ธงทอง จันทรางศุ บ่นดังๆ เรื่องงาน-ชีวิต
 


ธงทอง จันทรางศุ บ่นดังๆ เรื่องงาน-ชีวิต


ธงทอง จันทรางศุ บ่นดังๆ เรื่องงาน-ชีวิต
วันที่ 07 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 ปีที่ 23 ฉบับที่ 8256 ข่าวสดรายวัน


ธงทอง จันทรางศุ บ่นดังๆ เรื่องงาน-ชีวิต


คอลัมน์ สัมภาษณ์พิเศษ



นั่งเก้าอี้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีด้วยภารกิจเต็มมือ ทั้งเรื่องกฎหมายและเป็นกรรมการในคณะทำงานชุดต่างๆ

เมื่ออยู่ในฐานะเป็นกลไกตัวหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล

ย่อมเสี่ยงต่อการตกอยู่ในสถานะจำเลยทางคดีความ และอาจเป็นจำเลยทางสังคมในสายตาของฝ่ายที่คิดต่าง

กระนั้น นายธงทอง จันทรางศุ ยืนยันไม่ท้อแต่ขอบ่น



ธงทอง ขอบ่น

สิ่งที่อยากเล่าสู่กันฟัง ผมรู้สึกว่าการทำงานของข้าราชการประจำเวลานี้ยากมากขึ้นกว่าในเหตุการณ์ที่บ้านเมืองเป็นปกติสุข เวลานี้เมื่อมีความขัดแย้งที่รุนแรงในทางการเมือง ความคิดของผู้คนที่อยู่ในสังคมไทยก็แตกต่างกันมาก

การปรับเปลี่ยนตำแหน่งของข้าราชการประจำดูเหมือนถูกผลักไสให้เป็นคนมีข้างหรือมีฝักฝ่าย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เป็นคุณต่อระบบราชการหรือไม่เป็นคุณกับประเทศไทยโดยรวม

ข้าราชการจำเป็นที่จะต้องทำหน้าที่ภายในกรอบของกฎหมายและศีลธรรม ภายใต้การกำกับทิศทางของฝ่ายการเมือง เพราะในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น ข้าราชการไม่ใช่ผู้กำหนดนโยบายโดยลำพังด้วยตัวเอง

แต่นโยบายในการบริหารราชการแผ่นดินมาจากคณะรัฐมนตรีที่รับผิดชอบโดยการแถลงต่อสภา ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ฉะนั้นสิ่งนี้เป็นไปตามครรลองที่ควรจะเป็น

แต่เวลานี้คนจำนวนไม่น้อยเห็นการทำหน้าที่ของข้าราชการที่ไม่ถูกใจหรือไม่ตรงใจก็บอกว่าผิด ซึ่งผมเห็นไม่ตรงกัน เช่น ผมมาทำหน้าที่ปลัดสำนักนายกฯ ในขณะนี้ ก็เป็นเหมือนแม่บ้านประจำ มีหน้าที่หลากหลาย

ดังนั้น งานที่ทำแล้วคนพอใจก็จะนิ่งๆ ไม่ว่าอะไร อย่างงานฉลอง 100 ปี สมเด็จพระสังฆราช คนเป็นข้าราชการประจำไม่ว่าได้รับมอบหมายเรื่องไหนก็จะตั้งใจทำโดยเต็มความสามารถ ไม่ออมฝีมือ

ตอนนี้ผมได้รับมอบหมายให้เป็นกรรมการหลายคณะ ทั้งเรื่องการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ที่ทำหน้าที่ใน กบอ.เฉพาะการคัดเลือกบริษัทที่เกี่ยวข้อง ที่ผ่านการพิจารณามาหลายกรรมการแล้ว

เรื่องนี้ผมเข้ามาเกี่ยวข้องเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ แต่น้ำท่วมมาตั้งแต่ปี 2554 ที่มีกรรมการมาหลายคณะ การทำหน้าที่ของผมเป็นไปตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ตั้งใจทำตามหน้าที่ของข้าราชการประจำอย่างเต็มที่ ดูเรื่องตัวบทกฎหมาย ความชอบธรรมต่างๆ และการทำงานร่วมกับผู้คนที่เกี่ยวข้อง และส่วนราชการต่างๆ

วันนี้เรื่องก็เดินไปเรื่อยๆ ตามที่ปรากฏต่อสาธารณะ เราเป็นแค่ตัวละครหนึ่งของเรื่อง หากมีมุมมองก็จะเป็นวัวพันหลักของตัวเองก็ต้องให้คนอื่นมาช่วยดูบ้าง

