อ่างเก็บน้ำ "น้ำปี้" ชีวิตใหม่ชาวเชียงม่วน
 


อ่างเก็บน้ำ "น้ำปี้" ชีวิตใหม่ชาวเชียงม่วน


 อ่างเก็บน้ำ

Delight Moment (88)/ สุมิตรา จันทร์เงา

ต้นปีที่แล้วไปเมืองน่านเพราะมีงานเขียนเรื่องภูมิปัญญาครูช่างเครื่องเงินชาวเขา มีโอกาสได้ไปเห็นความงามในซอกมุมเล็กๆของเมืองปัวที่ยังไม่เคยเปิดเผยมาก่อน ถือเป็นโชคอย่างยิ่ง


ปีนี้มีคนชวนไปดูป่าต้นน้ำและโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำแถวน่าน-พะเยา


ตอนแรกก็ไม่ค่อยสนใจนักแต่พอได้ยินชื่อ “เมืองเชียงม่วน” ขึ้นมาก็หูผึ่ง เพราะอำเภอเล็กๆนี้มีกลุ่มคนไทลื้อที่ยังรักษาขนบธรรมเนียมแบบสิบสองปันนา อาศัยอยู่ในหมู่บ้านหลายแห่งไม่ว่าจะเป็นบ้านท่าฟ้าเหนือ บ้านท่าใต้ บ้านฟ้าสีทองบ้านฟ้าใหม่ บ้านหล่าย บ้านทุ่งมอก บ้านทุ่งเจริญ บ้านป่าแขม บ้านแพทย์ และบ้านมางบางส่วน


มีกลุ่มชาวเขาเผ่าเย้าที่นับถือผีเชื่อเรื่องโชคลางอาศัยอยู่แถวบ้านบ่อต้นสักบ้านนาบัว บ้านห้วยก้างปลา ขณะที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนเมืองล้านนาอาศัยอยู่ในทุกหมู่บ้านในอำเภอเชียงม่วนชาวบ้านเหล่านี้มีอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก

 

 

ตุงอันงดงามแบบไทลื้อ

 

 

 เป็นการประสมประสานวิถีวัฒนธรรมที่น่าสนใจแถมประวัติศาสตร์เมืองเชียงม่วนก็เป็นเรื่องสนุกเพราะว่าพื้นที่เชียงม่วนเคยขึ้นอยู่กับ 3 จังหวัดด้วยกัน แรกเริ่มเดิมทีเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอบ้านม่วง จังหวัดน่านต่อมารัฐแบ่งพื้นที่ใหม่แยกเชียงม่วนในน่านมาขึ้นกับเชียงรายแล้วตั้งเป็นกิ่งอำเภอเชียงม่วน จังหวัดเชียงรายและยกระดับเป็นอำเภอเชียงม่วนภายหลัง สุดท้ายเมื่อมีพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดพะเยาพ.ศ.2520 พื้นที่อำเภอเชียงม่วนก็กลายเป็นของจังหวัดพะเยาในที่สุด


ที่เชียงม่วนมี วัดท่าฟ้าใต้ เป็นวัดศิลปะไทลื้อที่งดงามมาก โดยเฉพาะโบสถ์หลังคามุงแป้นเกล็ดซ้อนกัน ๓ ชั้น สัดส่วนสวยงามอ่อนช้อย หน้าบันเป็นลายเครือเถา ใบระกาเป็นไม้สักแกะสลักรูปพญานาคงามได้สัดส่วนลงตัวทั้งสีสันและรูปทรง ส่วนเชิงชายฉลุลายน้ำหยดเป็นเอกลักษณ์ของไทลื้อ

 

พระอุโบสถแบบไทลื้อของวัดท่าฟ้าใต้

 

 


ภายในโบสถ์ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะล้านนาแกะสลักจากไม้ประดู่และมีตุงแขวนอยู่เต็ม ลวดลายสีสันบนผืนตุงบ่งบอกความเป็นไทลื้อแบบไม่มีอะไรให้กังขา เป็นการผสมผสานล้านนากับไทลื้ออย่างงดงามแท้


แต่วัดท่าฟ้าใต้ก็ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของคนต่างถิ่นมากนักและดูเหมือนททท.จะไม่ได้ระบุให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันน่าสนใจของเมืองพะเยาเมื่อเทียบกับวัดอื่นๆ


...

