ส.ค.ศ.ท.ติงอย่ารีบร้อนใช้หลักสูตรใหม่
 


ส.ค.ศ.ท.ติงอย่ารีบร้อนใช้หลักสูตรใหม่


ส.ค.ศ.ท.ติงอย่ารีบร้อนใช้หลักสูตรใหม่
วันนี้(11ก.ค.) ผศ.ดร.สุรวาท ทองบุ ประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชุมสภาคณบดีฯ ได้มีการหารือกรณีการปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) โดยเห็นว่า ศธ.ควรมีการศึกษาวิจัยและพิจารณาปรับปรุงหลักสูตรใหม่ก่อนนำมาใช้ โดยไม่จำเป็นต้องเร่งรีบใช้หลักสูตรใหม่ในเวลานี้หรือภายในระยะ 3 ปีนี้ เนื่องจากหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ใช้ในปัจจุบันเพิ่งถูกนำมาใช้ไม่นาน เด็กนักเรียนที่ได้เรียนหลักสูตรดังกล่าวยังไม่จบช่วงชั้น จึงอาจยังไม่เห็นผลลัพธ์อะไรที่ชัดเจน ขณะเดียวกันการวิจัยและพัฒนาหลักสูตรใหม่ควรเริ่มทำตั้งแต่ตอนนี้ควบคู่กันไป โดยทำอย่างรอบด้านมากกว่าที่เป็นอยู่ อย่างน้อยจะต้องมีการรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) และหน่วยงานผู้ใช้ รวมถึงหน่วยงานผลิตบัณฑิตครู เป็นต้น ทั้งนี้ที่ประชุมสภาคณบดีฯ จะสรุปมติความเห็นดังกล่าวเสนอต่อนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ต่อไป
“สภาคณบดีฯ เห็นด้วยที่จะให้มีการใช้หลักสูตรใหม่ แต่จะต้องผ่านการศึกษาวิเคราะห์ วิจัยอย่างถี่ถ้วน ทั้งผลของการใช้หลักสูตรเก่าและรายละเอียดในหลักสูตรใหม่ที่จะนำมาใช้ โดยไม่จำเป็นต้องเร่งรีบ เพราะหลักสูตรปัจจุบันเพิ่งใช้ หนังสือเรียนต่างๆ ก็เพิ่งจะทำเสร็จออกมาไม่นาน น่าจะใช้ให้ครบวงรอบ เช่น นักเรียนชั้น ม.1 ได้เรียนหลักสูตรเดิมครบ 3 หรือ 6 ปีก่อน เพื่อสำรวจผลสัมฤทธิ์ของหลักสูตร นอกจากนี้การจะใช้หลักสูตรใหม่ก็ควรเตรียมองค์ประกอบต่างๆ ให้มีความพร้อมไว้ด้วย โดยเฉพาะในเรื่องของครูและตำราเรียน และที่สำคัญต้องมีการรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง ไม่ใช่ให้คนกลุ่มเดียวทำหลักสูตรออกมาเบ็ดเสร็จแล้วบังคับใช้เลย” ผศ.ดร.สุรวาท กล่าว
ผศ.ดร.สุรวาท กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หารือถึงแผนการรับนักศึกษาหลักสูตรครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ระหว่างปีการศึกษา 2557-2561 โดยเตรียมเสนอข้อมูลจำนวนนักศึกษาครูในปัจจุบันที่มีมากกว่า 2 แสนคน ไปยังที่ประชุมอธิการบดีของสถาบันฝ่ายผลิตทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาหาแนวทางการกำหนดจำนวนรับให้สอดคล้องกับความต้องการ พร้อมกันนี้จะเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำข้อมูลจำนวนครู ความต้องการครูในช่วงระยะเวลา 10 ปี (ระหว่างปี 2557-2566) เพื่อนำมาประกอบการวางแผนการผลิตครูด้วย ส่วนกรณีผลการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้าเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ปี 2556 ที่มีผู้เข้าสอบทำคะแนนไม่ผ่านเกณฑ์จำนวนมากนั้น ที่ประชุมมีมติให้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการวิเคราะห์ข้อมูลการสอบ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงการเรียนการสอน รวมถึงเห็นควรให้คณบดีฯ ที่เป็นสมาชิกกลับไปพิจารณาทบทวนหลักสูตรและกระบวนการผลิตให้สอดคล้องเท่าทันยุคสมัยด้วย.



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.