เช็กความพร้อมสส.-สว.เปิดสภา
 


เช็กความพร้อมสส.-สว.เปิดสภา


เช็กความพร้อมสส.-สว.เปิดสภา
วันที่ 09 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 ปีที่ 23 ฉบับที่ 8258 ข่าวสดรายวัน


เช็กความพร้อมสส.-สว.เปิดสภา


คอลัมน์ รายงานพิเศษ



อำนวย คลังผา

ประธานวิปรัฐบาล


อำนวย คลังผา

ประธานวิปรัฐบาล


ส.ส.รัฐบาลและรัฐบาลต้องเตรียมพร้อมในการทำงานหลังเปิดสมัยประชุมสภา ทราบว่าฝ่ายค้านก็เตรียมประเด็นโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และโครงการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท แต่ถือเป็นเรื่องปกติ เขาต้องทำหน้าที่ค้านและไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลทุกๆ เรื่อง

ดังนั้นหน้าที่ของรัฐบาลและส.ส.รัฐบาล จะต้องชี้แจงให้เห็นถึงสาเหตุของการดำเนินการทั้ง 2 โครงการว่า หากเราไม่กู้เพื่อเร่งดำเนินการ ใช้งบประมาณปกติก็ทำได้ แต่จะทำให้ประเทศตามหลังประเทศอื่นๆ ที่เขาพัฒนาไปแล้ว

ซึ่งเราจะทำอย่างนั้นก็ได้ แต่สุดท้ายประเทศและประชาชนก็ไม่ได้ประโยชน์

เรื่องเหล่านี้จะต้องสื่อสารทำความเข้าใจให้ประชาชนทราบต่อไป ด้วยการตอบคำถามของฝ่ายค้าน เขาถามมาเราตอบไป ไม่มีอะไรเป็นไฮไลต์พิเศษ

แต่ที่สำคัญคือจะต้องเตรียมตัวและข้อมูลให้พร้อม ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

ทั้งนี้ เรื่องที่ฝ่ายค้านหยิบยกมาอภิปราย ไม่น่าจะมีรูปแบบและวิธีการที่แตกต่างจากที่ผ่านมา จึงไม่รู้สึกตื่นเต้นหรือกังวลใจใดๆ การแสดงออกในสภาก็เป็นบทบาทหนึ่ง เมื่อจบประชุมก็เป็นพี่น้องกัน

แต่ส.ส.รัฐบาลก็ต้องเตรียมทั้งเรื่องข้อมูลและจับประเด็นให้แม่น เพื่อหักล้างในสิ่งที่เขาค้านให้ได้ เพราะสุดท้ายคือการลงมติรับหรือไม่รับหลักการ

ยอมรับว่าในสภาต้องมีส.ส.ช่วยพูดในบางมุม หากถูกฝ่ายค้านขัดจังหวะรัฐมนตรีหรือผู้ที่อภิปรายชี้แจง โดยจะเรียกว่าองครักษ์หรืออะไรก็สุดแล้วแต่

นอกจากนั้นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้การประชุมไม่สะดุด คือทั้งวิปฝ่ายค้านและวิปรัฐบาลจะต้องเจรจาและพูดคุยกันว่า ในบางเรื่องก็ต้องลดราวาศอกกันบ้าง เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่าง ราบรื่น

โดยยึดสาระสำคัญของการประชุมเป็นหลัก



นริศ ขำนุรักษ์

เลขานุการวิปฝ่ายค้าน


ระเบียบวาระการประชุมยังไม่ออกมา แต่ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมของนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย จะเข้าสู่ที่ประชุมสภาเป็นอันดับแรก

ตามด้วยร่างพ.ร.บ.ที่คณะกรรมาธิการ พิจารณาเสร็จแล้ว เช่น พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ร่างพ.ร.บ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้พิจารณายังไม่เรียบร้อย จึงไม่แน่ใจว่าจะเสร็จทันเปิดสมัยประชุมหรือไม่

แต่ที่ผ่านมาที่ประชุมวิปค้านเชิญฝ่ายผู้ช่วยเลขานุการ 4 ชุด คือร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ชุด และผู้ช่วยเลขานุการ ชุดร่างพ.ร.บ. กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทมาชี้แจง เนื่องจากที่ประชุมต้องการทราบความคืบหน้าการดำเนินงาน

ได้รับการชี้แจงว่า การพิจารณาของคณะกรรมการน่าจะเสร็จก่อนเดือนส.ค. และสามารถบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระได้

ดังนั้นตั้งแต่กลางเดือนก.ค.เป็นต้นไป จะมีการประชุมวิปฝ่ายค้านตลอด รวมถึงประชุมส.ส.พรรคเพื่อเตรียมทำงานในสภาในช่วงสมัยประชุม ส่วนความชัดเจนในเรื่องต่างๆ ต้องรอดูวาระของสภาออกมาก่อน

สำหรับการรับมือในสมัยประชุมนั้น ฝ่ายค้านคาดว่าถ้าเรื่องรัฐธรรมนูญ นิรโทษกรรม และปรองดอง เข้าสู่ที่ประชุมสภา คงมีการเคลื่อนไหวจากหลายกลุ่มก้อน ส่วนในสภาก็ไม่หนักหนาอะไร ฝ่ายค้านก็ทำหน้าที่ไปตามปกติ

ในแง่ของการคุมเสียงฝ่ายค้านแม้พรรคภูมิใจไทยส่วนหนึ่งสนับสนุนรัฐบาล เราก็มีศิลปะในการอยู่ร่วมกัน เพราะเท่าที่ทำงานร่วมกันมา 2 ปี แม้มีปัญหาเรื่องนี้ แต่เราก็เดินไปได้ กับลักษณะสถานการณ์การเมืองอย่างนี้

