กศน.จังหวัดอุดรฯปักธงสอน EP เตรียมคนพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
 


กศน.จังหวัดอุดรฯปักธงสอน EP เตรียมคนพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน


กศน.จังหวัดอุดรฯปักธงสอน EP เตรียมคนพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
ในปี 2558 ประเทศในกลุ่มอาเซียนจะพัฒนาเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนอย่างเต็มตัว ประเทศไทยในฐานะของหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งประชาคมอาเซียน รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมของประเทศเพื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างสมบูรณ์แบบ สำนัก งานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จึงถือเรื่องการเตรียมความพร้อมด้านภาษาเป็นนโยบายเร่งด่วนที่จะลงไปเติมความรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมาย โดย นายประเสริฐ บุญเรือง เลขาธิการ กศน. ได้มอบนโยบายให้สำนักงาน กศน.จังหวัดทั่วประเทศเปิดสอนหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ภาคภาษาอังกฤษ (English Program : EP) อย่างน้อยจังหวัดละ 1 ห้องเรียน

สำนักงาน กศน.จังหวัดอุดรธานี เป็นจังหวัดเดียวที่อาสาเปิดสอน EP ใน 2 อำเภอ คือ อำเภอหนองหาน และ อำเภอเพ็ญ โดย ว่าที่ร้อยตรีสมปอง วิมาโร ผอ.สำนักงาน กศน.จังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ภาคภาษาอังกฤษ หรือ EP เป็นหลักสูตร 2 ปี หรือ 4 เทอม ที่ กศน.จัดให้เรียนฟรี นักศึกษาไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โดยมีการจัดส่งครูชาวต่างชาติมาสอนด้วยภาษาอังกฤษ สำหรับการสอนภาษาอังกฤษไม่ค่อยเป็นปัญหามากนัก เพราะคนจังหวัดนี้จะใช้ภาษาอังกฤษได้ดีระดับหนึ่งอยู่แล้ว เนื่องจากผู้หญิงอุดรส่วนหนึ่งจะมีสามีเป็นชาวต่างชาติ อีกทั้งจังหวัดอุดรธานีก็ถือเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่บนทำเลที่ดีมาก เพราะเป็นจังหวัดที่เชื่อมต่อได้อย่างใกล้ชิดกับหลายประเทศในลุ่มน้ำโขงทั้ง จีน ลาว เวียดนาม และกัมพูชา ทำให้การเตรียมความพร้อมด้านภาษาสำหรับคนที่นี่จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างง่าย เพราะเป็นสิ่งจำเป็นและชาวบ้านก็เห็นความสำคัญ

“อำเภอหนองหาน ได้จัดการเรียนการสอนภาคภาษาอังกฤษที่ตำบลบ้านเชียง เพราะบ้านเชียงเป็นแหล่งมรดกโลกที่มีนักท่องเที่ยวและนักศึกษาที่ต้องการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับ
อารยธรรมซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นชาวต่างชาติที่เข้ามาศึกษามรดกโลก ดังนั้นหากคนในพื้นที่ไม่สามารถใช้ภาษาสื่อสารดีในระดับหนึ่งก็จะทำให้เข้าใจยากและขาดโอกาสที่สำคัญที่เราจะ
เผยแพร่มรดกโลกของเราให้เขาเข้าใจได้” ว่าที่ร้อยตรีสมปอง กล่าว

กศน.ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน เป็นพื้นที่ที่ถูกเลือกให้นำร่องจัดการเรียนการสอนหลักสูตร กศน. EP ซึ่ง นางนวลฉวี ภูดิน ผอ.กศน.อำเภอหนองหาน กล่าวว่า ภาษาอังกฤษมีความจำเป็นอย่างมากสำหรับการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน รวมถึงเทคโนโลยีก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ตนจึงจัดให้ กศน.ตำบลทุกแห่งเป็นศูนย์ไอซีทีด้วย โดยได้รับความร่วมมือจาก อบต.ทุกตำบล ในการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์มาให้บริการประชาชน สำหรับเรื่องการจัดการเรียนการสอนภาคภาษาอังกฤษก็ถือเป็นความโชคดีของจังหวัดอุดรธานี เพราะมีลูกเขยเป็นชาวต่างชาติเยอะมาก มองไปทางไหนก็มีแต่ฝรั่ง ขณะเดียวกันก็มีมรดกโลกบ้านเชียงอยู่ที่นี่ ซึ่งจะมีชาวต่างชาติมาเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์อยู่เป็นประจำ เพราะฉะนั้นภาษาอังกฤษจึงมีความจำเป็น อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา กศน.หนองหาน ได้จัดหลักสูตรสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารระยะสั้น ไปแล้ว 2-3 คอร์ส แต่ตอนนี้เราต้องการความยั่งยืนจึงได้จัดหลักสูตร EP โดยเน้นนักศึกษา 3 กลุ่ม คือ พ่อค้า แม่ค้า และภรรยาคนต่างชาติ โดยมีอาสาสมัครชาวเยอรมันที่มีภรรยาเป็นคนไทยมาช่วยสอนด้วย
        
นางรุ้งนภา พลเชียงดี อาชีพค้าขายหน้าพิพิธ ภัณฑ์บ้านเชียง หญิงไทยที่มีสามีเป็นชาวออสเตรเรีย บอกว่า มาเรียนภาษาเพื่ออนาคตข้างหน้า เพราะปกติอยู่ที่บ้านก็จะคุยกับแฟนไม่ค่อยรู้เรื่องได้พื้น ๆ แค่ทานข้าว ไปซื้อของใช้ ศัพท์ลึก ๆ พูดไม่ได้ แต่พอมาเรียนแล้วคุยกันรู้เรื่องขึ้นมาก

