พ.ร.บ.อุดมศึกษาเพิ่มเขี้ยวเล็บจัดการมหาวิทยาลัยไร้คุณภาพ
 


พ.ร.บ.อุดมศึกษาเพิ่มเขี้ยวเล็บจัดการมหาวิทยาลัยไร้คุณภาพ


พ.ร.บ.อุดมศึกษาเพิ่มเขี้ยวเล็บจัดการมหาวิทยาลัยไร้คุณภาพ
วันนี้( 12 ก.ค.) ศ.(พิเศษ)ดร.ภาวิช  ทองโรจน์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) กล่าวว่า ตามที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ ประกาศนโยบายการศึกษา โดยจะเร่งรัดให้มี พ.ร.บ.การอุดมศึกษาเพื่อประกันความรับผิดชอบต่อสังคมและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยนั้น ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวได้เริ่มยกร่างตั้งแต่สมัยที่ตนเป็นเลขาธิการ กกอ.เมื่อปี 2549 ซึ่งในวันที่ 13 ก.ค.นี้  กกอ. จะมีการประชุมวาระพิเศษ เพื่อพิจารณาเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพื่อปรับปรุงร่างให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน  โดยหลักการสำคัญจะเป็นการให้มหาวิทยาลัยมีอิสระในการบริหารจัดการ ควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคม อาทิ การผลิตบัณฑิตที่ต้องสนองตอบความต้องการของสังคมอย่างแท้จริง  เนื่องจากพบว่าปัจจุบันมหาวิทยาลัยบางแห่งผลิตบัณฑิตล้นตลาด เช่น สาขาครู  ซึ่งมีการผลิตออกมานับล้านคน แต่ตกงาน  ในขณะที่มหาวิทยาลัยก็ไม่ได้แสดงความรับผิดชอบแต่อย่างใด
ศ.(พิเศษ)ดร.ภาวิช   กล่าวต่อไปว่า  นอกจากนี้ยังเรื่องการรับนิสิตนักศึกษา ที่มหาวิทยาลัยมีอิสระเปิดรับได้หลายครั้ง เช่น มหาวิทยาลัยชื่อดังทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รับสาขาแพทย์ถึง 6 รอบ  ซึ่งเป็นการละเมิดต่อ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ แต่เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวมีช่องโหว่ จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายอีกฉบับ เพื่อมาอุดช่องโหว่เหล่านั้น  อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังมีอีกหลายขั้นตอนกว่าที่ร่างพ.ร.บ.จะประกาศบังคับใช้  ดังนั้นอธิการบดีหรือชาวอุดมศึกษา จึงสามารถแสดงความคิดเห็นได้ตลอด ทั้งขั้นตอนการร่างกฎหมายที่มีอธิการบดีและผู้แทนร่วมอยู่ด้วย   ซึ่งเบื้องต้นมีการหารือว่ากฎหมายฉบับนี้จะดูแลครอบคลุมมหาวิทยาลัยเอกชนด้วย
ด้าน ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า  ตนได้ร่วมยกร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา ซึ่งเบื้องต้นเห็นว่ามีข้อดีต่อมหาวิทยาลัย อาทิ 1.ความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับสภาวิชาชีพจะดีขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาสภาวิชาชีพเข้ามาควบคุมการผลิตนิสิตนักศึกษามากเกินไปถึงขนาดกำหนดหลักสูตร รายละเอียดวิชา ควบคุมอาจารย์ผู้สอน  แต่หากมีกฎหมายฉบับนี้จะกำหนดให้สภาวิชาชีพควบคุมมาตรฐาน ไม่ล้วงลูกมากอย่างที่เป็นอยู่ 2.การประเมินมหาวิทยาลัย ซึ่งเดิมมีหลายหน่วยงานเข้ามาประเมิน ทั้งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)  สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) หรือสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.)  จนเป็นการสร้างภาระให้แก่มหาวิทยาลัยอย่างมาก  ขณะที่กฎหมายฉบับใหม่จะกำหนดให้ สกอ.ประเมินมหาวิทยาลัยเพียงหน่วยงานเดียว จากนั้นจึงส่งต่อข้อมูลให้แก่หน่วยประเมินอื่นๆ
“ โดยส่วนตัวเห็นว่า การมีพ.ร.บ.การอุดมศึกษา จะเป็นการสร้างสมดุลระหว่างความเป็นอิสระของมหาวิทยาลัยกับอำนาจของ สกอ. เพราะเรารู้กันดีว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยบางแห่งมีปัญหา เช่น จัดการศึกษานอกที่ตั้ง หรือจัดการศึกษาไม่ได้มาตรฐาน  ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้จึงเป็นการเพิ่มเขี้ยวเล็บบางอย่างให้แก่ สกอ.ที่จะสามารถดูแลมาตรฐานคุณภาพการอุดมศึกษาได้มากขึ้น” ประธาน ทปอ. กล่าว



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.