กฟน.โชว์เทคโนโลยีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า รองรับการใช้ EV-CAR
 


กฟน.โชว์เทคโนโลยีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า รองรับการใช้ EV-CAR


กฟน.โชว์เทคโนโลยีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า รองรับการใช้ EV-CAR

การไฟฟ้านครหลวงร่วมจัดกิจกรรมภายใต้แนวคิด "Leveraging forTomorrow ต่อยอดสู่วิถีชีวิตอนาคต" ภายในงาน บางกอกอินเตอร์เนชั่นแนล ออโต ซาลอน 2013 นำรถยนต์พลังงานไฟฟ้าพร้อมจำลองสถานีชาร์จไฟสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อประชาสัมพันธ์ ทิศทางการเติบโตและการบริหารจัดการ ของยนตรกรรมพลังงานไฟฟ้า Electric Vehicle Technology ซึ่ง กฟน. เป็นผู้ดำเนินการในการผลักดันให้มีสถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle (EV) ChargingStation) เป็นแห่งแรกในประเทศ เตรียมเปิดเพิ่มอีก 9 สถานีรวมเป็น 10 สถานี ภายในปี พ.ศ.2556...

การลงทุนเพื่ออนาคตนับเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมในอีกรูปแบบหนึ่งในฐานะที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ดำเนินกิจการในกรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการมีหน้าที่ให้บริการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจัดสร้างและบำรุงระบบการจ่ายพลังงานไฟฟ้าแก่ประชาชน การลงทุนในเทคโนโลยีแห่งอนาคตเพื่อตอบสนองต่อนโยบายด้านการอนุรักษ์พลังงาน และรักษาสิ่งแวดล้อมก็เป็นอีกความรับผิดชอบหนึ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง


วันนี้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้ขับเคลื่อนโครงการวิจัยและศึกษา แนวโน้มการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตตามแผนนำร่องโครงการ 5 ปี (พ.ศ.2555-2559) เพื่อจัดหารถยนต์ไฟฟ้าจำนวน 20 คันไปพร้อมกับการติดตั้งสถานีชาร์จไฟ 10 แห่ง ในสำนักงานเขตของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ที่ปัจจุบันมี 18 แห่ง ภายในสิ้นปี 2556 พร้อมกับจัดทำโครงการวิจัยเพื่อเตรียมความพร้อมของระบบไฟฟ้าจำหน่าย เทคโนโลยี V2G เทคโนโลยี Smart Grid และโครงการวิจัยเพื่อจัดทำระบบเก็บเงินระหว่างเครื่องชาร์จไฟกับศูนย์กลาง โดยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กฟน.เพิ่งเปิดสถานีชาร์จไฟฟ้า (EVCharging Station) แห่งแรก ณ การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานใหญ่ชิดลม โดยในช่วงแรกที่มีการเปิดสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแห่งนี้ นายอาทร สินสวัสดิ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวงได้เปิดให้ประชาชนทั่วไป ที่มีรถใช้พลังงานไฟฟ้าเข้ามาชาร์จไฟฟ้าที่สถานีฟรีการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ทำโครงการนี้เพื่อให้เกิดแรงกระตุ้นในตลาดรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งในแง่การใช้พลังงานแล้ว รถใช้ไฟฟ้ามีอัตราสิ้นเปลือง 69 สตางค์ต่อกิโลเมตร เมื่อเปรียบเทียบกับค่าน้ำมันตอนนี้อยู่ที่กิโลเมตรละ 3 บาท ถือเป็นการลงทุนเพื่ออนาคต เพื่อสิ่งแวดล้อม เพราะราคารถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้ายังสูง ราคาคันละ 2-3 ล้านบาท สถานีควิกชาร์จแห่งหนึ่งใช้เงินลงทุน 6 แสน - 1 ล้านบาท แต่สิ่งที่จะได้กลับมาคือการลดการปล่อยคาร์บอน 60 ตันต่อปีและเป็นการนำร่องให้เกิดโครงข่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในอนาคต เป็นทางเลือกสำหรับการจราจรในชุมชนเมือง รถใช้พลังงานไฟฟ้าเหมาะสำหรับการใช้งานในรัศมี 100 กิโลเมตร