และการทำงานที่ผ่านมาทั้งระดับนโยบาย และการทำงานของคณะกรรมการคัดเลือกบริษัท ก็ไม่ได้ถูกใจคนทั้งหมด ก็เป็นเหตุที่มาของการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ผมก็พอเข้าใจได้และไม่ได้ตกใจกับการฟ้องร้อง และถือเป็นกลไกที่ถูกในการตรวจสอบอำนาจรัฐ

ซึ่งคำพิพากษาของศาลปกครองก็ยังไม่ถึงที่สุด ผู้พิพากษา และตุลาการที่มีความเห็นเป็นเสียงข้างน้อยก็ยังมีอยู่ ซึ่งเรื่องนี้รองนายกฯพงศ์เทพ เทพกาญจนา รับผิดชอบ ผมก็ต้องรอฟังความเห็นก่อน วันนี้เมื่อเป็นคดี มีคนร้องป.ป.ช. หรือยื่นถอดถอนในสภา ก็ต้องรอบคอบในเรื่องกฎหมาย

ที่ผมไม่สบายใจคือมีการยื่นคำร้องต่อป.ป.ช.เพื่อกล่าวหานายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผมที่โดนหางเลขด้วย แต่ผมเชื่อมั่นในความสุจริตในฐานะนักกฎหมายว่าทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างตรงไปตรงมา

ผมอธิบายง่ายๆ ว่าลำพังผมเป็นกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง คำพิพากษาของศาลปกครองกลางที่ระบุว่าต้องรับฟังความเห็นมาตั้งแต่ต้นก่อนที่จะมีการจัดซื้อ และในข้อกำหนดทีโออาร์ที่กรรมการเขียนไว้บอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ จะทำเมื่อไหร่ไม่รู้แต่สุดท้ายต้องทำ เพราะมีเขียนอยู่ในข้อกำหนดว่าต้องรับฟังความคิดเห็นผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม

หน้าที่ของกรรมการคัดเลือกจะทำอะไรได้มากกว่านี้ ผมไม่ใช่รัฐมนตรีที่ออกคำสั่งมา และไม่มีการระบุว่ากรรมการมีหน้าที่เสนอนโยบายย้อนหลังเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนจะมีกรรมการ และในข้อเท็จจริงเป็นไปไม่ได้ การทำงานจะมีความเห็นของกรรมการที่เกี่ยวข้องและเชิญหน่วยงานมาให้ข้อมูลเป็นความเห็นร่วมกันของกรรมการ

ซึ่งผมในฐานะประธานคัดเลือกอาจจะออกความเห็นน้อยกว่ากรรมการท่านอื่นด้วยซ้ำ สิ่งที่ผมทำมากคือการสรุปประเด็นต่างๆ ว่าสุดท้ายเราเห็นร่วมกันอย่างนี้ใช่หรือไม่ และตอนนี้เข้าใจว่าป.ป.ช.ยังไม่ได้รับเรื่องไว้พิจารณา

ส่วนป.ป.ช.จะพิจารณาอย่างไร ผมคงไปตอบไม่ได้ เพราะมีส่วนได้เสียกับเรื่องนี้อยู่ แต่ไม่เป็นไร ในระบอบการเมืองขณะนี้ที่อาจจะมีคนที่เขาเห็นต่าง แต่ที่ผมรู้สึกว่าการยกเข่งเหมาในการฟ้องร้อง ผมคิดว่าผมไม่ควรได้รับเกียรตินั้น



เส้นทางชีวิต

ของคนชื่อ ธงทอง


เมื่ออยู่ในตำแหน่งนี้หนีไม่พ้นที่จะถูกจับตามอง ผมอ่านหนังสือพิมพ์มีการตั้งฉายาให้หลายฉายา โดยเฉพาะระบุว่าผมเป็นเสือข้ามห้วย ข้ามไป-มา

ต้องขออธิบายว่าแต่ละครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหน้าที่ ไม่ได้เกิดมาจากตัวผม แต่อาจเป็นจังหวะของชีวิต จุดเริ่มต้นของผมเริ่มจากเป็นอาจารย์ในคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ มา 21 ปี ตั้งแต่ปี 2523 เป็นคณบดีช่วงปี 2542-2544 ปี 2540 เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)

