โพลล์ระบุทัศนติคนไทยไม่เปลี่ยน!ยอมรับได้ถ้ารัฐบาลคอรัปชั่นแล้วตัวเองได้ประโยชน์ด้วย
 


โพลล์ระบุทัศนติคนไทยไม่เปลี่ยน!ยอมรับได้ถ้ารัฐบาลคอรัปชั่นแล้วตัวเองได้ประโยชน์ด้วย


โพลล์ระบุทัศนติคนไทยไม่เปลี่ยน!ยอมรับได้ถ้ารัฐบาลคอรัปชั่นแล้วตัวเองได้ประโยชน์ด้วย
altนางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง สถานการณ์ทัศนคติอันตรายของสาธารณชนคนไทย ว่าด้วยการยอมรับรัฐบาลทุจริตคอรัปชั่น ถ้าตนเองได้ประโยชน์ด้วย

กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา จันทบุรี นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ มุกดาหาร หนองคาย ชัยภูมิ ขอนแก่น สุรินทร์ อุดรธานี พัทลุง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 2,107 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1–5 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า
        
ผลสำรวจพบ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.0 เคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับการทุจริตคอรัปชั่นในกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐด้านการปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นผ่านสื่อมวลชน ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.9 รู้สึกผิดหวังหากหน่วยงานที่ทำหน้าที่ปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการทุจริตคอรัปชั่นเสียเอง ในขณะที่ร้อยละ 11.1 ระบุไม่รู้สึกอะไร

ที่สำคัญคือกลุ่มตัวอย่างเกือบร้อยละร้อยหรือร้อยละ 94.5 เห็นด้วยถึงเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าหน่วยงานที่ทำหน้าที่ปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นควรถูกตรวจสอบด้วย  มีเพียงร้อยละ 5.5 ระบุไม่เห็นด้วยถึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง
          
สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ แนวโน้มทัศนคติอันตรายในหมู่ประชาชนว่าด้วยการยอมรับรัฐบาลทุจริตคอรัปชั่น ถ้าตนเองได้ประโยชน์ ยังคงอยู่เหมือนเดิม ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ คือร้อยละ 65.5 ในเดือนมีนาคม และร้อยละ 65.0 ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และผลสำรวจยังชี้ให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่หรือเกินกว่าร้อยละ 60 ยังคงยอมรับได้รัฐบาลทุจริตคอรัปชั่นถ้าตนเองได้ประโยชน์ด้วยตลอดการสำรวจตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2554 จนถึงปัจจุบัน
         
นอกจากนี้ เมื่อจำแนกออกตามเพศ พบว่า กลุ่มผู้ชายยอมรับรัฐบาลที่ทุจริตคอรัปชั่น ถ้าตนเองได้ประโยชน์ด้วยมากกว่ากลุ่มผู้หญิง คือ ร้อยละ 67.7 ในกลุ่มผู้ชาย และร้อยละ 60.5 ในกลุ่มผู้หญิง
          
เมื่อจำแนกตามช่วงอายุ พบว่า กลุ่มตัวอย่างทุกกลุ่มมีสัดส่วนการยอมรับการทุจริตคอรัปชั่นเกินกว่าครึ่งด้วยกันทั้งนั้น โดยที่กลุ่มตัวอย่างที่มีอายุระหว่าง 30 – 39 ปีส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.0 มีทัศนคติอันตรายยอมรับได้รัฐบาลที่ทุจริตคอรัปชั่น ถ้าตนเองได้ประโยชน์ด้วยสูงที่สุด รองลงมาคือ ร้อยละ 69.4 ในช่วงอายุระหว่าง 20-29 ปี
          
เมื่อจำแนกตามอาชีพ พบว่า กลุ่มรับจ้าง/เกษตรกร ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.9 ยอมรับได้รัฐบาลทุจริตคอรัปชั่น ถ้าตนเองได้ประโยชน์ด้วยสูงที่สุด รองลงมา ได้แก่ กลุ่มนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 73.3 พนักงานเอกชน ร้อยละ 67.1 แม่บ้าน เกษียณอายุ ร้อยละ 63.5 ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 62.8 และข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 54.0 จะเห็นได้ว่ากลุ่มตัวอย่างเกินกว่าครึ่งในทุกกลุ่มอาชีพต่างยอมรับได้รัฐบาลทุจริตคอรัปชั่น ถ้าตนเองได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งนั้น
         
 นางสาว ปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ระบุว่า ทัศนคติอันตรายยังคงมีอยู่ในหมู่ประชาชนส่วนใหญ่เหมือนเดิมดังนั้นสมมติฐานต่อสถานการณ์ทัศนคติอันตรายของสังคมไทยคือ น่าจะเป็นความยากลำบากอย่างยิ่งในการแก้ปัญหา “โกงรับจำนำข้าว” เพราะผลสำรวจครั้งนี้พบว่า กลุ่มอาชีพเกษตรกรและรับจ้างใช้แรงงานทั่วไปมีสัดส่วนของผู้ที่ยอมรับรัฐบาลทุจริตคอรัปชั่นถ้าตนเองได้รับผลประโยชน์ และในกลุ่มข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐเกินกว่าครึ่งหนึ่งที่ยอมรับเช่นกันเพราะการอยู่เฉยๆ ปล่อยไหลไปตามน้ำ ไม่ออกมาต่อต้านก็ถือว่าเป็นการยอมรับเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้นการรับรู้ข่าวพฤติกรรมการโกงของเจ้าหน้าที่รัฐด้านการปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นยิ่งจะทำให้มีความยากลำบากมากขึ้นในการปรับเปลี่ยนทัศนคติการยอมรับการโกงถ้าตนเองได้ประโยชน์ด้วย อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหาทัศนคติอันตรายเหล่านี้โดยแนวทางแก้ไขสี่ประการ คือ
          
