ปลดล็อกศักยภาพลูกน้อย สู่อัจฉริยภาพสร้างได้
 


ปลดล็อกศักยภาพลูกน้อย สู่อัจฉริยภาพสร้างได้


ปลดล็อกศักยภาพลูกน้อย สู่อัจฉริยภาพสร้างได้

ทำความเข้าใจกันเสียใหม่หากจะบอกว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพแตกต่างกันมาแต่กำเนิด เพราะแท้จริงแล้วเด็กทุกคนเริ่มต้นมาเท่าๆกัน เพียงแต่ผู้ปกครองต้องเลี้ยงดูเสริมสร้างศักยภาพอย่างถูกวิธี

เรื่องจริงที่คุณพ่อคุณแม่หลายท่านอาจยังไม่ทราบก็คือ เด็กทุกคนเกิดมาพร้อมกับหนึ่งแสนล้านเซลล์สมอง (neuron) เท่าๆ กัน แต่เพราะการเลี้ยงดูและโภชนาการ จึงทำให้เด็กแต่ละคนเติบโตมามีศักยภาพที่แตกต่างกัน โดยสมองประกอบด้วยเซลล์สมองที่มีใยประสาทประสานกันเป็นร่างแห เพื่อใช้ในการติดต่อและส่งสัญญานประสาทที่เดินทางรวดเร็วถึง 100 เมตรต่อวินาที หรือประมาณ 360 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดังนั้นทุกครั้งที่เด็กได้เรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ เซลล์สมองจะเชื่อมต่อสร้างเป็นเครือข่ายใยประสาท ทำให้เกิดการคิดรูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญให้เด็กๆ พร้อมเรียนรู้เรื่องราวที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น



จากการศึกษาพบว่าศักยภาพสมองของลูกน้อยอาจถูกใช้เพียงแค่ 1% เท่านั้น เนื่องจากการพัฒนาด้านการเรียนรู้ของเด็กไม่ได้ถูกกระตุ้นให้ใช้งานสมองทั้งสองซีกโดยปกติ สมองซีกซ้ายทำงานเกี่ยวกับตรรกะ ภาษา ความเป็นเหตุเป็นผล ตัวเลข การวิเคราะห์ ส่วนสมองซีกขวาทำงานเกี่ยวกับด้านศิลปะ ดนตรี จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ แต่หากเด็กไม่ได้ถูกกระตุ้นให้ฝึกใช้สมองทั้งสองซีกพร้อมๆ กัน จะทำให้การใช้งานเซลล์สมองไม่เต็มประสิทธิภาพ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยปลดล็อกศักยภาพสมองของลูกน้อยให้ใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ ด้วยการกระตุ้นการใช้สมองทั้งสองซีก เพื่อให้สมองซีกซ้ายและซีกขวาเกิดการเชื่อมโยงกันจนนำไปสู่การเรียนรู้ที่ไร้ขีดจำกัด



นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชกรรม หัวหน้าหน่วยพัฒนาการเด็กและวัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กล่าวว่า “เด็กเกิดมามีเซลล์สมองแสนล้านเซลล์เท่ากัน และในช่วง 3 ปี หรือประมาณ 1,365 วันแรก สมองของลูกน้อยจะเจริญเติบโตและเพิ่มน้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็วถึงประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากเด็กๆ ไม่ได้รับการกระตุ้นทางสมอง ร่างกายก็จะค่อยๆ กำจัดเซลล์สมองที่ไม่ได้ใช้งานออกไป ทำให้เด็กแต่ละคนมีพัฒนาการที่ต่างกัน ดังนั้น ในช่วง 3 ปีแรก จึงถือเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดที่ คุณพ่อคุณแม่จะต้องพยายามสร้างโอกาสในการเรียนรู้ให้กับลูกให้มากที่สุด เพื่อการพัฒนาสมองของลูกให้เต็มศักยภาพและต่อเนื่อง โดยจำเป็นต้องส่งเสริมการกระตุ้นให้ลูกได้ฝึกใช้งานสมองทั้งสองซีก ด้วยการส่งเสริมให้ลูกเล่นหรือทำกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อคงสมองส่วนที่ทำงานเอาไว้ อาทิ การต่อบล็อกไม้ การต่อภาพจิ๊กซอว์ เพื่อฝึกฝนทักษะการคิดวิเคราะห์ ในขณะที่การวาดภาพระบายสี การปั้นดินน้ำมัน หรือการร้องเพลงจะช่วยส่งเสริมด้านจินตนาการ เป็นต้น และปัจจุบันยังมีอีกหนึ่งเทคนิคที่ได้รับความนิยมที่เรียกว่า ‘Mind Maps’ หรือ ‘แผนผังความคิด’ ซึ่งเป็นเครื่องมือในการพัฒนาสมองทั้งสองซีกอย่างสมดุล ที่สำคัญเทคนิค Mind Maps นี้ ยังมีส่วนช่วยให้แสนล้านเซลล์สมองของเด็กสามารถพัฒนาได้ก้าวหน้าเร็วขึ้น

Mind Maps หรือแผนผังความคิด คือ เทคนิคที่ช่วยจัดระบบความคิด โดยเชื่อมต่อทั้งส่วนตรรกะและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นเทคนิคที่ได้รับความนิยมทั่วโลก หากคุณพ่อคุณแม่เลือกใช้เทคนิค Mind Maps มาเป็นเครื่องมือในการสอนลูกน้อย จะเป็นการช่วยกระตุ้นให้ลูกได้ฝึกใช้งานสมองทั้งสองซีก ส่งเสริมการเรียนรู้ จดจำ และวิเคราะห์ สามารถต่อยอดสู่การเรียนรู้ไร้ขีดจำกัด นอกจากนี้ การจดโน้ต และการใช้แผนผังความคิดแนวเดียวกับ Mind Maps ถูกพบในชิ้นงาน และบันทึกของอัจฉริยะบุคคลระดับโลก ได้แก่ ลีโอนาร์โด ดาร์วินชี, อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ และวินสตัน เชอร์ชิล เป็นต้น



“นอกจากนี้ โภชนาการก็ถือเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาสมอง การที่ลูกได้รับโภชนาการที่ดีและเหมาะสมกับวัยจะส่งผลต่อระบบการทำงานของสมองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเป็นการกระตุ้นให้เซลล์สมองเกิดการเชื่อมต่อ สร้างเครือข่ายใยประสาทให้มากขึ้น โดยสารอาหารสำคัญซึ่งช่วยในการพัฒนาสมอง ได้แก่ DHA (ดีเอชเอ) ซึ่งเป็นกรดไขมันจำเป็นที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้ และเป็นโครงสร้างพื้นฐานของเซลล์สมอง พบได้ในน้ำนมแม่ ซึ่ง DHA ในน้ำนมแม่มาจากสารอาหารที่คุณแม่รับประทานเข้าไป คุณแม่ที่ให้นมบุตรจึงควรเลือกรับประทานอาหารที่มี DHA สูง อย่างเช่น ปลาทะเลน้ำลึก และควรเน้นให้ลูกได้รับนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน หลังจากนั้นอาจต้องเสริมเพิ่มเรื่องของอาหารเสริมเข้ามา” นพ.พงษ์ศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติม



ดังนั้น สมองของลูกน้อยจะเจริญเติบโต พัฒนา และเชื่อมต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดนั้น จะต้องได้รับการส่งเสริมที่เหมาะสม ทั้งด้านโภชนาการและการเลี้ยงดู รวมถึงการฝึกคิดอย่างเป็นระบบหรือจัดสรรกระบวนการคิดที่กระตุ้นให้ได้ใช้สมองทั้งสองซีกอยู่เป็นประจำ เพื่อนำไปสู่การสร้างอัจฉริยภาพของลูกน้อย

 



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.