สถานีชาร์จไฟฟ้าที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ลงทุนเพื่อมีไว้สำหรับรถที่นำออกมาใช้นอกบ้านที่ต้องการชาร์จไฟในเวลาสั้นๆ แต่ถ้าให้ดีควรชาร์จไฟให้เต็มแบตเตอรี่ตั้งแต่จอดอยู่ที่บ้าน เนื่องจากต้องใช้เวลาชาร์จจาก 0 จนเต็มนานถึง 20-30 นาที ในโครงการนี้นอกจากจะทำเพื่ออนาคตแล้ว ยังสามารถพัฒนาเป็นธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นแนวโน้มของธุรกิจพลังงานทั่วโลกด้วยเช่นกัน การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จึงขอเชิญชวนประชาชนและผู้สนใจ เข้ามาร่วมศึกษาและค้นหาความแปลกใหม่ของการใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า และค้นหาคุณค่าของการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์สังคมด้วยการช่วยกันรณรงค์ให้สังคมร่วมกันใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้มากยิ่งขึ้น และตระหนักถึงความเข้าใจถึงคุณค่าของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่สามารถตอบโจทย์การร่วมกันอนุรักษ์ทั้งด้านพลังงานเชื้อเพลิง สภาพอากาศ มลภาวะที่ล้วนช่วยให้โลกของเราสดใส และลดมลภาวะของโลกได้อย่างชัดเจน


ที่มาโครงการ
รถยนต์ ประเภทใช้การสันดาปภายใน (Internal Combustion Engine : ICE) ได้ครอบครองตลาดรถยนต์ทั่วโลกมาเป็นระยะเวลาหลายสิบปีจนกระทั่งเกิดวิกฤติ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงใน 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นหลายเท่าตัว อีกทั้งการที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าน้ำมันดิบของโลกจะหมดลงไปในอีกไม่กี่สิบปี รวมถึงความกังวลเรื่องปัญหาโลกร้อน ทำให้หลายประเทศเริ่มตระหนักถึงความจำเป็นในการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อเข้ามาลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง มาตรการดังกล่าวได้รวมถึงการหันมาใช้รถยนต์ที่ใช้พลังงานอื่นเป็นเชื้อเพลิง ทดแทนการใช้น้ำมันรวมทั้งรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้าเป็นพลังงาน หรือที่เรียกว่า “รถยนต์ไฟฟ้า” อย่างไรก็ตามการส่งเสริมให้เกิดการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าให้แพร่หลายมากขึ้น กฟน. ต้องมีการเตรียมการทั้งในด้านระบบจำหน่ายไฟฟ้าของ กฟน. และโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่างๆ เพื่อสร้างความสบายใจแก่ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ยกตัวอย่างเช่นการชาร์จไฟรถยนต์ไฟฟ้า ควรสามารถชาร์จไฟได้ตามสถานที่สาธารณะ ในลักษณะคล้ายคลึงกับที่ผู้ใช้รถยนต์ทั่วไปที่สามารถเติมน้ำมันตามสถานีบริการน้ำมันได้ ไม่ว่าอยู่ในสถานที่ใดจังหวัดใด อีกทั้ง กฟน. คำนึงถึงประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ความปลอดภัยในการชาร์จไฟด้วยกระแสไฟปริมาณสูง ความสามารถในการรองรับการชาร์จไฟจำนวนมากในเวลาเดียวกัน ดังนั้น กฟน.ได้มีการศึกษาในเรื่องเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมมาตรการในการรองรับการเข้ามาของเทคโนโลยีดังที่กล่าวมา


วัตถุประสงค์ของโครงการ

เพื่อศึกษาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ที่เหมาะสมกับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในเขตพื้นที่ของกฟน. และการศึกษา วิจัยเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องในการเตรียมความพร้อมของระบบไฟฟ้าจำหน่ายสำหรับการรองรับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า เช่น ระบบตรวจวัดและควบคุมการจ่ายโหลดของหม้อแปลง มิเตอร์ควบคุมโหลดไฟฟ้า การศึกษาวิจัย จัดทำการกำหนดตำแหน่งที่เหมาะสมในการติดตั้งสถานีชาร์จไฟสาธารณะรวมถึงการศึกษา วิจัยและเตรียมความพร้อมในการจัดทำระบบการเก็บเงินที่สถานีชาร์จไฟและจุดชาร์จไฟสาธารณะ


