หนักอกก็ต้องดูแลชาวนาต่อ
 


หนักอกก็ต้องดูแลชาวนาต่อ


หนักอกก็ต้องดูแลชาวนาต่อ
mavikthumbnails/thumbnails/200x142-images-stories-article2013-colum_than-2duble.jpg">โอฬาร สุขเกษมปกติแล้วไทยปลูกข้าวปีละประมาณ 30 ล้านตันข้าวเปลือก แต่ 2 ปีมานี้ปลูกประมาณ 33 – 35 ล้านตันข้าวเปลือก ข้าวเปลือกเอาไปสีได้ข้าวสารประมาณ 61 % หรือประมาณ 20-22  ล้านตันข้าวสาร รัฐบาลพรรคเพื่อไทยตั้งวงเงินรับจำนำข้าวเปลือกเอาไว้ 500,000 ล้านบาทใน 2 ปี

หรือปีละ 2 รอบ (นาปีและนาปรัง) ขณะนี้(ต้นเดือนกรกฎาคม 2556) รัฐบาลรับจำนำไปแล้ว 3 รอบ ปรากฏว่า ใช้วงเงินไปแล้ว 600,000 ล้านบาท  คำถามมีว่า แค่ 3 รอบก็จะเกินวงเงินที่ตั้งไว้แล้ว หากเป็น 4 รอบ จะใช้เงินอีกเท่าไหร่ ?
    ก่อนสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลปิดบัญชีปี 2555/56 คือ นาปีกับนาปรัง ตอนแรกบอกว่าใช้เงินพอๆ กับรับประกันราคาข้าวของรัฐบาลที่แล้ว คือ ขาดทุนประมาณกว่า 60,000 ล้านบาท แต่พอปิดบัญชีจริงๆ ปรากฏว่า ขาดทุนประมาณ 137,000 ล้านบาท  ตอนปิดบัญชียังสงสัยว่าข้าวยังหายไปไหนประมาณ 2.9 ล้านตัน จึงต้องให้ตำรวจปิดโรงสีตรวจเช็กยอด และขณะนี้ก็ยังไม่ทราบตัวเลขว่าอยู่ครบหรือไม่ มีแต่ข่าวบอกว่าบางโรงสีมีข้าวหายจริงๆ แต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ และมีบางแห่งมีตัวเลขเกิน เท่าที่รายงานกันบอกว่า ยังสรุปไม่ได้ว่าข้าวยังอยู่ที่ไหน 2.9 ล้านตัน ตัวเลขออกช้าหน่อยเพราะบางโรงสีเก็บข้าวคนละหน่วยกัน คือ คิดเป็นกิโลกรัม แทนที่จะเป็นตัน
    ตอนออกมายอมรับตัวเลขว่าขาดทุนไป 137,000 ล้านบาท และประกาศลดราคารับจำนำลงเหลือ 12,000 บาทต่อตันข้าวเปลือก และให้รายละไม่เกิน 500,000 บาท ส่วนที่เกินให้รับซื้อในราคาตลาดทั่วไป และจะรับซื้อวันสุดท้ายก็คือวันที่ 30 มิถุนายน 2556
    ปรากฏว่าชาวนา ต้องรีบเกี่ยวข้าวทั้งๆที่ยังออกรวงเขียวอยู่เลย ต้องเกี่ยวข้าวถึง 4  ทุ่มแล้วเอาไปส่งโรงสี โรงสีรับจำนำในราคา 15,000 บาทต่อตันข้าวเปลือก โรงสีไม่รับจำนำไม่ได้ จะบ่นว่าข้าวไม่ถึงอายุก็ไม่ได้ ก็ต้องก้มหน้ารับจำนำไป แต่ปัญหานี้ก็ไม่มีมากมายนัก เพราะจะพ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวแล้ว ยกเว้นแถวๆ ภาคกลางด้านทิศตะวันตกของประเทศแถวราชบุรี กาญจนบุรี
    การลดราคารับจำนำลงก็ด้วยเหตุผลที่ว่า "ต้องรักษาวินัยการเงินการคลัง" เพราะตั้งวงเงินรับจำนำข้าวเอาไว้ 500,000 ล้านบาทใน 2 ปี แต่ทำจริงๆ หมดไป 600,000 ล้านบาท และเพิ่งรับจำนำเพียงแค่ 3 รอบเท่านั้น รัฐบาลกลัวไม่มีเงินพอที่จะรับจำนำต่อไป (ต้องเข้าใจนะครับ รัฐบาลรับจำนำ(ในราคาสูง) ก็ไม่ต่างอะไรกับสัญญาซื้อข้าวขาดตัวกับชาวนาและรัฐบาลจะมีรายได้กลับคืนมาก็ต่อเมื่อขายข้าวในประเทศและขายข้าวไปต่างประเทศแล้ว เงินจะนำมาหมุนต่อได้) รัฐบาลจึงต้องประกาศลดราคารับจำนำข้าวลงเหลือเพียง 12,000 บาทต่อตัน
    แต่เมื่อหลังรัฐบาลปรับ ครม.ใหม่ เป็นครั้งที่ 5 ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2556 รัฐบาลเห็นว่าคงไม่ได้แล้ว เพราะประกาศลดราคารับจำนำลง ทำให้ชาวนาทั่วประเทศรุกฮือขึ้นมาประท้วง(ยกเว้นชาวนาเสื้อแดง) และกดดัน รัฐบาลต้องเสียศูนย์อย่างแรง ท้ายที่สุดทำให้รัฐบาลต้องกลับคำ ยอมที่จะรับจำนำข้าวในราคา 15,000 บาทต่อตันตามเดิม แต่ถึงวันที่ 15 กันยายนศกนี้เท่านั้น ยกเว้นพื้นที่จังหวัดภาคใต้ที่ข้าวจะออกช้ากว่าภาคอื่นๆ
    หน้าที่รัฐบาลขณะนี้ก็ต้องเคลียร์ระบายข้าวในสต๊อกออกไปให้เร็ว เพื่อให้มีเงินมาหมุนเวียนต่อ ขายยังไม่ได้ก็ต้องหาเงินให้ ธ.ก.ส. เอามาปล่อยให้ชาวนา  เรารับจำนำในราคาสูง คือ คิดเป็นข้าวสารตันละ 800 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่ราคาซื้อขายในตลาดโลกได้ตันละ 600 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราคาข้าวสารขาว 5 % ณ วันที่ 3 กรกฎาคม 2556 ซื้อ-ขายราคา 520 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน) ก็ว่าเก่งแล้ว ข้าวไทยจึงระบายออกได้น้อย และหากไม่ยอมขายแบบขาดทุนเยอะๆ เราคงระบายได้ยากจริงๆ ก็ต้องดูแลชาวนากันต่อไป เพราะชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของประเทศ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,859 วันที่  7  - 10   กรกฎาคม  พ.ศ. 2556

 

// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.