บทเรียนการเมืองโลกออนไลน์
 


บทเรียนการเมืองโลกออนไลน์


บทเรียนการเมืองโลกออนไลน์
วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 ปีที่ 23 ฉบับที่ 8265 ข่าวสดรายวัน


บทเรียนการเมืองโลกออนไลน์


คอลัมน์ รายงานพิเศษ


แม้ นายสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ พิธีกรและเจ้าของรายการคนค้นฅน จะยอมรับความผิดพลาดกรณีโพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง "ข้าวเน่า" จนกลายเป็นประเด็นร้อน ในสังคมโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก

หากแต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ยังไม่จบ ที่สำคัญผล กระทบที่เกิดจากความผิดพลาด หรือการเข้าใจผิด ไม่อาจแก้ไขได้ในชั่วพริบตา

ในโลกออนไลน์ การใช้ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ข่าวคราวและเรื่องราวต่างๆ แพร่สะพัดได้รวดเร็วเพียงแค่กะพริบตาเช่นกัน

ยิ่งในสถานการณ์ความขัดแย้งสูงอย่างที่เป็นอยู่นี้ โซเชี่ยลเน็ตเวิร์กกลายเป็นช่องทางหนึ่งที่ใช้โจมตีกันและกัน ข่าวปล่อย ข่าวจริง ข่าวเท็จ ผสมปนเปจนแทบแยกไม่ออก

ผู้ใช้ ผู้เป็นเจ้าของ จึงต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก ไม่เช่นนั้นก็มีบทเรียนอย่างที่เห็นกันอยู่บ่อยๆ



พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ

ผอ.สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล

สถาบันพระปกเกล้า


ปัจจุบันโซ เชี่ยล มีเดียเป็นเสมือนผู้สื่อข่าวไปในตัว มีการออกข่าวตามหน้าเว็บไซต์ หรือ เฟซบุ๊กต่างๆ คนที่มีสถานะและ มีตัวตนเป็นที่ยอมรับในสังคม เมื่อโพสต์อะไรออกไปแล้วสามารถปรับเปลี่ยนสังคมได้ จึงต้องระมัด ระวังตัวเองมากยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ไม่ได้โพสต์ด้วยตนเองแต่ให้ ลูกน้อง หรือคนอื่นๆ โพสต์ แต่ก็ต้องรับผิดชอบด้วยตนเองในฐานะที่เป็นเจ้าของ

กรณีข้อมูลที่เราพิมพ์เป็นเรื่องราวที่มีข้อพิพาทอยู่ ในสังคม หรือเป็นประเด็นทางการเมือง ผู้โพสต์ก็ควร ตรวจสอบก่อนเพราะความเสี่ยงจากการใช้เครื่องมือสื่อสารมีสูง

ตอนแรกที่นายสุทธิพงษ์ โพสต์ออกไป คงไม่ได้คิดว่าจะกลายเป็นประเด็นทางการเมืองใหญ่โต ไม่ได้คิดว่าจะ ส่งผลเสียต่อสิ่งต่างๆ รวมถึงปัญหาที่รัฐบาลเผชิญอยู่ โดยเฉพาะเรื่องข้าว

แม้จะบอกว่าขอโทษที่พลาดมือไปโดน แต่สิ่งที่ทำได้สร้างความเสียหายออกไปแล้ว มันแก้ไขไม่ได้ จึงเป็นบทเรียนที่ต้องปรับปรุงและพัฒนาตัวเองต่อไป

คิดก่อนทำ เพราะทำแล้วกลับมาคิดมันไม่มีประโยชน์ คล้ายกรณีที่ดาราคนหนึ่งโพสต์แสดงความคิดเห็นทาง การเมือง หรือปรากฏภาพอยู่ในฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งของความขัดแย้ง ก็ทำให้ผู้ที่ติดตามดาราคนนั้นๆ ลบตัวเองหายไป ดาราคนนั้นๆ ก็อาจหมดคุณค่าไปเลย