รถยนต์ไฟฟ้า (
Electric Vehicle :EV) ต่างกับรถยนต์ Hybrid ที่มีจำหน่ายอยู่ในปัจจุบันอย่างไร
รถยนต์ EV เป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่เพียงอย่างเดียว โดยแบตเตอรี่ที่ใช้มีความจุพลังงานสูงแต่เมื่อใช้พลังงานจากแบตเตอรี่จนหมดรถจะไม่สามารถขับเคลื่อนได้ จะต้องทำการชาร์จไฟเพิ่มเติม ส่วนรถยนต์ Hybrid จะขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้าร่วมกัน โดยมีทั้งถังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงและแบตเตอรี่ เมื่อใช้งานแบตเตอรี่หมดรถยนต์ยังคงสามารถขับเคลื่อนได้โดยใช้เครื่องยนต์ แต่แบตเตอรี่ที่ใช้จะมีความจุพลังงานน้อยกว่ารถยนต์ไฟฟ้า EV มาก และยังคงมีการปล่อยก๊าซที่เป็นมลภาวะจากเครื่องยนต์


รายละเอียดรถยนต์ไฟฟ้า
รถยนต์ไฟฟ้าแบบใช้แบตเตอรี่เพียงอย่างเดียวเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ไม่ต้องพึ่งพาเครื่องยนต์ในการสันดาป โดยมีการชาร์จไฟแบตเตอรี่จากระบบไฟฟ้าภายนอกผ่านเครื่องชาร์จไฟซึ่งมีส่วนประกอบที่สำคัญคือ- มอเตอร์ไฟฟ้า- ระบบควบคุมมอเตอร์- แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ามีความคุ้มค่าด้านราคาเชื้อเพลิงที่อาจเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ส่งผลให้ผู้บริโภคยุคใหม่หันมาเทใจใช้รถยนต์ไฟฟ้าก็เป็นได้ เพราะราคาเชื้อเพลิง ซึ่งได้มีการประมาณค่าใช้จ่ายสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ที่ 30 - 60 สตางค์ ต่อกิโลเมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพการจราจร พฤติกรรมการขับขี่รถยนต์ไฟฟ้า มิตซูบิชิ ที่กฟน.ใช้อยู่นั้นมีสมรรถนะที่ดี ทั้งด้านความเร็วซึ่งทำความเร็วสูงสุดถึง 130 กิโลเมตร/ชั่วโมง อัตราเร่งสามารถทำได้ 0-110 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ภายใน 9 วินาที สำหรับเครื่องยนต์ (มอเตอร์ไฟฟ้า) 63 แรงม้า หรือ 47 kW แรงบิดสูงถึง 180 นิวตันเมตร เปรียบเทียบกับรถยนต์มิตซูบิชิที่มีเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมัน (เครื่องยนต์ขนาด 660 C.C.) ที่มีแรงม้าเท่ากันแต่มีแรงบิดเพียง 94 นิวตัน-เมตร (สูงกว่าเท่าตัว) ถึงแม้ว่าปริมาณไฟฟ้าในแบตเตอรี่จะมีกี่เปอร์เซ็นต์ก็ตาม แรงบิดยังคงเดิม ระยะทางเดินทางสูงสุด 160 km มีระบบ regenerative braking ซึ่งในขณะที่มีการเบรก มอเตอร์จะเปลี่ยนเป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและส่งกำลัง ให้กับแบตเตอรี่ น้ำหนัก 1.1 ตัน แบตเตอรี่ชนิด lithium-ion แรงดัน 330V16 kWh