 

 

เราใช้“นกแอร์” เป็นยานพาหนะ แต่วิธีการจัดการเที่ยวบินของนกแอร์ทำให้พวกเราต้องเปลี่ยนชื่อเรียกเสียใหม่ว่า อีแร้ง ก็เพราะสายการบินนึกอยากจะเปลี่ยนเที่ยวบินหรือยกเลิกการเดินทางเมื่อไหร่ก็ทำโดยพลการทั้งที่ตั๋วออกแล้ว ยืนยันที่นั่งวันเดินทางเรียบร้อยล่วงหน้าเป็นสัปดาห์ แต่พอถึงวันเดินทางกลับยกเลิกไฟลท์เช้าเปลี่ยนเป็นไฟลท์สาย วันที่จะกลับยืนยันเที่ยวบินตอนแรก 1 ทุ่มก็มาเปลี่ยนเป็น 3 ทุ่มครึ่งตามใจตัวเองแบบไม่สนปัญหาของคนโดยสารกลายเป็นเรื่องโกลาหลไปหมด


เข้าใจว่าสายการบินต้นทุนต่ำมีข้อจำกัดหลายอย่างแต่ไม่ใช่เรื่องที่ว่า... รู้ทั้งรู้เครื่องบินมีจำนวนจำกัด ยังดันทุรังเพิ่มเที่ยวบินไม่รู้จบแล้วพยายามวิ่งรอกเอาเครื่องไปใช้ให้ทันตามตารางบินจนติดขัดไปหมด


เรื่องที่นกแอร์ล้อหลุดที่สนามบินเชียงรายคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องการบริหารจัดการเครื่องบินและเที่ยวบินที่มีข้อบกพร่องหลายจุด เดชะบุญที่ไม่มีใครบาดเจ็บล้มตาย ไม่เช่นนั้นอีแร้งลงหลุมแน่ๆ


...

 

 

สภาพภูเขาหัวโล้นเขตป่าเสื่อมโทรมในบริเวณลุ่มน้ำยม จังหวัดน่าน

 


ลงเครื่องบินที่น่านเพื่อเดินทางต่อไปพะเยา ใช้เส้นทางตัดผ่านภูเขาในบริเวณป่าต้นน้ำของจังหวัดน่านและรอยต่อพะเยา เห็นสภาพภูเขาสองข้างทางแล้วสะท้อนสะท้านใจ


ภูเขาทั้งฝั่งซ้ายขวาถนน หัวโล้นเตียนโล่ง ป่าไม้เหี้ยนแบบไม่เหลือซาก ไม่รู้มาจากฝีมือใครบ้าง ไม่รู้ว่าทำโดยวิธีการใดบ้าง ผืนดินแล้งโล้นนั้นว่างเปล่าในฤดูแล้ง ใต้เปลวแดดจัดจ้าน ร้อนระอุ


เรานั่งอยู่ในรถตู้กันเงียบกริบ ไม่ต้องมีผู้เชี่ยวชาญคนไหนมาคอยอธิบายก็เข้าใจจนจุกอยู่ในอกว่า นี่เองคือต้นเหตุที่ทำให้จังหวัดน่านถูกน้ำท่วมใหญ่ทุกปี และลุ่มน้ำยมที่เคยเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 A นั้นดูเหมือนจะหมดสภาพไปเรียบร้อยแล้ว


ภาพที่เห็นคือประจักษ์พยานว่าบริเวณภาคเหนือเราไม่เหลือพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ที่สมบูรณ์พอจะอุ้มน้ำฝนเอาไว้ในฤดูน้ำหลากอีกแล้วน้ำท่วมกรุงเทพฯปี 2554 ที่มาจากน้ำเหนือ ต้นตอแท้จริงเริ่มจากบริเวณนี้เอง การระบายน้ำออกจากเขื่อนเป็นปัญหากลางทางต่างหาก


แล้วลุ่มน้ำชั้นที่ 1 A คืออะไร?

 

 


ฉันต้องถามผู้รู้จากกรมชลประทาน ถึงได้ความกระจ่างว่าเมื่อปี พ.ศ.2528 คณะรัฐมนตรีมีมติเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำออกมา โดยแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำออกเป็น 5 ระดับชั้นตามลำดับความสำคัญในการควบคุมระบบนิเวศของลุ่มน้ำเพื่อกำหนดแผนการใช้ที่ดินในพื้นที่ต่างๆอย่างเหมาะสม

 

เจ้าหน้าที่กรมชลประทานพาออกสำรวจพื้นที่

 


พื้นที่สำคัญที่สุดคือพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 กำหนดเป็นพื้นที่ที่ต้องสงวนรักษาไว้เป็นให้เป็นต้นนำลำธารโดยเฉพาะ แทบไม่ให้ใครเข้าไปแตะต้องเลย(แต่ข้อเท็จจริงคือพื้นที่บริเวณนี้ถูกบุกรุกแผ้วถางมากที่สุดทั้งโดยชาวบ้านและนายทุนทำกันตลอดเวลาโดยเจ้าหน้าที่ไม่มีกำลังพอที่จะดูแล)


