ข่าวดีคนชอบกิน"แซลมอน" เปี่ยม "โอเมกา-3" ลดเสี่ยงมะเร็งเต้านม
 


ข่าวดีคนชอบกิน"แซลมอน" เปี่ยม "โอเมกา-3" ลดเสี่ยงมะเร็งเต้านม


 ข่าวดีคนชอบกิน




ทีมนักวิจัยจากจีนเผยแพร่ผลวิเคราะห์ผลลัพธ์ที่ได้จากการศึกษาวิจัยในระดับนานาชาติจำนวน 26 ชิ้น ว่าด้วยผลกระทบจากการกินเนื้อปลาที่มี "โอเมกา-3" ได้ผลสรุปว่า การได้โอเมกา-3 จากเนื้อปลาด้วยการกินนั้น ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมลง ทั้งนี้ จากรายงานผลการวิเคราะห์ดังกล่าวซึ่งเผยแพร่ในวารสาร บริทิช เมดิคัล เจอร์นัล เมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา

การศึกษาวิจัย 26 ชิ้น ที่นำมาทบทวนวิเคราะห์ใหม่ดังกล่าวนั้น รวมกลุ่มตัวอย่างแล้วเป็นผู้หญิงเกือบ 900,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านมอยู่แล้ว 20,000 คนอีกด้วย โดยผลการวิเคราะห์งานวิจัยดังกล่าวพบว่า ผู้หญิงซึ่งบริโภคไขมัน โอเมกา-3 จากเนื้อปลาในระดับสูงสุด มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งเต้านมลดลง 14 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับผู้ที่บริโภคในระดับที่ต่ำที่สุด

นอกจากนั้นผลที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงการเชื่อมโยงระหว่าง "ปริมาณ" ของโอเมกา-3 ที่กินเข้าไปกับการตอบสนองจากร่างกายของผู้บริโภคคือ การกินโอเมกา-3 เข้าไปทุกๆ 0.1 กรัมต่อวัน จะทำให้โอกาสที่จะเกิดมะเร็งเต้านมลดลง 5 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้ โอเมกา-3 คือไขมันชนิดไม่อิ่มตัวชนิดหนึ่งพบในเนื้อปลาหลายชนิดรวมทั้งเนื้อปลาแซลมอน โดยในเนื้อปลาแซลมอนขนาดที่เสิร์ฟกันทั่้วไป 1 ชิ้น จะมีโอเมกา-3 มากถึง 4 กรัม นอกจากนั้นยังมีพบในพืชบางอย่าง อย่างไรก็ตาม ในการวิเคราะห์ผลการศึกษาเดียวกันนี้ พบว่าโอเมกา-3 ที่ได้จากพืช ดูเหมือนไม่ได้มีส่วนในการลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งแต่อย่างใด มีผลการศึกษาหลายชิ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่แสดงให้เห็นถึงคุณประโยชน์ในการป้องกันโรคหัวใจและลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งของ ไขมันชนิดนี้ แต่ไม่มีผลการศึกษาวิจัยใดๆ ที่ชี้ชัดในเรื่องนี้ออกมา

อย่างเช่นการทำรีวิว การศึกษา 48 ชิ้นเมื่อปี 2009 สรุปได้ว่า ไม่ชัดเจนว่าการบริโภคไขมันโอเมกา-3 ทั้งจากการกินเนื้อปลาและจากการกินในรูปของอาหารเสริม มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจหรือโรคมะเร็ง นอกจากนั้นในการรีวิวผลการศึกษาเมื่อปี 2002 ผู้ทำวิจัยยังพบว่าผู้หญิงที่มีโอกาสจะลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมนั้น ต้องบริโภคโอเมกา-3 และ โอเมกา-6 (ไขมันชนิดไม่ดีต่อสุขภาพ) ในปริมาณที่สมดุลกันเท่านั้น

ในผลการวิเคราะห์ใหม่ครั้งนี้ ผู้วิจัยศึกษาทั้งผลการศึกษาวิจัยซึ่งใช้การวัดการบริโภคโอเมกา-3 ที่แตกต่างกัน 2 รูปแบบ คือ วัดด้วยการตรวจเลือด และวัดด้วยการประเมินปริมาณปลาที่บริโภคเข้าไป เมื่อดูเฉพาะในการบริโภคเนื้อปลา พบว่าไม่พบความเชื่อมโยงในระดับที่มีนัยสำคัญระหว่างการบริโภคปลากับการลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งเต้านมในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นชาวตะวันตก แต่พบความเชื่อมโยงดังกล่าวในกลุ่มตัวอย่างจากเอเชีย เชื่อว่าเป็นผลมาจากประชากรในตะวันตกบริโภคเนื้อปลาในระดับต่ำจนไม่สามารถตรวจพบการคุ้มครองต่อเนื่อง

อีกปัจจัยที่สำคัญก็คือ ความแตกต่างระหว่างที่มาของโอเมกา-3 เนื่องจากผู้วิจัยพบว่าผลการศึกษาวิจัยไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าการกินเนื้อปลากับการกินโอเมกา-3 ในรูปของอาหารเสริม ให้ผลประโยชน์ในระดับที่เท่ากันหรือไม่

 

 



หน้า 9,มติชนรายวัน ฉบับวันอังคารที่ 2 กรกฎาคม 2556



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.