ระบบความปลอดภัยภายในรถ

มีระบบตรวจจับการรั่วไหลไฟฟ้าภายในรถเพราะถึงแม้ว่าแรงดันไฟฟ้าที่ใช้ในการขับเคลื่อนมีกำลังมากถึง 330 โวลต์ ซึ่งหากตรวจพบว่ากระแสไฟฟ้าเกินหรือเกิดการผิดปกติเครื่องจะหยุดทำงาน ต้องเรียกช่างผู้ชำนาญการจากทางบริษัทมาตรวจสอบเท่านั้น ในส่วนของหน้าจอแสดงผลจะมีการประเมิน และคำนวณอัตราเร่งกับกระแสไฟฟ้าที่มีอยู่ซึ่งเป็นตัวช่วยให้เราสามารถวางแผนการเดินทางได้เป็นอย่างดี


ด้านความปลอดภัย
ผู้ผลิตได้ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยแบบสามจุด พร้อมติดตั้งระบบเบรกและระบบป้องกันล้อล็อกตาย ABS (Anti-lock braking system) พร้อมติดตั้ง ถุงลมนิรภัย (AirBag) เหมือนรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นพลังงาน โดยสามารถขับลุยน้ำได้ที่ความสูงระดับ 30 เซนติเมตรอย่างปลอดภัย


ราคาของรถยนต์ไฟฟ้า
รถไฟฟ้า มิตซูบิชิ ไอมีฟ (i-MiEV)ที่ กฟน.ใช้อยู่นี้ราคารวมภาษีเบ็ดเสร็จอยู่ที่คันละ 2.17 ล้านบาท หากรัฐบาลมีการปรับลดภาษีนำเข้ารถยนต์ราคาจะถูกลงกว่าปัจจุบัน (ควรจะลงมือปรับอัตราภาษีนำเข้าได้แล้วสำหรับรถยนต์ประเภทนี้) รถยนต์มิตซูบิชิ ไอมีฟ (i-MiEV) ได้วางจำหน่ายแล้วในประเทศ ญี่ปุ่น ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และทวีปยุโรป 19 ประเทศ


การชาร์จไฟแต่ละครั้งใช้เวลาเท่าไร
รถยนต์ไฟฟ้าสามารถชาร์จไฟได้ทั้ง 2 แบบ คือ แบบ Normal Charge และแบบ Quick Charge

แบบที่1 : การชาร์จไฟแบบปกติ Normal Charge
สามารถชาร์จไฟในบ้านพักอยู่อาศัย เป็นการชาร์จไฟด้วยแรงดัน 230 โวลต์ กระแสไม่เกิน 16 แอมป์ ซึ่งสามารถใช้ไฟจากปลั๊กไฟทั่วไปได้ ใช้เวลาในการชาร์จไฟประมาณ 6-8 ชั่วโมง

แบบที่ 2 : การชาร์จในรูปแบบเร็วหรือ Quick Charge

เป็นการชาร์จไฟผ่านตู้ชาร์จไฟ ซึ่งต้องใช้ไฟฟ้า แรงดัน 3 เฟส 400 โวลต์ กระแสไม่เกิน 100 แอมป์ จากการไฟฟ้าฯ มาแปลงไฟให้เหมาะกับรถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่จะใช้เวลาในการชาร์จไฟไม่เกิน 30 นาที (ประมาณ 80% ของความจุและขึ้นอยู่กับขนาดความจุของแบตเตอรี่) มักจะเป็นการชาร์จไฟตามสถานีชาร์จไฟสาธารณะ ปัจจุบัน กฟน. ได้ติดตั้งสถานีชาร์จไฟแบบ Quick Charge ที่สำนักงานใหญ่การไฟฟ้านครหลวง

ค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ประหยัดกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันอย่างไร

รถยนต์กลุ่มใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95

ราคาปัจจุบัน 39.83 บาท/ลิตร อัตราสิ้นเปลือง 12.50 กิโลเมตร/ลิตร ค่าใช้จ่าย 3.18 บาท/กิโลเมตร

รถยนต์กลุ่มใช้น้ำมัน แก๊สโซฮอล์ 91

ราคาปัจจุบัน 37.38 บาท/ลิตร อัตราสิ้นเปลือง 12.50 กิโลเมตร/ลิตร ค่าใช้จ่าย 3.00 บาท/กิโลเมตร

