รัฐบาล : คุมกรมพีอาร์..แก้ปัญหาพีอาร์ได้จริงหรือ!?
 


รัฐบาล : คุมกรมพีอาร์..แก้ปัญหาพีอาร์ได้จริงหรือ!?


รัฐบาล : คุมกรมพีอาร์..แก้ปัญหาพีอาร์ได้จริงหรือ!?

รัฐบาล : คุมกรมพีอาร์..แก้ปัญหาพีอาร์ได้จริงหรือ!?
 ไพศาล อินทสิงห์
  ม.นเรศวร

          เหตุผลหนึ่งที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร คุมกรมประชาสัมพันธ์ด้วยตนเองใน ครม.ปู 5 เที่ยวนี้ เป็นอื่นไปไม่ได้ ย่อมหวังผลเพื่อแก้ปัญหาการประชาสัมพันธ์รัฐบาล   
          เป็นปัญหาชวนปวดหัวผู้นำมาทุกยุคสมัย ไม่เว้นกระทั่งรัฐบาลปัจจุบันที่แรกๆของการบริหารก็ดูเหมือนจะไม่มีปัญหา ผ่านไปสักระยะ เริ่มงานเข้า เช่น มีข่าวออกน้อย คนไม่รู้ว่ารัฐบาลทำอะไรบ้าง อ่อนการประชาสัมพันธ์ รัฐมนตรีทำงานมีผลงานเยอะแต่ไม่เป็นข่าว รัฐมนตรีโลกลืม ขาดการบูรณาการประชาสัมพันธ์นโยบายของรัฐบาลองค์รวม กระทั่งการปรับเปลี่ยนโฆษกรัฐบาล การให้ทุกกระทรวงตั้งผู้ที่มีความสามารถสื่อสารเป็นผู้ให้ข่าวแทนรัฐมนตรีได้ ฯลฯ
        ไม่ว่ารัฐบาลไหน รัฐบาลนั้น เวลาผลงานไม่เป็นที่รับรู้ ประชาชนยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับนโยบายหรือเข้าร่วมโครงการน้อย กระทั่งเวลาที่รัฐบาลถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์ คัดค้านโจมตี แปลว่า การหนุนนำของพีอาร์รัฐบาลยังไม่ดี หรืออย่างไร นั่นส่วนหนึ่ง
          มีสาเหตุอื่นอีกหรือไม่ อย่างรถไฟความเร็วสูง 2ล้านล้าน หรือการบริหารจัดการน้ำ 3.5แสนล้าน เป็นต้น ชวนคิดไม่น้อย บางทีเป็นเรื่องผลประโยชน์ของกลุ่มประชาชนต่างๆ กระบวนการมีส่วนร่วม การรับฟังข้อมูล เสียงสะท้อนความคิดเห็นของสังคม นั่นก็อีกส่วนหนึ่ง
          และยังมีอีกส่วน อยู่ที่การสั่งการประชาสัมพันธ์ด้วย หรือไม่ ประการใด ใครสั่ง สั่งใคร ต้องการอะไร หวังผลใด คลุมเครือไม่ชัดเจนหรือเปล่า จึงทำให้ผลงานประชาสัมพันธ์ไม่ได้ดั่งใจ  
          มิเพียงรัฐบาล ยังเป็นปัญหาที่กระทรวงต่างๆ 20 กระทรวง ลงไปถึงกรม ทำให้ถูกมองว่า รัฐบาลตั้งรับ อยู่ที่ 2 ส่วน 1) ผู้สั่ง  2) ผู้ปฏิบัติ    
          นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรในฐานะผู้สั่ง อาจต้องการแก้ปัญหาพีอาร์ให้ได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด จึงเอากรมมืออาชีพพีอาร์โดยตรงในฐานะกลไกของรัฐ มาเป็นผู้ปฏิบัติ และให้ขึ้นตรงนายกฯ ต่อไปนี้สั่งการสั้น ง่าย เร็ว ทันใจ และได้ดั่งใจด้วย
          “บริหารนโยบายเร็ว พีอาร์เร็ว เห็นผลงานเร็ว” ไม่อยากเห็นปัญหาพีอาร์อีกแล้ว เพราะจัดเป็นภาวะคุกคามหรือผลกระทบต่อการบริหารงานรัฐบาลอย่างมาก ทำให้งานสะดุดชะงัก ติดขัด ถ้าไม่รื่นไหล ก็ให้ผลช้า  
          นายกฯคุมกรมประชาสัมพันธ์ จึงถูกทางยิ่ง  