นายชาตรี ตะโจปะรัง พ่อค้าขายของที่ระลึกหน้าพิพิธภัณฑ์บ้านเชียง กล่าวว่า จริง ๆ แล้วไม่มีพื้นฐานในเรื่องของภาษาอังกฤษเลย แต่เมื่อขายของตรงนั้นทำให้เราเจอชาวต่างชาติทุกวัน ก็พอจะพูดได้บ้าง ที่มาเรียนเพื่อให้ความรู้แน่นขึ้น ซึ่งตอนนี้ก็สามารถสื่อสารบอกและแนะนำเขาได้ว่าจะไปไหนมาไหนได้ รู้สึกว่ามีความมั่นใจมากขึ้น จากที่เคยถอดใจ แต่ก็ฮึดสู้ เพราะครูก็ตั้งใจสอน เน้นการพูดคุยจริง ๆ เพื่อให้เรานำไปใช้ได้

Endrex Subaybay ครูสอนภาษาอังกฤษชาวฟิลิปปินส์ โครงการ EP ของ กศน.ตำบลบ้านเชียง บอกว่า รู้สึกตื่นเต้นที่ได้เข้ามาสอน ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากสำหรับคนที่ไม่มีพื้นภาษาอังกฤษเลย และมีเวลามาเรียนน้อย แต่ก็ตั้งใจสอนและพยายามเน้นให้พูดภาษาอังกฤษได้เพราะเขาจะสามารถนำความรู้ไปใช้พูดคุยได้ ทำงานได้ ซึ่งทุกคนก็ขยันและตั้งใจเรียนกันดี

สำหรับ กศน.อำเภอเพ็ญ ซึ่งเป็นอีกอำเภอที่ขันอาสาจัดโครงการ  EP โดย นายสมัย แสงใส ผอ.กศน.อำเภอเพ็ญ กล่าวว่า เรามีนักศึกษา 32 คน ที่มาเรียนภาคภาษาอังกฤษ ซึ่งมี  2 คน ที่จบปริญญาตรีแล้ว แต่อยากได้วุฒิภาคภาษาอังกฤษ นอกนั้นส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่จบ ม.3 จาก กศน. สำหรับการจัดการเรียนการสอนของอำเภอเพ็ญจะสอนแบบคู่บัดดี้ คือเพื่อนช่วยเพื่อน การทำโครงงานก็ต้องช่วยกันทำ ถ้าคนหนึ่งไม่มาเรียนอีกคนหนึ่งต้องมาเพื่อจะได้ไปสอนกันได้ ขณะเดียวกันครูก็ต้องเป็นคู่บัดดี้กันด้วย เพราะครูก็ต้องลงไปเป็นพี่เลี้ยงให้ทุกกลุ่ม จากการสำรวจความต้องการ พบว่า มีคนต้องการที่จะเรียนหลักสูตรนี้เป็นจำนวนมาก ตนจึงขออาสาจัดห้องเรียน EP เป็นห้องที่ 2 ของจังหวัดอุดรธานี อย่างไรก็ตามสำหรับคนที่ยังไม่ได้เข้าโครงการเทอมนี้ ตนได้มอบนโยบายให้ครู กศน.ทุกตำบลทุกคนไปจัดสอนแทรกภาษาอังกฤษในหลักสูตรปกติด้วย เพราะเห็นว่าชาวบ้านสนใจและได้ผลสัมฤทธิ์ดีมาก

นางพนารัตน์ จำปาทน วัย 39 ปี บอกว่า การมาเรียนก็ได้ฟื้นความรู้ที่เคยเรียนมาและทิ้งไปนานกว่า  20 ปีแล้ว สามารถแนะนำตัวเองได้ สนทนา ทักทายกับเพื่อนและแนะนำสถานที่เป็นภาษาอังกฤษได้ กลับมาเรียนครั้งนี้สามารถนำความรู้ไปใช้ได้ เพราะทุกวันนี้คอมพิวเตอร์เข้ามาในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น มีภาษาอังกฤษเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้นซึ่งเราก็ต้องใช้ต้องอ่านต้องเขียนด้วย อยากบอกว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมาก อยากให้ทำต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ อยากให้ลูกหลานได้เรียน เพราะที่เห็นเด็ก ๆ ไปเรียนต้องเสียเงินเรียน ก็ได้แค่สนทนาเป็น แต่มาเรียนที่นี่ไม่ต้องเสียเงินและได้ทั้งเขียนและพูดด้วย

นางสุปราณี ธาตุมี อาชีพทำนา กล่าวว่า มาเรียนเพราะอยากได้ความรู้เพิ่ม อย่างน้อยก็จะได้พูดกับชาวต่างชาติได้ เพราะพี่เขยเป็นชาวต่างชาติ พี่สาวก็บอกให้มาเรียนไว้เมื่อกลับมาเยี่ยมบ้านจะได้เป็นเพื่อนคุยกับพี่เขย ซึ่งก็เป็นโอกาสดีด้วย เรียนโดยไม่ต้องเสียเงิน และก็เป็นคนชอบเรียนอยู่แล้วกลับบ้านก็ไปสอนลูก ซึ่งก็ได้ผลจริง.

อรนุช วานิชทวีวัฒน์



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.