น้ำตกเอราวัณ มนต์เสน่ห์ของจ.กาญจนบุรี ดึงดูดนักท่องเที่ยวฟันรายได้ให้กรมอุทยานฯเป็นอันดับ 2
 


น้ำตกเอราวัณ มนต์เสน่ห์ของจ.กาญจนบุรี ดึงดูดนักท่องเที่ยวฟันรายได้ให้กรมอุทยานฯเป็นอันดับ 2


น้ำตกเอราวัณ มนต์เสน่ห์ของจ.กาญจนบุรี ดึงดูดนักท่องเที่ยวฟันรายได้ให้กรมอุทยานฯเป็นอันดับ 2
การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism) เป็นรูปแบบหนึ่งของการท่องเที่ยวในปัจจุบันที่นานาประเทศให้ความสำคัญ เพื่อการมุ่งไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ โดยให้ความสำคัญแก่การศึกษาหรือการเรียนรู้ มุ่งเน้นให้การท่องเที่ยวเชิงนิเวศจะต้องเป็นการท่องเที่ยวที่มีความรับผิดชอบในแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ มีการจัดการรักษาสิ่งแวดล้อม และให้การศึกษาแก่นักท่องเที่ยว

ส่วนในประเทศไทย มีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในอุทยานฯเป็นจำนวนมาก ซึ่งในแต่ละปีสามารถทำให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดเก็บรายได้เป็นจำนวนมาก

นายมโนพัศ หัวเมืองแก้ว อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระบุว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2556 คือ เดือน ต.ค. พ.ย. ธ.ค. ม.ค. ก.พ. นับเป็นช่วงไฮซีซัน หรือช่วงฤดูการท่องเที่ยวของอุทยานแห่งชาติ และปัจจุบันการท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติได้รับความนิยมมากขึ้น ดังนั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้วยการท่องเที่ยวจึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัย สำคัญ ซึ่งการดำเนินงานของกรมอุทยานฯ ในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2556 นับว่าประสบความสำเร็จที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช สามารถจัดเก็บรายได้ ส่งเข้าคลังได้เพิ่มขึ้นกว่าในช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ 2555 และเพิ่มขึ้นกว่าในช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ 2554  ทั้งนี้อุทยานแห่งชาติที่สามารถเก็บรายได้ได้เป็นอันดับ 1 ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อันดับ 2 ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเอราวัณ อันดับ 3 ได้แก่ อุทยานแห่งชาติอินทนนท์ อันดับ 4 ได้แก่ อุทยานแห่งชาติสิมิลัน ทั้งนี้ การจัดเก็บรายได้ที่เพิ่มขึ้น นอกจากความนิยมของนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ ที่นิยมท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติของไทย เพราะความสวยงาม และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติแล้ว ยังเป็นเพราะการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ ที่ร่วมมือกันเป็นอย่างดีในทุกด้าน สามารถนำเงินมาส่งเข้าคลังได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม 4 อันดับอุทยาน ที่จัดเก็บรายได้ได้สูงอาจไม่ใช่อุทยานที่มีปริมาณนักท่องเข้าเที่ยวเยอะที่สุด แต่เป็นอุทยานที่มีการบริหารจัดการที่ถือว่าประสบความสำเร็จในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการรายได้

นายมโนพัศ ยังฝากถึงคนไทย ให้ร่วมดูแลทรัพยากรทางธรรมชาติร่วมกัน เพื่อให้อุทยานแห่งชาติ และธรรมชาติของประเทศอุดมสมบูรณ์อยู่คู่ประเทศไทย และให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ไม่ทิ้งขยะ หรือทำลายธรรมชาติ เพราะอุทยานแห่งชาติทุกแห่งเป็นของคนไทยไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง

ด้าน นายปรยุษณ์ ไวว่อง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเอราวัณ จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า การที่อุทยานแห่งชาติเอราวัณมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากนั้น อาจจะมาจากมนต์เสน่ห์ของ น้ำตกเอราวัณ ซึ่งเป็นน้ำตกหินปูนที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของจังหวัดกาญจนบุรี มีระยะทางยาวประมาณ 1,500 เมตร แบ่งออกเป็นชั้น ๆ ได้ 7 ชั้นด้วยกัน ซึ่งแต่ละชั้นมีความสวยงามแตกต่างกันไปและมีชื่อของแต่ละชั้น ชั้นที่ 1 ไหลคืนรัง ชั้นที่ 2 วังมัจฉา ชั้นที่ 3 ผาน้ำตก ชั้นที่ 4 อกนางผีเสื้อ ชั้นที่ 5 เบื่อไม่ลง ชั้นที่ 6 ดงพฤกษา และชั้นที่ 7 ภูผาเอราวัณ ซึ่งเป็นชั้นบนสุดเมื่อน้ำตกไหลบ่าจะมีลักษณะคล้ายหัวช้างเอราวัณและทำให้น้ำในลำธารเปล่งประกายเป็นสีเขียวมรกตด้วย บริเวณใกล้กันยังมีถ้ำพระธาตุ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติเอราวัณประมาณ 12 กิโลเมตร เป็นถ้ำมืดขนาดใหญ่พื้นถ้ำเรียบ มีความยาวประมาณ 200 เมตร มีหินงอกหินย้อยรูปร่างสวยงามแปลกตา จุดเด่นของถ้ำพระธาตุคือหินส่วนใหญ่จะโปร่งแสงและมีหินทรายรูปร่างคล้ายพระธาตุ นอกจากนี้ยังมีเสาเอก เสาโท อยู่ภายในถ้ำอีกด้วย

