจะเห็นว่ากลุ่มนักลงทุนส่วน...ใหญ่จะเป็นวัยกลางคน หรือมือเก๋าในวงการธุรกิจแต่ในระยะหลังผมกลับพบว่ากลุ่มนักลงทุนกลับกลายเป็นหน้าใหม่วัยใสกันมากขึ้น สังเกตจากเวลาจัดงานสัมมนาหรือตามงานเพื่อการลงทุนจะพบว่าผู้เข้าร่วมจำนวนมากกลับกลายเป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งในเบื้องแรกก็รู้สึกดีใจที่สังคมไทยตื่นตัวเรื่องการออม เพราะในสมัยผมยังรุ่นเดียวกันนี้ก็จะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการหาวิธีในการใช้เงินแบบชิก ๆ เรื่องออมก็ saving เพียงอย่างเดียว น้อง ๆ สมัยนี้กลับสนใจที่จะให้เงินงอกเงย แต่ในความชื่นชมก็ระคนความเป็นห่วง อย่างไรก็ดีสิ่งที่เป็นไปอยู่คือกระแสที่เราได้แต่ตั้งรับและเรียนรู้

การเริ่มลงทุนของนักลงทุน Gen-Y เริ่มได้อย่างไร ต้องเรียนว่าสภาพแวดล้อมปัจจุบันเกื้อหนุนให้คน Gen-Y สนใจการลงทุนเพิ่มมากขึ้น จากโครงสร้างสังคมที่ทำให้คนกลุ่ม Gen-Y ยึดตนเองเป็นศูนย์กลางเนื่องจากในยุคหลังนิยมมีบุตรเพียงไม่กี่คนศูนย์กลางของครอบครัวจึงตกมาที่คนใน Gen-Y จึงทำให้คน Gen-Y ส่วนหนึ่งอยากที่จะเป็นนายตัวเองและทางเลือกที่จะเป็นนักลงทุนก็ดูเหนือจะเป็นทางเลือกที่ง่ายกว่าการประกอบธุรกิจจริงนอกจากนี้ยังมีตัวอย่างมากมายสำหรับคนที่ประสบความสำเร็จจากการลงทุน ประกอบกับการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ง่ายเพียงปลายนิ้ว “คลิก” ทำให้คนกลุ่มนี้มีข้อมูลและทางเลือกมากมายที่จะสร้างโอกาสให้ตัวเอง และถ้าเราย้อนไปในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่ากระแสสังคมไทยไหลเวียนอยู่กับเรื่องราวของคนที่ประสบความสำเร็จจึงทำให้ความรู้สึกถึงความสำเร็จมันเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น

จะสังเกตว่าถ้าท่านเดินไปตามร้านหนังสือชื่อดังจะเห็นหนังสือแนวความสำเร็จด้านการลงทุน สูตรลับที่ทำให้รวยเป็นจำนวนมาก และมักจะอยู่ในลำดับหนังสือที่ขายดี ซึ่งส่วนใหญ่เน้นไปที่เรื่องของ “How” สิ่งที่ผมคิดว่าจำเป็นและต้องให้น้ำหนักไม่แพ้กันคือ “Why” และ “What” ซึ่งมักจะพบในตำรับตำราเรียนมากกว่าหนังสือขายดี และแน่นอนส่วนใหญ่เป็นเรื่องน่าเบื่อ การปลูกฝังวิธีโดยขายความเข้าใจแก่นของสิ่งที่ลงทุนหรือวัตถุประสงค์ของการลงทุนทำให้ผมมักพบว่าการตั้งคำถามของนักลงทุนรุ่นเก๋ากับนักลงทุน Gen-Y มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด สิ่งที่พบคือนักลงทุน Gen-Y มักจะตั้งคำถามว่า “หุ้นตัวไหนดี” “ใช้เครื่องมือไหนดี” ซึ่งเป็นคำถามที่สะท้อนวิธีคิดได้เป็นอย่างดี

กล่าวถึงตรงนี้ไม่ใช่ว่าผมคัดค้านไม่ต้องการให้คน Gen-Y หันมาเป็นนักลงทุนนะครับ การเริ่มต้นในการบริหารจัดการเงินยิ่งเริ่มเร็วยิ่งดีครับ แต่ปลูกต้นไม้ให้งอกงามก็ย่อมต้องการดินที่อุดมสมบูรณ์ เมล็ดพันธุ์ที่ดีและท้ายที่สุดคือการเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ ก็ไม่ต่างจากการลงทุนที่ต้องการช่องทางการลงทุนที่ดี (ไม่ใช่หุ้นปั่น) นักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่ตนเองกำลังลงทุน และที่สำคัญคือการศึกษาหาความรู้อย่างต่อเนื่อง เป้าหมายคือความสำเร็จในระยะยาว ไม่ใช่เพียงกำไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ระยะสั้นและตามมาด้วยการขาดทุนระยะยาว

ด้านการให้บริการของโบรกเกอร์เองก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้มีความสอดคล้องกับพฤติกรรมของกลุ่มนักลงทุน Gen-Y มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาเราก็เห็นการปรับเปลี่ยนไปพอสมควร คน Gen-Y เติบโตมากับการ “กด” การ “คลิก” การพัฒนาช่องทางการลงทุนแบบออนไลน์จึงเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ อย่างการส่งต่อข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจผมเสนอสูตร “SCC” คือ Short, Clear และ Cool คน Gen-Y อยู่กับข้อมูลข่าวสารจำนวนมาก การนำเสนอข้อมูลจึงจำเป็นต้องใช้ข้อความที่สั้น อ่านแล้วใจได้ทันที (ไม่ทำให้ตีความผิด) และเป็นคำ “ชิค ๆ” ที่อ่านติดปากฟังติดหู ง่ายต่อการจำ โลกเปลี่ยนทุกวันครับในฐานะผู้อาศัยก็คงต้องเดินตามการเปลี่ยนแปลง

โดย กมลธัญ พรไพศาลวิจิต ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัท จีที เวลธ์ แมเนจเมนท์ จำกัด และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ

 


// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.