          อาจเป็นครั้งแรกหรือเปล่า ที่ระดับนายกรัฐมนตรี ขอดูแลกรมพีอาร์ด้วยตนเอง ไม่แน่ใจ ? ถ้าใช่ เป็นประวัติศาสตร์กรมประชาสัมพันธ์ต้องจารึก เพราะผู้นำประเทศให้ความสำคัญขนาดนั้น เป็นกรมปกติ ไม่ได้เป็นกรมความมั่นคง จู่ๆข้ามช็อตขึ้นตรงนายกรัฐมนตรี
          เป็นโอกาสรัฐบาล น่าจะแก้ปัญหาการประชาสัมพันธ์รัฐบาลได้อย่างตรงจุด เพราะดึงกรมเชี่ยวชาญพีอาร์โดยตรง มาทำพีอาร์ให้รัฐบาล และกระทรวง
          เป็นโอกาสกรมประชาสัมพันธ์ที่จะพิสูจน์ฝีมือและผลงาน
          ขณะที่ตลอดสัปดาห์แรก 18 รัฐมนตรีปรับใหม่ใน ครม.ปู 5 เข้ากระทรวงครั้งแรก ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวง ประชุมข้าราชการระดับสูง มอบนโยบาย และชี้แจงทำความเข้าใจการทำงาน ตบท้ายด้วยสัมภาษณ์สื่อ ไม่เห็นมีใครพูดถึงนโยบายการประชาสัมพันธ์กระทรวงเลย
          แม้แต่แฉลบโฉบเฉี่ยวประเด็นพีอาร์สักนิดก็ไม่เจอ จะมุ่ง จะเน้นกันอย่างไร หรือละไว้ในฐานที่เข้าใจ หรือปล่อยให้เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของกระทรวงว่าไป โน่นล่ะจะพูดถึงและให้ความสำคัญต่อเมื่อมีปัญหาการบริหารงานแล้วก็ไปลงพีอาร์ หรืออย่างไร ไม่แน่ใจ ถึงตอนนั้นจะโทษ ตำหนิ โยนกันไปมาอย่างไร ก็สายไปแล้ว เพราะถูกวิพากษ์โจมตีการบริหารงานไปแล้ว ดีไม่ดี เจอต้าน ประท้วงทวงถาม หากอ่านขาดเชิงพีอาร์มอบนโยบายการประชาสัมพันธ์กระทรวงล่วงหน้า จะรุก จะรับกันอย่างไร ก็คงจะดีไม่น้อย  
          เผลอๆคำว่า “รัฐมนตรีโลกลืม” ก็ดี “อ่อนพีอาร์”ก็ตาม อาจกลับมาให้ได้ยินกันอีกครั้ง  
          เมื่อเป็นเช่นนี้ ต้องถือว่า นายกรัฐมนตรีอ่านขาด ที่ฉวยคว้ากรมพีอาร์มาใช้ คงจะเอาไปช่วย 18 รัฐมนตรีใหม่ รวมถึงรัฐมนตรีเก่าด้วย ก็คือ ทั้งรัฐบาล+20กระทรวง   
          คิดเล่นๆสมมุตินายกฯ ให้ข้าราชการกรมพีอาร์ฯไปนั่งห้องทำงานข้างๆรัฐมนตรีสักกระทรวงละ 3-5 คน เพื่อทำภารกิจพีอาร์ผลงานให้รัฐมนตรี ทั้งรุกทั้งรับ ก็คงเป็นมิติใหม่น่าสนใจไม่น้อย
          ไม่มีใครรู้พีอาร์รัฐบาลดีเท่ากรมประชาสัมพันธ์อีกแล้ว มีประสบการณ์มายาวนาน การันตีความรอบรู้ รอบจัด จัดเจนเชิงชั้นและเหลี่ยมมุมพีอาร์ เรียกว่า ครบเครื่อง ทุกกระบวนท่า อยู่ที่กรมประชาสัมพันธ์แล้วล่ะ จะจัดเต็ม จัดหนักอย่างไรให้เข้าตา โอกาสเปิด ต้องแสดง
          มีคำถามชวนคิด บางมุมชวนมอง ขออนุญาตนำมาแชร์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ผู้อ่านอาจเห็นด้วย เห็นต่าง หรือเห็นมากกว่าผู้เขียน ยิ่งเป็นประโยชน์กับสังคม ดังนี้
          ประการแรก กรมฯนำเสนอวิสัยทัศน์พีอาร์ เพื่อพีอาร์รัฐบาล ต้องการเห็นอะไร อยากให้เกิดผลวิสัยทัศน์อย่างไร  
          ประการที่ 2 กรมฯจะชูบทบาทขับเคลื่อนพีอาร์รัฐบาลให้โดดเด่นได้อย่างไรในเที่ยวนี้ หากทำได้ดี เป็นศักดิ์ศรีกรมฯ