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเอราวัณ กล่าวอีกว่า อุทยานแห่งชาติเอราวัณ ได้จัดกิจกรรมนันทนาการหลายประเภท เพื่อรองรับการใช้ประโยชน์และตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว โดยที่นักท่องเที่ยวสามารถเลือกประกอบกิจกรรมได้ตามความเหมาะสม ซึ่งกิจกรรมที่พบส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับทรัพยากรการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ได้แก่ เดินป่าศึกษาธรรมชาติ อุทยานแห่งชาติเอราวัณมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติ 3 เส้นทางได้แก่ เส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าดิบแล้งม่องไล่ เป็นเส้นทางเดินเท้ายาวประมาณ 1,010 เมตร อยู่ใกล้เคียงในบริเวณเดียวกันกับน้ำตกเอราวัณ เป็นเส้นทางเดินเลียบลำห้วยม่องไล่ เริ่มจากสะพานค่ายพัก ไปบรรจบเส้นทางในน้ำตกชั้นที่ 3 เส้นทางจะเลาะแนวน้ำตกเกือบตลอดเส้นทาง สภาพป่าในเส้นทางนี้เป็นป่าดิบแล้งและป่าทดแทน เส้นทางนี้เหมาะ

สำหรับบุคคลทุกเพศทุกวัยไม่ยากลำบากมากนัก เส้นทางศึกษาธรรมชาติเอราวัณ  (ป่าไผ่) ตลอดเส้นทางเป็นป่าผลัดใบ ป่าไผ่และป่าเบญจพรรณมีป้ายสื่อความหมายตลอดเส้นทางสำหรับเส้นทางเดินมีความลาดชันต่ำและทางเดินมีลักษณะเป็นราดยางและคอนกรีตจึงสามารถเดินศึกษาธรรมชาติได้อย่างสะดวก และ เส้นทางศึกษาธรรมชาติเขาหินล้านปี เป็นเส้นทางเดินเท้ายาวประมาณ 1,940 เมตร เริ่มต้นจากลานจอดรถไปบรรจบกับเส้นทางในน้ำตกบริเวณสะพานน้ำตกชั้นที่ 4 ตลอดเส้นทางจะปรากฏความหลากหลายของสังคมพืช และในเส้นทางนี้จะมีจุดชมวิวที่สวยงามหลายจุด สามารถมองเห็นน้ำตกเอราวัณชั้นที่ 7 (หัวช้างเอราวัณ) ในฤดูน้ำหลากได้ชัดเจน

ส่วน นายชลาทร แก้วสมเด็จ อายุ 41 ปี นักท่องเที่ยวจากกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า วันหยุดในบางช่วงก็จะใช้เวลาเดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อนปีละ 5 ครั้ง ชอบแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นธรรมชาติ เมืองกาญจนบุรี เคยมาท่องเที่ยวแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง น้ำตกเอราวัณเป็นครั้งแรกที่ได้มาเที่ยวชม ที่นี่มีนักท่องเที่ยวไม่มากจนเกินไป รู้สึกชอบตั้งใจจะมาอีกในครั้งต่อ ๆ ไป

ขณะที่ มร.อีจอร์ อายุ 21 ปี ชาวรัสเซีย กล่าวว่า ตนได้ศึกษาเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติในประเทศไทยมานาน ก่อนที่จะตัดสินใจเดินทางมาครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ได้เดินทางมากับกรุ๊ปทัวร์ โดยได้ใช้เวลาในการท่องเที่ยวในเมืองไทย 2 อาทิตย์ ทั้งภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคกลาง และได้มีโอกาสมาเที่ยวที่น้ำตกแห่งนี้ เป็นน้ำตกที่สวยงามมาก

...เมืองกาญจนบุรี เป็นอีกหนึ่งทางเลือก ที่มีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย ที่ให้ไปสัมผัสกัน!!!.

จตุรพร สุขอินทร์



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.