อันตราย! หมอหัวใจแนะผู้สูงอายุตรวจหัวใจก่อนไปฮัจญ์
 


อันตราย! หมอหัวใจแนะผู้สูงอายุตรวจหัวใจก่อนไปฮัจญ์


อันตราย! หมอหัวใจแนะผู้สูงอายุตรวจหัวใจก่อนไปฮัจญ์

แพทย์หัวใจ โรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่ แนะเตรียมร่างกายให้พร้อม โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคประจำตัว เน้นตรวจหัวใจ พบแพทย์ประจำตัว ก่อนไปฮัจญ์ พบปี 2555 เสียชีวิต 25 ราย ส่วนใหญ่ตายด้วยโรคหัวใจเฉียบพลัน และมีแนวโน้มตัวเลขสูงขึ้นในทุกปี...


นายแพทย์มานัส เสถียรวงศ์นุษา แพทย์สาขาโรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่ กล่าวว่า ข้อมูลจากสถิติศูนย์ดูแลสุขภาพผู้แสวงบุญที่นครเมกกะ ปี 2555 มีผู้เสียชีวิต 25 ราย ส่วนใหญ่เสียชีวิตแบบเฉียบพลันจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเกิดจากภาวะหลอดเลือดแดงเสื่อมแข็งที่มีความต่อเนื่องจนเกิดการขัดขวางการไหลเวียนของเลือด ส่งผลให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จึงแนะนำผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง รวมถึงผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงเช่น สูบบุหรี่  อ้วน เครียด ไม่ออกกำลังกาย และมีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ หรือผู้ที่มีอาการเจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ใจสั่น ขาบวม เป็นลม วูบ เป็นต้น ควรพบแพทย์ หรือตรวจสุขภาพหัวใจก่อนเดินทางไปประกอบพิธีสำคัญทางศาสนาในครั้งนี้

นายแพทย์มานัส อธิบายถึงการตรวจหัวใจว่า หมอแนะนำให้กลุ่มเสี่ยงหรือผู้มีอาการดังกล่าว พบแพทย์ เพื่อตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) และอาจเพิ่มเติม ได้แก่ ตรวจอัลตราซาวนด์หัวใจ (Echocardiogram) คือ การสะท้อนกลับของคลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อวินิจฉัยโรค หัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะ โรคหัวใจแต่กำเนิด โรคลิ้นหัวใจพิการ  โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการ โรคของเยื่อหุ้มหัวใจ และ/หรือ การเดินสายพาน (Exercise Stress Test) คือ เมื่อออกกำลังกายหัวใจจะเต้นเร็วขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องได้รับเลือดมาเลี้ยงมากขึ้นด้วย หากมีหลอดเลือดหัวใจตีบ เลือดจะไม่สามารถเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้เพียงพอจะมีการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจให้เห็น ดังนั้นจึงเป็นการตรวจที่เฉพาะเจาะจงต่อการคัดกรองโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ความแม่นยำมากกว่าร้อยละ 70


นายแพทย์ สมฤทธิ์ จันทรประทิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่ กล่าวว่า ชาวไทยมุสลิมที่เดินทางไปแสวงบุญร้อยละ 70 อยู่ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส ซึ่งมีข้อจำกัดทำให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจหัวใจและการรักษาจากแพทย์โรคหัวใจ ดังนั้นโรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่ซึ่งมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือการตรวจวินิฉัยพร้อม ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการตรวจหัวใจให้กับผู้ที่จะเดินทางไปทำฮัจญ์ด้วยเครื่องมือพิเศษ อัลตราซาวนด์หัวใจ (Echocardiogram) จึงได้ร่วมกับศูนย์บริการการพัฒนาสุขภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานสาธารณสุข 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้, สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 12 สงขลา และ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอบต.) จัดทำโครงการ 'ตรวจอัลตราซาวนด์หัวใจสัญจรแก่กลุ่มเสี่ยง' เพื่อให้เกิดความแม่นยำในการระบุตัวผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดและหัวใจนำมาสู่การดูแลรักษาที่ถูกต้อง เหมาะสม และรวดเร็ว เพื่อให้พร้อมที่จะเดินทางไปทำฮัจญ์ต่อไป โครงการฯ ปี 2556 นี้จะเริ่มสัญจรวันที่ 1 กรกฎาคม ณ มัสยิดกลาง จังหวัดสงขลา สอบถาม โทร. 1719

 

สำหรับข้อมูลผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตและเป็นปัญหาสำคัญทางด้านสุขภาพ จากข้อมูลสถิติขององค์การอนามัยโลกในปี พ.ศ.2553 พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจเป็นจำนวนถึง 7.2 ล้านคน (American Heart Association, 2007) ในปี พ.ศ. 2555 พบการเสียชีวิตกว่าแปดแสนรายต่อปี และมีผู้ป่วยใหม่ที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันเกือบสองแสนรายต่อปี หรือเท่ากับพบอุบัติการณ์โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันทุก 25 วินาที (American Heart Association, 2012) สำหรับประเทศไทย ในระหว่างปี พ.ศ.2548-2552 คนไทยป่วยเป็นโรคหัวใจต้องนอนโรงพยาบาลวันละ 1,185 รายต่อวัน โดยเป็นกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดประมาณ 470 รายต่อวัน เสียชีวิตชั่วโมงละ 2 คน (Srimahachota,Kanjanavanit, Boonyaratavej et al, 2007)

 

ข้อมูลโครงการตรวจอัลตราซาวนด์หัวใจสัญจรของโรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่ ตั้งแต่ปี 2554 สปสช.เขต 12 ได้ตระหนักถึงสุขภาพพี่น้องชาวภาคใต้ที่ขาดโอกาสการเข้าถึงแพทย์หัวใจ จึงร่วมกับ โรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่ นำแพทย์หัวใจตรวจอัลตราซาวนด์หัวใจ (Echocardiogram) ยังโรงพยาบาลต่างๆซึ่งแพทย์ประจำลงความเห็นให้ตรวจได้รวม 6 จังหวัด ได้แก่ โรงพยาบาลปัตตานี, โรงพยาบาลพัทลุง, โรงพยาบาลตรัง, โรงพยาบาลสตูล, โรงพยาบาลทุ่งสง และโรงพยาบาลมหาราช จังหวัดนครศรีธรรมราช, โรงพยาบาลกระบี่ รวมทั้งสิ้นจำนวน 642 ราย พบว่าผู้ป่วย ต้องได้รับการทำผ่าตัดหัวใจ 28 ราย ต้องได้รับการรักษาด้วยการใส่ขดลวด (Elective PCI) จำนวน 154 ราย ทำให้ผู้ป่วยโรคหัวใจพ้นจากการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ซึ่งเป็นความภูมิใจทางวิชาชีพแพทย์และพยาบาลของเราที่ได้ดูแลผู้ป่วยหัวใจ 6 จังหวัด ภาคใต้ อย่างต่อเนื่องมากว่า 3 ปี

 



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.