ลักษณะกว้างๆของพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 จึงหมายถึงบริเวณต้นน้ำซึ่งอยู่ตอนบนของพื้นที่ลุ่มน้ำ ส่วนที่มีภูมิประเทศสูงชันมากและพื้นที่ที่ยังมีสภาพป่าสมบูรณ์จะเรียกว่าพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น1 A พื้นที่ที่สภาพป่าส่วนใหญ่ถูกทำลายแล้ว เรียกว่าพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 บี

 


ในปี 2528 พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1A ระบุไว้ชัดเจนว่า ได้แก่ พื้นที่ต้นน้ำลำธารที่ยังมีสภาพป่าสมบูรณ์ ของลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน ชี มูล  ลุ่มน้ำภาคใต้ทั้งหมด ลุ่มน้ำภาคตะวันออก ลุ่มน้ำตะวันตก ลุ่มน้ำป่าสักในภาคกลาง  และลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ส่วนลุ่มน้ำชายแดนอื่นๆ จัดเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1B เพราะพื้นที่ที่สภาพป่าส่วนใหญ่ได้ถูกทำลาย ดัดแปลง หรือเปลี่ยนแปลงเพื่อการพัฒนาหรือการใช้ที่ดินรูปแบบอื่นไปแล้ว

 

 


ด้วยกฏกติกาข้อนี้เองการบริหารจัดการลุ่มน้ำยมจึงเป็นประเด็นที่อ่อนไหวมาก ผนวกกับในบางพื้นที่ชาวบ้านได้ใช้ปากเสียงปกป้องสิทธิของตนเองในการบริหารจัดการทรัพยากร การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆจึงดำเนินไปได้อย่างล่าช้า เนื่องจากทั้งถูกต่อต้านด้วยความไม่เข้าใจจริงๆและเข้าใจผิด รวมไปถึงประเด็นที่รัฐไม่ได้ลงไปฟังเสียงชาวบ้านมาก่อน


กรณี “เขื่อนแก่งเสือเต้น” ที่จะปิดกั้นลำน้ำยมที่อำเภอสอง จังหวัดแพร่ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบนเป็นกรณีตัวอย่างที่ชัดเจนอย่างยิ่งเมื่อชาวบ้านสองกลุ่มเห็นกันไปคนละทางกลุ่มหนึ่งเชื่อว่าเขื่อนจะช่วยป้องกันอุทกภัยซ้ำซากในพื้นที่ได้พร้อมกับประโยชน์ด้านการชลประทานในพื้นที่กว่า3 แสนไร่  อีกกลุ่มที่เสียประโยชน์ก็ออกมาคัดค้านหัวชนฝาด้วยข้ออ้างว่าเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ซึ่งยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ในบริเวณนั้น

 


แก่งเสือเต้นก็เลยอยู่แต่บนกระดาษมาตั้งแต่ปี 2523..


...

 


แต่ อ่างเก็บน้ำ “น้ำปี้” แม้จะอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำยมอันอ่อนไหวเช่นกันกลับไม่ได้มีปัญหาในหมู่ชาวบ้านเลย ด้วยว่าเป็นอ่างเก็บน้ำที่ขยายขึ้นจากฝายน้ำปี้ที่กั้นลำน้ำสาขาของแม่น้ำยม มิใช่ลำน้ำยมโดยตรง นอกจากนั้นยังเป็นความต้องการของชาวบ้านอย่างแท้จริง


ราษฎรในแถบอำเภอเชียงม่วนและพื้นที่ใกล้เคียงร้องขออ่างเก็บน้ำเพื่อการชลประทานแก้ไขความเดือดร้อนของพวกเขามาตั้งแต่ปี2519 เพราะสภาพพื้นที่ในแถบนั้นฤดูฝนของทุกปีเวลาฝนตกหนักจะเกิดน้ำไหลหลากลงลำน้ำปี้ทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนราษฎรเป็นประจำขณะที่หน้าแล้งน้ำกลับมีไม่เพียงพอต่อการอุปโภคและบริโภค

 

ลำน้ำปี้บริเวณที่เป็นฝายน้ำปี้


แต่เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องงบประมาณในช่วงต้นทำให้ชาวบ้านฝันค้างมาตลอดจนกระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทางกรมชลประทานได้สรุปแผนงานทั้งหมดและจัดประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาทบทวนเพื่อเพิ่มศักยภาพการเก็บกักน้ำโครงการอ่างเก็บน้ำ น้ำปี้ จังหวัดพะเยา เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในการทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอเชียงม่วน


และผลสรุปก็คือชาวเชียงม่วนทั้งอำเภอเห็นด้วยกับโครงการนี้ร้อยเปอร์เซนต์!


