เกาผิดที่
 


เกาผิดที่


เกาผิดที่
mavikthumbnails/thumbnails/200x119-images-stories-article2013-colum_than-TradeWatch4.jpg">ข้อเฉลยว่าทำไมทายาทของ 2 ครอบครัวในละครสุภาพบุรุษจุฑาเทพจึงไม่ได้แต่งงานกัน (ที่ผมถามทิ้งไว้ในบทความที่แล้ว) ก็คือ คู่สัญญาไม่ดำเนินการใดๆ เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ

ข้อตกลงระหว่างประเทศก็เช่นกัน การไม่แก้กฎหมายให้สอดคล้องกับข้อตกลง การไม่ปรับและเพิ่มศักยภาพการผลิต รวมทั้งการไม่ให้ความรู้แก่ผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าและบริการที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเป็นตัวอย่างที่ประเทศไทยจะต้องรีบดำเนินการมิฉะนั้นผลของข้อตกลงการค้าเสรีก็จะจบลงเหมือนละครเรื่องนี้  
    การแก้หรือการเขียนกฎหมายใหม่นั้นเป็นเรื่องยากและใช้เวลานาน กฎหมายบางฉบับอาจใช้เวลาเป็นสิบปีในการร่างและดำเนินการให้ผ่านสภา เป็นผลให้กระทบกับความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจและภาคเศรษฐกิจโดยรวม เช่น ร่างกฎหมายของกรมศุลกากร หรืออาหารสัตว์ เป็นต้น ที่น่าสนใจคือร่างกฎหมายขององค์การอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข หรือ พระราชบัญญัติอาหารฉบับใหม่ ที่เป็นตัวอย่างกฎหมายอีกเรื่องหนึ่งที่ใช้เวลากว่า 10 ปีแล้วก็ยังไม่มีทีท่าจะคลอดออกมาในเร็วๆนี้
    การใช้เวลานานก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่เรื่องแนวคิดและบทบาทของหน่วยงานที่ออกกฎหมายก็เป็นเรื่องสำคัญ ผมจะขอยกตัวอย่างกรณี พ.ร.บ.อาหารที่กล่าวถึงข้างต้น ซึ่งเป็นที่ตระหนักกันดีว่าเรื่องอาหารปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญยิ่งสำหรับคนไทยทั้งประเทศ ดังนั้นจึงมีความพยายามจากหลายหน่วยงานของรัฐในการพัฒนาระบบการผลิตตั้งแต่วัตถุดิบ เช่น สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กระทรวงเกษตรฯ ได้เขียนมาตรฐานในการผลิตที่ดีของสินค้าเกษตรกว่า 100 รายการแต่ก็ยังขาดการปฏิบัติจริงเพราะยังเป็นมาตรฐานสมัครใจ ผมจึงขอเสนอให้ มกอช. ดำเนินการ 2 เรื่องดังนี้คือ 1) จัดงบประมาณเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรได้ปรับกระบวนการผลิตให้ได้ภายในเวลาที่กำหนดขึ้น  และขณะเดียวกันก็ให้กำหนดมาตรฐานบางสินค้าที่มีผลกระทบต่อสาธารณชนในวงกว้างเพราะมีความนิยมบริโภคอย่างแพร่หลายให้เป็นมาตรฐานบังคับโดยเร็ว เช่น ข้าว เป็นต้น
    ในส่วนของ อย. ซึ่งมีหน้าที่หลักในการปกป้องและคุ้มครองผู้บริโภคนั้นก็ต้องมีกฎหมายที่เน้นไปในแนวทางดังกล่าว แต่เท่าที่สังเกตในร่าง พ.ร.บ. อาหารฉบับใหม่นี้ก็ยังเขียนครอบคลุมอย่างกว้างขวางสร้างความสับสนและซ้ำซ้อนกับหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ หลายมาตรา เช่น คำจำกัดความของคำว่า "อาหาร" ซึ่งไม่มีความชัดเจนว่าจะหมายรวมถึงสินค้าเกษตรด้วยหรือไม่ เป็นต้น และประเด็นที่สำคัญที่สุดคือร่าง พ.ร.บ. นี้ตั้งใจละเว้นการควบคุมผู้ผลิตอาหารที่ขายอยู่ทั่วไปเช่นหาบเร่ แผงลอย แต่กลับไปเน้นการควบคุมผู้ผลิตรายใหญ่ซึ่งส่วนใหญ่สามารถผลิตได้มาตรฐานอยู่แล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเภทกิจการผลิตอาหารเพื่อการส่งออก ผมจึงเสนอว่า อย. ต้องกลับไปเน้นบทบาทหลักโดยการสนับสนุนและเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ผู้ผลิตเหล่านี้ให้ได้มาตรฐานความปลอดภัยเพื่อปกป้องและคุ้มครองสุขภาพชาวบ้านทั่วไปซึ่งมีเป็นจำนวนมาก  ดังนั้น อย.  ต้องทบทวนและแก้ไขร่าง พ.ร.บ. นี้เพื่อลดช่องว่างในสังคมให้ได้ ร่างกฎหมายอีกหนึ่งฉบับคือ พระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ออกตามรัฐธรรมนูญซึ่งก็มีแนวคิดเช่นเดียวกันคือเห็นว่าผู้ผลิตรายใหญ่เป็นผู้ร้ายไว้ก่อน
    ท้ายนี้ ผมขอเสนออีกครั้งว่ากรณีศึกษาของกรมปศุสัตว์ในเรื่องการห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงในสุกรว่าเป็นเรื่องการพัฒนาที่ถูกต้อง การพัฒนาศักยภาพการผลิตและเพิ่มความรู้ให้แก่ผู้บริโภคเป็น 2 เรื่องที่ต้องดำเนินการพร้อมกันเพื่อความยั่งยืนและเป็นเกราะให้เราได้ใช้ในการปกป้องสินค้านำเข้าอีกด้วย 

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,859 วันที่  7  - 10   กรกฎาคม  พ.ศ. 2556

 

// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.