กลุ่มบุคลากรสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ขานรับ 8 นโยบาย"จาตุรนต์ ฉายแสง"
 


กลุ่มบุคลากรสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ขานรับ 8 นโยบาย"จาตุรนต์ ฉายแสง"


 กลุ่มบุคลากรสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ขานรับ 8 นโยบาย

ตามที่นายจาตุรนต์  ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้แถลงนโยบายการศึกษา พร้อมประกาศ 8 นโยบาย เพื่อเร่งรัดดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล และสานต่องานที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2556 ไปแล้วนั้น

 

รศ. ดร. วีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการ ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ หรือ Coordinating Center for the Public Higher Education Staff (CHES) กล่าวว่า  นโยบายที่เกี่ยวข้องกับอุดมศึกษา ถือว่ายอมรับได้ และเห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะกำหนดให้การศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ

 

รศ. ดร. วีรชัย กล่าวว่า นโยบายการพัฒนาคน ที่กำหนดเป็นโจทย์ของการปฏิรูปการศึกษานั้น หากจะให้สมบูรณ์ ต้องยกระดับความเท่าเทียมและความเป็นธรรมของบุคลากรในวงการศึกษาด้วย โดยเฉพาะการเหลื่อมล้ำของสถานะพนักงานมหาวิทยาลัยในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เช่น สวัสดิการและสัญญาจ้างที่ไม่เป็นธรรม ที่ส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจพนักงานมหาวิทยาลัย และนักเรียนทุนรัฐบาลที่ต้องกลับมาบรรจุเป็นพนักงาน ฯ สัญญาจ้างที่สั้นในหลายมหาวิทยาลัย ที่ทำให้ขาดเสรีภาพทางวิชาการและการวิพากษ์วิจารณ์   กระทบถึงศักดิ์ศรีและความไม่มั่นคงในอาชีพ  การทำธุรกรรมต่างๆไม่มีความน่าเชื่อถือ สิทธิ์ในเรื่องเงินเดือนค่าจ้างยังไม่ได้เป็นไปตามมติ คณะรัฐมนตรี 2542 และ 2556 คือ 1.7 เท่าของฐานเงินเดือนข้าราชการปัจจุบัน เกณฑ์การขอรับพระราชทานเครื่องราชฯ มีข้อจำกัด สิทธิประโยชน์ต่างๆที่รัฐฯมอบให้ ไม่รวมถึงพนักงานมหาวิทยาลัยที่ปัจจุบันมีสัดส่วนกว่า 70% ในระบบอุดมศึกษา เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ ครม. ให้โบนัสบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา เป็นเงินรางวัลให้กับบุคลากรที่สร้างสรรค์ผลงานให้สถาบันตนเองโดยให้เป็นเงินพิเศษโบนัส พนักงานมหาวิทยาลัยกว่าร้อยละ 80 ในสถาบันนั้นๆ เป็นกลุ่มผู้สร้างผลงานให้กับหน่วยงาน แต่ โบนัสเหล่านี้กลับมิได้แจกจ่ายให้กับพนักงานมหาวิทยาลัย เป็นต้น

 

อ. ดร.เฟื่องอรุณ ปรีดีดิลก  อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ประสานงาน CHES กล่าวเสริมว่า หากบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาได้รับการดูแลที่ดีแล้ว  เป้าหมายของการยกระดับคุณภาพการศึกษาในส่วนอุดมศึกษาจะดีขึ้นแน่นอน เพราะบุคลากรไม่ต้องกังวลในเรื่องศักดิ์ศรีและสถานะที่ไม่มั่นคงต่อไป จะได้ทุ่มเทกำลังในการทำงานรับใช้ประเทศชาติ ด้วยสัดส่วนของพนักงานมหาวิทยาลัยทั่วประเทศที่ถือเป็นบุคลากรส่วนใหญ่ในระบบอุดมศึกษา การขับเคลื่อนและยกระดับมหาวิทยาลัยเพื่อเพิ่มอันดับในเวทีโลกจะสำเร็จได้ง่ายขึ้น

 

อ.ประทัย พิริยะสุรวงศ์   อาจารย์ มหาวิทยาลัยราชภัฎ เชียงราย และผู้ประสานงาน CHES กล่าวว่า เพื่อป้องกันปัญหาการลาออกของอาจารย์ มหาวิทยาลัย  ภาครัฐควรต้องรีบเข้ามาแก้ปัญหานี้ให้เสร็จสิ้นโดยไว ปัญญาสมองไหล คนดีคนเก่งจะได้อยู่ในระบบต่อไป

 



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.