ในฐานะนักวิชาการไม่มีตำแหน่งใดๆ เป็นมือเขียนเพราะสนใจภาษากฎหมาย สอนเรื่องการใช้ภาษากฎหมายและเป็นกรรมการกฤษฎีกา ผมมีทักษะในการใช้ภาษา จึงเป็นปฐมบทของเหตุที่ตามมา

หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 กระทรวงยุติธรรมจัดวางโครงสร้างและเขียนกฎหมายใหม่ที่จำเป็น ผมสวมหมวกคณบดีคณะนิติศาสตร์ และเป็นส.ส.ร. 40 กระทรวงยุติธรรมจึงตั้งผมเป็นกรรมการมาช่วยทำให้เป็นรูปร่าง มีผู้พิพากษามาทำหน้าที่ในกระทรวงยุติธรรมจำนวนมาก ทำให้ระบบย้ายกลับไปมาได้ระหว่างกระทรวงและสำนักงานศาลยุติธรรม

จุดนี้มีผู้พิพากษาคนหนึ่งคือนายบัณฑิต รัชตะนันท์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรมขณะนั้น ซึ่งเรียนวปอ.รุ่น 43 รุ่นเดียวกัน ได้กลับไปเป็นผู้พิพากษาศาล ทำให้ตำแหน่งรองปลัดว่างลง

พี่บัณฑิตก็มาชวนผม และบอกว่าปลัดยุติธรรมในขณะนั้นชื่อ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เชิญให้ไปพบ ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เป็นการพบกันครั้งแรกในชีวิต และนายกรัฐมนตรีขณะนั้นคือพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ผมเป็นรองปลัดอยู่ 7 ปี ตั้งแต่ปี 2544-2551 มีผู้บังคับบัญชา 3 คน คือ นายสมชาย นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ และนายจรัญ ภักดีธนากุล ซึ่งเป็นรุ่นพี่และเป็นครู

ถึงปี 2551 หลังปฏิวัติเดือนก.ย.2549 นายจรัญมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ที่อยู่ในสายตาว่าจะได้รับการพิจารณาให้เป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม คือ นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ และผม ซึ่งเป็นญาติกัน

สุดท้ายตั้งปลัดกิตติพงษ์ วันนั้นเป็นรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน ดังนั้นถ้าจะมองเชิงวิจารณ์ ปีนั้นพรรคพลังประชาชนเป็นรัฐบาลก็ไม่ได้พิศวาสผมเป็นพิเศษ ผมก็เป็นรองปลัด



แต่หลังจากนั้นปลัดสมชาย มาเป็นรมว.ศึกษาธิการ ก็ขอให้ผมไปเป็นเลขาธิการสภาการศึกษา ตำแหน่งระดับ 11 ที่มีประมาณ 40 ตำแหน่ง ที่ด้อยสุดและแทบจะไม่มีคนรู้จักคือเลขาธิการสภาการศึกษา เพราะไม่มีอำนาจสั่งการจึงทำงานวิชาการเป็นส่วนมาก

พอจะรับตำแหน่งในเดือนต.ค.2551 นายสมชาย ก็มาเป็นนายกรัฐมนตรี และยังไม่ได้ทำงานอะไรมากเพราะบ้านเมืองยังทะเลาะกันอยู่ 2 เดือน จากนั้นเปลี่ยนรัฐบาล

ช่วงนั้นผมทำงานใต้กำกับรัฐมนตรี 2 คนของพรรคประชาธิปัตย์ คือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ก็ตั้งใจทำหน้าที่เต็มที่ จนมาเปลี่ยนขั้วเป็นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เมื่อเดือนส.ค. 2554 มีรัฐมนตรีชื่อนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล

ช่วงน้ำท่วม ท่านสมชายชักชวนให้มาช่วยงานที่ ศปภ.ในฐานะอดีตรองปลัดยุติธรรม ดูเรื่องระเบียบคำสั่ง ข้อกฎหมาย เจอ นายกฯยิ่งลักษณ์ และเชิญผมมาช่วยเป็นโฆษก

หลังจากนั้นรองนายกฯยงยุทธ วิชัยดิษฐ ในขณะนั้นขอให้มาช่วยงานสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีช่วงปลายเดือนพ.ย. 2554 รับดูเรื่องงานเฉลิมพระชนมพรรษา

ทั้งหมดคือการดำเนินชีวิตของผม ตำแหน่งต่างๆ ของผมที่ทุกคนเห็นหรือบอกเล่ากันนั้น ผมไม่ได้คิดเอง แต่เคยคิดเองอยู่ครั้งหนึ่งที่อยากเป็นปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ขอใครก็ไม่มีใครให้เป็น