รถยนต์กลุ่มใช้แก๊ส
NGV
ราคาปัจจุบัน 10.50 บาท/กิโลกรัม หรือ 7.875 บาท/ลิตร อัตราสิ้นเปลือง 10.00 กิโลเมตร/ลิตร ค่าใช้จ่าย 0.79 บาท/กิโลเมตร

รถยนต์กลุ่มใช้แก๊ส
LPG
ราคาปัจจุบัน 29.00 บาท/กิโลกรัม หรือ 21.75 บาท/ลิตร อัตราสิ้นเปลือง 12.50 กิโลเมตร/ลิตร ค่าใช้จ่าย 1.74 บาท/กิโลเมตร รถยนต์กลุ่มรถยนต์ไฮบริด ประหยัดน้ำมันได้ 4.70 ลิตร/100 กิโลเมตร ค่าใช้จ่าย 1.87บาท/กิโลเมตร

รถยนต์ไฟฟ้า
EV-CAR
รถยนต์ไฟฟ้าขนาดมาตรฐานมีค่าใช้จ่ายประมาณ 0.60 บาท/กิโลเมตร ระบบแบตเตอรี่-มอเตอร์ไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงกว่า ระบบน้ำมัน-เครื่องยนต์แบบสันดาปภายในประมาณ 3 เท่า


รถยนต์พลังงานไฟฟ้ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่อย่างไร

เทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าถือเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่กําลังได้รับความนิยมจากทั่วโลก โดยคาดว่าจะเป็นเทคโนโลยีหลักที่จะใช้ในด้านการขนส่งในอนาคต เทคโนโลยีดังกล่าวมีข้อดีหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเนื่องจากกระบวนการขับเคลื่อนของรถยนต์ไฟฟ้าจะใช้พลังงานไฟฟ้าขับเคลื่อนอย่างคุ้มค่าที่สุด และไม่มีเครื่องยนต์ที่ทำให้เกิดการเผาไหม้หรือการสันดาปความร้อน จึงไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซที่เป็นมลภาวะ เช่น ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ สู่ชั้นบรรยากาศ ลดปริมาณการปล่อยมลพิษหรือการปล่อยไอเสียจากรถยนต์ที่ขับในท้องถนนให้เป็นศูนย์ ช่วยให้อากาศในท้องถนนดีขึ้น ถือเป็นการช่วยลดภาวะโลกร้อนและไร้มลพิษทางเสียง นอกจากนี้ยังมีประสิทธิภาพ การใช้พลังงานสูงกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง


กฟน.มีโครงการจะสร้างสถานีชาร์จไฟเพิ่มหรือไม่

กฟน.มีโครงการที่จะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อมาใช้ในงานของ กฟน.อีก 20 คัน พร้อมติดตั้งสถานีชาร์จไฟ อีก 11 แห่งทั่ว กทม. เพื่อเป็นโครงการศึกษาวิจัย โครงการทดสอบรถยนต์ไฟฟ้าแห่งแรกในประเทศไทย นอกจากนั้น กฟน. จะมีโครงการศึกษาและวิจัยอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการเกี่ยวกับการออกแบบระบบจำหน่ายเพื่อรองรับปริมาณการใช้รถยนต์โครงการวิจัยเพื่อเตรียมความพร้อมของระบบไฟฟ้าจำหน่ายการกำหนดมาตรฐานจุดชาร์จต่างๆ การออกแบบสถานีชาร์จไฟในอนาคต


ผู้สนใจสามารถชมเทคโนโลยีรถยนต์พลังงานไฟฟ้า EV-CAR พร้อมสัมผัสรถยนต์คันจริงและสถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle (EV) ChargingStation) ณ งานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล ออโต ซาลอน 2013 งานแสดงรถแต่งและอุปกรณ์โมดิฟายที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ครั้งที่ 2 ลิขสิทธิ์แท้จากโตเกียว ออโต ซาลอน ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 20-30 มิถุนายน 2556 ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 2-3 เมืองทองธานี.

อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail [email protected]
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom

 



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.