กล้านรงค์ จันทิก เปิดใจก่อนพ้นวาระป.ป.ช.
 


กล้านรงค์ จันทิก เปิดใจก่อนพ้นวาระป.ป.ช.


กล้านรงค์ จันทิก เปิดใจก่อนพ้นวาระป.ป.ช.
วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2556 ปีที่ 23 ฉบับที่ 8244 ข่าวสดรายวัน


กล้านรงค์ จันทิก เปิดใจก่อนพ้นวาระป.ป.ช.


สัมภาษณ์พิเศษ



"ผมต้องการให้เกิดการกดดันในทางสังคม ที่เรียกว่าโซเชี่ยลแซงก์ชั่น ทำอย่างไรจะปลุกค่านิยมสังคมไทยให้เกิดการรังเกียจการคอร์รัปชั่น"



คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือป.ป.ช. เป็นอีกองค์กรอิสระ ที่มีบทบาทมากหลังการรัฐประหารในปี 2549

ในจำนวน 9 คน นายกล้านรงค์ จันทิก เป็นกรรมการป.ป.ช. ที่โดดเด่นคนหนึ่ง ทำคดีสำคัญที่มีผลต่อบ้านเมืองหลายคดี

วันที่ 18 ก.ย.นี้ นายกล้านรงค์ จะมีอายุครบ 70 ปี ซึ่งครบวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการป.ป.ช.

ก่อนเกษียณ นายกล้านรงค์เปิดใจถึงชีวิตการทำงานที่คลุกคลีอยู่กับการสอบทุจริต กระทั่งได้เข้ามาเป็นป.ป.ช.ด้วยความไม่เต็มใจ รวมถึงงานหินที่คั่งค้าง และชีวิตหลังพ้นวาระ ไว้ดังนี้



ผมทุ่มเททำงานเรื่องป้องกันและปราบปรามการทุจริตมานาน ตั้งแต่ก่อนจะย้ายมาอยู่ป.ป.ป.ด้วยซ้ำไป

เดิมผมเป็นนิติกร มีหน้าที่ตรวจสอบ สอบสวน เรื่องต่างๆ ทำงานมาไม่เคยได้พักเลยแม้แต่วันเดียว จนเกษียณจากเลขาธิการป.ป.ช. ตั้งแต่ 30 ก.ย. 2546 วันที่ 1 ต.ค. 2546 ผมก็ทำงานต่อในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการป.ป.ช.ชุดแรก ชุดของนายโอภาส อรุณินท์ อดีตประธานป.ป.ช. ทำงานจนถึง 31 มี.ค. 2547

ลาออกไปเป็นผู้ทรงคุณวุฒิมหาวิทยาลัยรามคำแหงและสอนหนังสือ แล้วก็ไปเป็นรองประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นประธานอนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ ตรวจสอบเรื่องจรรยาบรรณของนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ และไปเป็นที่ปรึกษากฎหมาย

วันที่ 19 เม.ย. 2549 ลงสมัครรับเลือกตั้งวุฒิสมาชิก เหตุผลที่สมัครส.ว. เพราะต้องการพิสูจน์สิ่งที่สอนไว้ว่า คนเราต้องถือทฤษฎีเหรียญสองหน้า

หมายความว่า ข้าราชการเมื่อถึงจุดหนึ่ง การทำความผิดด้วยความเกรงกลัวคนอื่น หรือผู้บังคับบัญชาสั่ง นักการเมืองสั่ง แล้วกลัวถ้าไม่ทำแล้วจะอยู่กับเขาไม่ได้ กลัวไม่ได้ตำแหน่ง ไม่ได้เลื่อนยศ

การทำอย่างนั้นได้ตำแหน่ง ได้ยศ นั่นคือเหรียญหน้าที่หนึ่ง แต่อีกหน้าหนึ่ง คือการกระทำนั้นเป็นความผิด และถ้าทำผิดกฎหมายอาญาก็ถึงติดคุก ผิดวินัยร้ายแรงก็ถูกไล่ออก ปลดออก

ขณะเดียวกัน ถ้าคุณไม่ทำตามที่เขาสั่ง ยึดมั่น กล้ายืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง อาจมีผลกระทบ แต่สิ่งที่คุณได้คือความซื่อสัตย์ สุจริต สั่งสอนลูกได้ด้วยความภาคภูมิใจ และที่สำคัญคือไม่มีชนักปักหลัง

