มองอย่างไร"ปู"ควบรมว.กห.
 


มองอย่างไร"ปู"ควบรมว.กห.


มองอย่างไร
วันที่ 02 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 ปีที่ 23 ฉบับที่ 8251 ข่าวสดรายวัน


มองอย่างไร"ปู"ควบรมว.กห.


รายงานพิเศษ



ซ้าย : พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์

กลาง : ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ขวา : พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ

"ครม.ยิ่งลักษณ์ 5" นอกจากจะมีการสับเปลี่ยนตำแหน่งและตั้งคนใหม่รวมเกือบ 20 เก้าอี้ ประเด็นที่สร้างความฮือฮาคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจควบตำแหน่ง รมว.กลาโหม ด้วย



เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับหน่วยงานของกองทัพไทยที่จะมีสตรีผงาดขึ้นเป็นผู้นำ



ประเด็นดังกล่าวมีเสียงสะท้อนจากผู้รู้ทั้ง ในวงการทหารและนักวิเคราะห์สถานการณ์ดัง ต่อไปนี้





พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์

ส.ว.สรรหา

ถือเป็นข่าว ดีที่นายกฯ จะควบเก้าอี้รมว.กลาโหม เพราะ ที่ผ่านมาอดีต นายกฯ 2 คน คือนายชวน หลีกภัย และ นายสมัคร สุนทรเวช เคยควบมาแล้ว



และการที่ นายกฯ จะมานั่งหัวโต๊ะประชุมร่วมกับบิ๊กๆ ทหารเป็นเรื่องปกติ เพราะ นายกฯ เป็นประธานดูแลความมั่นคงอยู่แล้ว



ไม่ต้องสนใจว่าจะเป็นชายหรือหญิง ไม่ใช่ประเด็น กระทรวงกลาโหมไม่ใช่แม่ทัพนำทัพ ต่างประเทศก็มี ผู้นำกระทรวงกลาโหมเป็นผู้หญิงเหมือนกัน ในเมื่อประเทศไทยมีนายกฯ หญิงแล้ว ทำไมจะมีผู้นำกลาโหมหญิงไม่ได้



ต้องยอมรับว่าครม.ปู 4 ที่ผ่านมา มอบหมายงานให้ปลัดกระทรวงกลาโหมค่อนข้างหนัก คราวนี้นายกฯ คงอยากมาช่วยดูแลภาคใต้ด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้ามาแล้วควรศึกษาและทำงานอย่างจริงจัง



ที่สำคัญจะต้องมีผู้ช่วยที่มีประสบการณ์และเข้าใจงานกองทัพมาช่วยกันขับเคลื่อน เท่าที่ทราบปลัดกระทรวงกลาโหมจะเกษียณในเดือนมิ.ย.นี้ ผมจึงเห็นด้วยที่มี รมช.กลาโหม มาช่วยแบ่งเบา



เชื่อว่าความเป็นผู้หญิงจะช่วยลดความแข็งกร้าวในกองทัพได้ จากการอ่านเกมที่ผ่านมาของนายกฯ แสดงท่าทีนุ่มนวล พยายามเข้ากับกองทัพได้ดี



พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ที่มาเป็น รมช.กลาโหม ก็ดูอ่อนน้อม ค่อนข้างเกรงใจทหารด้วยกันเอง ตรงข้ามกับพล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต ค่อนข้างแข็งกร้าวเกินไป



ส่วนข้อสังเกตว่านายกฯ จะเข้ามาล้วงลูกโผทหาร อย่าเพิ่งคิดมาก สมัย นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เคยสั่งย้าย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ผบ.ทบ. เป็นผบ.ทหารสูงสุด นั่นเพราะจะได้มีการผลัดใบ



ผบ.เหล่าทัพไม่ควรอยู่เกิน 2-3 ปี ซึ่งญี่ปุ่นระบุในกฎหมาย ทหารชัดเจนว่า เป็นได้ไม่เกิน 2 ปี แต่ของบ้านเรายังไม่มีกฎกติกานี้ เรื่องดังกล่าวจึงอยู่ที่ความเหมาะสมมากกว่า



และอย่าเอางานรับผิดชอบของนายกฯ มาผูกโยงกับการควบตำแหน่ง เพราะงานบริหารของนายกฯ สามารถมอบหมายให้รองนายกฯ ดูแลโดยตรงได้



หรือถ้าคิดอีกนัยหนึ่ง นายกฯ อาจให้ความสำคัญกับงานความมั่นคงก็เป็นได้ ที่ผ่านมาแม้จะมอบหมาย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ดูแลความมั่นคงปัญหาภาคใต้ แต่ยังไม่ชัดเจนจึงต้องเปลี่ยนคนทำหน้าที่



เชื่อว่านายกฯ มาถูกทางแล้ว หากการควบนั้นเป็นความตั้งใจจริง และจะนำไปสู่การทำงานที่บูรณาการ





ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

นักวิชาการอิสระ ด้านรัฐศาสตร์

เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่นายกฯ หญิงไปนั่งควบตำแหน่ง รมว.กลาโหม แต่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ฝ่ายพลเรือนได้ไปบริหารกองทัพ ที่ผ่านมาอดีตนายกฯ อย่าง นายชวน หลีกภัย และ นายสมัคร สุนทรเวช เคยควบตำแหน่งนี้มาแล้วเช่นกัน