ประการแรก ใช้การปกครองแบบประชาธิปไตยแท้จริง ต่อต้านการปกครองแบบประชาธิปไตยเทียม และต่อต้านการทำรัฐประหารทุกรูปแบบ เพราะการปล่อยให้อำนาจอยู่ในมือของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงหยิบมือเดียวไม่สามารถช่วยลดปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นได้ การมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวจะทำให้รัฐบาลถือสิทธิของสาธารณชนตัดสินใจออกกฎหมายโดยฝ่ายบริหารและผู้มีบารมีของฝ่ายบริหารเข้าไปนั่งอยู่ในฝ่ายนิติบัญญัติส่งผลทำให้มีช่องทางการโกงโดยนโยบายสาธารณะ และการเข้าไปใช้อำนาจการเมืองแต่งตั้งโยกย้ายให้คุณให้โทษเจ้าหน้าที่รัฐจะส่งผลทำให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องทำงานตอบสนองความต้องการของฝ่ายการเมือง
         
 ดังนั้น การปกครองแบบประชาธิปไตยแท้จริงเป็นทางออกอันดับแรกโดยให้หน่วยงานรัฐ เช่น สถานีตำรวจ โรงพยาบาลรัฐ โรงเรียน ที่ทำการอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น ถูกประเมินโดยประชาชนส่วนใหญ่ระดับครัวเรือนและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผลของการประเมินสามารถนำไปเป็นข้อมูลประกอบการจัดสรรงบประมาณ การแต่งตั้งโยกย้ายให้ความดีความชอบต่อเจ้าหน้าที่รัฐได้ด้วย
          
ประการที่สอง ใช้ความโปร่งใสแท้จริง แทนการโฆษณาชวนเชื่อถึงความโปร่งใสในการบริหารจัดการงบประมาณของรัฐและของพื้นที่โดยรัฐบาลและหน่วยงานรัฐทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นต้องเปิดเผยรายละเอียดการใช้เม็ดเงินตั้งแต่ต้นทางเม็ดเงินจนถึงปลายทางของเม็ดเงินโดยรายละเอียดเหล่านั้นต้องทำให้สาธารณชนแกะรอยตรวจสอบได้ว่าหน่วยงานรัฐใด บริษัทใด องค์กรใด คณะบุคคลหรือบุคคลได้รับเงินไปเท่าไหร่ตั้งแต่ส่วนกลางไปยังระดับพื้นที่
          
ประการที่สาม คุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนที่ออกมาเปิดโปงขบวนการทุจริตคอรัปชั่นแทนการตั้งกรรมการสอบสวนเอาผิดและข่มขู่คุกคามผู้ออกมาเปิดโปง อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่เป็นเรื่องจริงก็ต้องว่าไปตามกระบวนการยุติธรรม แต่ถ้ามีมูลต้องคุ้มครองคนดีทำให้คนดีขึ้นมีอำนาจตำแหน่งที่ช่วยแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นได้อย่างจริงจังต่อเนื่องมากกว่า
          
ประการที่สี่ ได้แก่ ความซื่อสัตย์สุจริตต้องเริ่มต้นปฏิบัติกันตั้งแต่ระดับตนเอง ครอบครัว โรงเรียน ชุมชนและองค์กรต่างๆ โดยความซื่อสัตย์ระหว่างพ่อกับแม่หรือสามีกับภรรยาเป็นความสำคัญอันดับแรกที่ต้องยึดหลัก “ทำดีให้เด็กดู” เพราะที่น่าเป็นห่วงคือเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ก็มีทัศนคติอันตรายยอมรับรัฐบาลโกงถ้าตนเองได้ประโยชน์เช่นกัน
          
“โดยสรุปแนวทางทั้งสี่ประการข้างต้นน่าจะทำให้ยุทธศาสตร์ต้านโกงสำเร็จมากกว่า การออกมาชุมนุมประท้วงเพื่อขับไล่รัฐบาล การทำรัฐประหาร การโฆษณาชวนเชื่อว่ารัฐบาลทำงานโปร่งใสตรวจสอบได้ และการจัดอีเว้นต์ต้านโกง อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์ต้านโกงจะสำเร็จลงได้ต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาคประชาสังคมคือ คณะบุคคลในรัฐบาล หน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน ครัวเรือนและปัจเจกบุคคล โดยคณะวิจัยเชื่อมั่นว่าผลสำรวจและแนวคิดที่เผยแพร่ครั้งนี้จะช่วยทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนในสังคมไทยที่ช่วยลดทัศนคติอันตรายว่าด้วยการยอมรับรัฐบาลทุจริตคอรัปชั่นถ้าตนเองได้ประโยชน์ด้วย” ผู้ช่วย ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าว






 

 

// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.