ไม่ทราบว่ากรณีของนายสุทธิพงษ์ กฎหมายไทยสามารถเอื้อมไปเอาผิดได้หรือไม่ ในกรณีที่ทางบริษัทหรือโรงสีข้าวฟ้องร้องเรื่องที่นำข้อมูลมาเผยแพร่

แม้ว่านายสุทธิพงษ์จะออกมายอมรับผิด แต่ก็ต้องดูว่า ศาลจะตัดสินอย่างไร สมมติศาลยกฟ้องก็อาจทำให้เกิด กรณีการใช้โซเชี่ยลมีเดียในการโจมตีกันและกันขึ้นอีกในสังคมไทย

อย่างไรก็ตาม ผู้รับสารผ่านทางโซเชี่ยลมีเดียเองก็ควรพิจารณา หรือแยกแยะว่าเรื่องนั้นๆ เป็นไปในทางสร้างสรรค์ หรือทำลาย

มองว่าปัจจุบันสังคมไทยส่วนใหญ่ค่อนข้างเสียสติ แยกแยะไม่ออกว่าอันไหนเป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องของกลุ่มพวกพ้อง หรือเรื่องของชาติ แต่จะเหมารวมกันหมด โพสต์ด่าว่ากัน และเยินยอคนที่ตัวเองชื่นชอบ

คนที่ใช้โซเชี่ยลมีเดียเองจึงควรทบทวนด้วยว่า ประเทศชาติได้อะไรจากสิ่งเหล่านี้ ถ้าประเทศไม่ได้อะไรก็ควร ยั้งสติไว้ก่อน ควรใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ มากกว่าเพื่อ ทำลาย



น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร


โดยปกติการใช้งานโซเชี่ยลเน็ตเวิร์กเป็นความรับผิดชอบของผู้โพสต์ข้อความอยู่แล้ว หากผู้โพสต์ข้อความใช้สิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดโดยไม่ล่วงละเมิดบุคคลอื่น

แต่เมื่อไรที่โพสต์ข้อความแล้วเป็นการล่วงละเมิด สร้างความเสียหายให้แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือกิจการใดก็ตาม ผู้ถูกล่วงละเมิดย่อมมีสิทธิตามกฎหมายในการเรียกร้องกรณีถูกล่วงละเมิด ตามกระบวนการยุติธรรมได้ เช่นกัน

กรณีที่เกิดขึ้นล่าสุด การโพสต์ข้อความเรื่องข้าว ถือเป็นตัวอย่างให้ประชาชนใช้ความระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็น หรือโพสต์ข้อความใดผ่านโซเชี่ยลฯ

เพราะหากมีผลกระทบไปถึงบุคคล หรือหน่วยงานใดย่อมเกิดปัญหาตามมา ผู้ที่รู้สึกว่าได้รับผลกระทบจากข้อความดังกล่าวจะออกมาเรียกร้องได้

แต่การโพสต์ข้อความจะผิดหรือไม่เราคงไปตัดสินไม่ได้ เพราะเป็นหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรมที่จะวินิจฉัย ต้องเข้าสู่กระบวนการสอบสวนว่าเข้าข่ายความผิดหรือไม่ ถ้าเข้าข่ายความผิดแล้วมีหลักฐานก็ส่งต่อไปที่อัยการ

การแสดงความเห็นเรื่องต่างๆ ผ่านทางโซเชี่ยลฯ หรือแม้แต่การใช้เป็นเครื่องมือโจมตี ดิสเครดิตกันทั่วไปและทางการเมือง เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นนานแล้วไม่ใช่เฉพาะช่วงที่มีความขัดแย้ง

แต่ขณะนี้ที่เราเห็นปัญหา ดังกล่าวได้บ่อย เป็นเพราะประชาชนเข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ตได้ง่ายและแพร่หลาย จากเดิมประชาชนเข้าถึงเพียง 12 เปอร์เซ็นต์ แต่ปัจจุบันเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ จึงทำให้ดูว่า มีการแสดงความเห็นผ่านทาง โซเชี่ยลฯมากขึ้น