การปกครองระบอบประชาธิปไตย รมว.กลาโหมไม่จำเป็นต้องมาจากทหารที่มีตำแหน่งพลเอกนำหน้า น.ส.ยิ่งลักษณ์มารับตำแหน่งนี้ถือเป็นแนวทางที่ดี



สะท้อนว่ารัฐบาลต้องการควบคุมกองทัพไม่ให้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง หรือนำไปสู่การทำรัฐประหาร



หากแต่จะเป็นการเร่งผลักดันนโยบายด้านความมั่นคง อย่างการแก้ปัญหาความไม่สงบภาคใต้ ที่รัฐบาลยึดตามหลักสันติวิธี ไม่เน้นความรุนแรง แต่แก้ปัญหาด้วยการเมือง



ซึ่งหลังจากนายกฯ เข้ามาคุมกองทัพโดยตรงแล้ว การผลักดันนโยบายน่าจะไปในทิศทางที่ดี เป็นเอกภาพมากขึ้น



อีกนัยยะหนึ่ง การที่สังคมไทยมีรมว.กลาโหมหญิงครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แสดงถึงบทบาทของผู้หญิงจะมีความสำคัญมากขึ้น และต้องขอชื่นชมกองทัพเองที่ ใจกว้าง ยอมรับโดยไม่มีการต่อต้าน



ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยนั้นต้องมีแน่นอน แต่คงไม่กล้าแสดงตัวอย่างเปิดเผย เพราะอาจตกเป็นจำเลยให้สังคมโจมตีได้



ที่ผ่านมาความสัมพันธ์ระหว่างนายกฯ กับกองทัพอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ไม่ค่อยเห็นประเด็นความขัดแย้งกัน มากนัก บุคลิกของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เองก็ไม่ใช่คนก้าวร้าวหรือเน้นการเผชิญหน้า จึงทำให้ไม่มีใครอยากเป็นฝ่ายเริ่มก้าวร้าวกับนายกฯ ก่อน



ดังนั้นการได้คนที่มีบุคลิกเช่นนี้มาควบคุมกองทัพ น่าจะช่วยให้ภาพลักษณ์ของกองทัพดูดีมากขึ้น ส่วนกรณีการจัดทำโผทหารในเร็วๆ นี้ เชื่อว่านายกฯ เอง คงจะไม่ลงไปล้วงลูกแน่นอน ที่ผ่านมา นายกฯ วางตัวดีอยู่แล้ว



สิ่งที่นายกฯ น่าจะดำเนินการคือ การปรับภาพรวมของกองทัพมากกว่า





พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ

ผอ.สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า

นอกจากการควบเก้าอี้รมว.กลาโหมของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แล้ว การปรับครั้งนี้ยังมีชื่อ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา เป็นรมช.กลาโหม ที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมไม่ค่อยมีตำแหน่งรัฐมนตรีช่วย



ประเด็นสำคัญคือการมีตำแหน่ง รมช.กลาโหม จะทำให้รัฐบาลมีโอกาสเข้าควบคุมกองทัพได้มากขึ้น เนื่องจากการเสนอชื่อผบ.เหล่าทัพต่างๆ ต้องมาจาก 7 ตำแหน่งในกระทรวงกลาโหม ทำการลงคะแนนเสียง



ซึ่งตำแหน่ง รมว.จะมีแค่ 1 เสียง หรืออย่างมากจะได้เสียงของปลัดกระทรวงร่วมด้วยเท่านั้น แต่การมี รมช. เข้ามาร่วมวงจะทำให้เสียงของรัฐบาลเพิ่มขึ้น เพียงแค่หาแนวร่วมอีก 1 เสียง ก็จะได้เกินกึ่งหนึ่ง



ดังนั้นรัฐบาลน่าจะมีบทบาทมากขึ้นในการบริหารกองทัพ และถือเป็นโอกาสอันดีที่นายกฯ จะเข้ามาสยบข่าวลือเกี่ยวกับการปฏิวัติ หรือความ ขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับกองทัพให้น้อยลง



รวมถึงการเสนอชื่อ ผบ. เหล่าทัพต่างๆ น่าจะมีโอกาสเพิ่มมากขึ้น นับเป็นผลดีต่อรัฐบาล



อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ ระหว่างนายกฯ กับกองทัพเอง ที่ผ่านมาไม่ค่อยมีเรื่องขัดแย้งเพราะท่าทีของนายกฯ เป็นคนประนีประนอม แต่มีจุดแข็งที่ไม่เอาใจกองทัพมากเกินไป



จึงเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไรกับการนั่งควบ รมว.กลาโหม



ส่วนนโยบายความมั่นคงต้องรอดูว่านายกฯ จะมอบหมายใครดูแล โดยเฉพาะการแก้ปัญหาความไม่สงบจังหวัดชายแดนใต้ เพราะผลงานการแก้ปัญหาของพล.อ.ยุทธศักดิ์ หรือร.ต.อ.เฉลิมยังไม่มีเสถียรภาพมากนัก



หากนายกฯ ในฐานะรมว.กลาโหมเป็นผู้ดูแลโดยตรง เชื่อว่าจะได้ผลตอบรับที่ดี เห็นได้จากการลงพื้นที่ภาคใต้ของนายกฯ ที่ผ่านมา มีเสียงตอบรับที่ดีมาก


หน้า 3




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.