นักวิชาการยอมรับ ใช้เคมีรมควันข้าว ทำตาม กม.
 


นักวิชาการยอมรับ ใช้เคมีรมควันข้าว ทำตาม กม.


นักวิชาการยอมรับ ใช้เคมีรมควันข้าว ทำตาม กม.

นักวิชาการ ยอมรับ ใช้เคมีรมควันข้าว อ้าง ทำตาม ก.ม. ขณะที่ กมธ.ทรัพยากรฯ ไล่ อย. สอบสารพิษตกค้างข้าวถุง พร้อมเรียกร้องรัฐบาล เปิดเผยตัวเลขสัญญาส่งออกข้าวที่แท้จริง


วันที่ 17 ก.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยเชิญกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การบริการ กรมวิชาการเกษตร เข้าชี้แจง กรณีปัญหาผลกระทบจากการใช้สารเคมีในการจัดการคุณภาพข้าว

โดยนายศักดิ์เกษม สุนทรภัทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ชี้แจงว่า ยอมรับว่า ปัจจุบันมีการใช้สารเคมี 2 ชนิด คือ เมทิลโบรไมด์และฟอสฟีน เพื่อรมควันข้าว ซึ่งสารดังกล่าวแม้จะเป็นวัตถุอันตราย แต่ตามกฎหมายไทยและบางประเทศ ระบุชัดเจนว่า การส่งออกข้าวและสินค้าอื่นๆ แต่ละครั้งต้องรมควันด้วยการใช้สารเคมีดังกล่าวก่อน เพื่อป้องกันแมลงโดยการ รมควัน แต่ละครั้งจะใช้ในปริมาณที่เหมาะสมและเป็นไปตามมาตรฐาน

ขณะเดียวกัน สารลักษณะนี้ก็ไม่ได้มีในข้าวสารเท่านั้น แต่ยังมีในผลไม้ต่างๆ อาทิ แอปเปิ้ล ส้ม และมะพร้าว ที่นำเข้ามาในประเทศไทยด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้ซักถามองค์การอาหารและยา (อย.) ถึงกรณีที่มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคแถลงข่าวว่า พบสารพิษที่รมควันข้าวตกค้าง ในข้าวถุง 34 ยี่ห้อนั้น ปรากฏว่า อย.ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการฯ ว่าไม่มีข้อมูลการตรวจสอบข้าว 34 ยี่ห้อดังกล่าว คณะกรรมาธิการฯ จึงสั่งการให้ อย.ไปตรวจสอบให้ตรงกับการตรวจสอบของมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้มีข้อมูลที่ตรงกัน

นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการฯ มีมติทำหนังสือถึงรัฐบาลให้ตรวจสอบโกดังข้าว ทั้งปริมาณและคุณภาพอย่างละเอียด และทำหนังสือถึง รมว.เกษตรและสหกรณ์ ให้กำชับเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร ตรวจสอบการรมข้าวเพื่อการส่งออกอย่างเคร่งครัดตามมาตรฐานสากล และขอให้กรมวิชาการเกษตรไปตรวจสอบการรมข้าวของภาคเอกชน

พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผย ตัวเลขสัญญาส่งออกข้าวที่แท้จริง เพื่อตรวจสอบสารเคมีที่ใช้ในการรมข้าว และยังมอบหมาย องค์การอาหารและยา และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมตรวจสอบข้าวถุงทุกยี่ห้อที่มีขายในตลาดให้ครบถ้วน ไม่ใช้การสุ่มตรวจ เพื่อให้ได้ปริมาณสารเคมี ที่มีอยู่ในข้าวอย่างชัดเจน



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.