ดังนั้นฝ่ายค้านจึงไม่มีการรับมืออะไร เพราะมีกฎหมาย มีข้อบังคับอยู่ การประชุมก็น่าจะเรียบร้อย อยากให้รัฐบาลปล่อยให้ฝ่ายค้านได้ทำงานอย่างเต็มที่ รัฐบาลก็ทราบดีว่าต้องมีฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง

และฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปัตย์ควรยึดถือเป็นแบบอย่าง เนื่องจากที่ผ่านมาเราผ่านกฎหมายให้ความเห็นชอบ ให้กับรัฐบาลนี้มากกว่าฝ่ายค้านทุกยุคทุกสมัย มีเพียง 2-3 ฉบับเท่านั้นที่เราคัดค้าน

อย่างไรก็ตาม ขอเรียกร้องให้ประธานสภาทำหน้าที่เป็นกลางที่สุด ขอให้ยึดข้อกฎหมายและข้อบังคับเป็นหลัก ที่ผ่านมาการทำหน้าที่ของประธานสภาก็ถือเป็นบทเรียนแล้ว

จึงต้องทบทวนบทบาทและหน้าที่ของตัวเอง



บรรยากาศการเมืองเตรียมกลับเข้าสู่โหมดร้อนแรงอีกครั้ง เมื่อจะมีการเปิดสมัยประชุมสภาสามัญทั่วไปในวันที่ 1 ส.ค.นี้

แน่นอนว่ามีประเด็นใหญ่ๆ จ่อคิวรอการอภิปรายหลายเรื่อง ทั้งปมเมกะโปรเจ็กต์ เงินกู้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องปรองดอง นิรโทษกรรม ฯลฯ ซึ่งแต่ละเรื่องถือเป็นชนวนระเบิดอย่างดี ฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งวิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และวุฒิสภา วางแผนและเตรียมการรับมืออย่างไรบ้าง




นิคม ไวยรัชพานิช

ประธานวุฒิสภา


หลังเปิดสมัยประชุมสภาสามัญทั่วไปในวันที่ 1 ส.ค. ในส่วนวุฒิสภาก็ได้บรรจุระเบียบวาระการเปิดประชุมวุฒิสภาในวันศุกร์ที่ 2 ส.ค.ทันที

โดยการประชุมวันแรกมีวาระต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จคือ ร่างพ.ร.บ. กำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการทหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... ที่เป็นเรื่องค้างจากสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติที่ผ่านมา

และจะครบกำหนดการพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับการเงินตามที่ขอขยายเวลาเป็น 60 วัน ในวันที่ 4 ส.ค. จึงต้องเร่งพิจารณาให้ทัน จากนั้นจะนำเสนอสู่สภาตามขั้นตอนวาระ 2 วาระ 3 ต่อไป

ส่วนวาระกฎหมายอื่นๆ ยังไม่มีอะไรเป็นพิเศษ การประชุมวุฒิสภายังคงดำเนินไปตามปกติ

ขณะที่การส่งเรื่องถอดถอน ครม.ยิ่งลักษณ์ 2 ของ 132 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ต่อประธานวุฒิสภานั้น อยู่ในขั้นตอนส่งให้สภาตรวจสอบรายชื่อความถูกต้องอยู่ หากเป็นไปอย่างเรียบร้อยก็จะส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไต่สวนต่อ

คาดว่าเป็นไปตามกำหนดที่วางไว้คือ ก่อนวันที่ 16 ส.ค.

แต่ก็คิดว่าการที่ผู้ยื่นอาศัยการถอดถอนตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญนั้น จะต้องยังดำรงตำแหน่งนั้นๆ อยู่หรือไม่ เนื่องจากขณะนี้เป็นครม.ยิ่งลักษณ์ 5 แล้ว

อย่างไรก็ดี ต้องขอให้ฝ่ายกฎหมายดูก่อนด้วยว่า จำเป็นต้องสอบถามไปยังพรรคอีกหรือไม่ การที่ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ออกมาระบุว่า ยังถือเป็นเรื่องที่สามารถยื่นถอดถอนได้ ผมก็ไม่ขอขัดแย้งอะไร ควรให้เป็นการวินิจฉัยของป.ป.ช.จะดีกว่า

ส่วนการเมืองในเดือนก.ย. น่าจะหนีไม่พ้นเรื่องการครบวาระตำแหน่งของ กกต. ทั้ง 5 คน ที่น่าจะต้องจัดให้มีการสรรหาใหม่ พร้อมกับการเลือกประธาน และ กกต. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 231

ดังนั้น เชื่อว่าในช่วงเปิดสมัยประชุมสภาจะต้องมีเรื่องร้อนๆ อีก ยังไม่นับรวมวาระที่จ่อรอสภาอยู่ ตั้งแต่ร่างพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ร่างพ.ร.บ.งบประมาณ 2557 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การออกกฎหมายนิรโทษกรรม กฎหมายปรองดอง ฯลฯ

ในฐานะวุฒิสภาจึงเห็นว่า เราควรทำให้บรรยากาศเย็นมากกว่าเร่งดันเรื่องร้อนมาก่อน หรือเอาเรื่องที่ขัดแย้งมาทำให้กระทบต่อประเทศชาติ ซึ่งคิดว่าควรปล่อยให้เป็นไปตามวาระปฏิทินของสภาไป

เพื่อพิจารณาในเรื่องที่สำคัญแก่บ้านเมืองก่อนตามลำดับ


หน้า 3




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.