และวันหนึ่งก็ได้นั่งตำแหน่งปลัดสำนักนายกฯ ที่เหมือนเป็นข้อต่อระหว่างข้าราชการและฝ่ายการเมือง อยู่ได้ด้วยความไว้วางใจของรัฐบาลและความเข้าใจซึ่งกันและกัน รักษาบทบาทหน้าที่ของตัวเองให้พอเหมาะ

หากวันหนึ่งนายกรัฐมนตรีท่านนี้ หรือท่านอื่น พรรคอื่นจะพิจารณาอย่างไร ผมก็พร้อมจะไปทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย แม้แต่จะให้ไปเป็นที่ปรึกษา ฝ่ายข้าราชการประจำก็ตาม

เพราะผมเข้าใจว่ามันสามารถเป็นไปได้ และเป็นกลไกที่อยู่ในระบบราชการ ไม่อย่างนั้นก.พ.จะตีค่าว่าที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ จะเป็นตำแหน่งบริหารระดับสูงมีเงินเดือนเท่ากับตำแหน่งปลัดได้อย่างไร



ภูมิหลังและปัจจัยที่ทำให้เป็นคนคนนี้ ที่ชื่อ"ธงทอง"

มาจากครอบครัวและการศึกษา ซึ่งผมโตมาในครอบครัวข้าราชการ พ่อเป็นนายทหารพระธรรมนูญ เป็นนักกฎหมาย แม่เป็นแม่บ้าน และเขียนหนังสือนวนิยาย

คุณตาชื่อพระประมวลวินิจฉัย นามสกุล สุวรรณทัต มีญาติเป็นสุวรรณทัต อีกจำนวนมาก มีอยู่ทุกพรรคการเมือง เช่น อ.ปรีชา สุวรรณทัต ไถง สุวรรณทัต พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต ที่สนิทมากคือ ?พี่โอ๋? พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต เพราะเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน

ผมมีญาติเยอะ แต่ไม่ได้แปลว่าญาติต้องมีความเห็นเหมือนกันหมดแบบเหมายก ผมมาจากครอบครัวข้าราชการ บรรพบุรุษเป็นข้าราชการ เรียกว่าเป็นข้าราชการมาตลอดชีวิต

และจังหวะที่เป็นต้นทุนของชีวิตผม คือการเรียนในมหาวิทยาลัย ซึ่งผมเข้าจุฬาฯ ปี 16 และได้สนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระเทพฯ นอกจากนั้นยังอยู่ในเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 เห็นบรรยากาศการตื่นตัวทางการเมือง อย่างไม่เคยเห็นมาก่อน

จึงรู้สึกว่าตัวเองเติบโตมาในบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยมาก เพื่อนผมตอนนี้มีอยู่ทุกพรรค ทั้งสุธรรม แสงประทุม วิทยา แก้วภราดัย ซึ่งเป็นเพื่อนนิติศาสตร์ทั้งหมด

ช่วงที่มีการร่างรัฐธรรมนูญในปี 2517 ผมติดตามความคืบหน้าฟังวิทยุทุกวัน เพราะอยากรู้ว่าจะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ให้ดีกว่าเก่าได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมมีความศรัทธา และเชื่อมั่นว่าระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นการปกครองที่เหมาะสมกับเมืองไทยมากที่สุด

และทั้งสองสิ่งสามารถอยู่ด้วยกันได้โดยที่ไม่มีข้อขัดข้องอะไร

และไม่ควรมีความพยายามใดๆ ให้ของทั้งสองอย่างเกิดความขัดแย้ง ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์และสถาบันตามระบอบประชาธิปไตย

ผมรู้สึกว่าการโต้เถียงกันว่า มีสถาบันประชาธิปไตย ก็ไม่ควรมีสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือถ้ามีสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ไม่ต้องมีสถาบันประชาธิปไตย ผมคิดว่าความเห็นอย่างนั้นไม่เป็นประโยชน์ใดๆ สำหรับเมืองไทย

ข้าราชการประจำต้องทำหน้าที่อะไรนั้น สังคมนี้ต้องเรียนรู้ให้มากขึ้น ถามว่าผมอยากสนใจงานการเมืองหรือไม่นั้น ผมเคยโทรศัพท์ถึงอาจารย์ท่านหนึ่งในมหาวิทยาลัย เกี่ยวกับข่าวที่ออกมาว่าจะไปเล่นการเมือง