การแสดงความเห็นทางการเมืองเป็นเรื่องปกติของประเทศประชาธิปไตย แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย และแม้ว่าการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของประชาชนจะทำได้ง่ายขึ้น แต่การป้องกันที่ดีที่สุด ก็คือสามัญสำนึกและการใช้วิจารณญาณของ ผู้แสดงความเห็น

ตัวเรายังไม่ต้องการให้ใครมาละเมิด ฉะนั้นเราก็ไม่ควรไปละเมิดคนอื่น แต่หากตั้งใจล่วงละเมิดไม่ว่าจะเป็นทางโซเชี่ยลฯ หรือสื่อต่างๆ ที่ออกสู่สาธารณะ ก็มีกฎหมายบังคับไว้อยู่แล้วว่าขอบเขตการแสดงความเห็นอยู่ตรงจุดไหน



สาวตรี สุขศรี

นิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์


แน่นอนว่ากระทำดังกล่าวจะมีผลกระทบเกิดขึ้นทั้งทาง การเมืองและผลกระทบทางเศรษฐกิจ ดังที่กำลังถกเถียงกันอยู่

รัฐเองก็อาจจะฟ้องร้องได้ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2550 ในส่วนที่การโพสต์ข้อความดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความมั่นคง และทางผู้ที่ได้รับผลเสียหายทางเศรษฐกิจก็สามารถฟ้องศาลแพ่งเรียกค่าเสียหายได้

อย่างไรก็ตาม ต้องมีการพิสูจน์ด้วยว่าผู้โพสต์ข้อความนั้น มีเจตนาที่จะให้เกิดผลกระทบตามมาด้วยหรือไม่

ในส่วนพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ก็เป็นดาบสองคม เพราะด้านหนึ่ง ก็คุ้มครองอำนาจรัฐไว้อย่างรอบด้าน แต่อีกด้านหนึ่งก็เหมือน จะเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

เนื่องจากในตัวบทกฎหมายเขียนไว้กว้างมากเกินไป ไม่ลงรายละเอียดให้ชัดเจน ให้ดุลพินิจแก่เจ้าพนักงานในการตีความเอาไว้มาก ทั้งที่จริงเราก็มีประมวลกฎหมายอาญา และกฎหมายแพ่ง ที่ครอบคลุมต่อการกระทำความผิดฐานเป็นภัยต่อความมั่นคง หมิ่นประมาท อยู่แล้ว

แต่เพราะ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวถูกยกร่างเมื่อปี 2550 ภายหลังการรัฐประหาร จึงมีผลให้กฎหมายดังกล่าวให้อำนาจรัฐค่อนข้างมาก เช่น ในมาตรา 20 ที่รัฐสามารถขอให้ศาลไต่สวนฝ่ายเดียวเพื่อขอให้มีการปิดกั้นเว็บไซต์ได้เลย เป็นต้น

ดังนั้นไม่ว่าบุคคลทั่วไป หรือสื่อ เวลาจะโพสต์ข้อความ หรือแชร์ข้อมูล จะต้องมีความระมัดระวังมากพอสมควร ในโซเชี่ยลมีเดียมีข้อดีคือทำให้เกิดสื่อพลเมืองขึ้นมาก แต่การตรวจสอบ ข้อเท็จจริงของข้อมูลยังน้อย อีกทั้งยังมีการแชร์ข้อมูลกันอย่างฉาบฉวย

ยิ่งถ้าคุณเป็นบุคคลสาธารณะมีผู้ติดตามข่าวสารเยอะจึงยิ่งต้องระวัง เหมือน อย่างกรณีนายสุทธิพงษ์ ที่ขณะนี้ก็ต้องยอมรับในการถูกวิพากษ์วิจารณ์ เพราะการ ออกมาชี้แจงภายหลังการกระทำ สังคมก็จะยิ่งมองว่านั่นเป็นการแก้ตัว

อย่างไรก็ตาม หากมีการพิสูจน์ได้ว่า การ กระทำดังกล่าวนั้นเป็นไปโดยบริสุทธิ์ เพื่อ ประโยชน์แก่ประชาชนส่วนรวม ตามมาตรา 1 ของ ป.อาญา ศาลก็อาจจะยกเว้นได้


หน้า 3




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.