ผมจึงอยากพิสูจน์ทฤษฎีเหรียญสองหน้าที่ยึดมาตั้งแต่ปี 2544 ในการทำคดีสำคัญๆ โดยเฉพาะคดีที่เป็นที่รู้จักกัน 2 คดี คือ คดีของพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ (แสดงบัญชีทรัพย์สิน-หนี้สินเป็นเท็จ) และคดีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2544 (คดีซุกหุ้น)

หลังจากนั้นก็ไม่ได้ทำงานอะไรที่เป็นผลงานมากมายนัก จนปี 2549 แต่เวลาไปไหนมาไหนคนก็ยังเรียกครูอาจารย์ และให้กำลังใจ จึงอยากพิสูจน์ว่าถ้าลงสมัครส.ว.กทม.จะได้คะแนนกี่คะแนน

สมัยนั้นมีคุณสมัคร สุนทรเวช คุณพิจิต รัตตกุล และผู้ใหญ่อีกหลายๆ คนลงสมัคร ผมมาเป็นที่ 3 ของกทม. เป็นที่ 4 ของประเทศ แพ้คุณชัย ชิดชอบ นั่นคือความภาคภูมิใจ แล้วก็ตั้งใจจะจบชีวิตทางนิติบัญญัติ

แต่ต่อมามีการปฏิวัติ 19 ก.ย. 2549 ผมไม่ได้รู้จักพวกทหาร แต่มีคนมาบอกว่าให้มาช่วยงาน ผมก็บอกว่ายินดีและก็ไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพราะผมถือว่าผมมาจากนิติบัญญัติ

หลังจากนั้นมีนักกฎหมายใหญ่ท่านหนึ่งที่เอ่ยชื่อใครๆ ก็รู้จัก ติดต่อให้มาเป็นป.ป.ช. ทั้งที่ผมปฏิเสธ เพราะชีวิตผมตั้งแต่ปี 2544 มานั้น ได้รับผลกระทบหลายอย่างมากมาย ครอบครัวก็มีปัญหา ญาติพี่น้องก็ได้รับผลกระทบ จึงคิดว่าขอเถอะ แต่ท่านนั้นก็ขอให้ทำเพื่อบ้านเพื่อเมือง

หลังจากนั้น พอมีการประกาศแต่งตั้งจึงมีชื่อผมเป็นกรรมการป.ป.ช. ซึ่งผมจะปฏิเสธ แต่ผู้ใหญ่หลายคนขอร้องให้ทำเพื่อบ้านเพื่อเมือง



วางแผนชีวิตหลังเกษียณอย่างไร

ผมไม่ได้วางแผนว่าต้องทำอะไร ก่อนจะมาเป็นกรรมการป.ป.ช.ผมต้องไปถอนทะเบียนทนายความทิ้ง ให้ถูกต้องตามคุณสมบัติ จึงตั้งใจว่าถ้าจบตรงนี้แล้วจะกลับไปทำหน้าที่เป็นนักกฎหมายต่อไป

อาจเป็นที่ปรึกษากฎหมาย สอนหนังสือตามมหาวิทยาลัย หรือเป็นทนายความ แต่ยังไม่ได้คิดว่าถึงเวลานั้นแล้วจะทำอะไรต่อไป อยากจะพักผ่อนสักระยะหนึ่ง เพราะชีวิตเราไม่เคยได้พักผ่อนเลย

งานใดที่จะเป็นประโยชน์แก่สังคมได้ผมก็ยินดีและคงไม่ทิ้งงานนี้ แต่ที่ผมคำนึงถึงอยู่ตลอดเวลา คือ งานด้านป้องกันการทุจริต ที่ผมพยายามทุ่มเท ให้ความรู้กับเยาวชน นักเรียน ศิลปินพื้นบ้าน ศิลปินตลก ก็ขอให้เขาใช้คำพูด คำร้องต่างๆ เพื่อนำเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเสนอสู่สังคม

ที่ผมเป็นห่วงมาก คือ ค่านิยมของสังคมไทยขณะนี้คือ ไม่ได้รังเกียจการคอร์รัปชั่น ผมต้องการให้เกิดการกดดันในทางสังคม ที่เรียกว่าโซเชี่ยลแซงก์ชั่น ทำอย่างไรจะปลุกค่านิยมสังคมไทยให้เกิดการรังเกียจการคอร์รัปชั่น รังเกียจคนเหล่านี้

ผมไม่เคยภูมิใจในตำแหน่งใดๆ ที่เป็นมาหลายตำแหน่ง ทั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ส.ว. รองประธานสภาการหนังสือพิมพ์ฯ หรือสนช.