อาจารย์คนนั้นตอบผมกลับมาว่า อาจารย์เกลียดผมถึงขนาดนั้นหรือ เพราะการเมืองในบ้านเรายุคปัจจุบันต้องมีลำหักลำโค่นมาก มีหลายสิ่งที่ไม่เคยคิดว่าจะเกิดก็เกิดขึ้นได้ในบ้านเรา

ตัวผมเองไม่ได้มีความคิดขวนขวายว่าจะต้องไปทำอะไรที่ต้องเสี่ยงภัยขนาดนั้น เพราะการเป็นข้าราชการประจำทุกวันนี้ก็เสี่ยงภัยมากพอแล้ว

อีก 2 ปี ผมเกษียณอายุราชการ ยังมีแรงสอนหนังสือได้อยู่ พออยู่ได้สบายๆ มีเรื่องอยากที่จะทำ อยากเขียนอยากอ่านหนังสือที่ซื้อสะสมไว้

เพราะตอนนี้หน้าที่มีหลากหลายสวมหมวกหลายใบ ยังสอนวิชากฎหมายและกระบวนการทางนิติบัญญัติ และประวัติศาสตร์กฎหมายไทย และบรรยายพิเศษ เป็นกรรมการกฤษฎีกา

ส่วนที่มองว่าผมจะเดินตามรอยนักกฎหมายรุ่นพี่ เช่น อาจารย์วิษณุ เครืองาม ที่เข้าสู่การเมืองนั้น

ผมคิดว่าในสังคมไทยนักกฎหมายที่มีความแม่นยำ มีทักษะในการนำเสนอความคิดและสามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้ และมีความรู้ดี มีจำนวนจำกัดในระบบราชการ ถ้ามีมากคงไม่ต้องมองหาจากมหาวิทยาลัย

ผู้ที่มาจากมหาวิทยาลัยได้เปรียบ 2 ข้อ คือ ความรู้ และพูดรู้เรื่อง แต่ถ้าขาดเรื่องการทำงานร่วมกับคนอื่นก็อาจไปไม่รอด อยู่กับคนอื่นไม่ไหว หรือบุคลิกไม่เหมาะที่จะมาทำงานประจำ

แต่ตอนนี้คนที่จะเข้ามาอยู่ตามทบวง กรม ขาดแคลนเพราะไปเป็นผู้พิพากษามากกว่า และตอนนี้ยังมองไม่เห็นว่าจะสร้างคน และทุกรัฐบาลจำเป็นต้องใช้นักกฎหมายทั้งนั้น

บางเวลายอมรับว่าเหนื่อยทางกายซึ่งเป็นธรรมดา ก็พักผ่อนด้วยการเขียนหนังสือและอ่านหนังสือ ส่วนทางจิตใจไม่ท้อ เพราะถ้าท้อคงลาออกกลับบ้านไปเรียบร้อยแล้ว

ผมถือหลักอยู่อย่างหนึ่งว่า จะไม่ทำหรือใช้ถ้อยคำไม่สุภาพในการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง เพราะการแสดงความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย

คนเราไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกัน คนที่คิดไม่เหมือนเราก็ไม่จำเป็นต้องผิดทั้งหมด สิ่งที่เราคิดก็ไม่ได้แปลว่าเราถูก

ฉะนั้นผมคิดว่าเคารพความคิดเห็นของคนทั้งหลาย แต่ไม่ได้แปลว่าความเห็นที่ต่างต้องทำให้คนเป็นศัตรูกัน ซึ่งเมืองไทยทุกวันนี้มองว่าคนที่เห็นต่างกันเป็นศัตรูไปทุกที

สำหรับผมมองว่าความเห็นต่างก็ยังเป็นเพื่อนร่วมบ้านเกิดเมืองนอน เป็นคนไทยเหมือนกัน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีกระแสพระราชดำรัส มุ่งหวังอยากเห็นคนไทยมีความปรารถนาดีต่อกัน มีไมตรีต่อกัน เราไม่ได้ฟังแค่ผ่าน แต่ต้องน้อมนำไปปฏิบัติ

ผมคิดว่าจะทำให้บ้านเมืองเราค่อยๆ กลับเข้าสู่ภาวะที่อยู่ร่วมกันได้โดยที่ไม่ต้องฆ่าฟันกัน


หน้า 3




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.