          ประการที่ 3 คงต้องพีอาร์รัฐบาลเชิงกลยุทธ์มากขึ้นและมากขึ้น ไม่อาจนั่งทำแบบงานประจำ ทำตามแผนปกติได้ งานพีอาร์รัฐบาลไม่เคยนิ่ง แต่ต้องสู้รบปรบมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
          ประการที่ 4 เจอกรณีวิกฤติทั้งรุนแรง ปานกลาง เบาแน่นอน จะพีอาร์อย่างไร
          ประการที่ 5 จะดีหรือไม่ ตั้งทีมพีอาร์เชิงรุก บุกไปข้างหน้าลูกเดียว
          ประการที่ 6 จะดีหรือไม่ ตั้งทีมพีอาร์ตั้งรับ (มิใช่ทำพีอาร์ตั้งรับ แต่เป็นการเตรียมพร้อมทีมพีอาร์ ซึ่งเกิดปัญหาการบริหารงานรัฐบาลขึ้นเมื่อใด หาทางออกได้ด้วยพีอาร์เมื่อนั้น) คอยชง ชู๊ต ชาร์จโอกาสทางการประชาสัมพันธ์    
          ประการที่ 7 ประสานโฆษกรัฐบาล ทีมพีอาร์รัฐบาล และโฆษกกระทรวง ทีมพีอาร์กระทรวงอย่างมีจังหวะก้าวที่ดี
          ประการที่ 8 ต้องไม่ลืมว่า วันนี้โลกเปลี่ยน วิธีสื่อสารเปลี่ยน พฤติกรรมบริโภคข่าวสารของประชาชนก็เปลี่ยนไป เดี๋ยวนี้โลกออนไลน์ ไม่ไอแพด ไอโฟน เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ก็เล่นไลน์ กรมจะเท่าทันและก้าวนำรูปแบบ วิธีการ และเนื้อหาข่าวสารยุคใหม่นี้อย่างไร ให้เข้าถึงตรงพฤติกรรมผู้รับข่าวสาร ได้ทั้งประชาชนกลุ่มเดิม และกลุ่มเป้าหมายใหม่ จะออกแบบอย่างไรให้วัยรุ่น คนรุ่นใหม่คลิ๊กเข้าไป เจอข่าวสารรัฐบาลแล้วสนุก แลกเปลี่ยน ตอบกลับ รับส่งต่อกันเพียงปลายนิ้วสัมผัส
         ประการที่ 9 ใช้ความได้เปรียบที่กรมมีสื่อในมือ ทั้งวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่วงชิงข่าวสารรัฐบาลสู่ประชาชน แต่ทีวีอาจต้องปรับปรุง เปลี่ยนภาพผู้ประกาศข่าวไปอีกคนทีไร มีเสียงฮัมซ่าดังใส่เราทีนั้น เหมือนต้อนรับเราสู่ข่าวใหม่ ชีวิตเอาไงดี จะดูต่อหรือกดรีโมทไปช่องอื่น ซึ่งทั้งภาพทั้งเสียงคมชัดใสเป๊ะ เมื่อเป็นเช่นนี้ ข่าวสารรัฐบาลจะเข้าถึงประชาชนได้อย่างไร ช่วงชิงไม่ไหว มีผลงานมากแต่ทำให้ไปถึงประชาชนไม่ได้ ก็ไร้ความหมาย
          มิเพียงเข้าถึง ต้องให้สนใจด้วย
          สนใจไม่พอ ต้องให้รับรู้อีก
          รับรู้แล้ว ต้องจดจำได้
          จดจำได้แม่นเท่าใด ก็กาได้แม่นเท่านั้น (เลือกตั้งครั้งหน้า)  
          ประการที่ 10  จาก 1-9 เชื่อว่า การประชาสัมพันธ์รัฐบาลที่เป็นข้อกังวล ห่วงใยของนายกรัฐมนตรีนั้น “เอาอยู่” หากสร้างผลงานให้นายกรัฐมนตรีเชื่อมือ เชื่อมั่นแล้ว อยากหันมาทบทวนตรวจสอบบทบาทและมาตรฐานงานกรมฯไปสู่การเปลี่ยนแปลงพัฒนาที่สูงขึ้นอย่างไร ก็ไม่ใช่เรื่องยาก ขอคน ของบ ขยายงานก็ว่าไป เพื่อศักยภาพการแข่งขันข่าวสาร หรือจะสร้างแบรนด์กรมฯใหม่ ให้เป็นกรมประชาสัมพันธ์ยุคใหม่ก็(น่าจะ)ได้ในเที่ยวนี้ล่ะ
          สู่เป้าหมายการเป็นผู้นำพีอาร์รัฐบาลมิติใหม่ !
                                                          
 

 


// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.