ผมไม่เคยภูมิใจเท่าตำแหน่งอดีตเลขาธิการป.ป.ช. เพราะองค์กรนี้สร้างผมมาตั้งแต่ข้าราชการระดับ 4 จนมาเป็นระดับ 11 และองค์กรนี้ก็ไม่เสื่อมเสีย





เป็นห่วงงานด้านใดบ้างและงานที่อยากให้สานต่อ

งานที่ค้างคายังมีหลายเรื่องที่ผมรับผิดชอบงานสอบสวน ตรวจสอบทรัพย์สิน งานด้านการป้องกัน จำเป็นต้องทำให้เสร็จในระยะเวลาอีก 3 เดือน ถือเป็นงานที่หนักมาก แต่ก็มีกรรมการคนอื่นสางต่อได้

เพราะหลายเรื่องที่สำคัญๆ ก็มีกรรมการคนอื่นเป็นอนุกรรมการอยู่ด้วย เช่น จำนำข้าว มีท่านวิชา มหาคุณ ท่านประสาท พงษ์ศิวาภัย เป็นอนุกรรมการอยู่ สามารถทำงานต่อไปได้แม้ผมจะพ้นไปแล้ว

แต่ทุกเรื่องที่จะเร่ง ไม่ใช่เร่งแล้วหลวม เพราะสำนวนป.ป.ช.นั้นเป็นสำนวนศาลที่ใช้ระบบไต่สวน ดังนั้น สำนวนป.ป.ช.ต้องครบถ้วนสมบูรณ์ ต้องมีพยานหลักฐานที่ชัดเจน สามารถฟ้องคดีได้เพราะศาลต้องนำสำนวนป.ป.ช.เป็นหลัก จึงต้องทำทุกอย่างให้ชัดเจนสมบูรณ์



รู้สึกอย่างไรที่ป.ป.ช.ถูกวิจารณ์ว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลและนักการเมือง

ไม่รู้สึกอะไรเลย เพราะป.ป.ช.ไม่เคยเป็นอย่างนั้น ไม่ว่าจะฝ่ายไหนก็ตาม จะเห็นว่า ป.ป.ช.สอบสวนฝ่ายค้านที่เคยเป็นรัฐบาลมา ผิดป.ป.ช.ก็ดำเนินการ

ยกตัวอย่างกรณีคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ส่งคนไปช่วยงานในกระทรวงวัฒนธรรม ป.ป.ช.เห็นว่าเป็นกรณีที่ผิด ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญก็ชี้มูล ส่วนการถอดถอนจะได้หรือไม่ได้ก็เป็นอีกกระบวนการหนึ่ง

และผมเป็นคนขึ้นแถลง ว่าคดีด้วยตัวเอง ฉะนั้นเราไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เราทำงานตามหน้าที่ ผิดก็ผิด ไม่ผิดก็ไม่ผิด

อย่างเรื่องของนายกรัฐมนตรีกรณีค้ำประกันบริษัทคู่สมรส ป.ป.ช.ตรวจสอบแล้วว่าไม่ผิด เราก็แถลงว่าท่านไม่ผิด เราไม่อยู่ในฐานะที่แกล้งใครหรือช่วยใครได้ ผิดก็ผิด ถูกก็ถูก นี่คือหลัก

หรือจะไปดูหนังสืองานศพ พล.ต.สนั่น ได้ ผมเขียนไว้ตรงๆ ไม่ได้มีอคติต่อกัน ผมเรียกท่านว่าพี่ เคารพนับถือกัน แต่ด้านการทำหน้าที่ก็ส่วนหน้าที่แต่เรื่องส่วนตัวก็ส่วนตัว นี่คือหลักการทำงานของผม

ผมถึงไม่เคยมีความรู้สึก ใครจะมากล่าวหาอะไรก็แล้วแต่ เรารู้ตัวเองดีว่าเราเป็นอย่างไร





ต้องการฝากป.ป.ช. กับสังคมอย่างไร

ป.ป.ช.เป็นองค์กรที่มีความสำคัญ ต้องทำงานอุทิศเพื่อประโยชน์ของสังคม การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเป็นภารกิจที่สำคัญยิ่ง และไม่ใช่ภารกิจของป.ป.ช.อย่างเดียว แต่เป็นภารกิจของคนทั้งชาติต้องช่วยกัน ในการขจัดคอร์รัปชั่นให้หมดสิ้นไป

ถ้าคอร์รัปชั่นยังมีต่อไปแล้วเราไม่ช่วยกันปราบปราม ในที่สุดเราจะไม่มีอะไรเหลืออยู่เลยในแผ่นดินนี้


หน้า 3




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.