ในวันจัดประชุมเราจึงเห็นคนแห่กันมาฟังรายละเอียดล้นหลามตั้งแต่เช้ากว่า 300 คน รอบๆที่ว่าการก็ตั้งเต๊นท์เอาสินค้าโอท็อปภูมิปัญญาชาวบ้านมาอวดฝีมือและจำหน่ายจ่ายแจกกันอย่างสนุกสนาน

 

 


อารมณ์ปีติที่จะได้อ่างเก็บน้ำหลังจากรอคอยมายาวนานถึง37 ปีเป็นความชื่นมื่นบันเทิงของผู้คน ถึงขั้นออกมาตั้งวงรำฟ้อนกันอย่างอึกทึก ไม่มีวี่แววของเสียงคัดค้านแม้แต่เสียงเดียว


แม่น้ำปี้ มีความยาว 66 กิโลเมตร เป็นแม่น้ำสายหลักที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวเชียงม่วน มีลำน้ำสาขาไหลสมทบลงหลายสาย เช่น ลำน้ำแม่ยัด ลำน้ำแม่มัง ลำน้ำแม่สุก ลำน้ำแม่สวด ก่อนไหลไปสมทบกับแม่น้ำยมซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของลุ่มน้ำ ปัจจุบันได้ใช้ประโยชน์เป็นฝายน้ำล้นอยู่แล้ว แต่ในหน้าแล้งปริมาณน้ำแห้งขอด


สำหรับอ่างเก็บน้ำ “น้ำปี้” ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เดิมที่เคยศึกษาไว้มีขนาดบรรจุเพียง 23 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่อมาเมื่อเกิดฝนตกหนักในลุ่มน้ำยมจนทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 รัฐบาลมีนโยบายหาแหล่งเก็บกักน้ำในลุ่มน้ำยมตอนบนเพื่อเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนเอาไว้ กรมชลประทานจึงได้เพิ่มศักยภาพการกักเก็บน้ำเป็น 90.50 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่เนื่องจากพื้นที่อ่างเก็บน้ำของโครงการอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 จึงต้องมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมขึ้น

 


ในวันทำ public review เห็นสีหน้าแววตาชาวบ้านแล้วก็พลอยมีความสุขไปด้วย แต่การสร้างเขื่อนไม่ใช่งานที่จะเนรมิตได้ในพริบตาเพราะพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากการเก็บกักน้ำเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานแม้ว่าโครงการจะผ่านความเห็นชอบจากทุกฝ่ายและรัฐบาลอนุมัติงบประมาณแล้วก็ยังมีขั้นตอนอีกมาก ดังนั้นกรมชลประทานจึงคาดว่าน่าจะเริ่มดำเนินการได้เร็วที่สุดในปี 2558


ระหว่างประสานงานกันอยู่นี้ก็มีแผนที่จะหารือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและการไฟฟ้าภูมิภาคเข้ามาต่อยอดผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำด้วยเพราะพื้นที่เชียงม่วน-พะเยา กระแสไฟฟ้าไม่พอใช้ เป็นปัญหาประจำวันอยู่แล้ว โดยคาดว่าที่ท้ายเขื่อนจะสามารถติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้าขนาดกำลังผลิต 400 กิโลวัตต์

 

 

 

ชาวบ้านออกมาเซิ้งกันด้วยความดีใจ

 

 


ส่วนด้านการชลประทานนั้นสามารถส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรใน อ.เชียงม่วนได้ 28,000 ไร่ และส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานฝายแม่ยมเฉพาะฤดูแล้ง 35,000 ไร่ นี่จึงเป็นความหวังว่าน้ำต้นทุนจากอ่างเก็บน้ำน้ำปี้จะช่วยให้เกษตรกรมีโอกาสทำกินได้มากขึ้นจากเดิมที่เพาะปลูกได้เฉพาะช่วงฤดูฝนเท่านั้น

 

 


เรามีโอกาสนั่งรถสำรวจพื้นที่สำหรับสร้างอ่างเก็บน้ำพบว่าส่วนใหญ่เป็นป่าเสื่อมโทรมเต็มไปด้วยร่องรอยการบุกรุกของนายทุน สัตว์ป่าที่เคยชุกชุมอย่าง นก เก้ง เลียงผา หมูป่า กระรอก ลิง ฯลฯ เหลือน้อยลงมาก แต่เมื่อเขื่อนเริ่มเก็บกักน้ำได้ สัตว์เหล่านี้สามารถอพยพไปยังป่าที่เป็นรอยต่อได้อยู่เนื่องจากพื้นที่อ่างฯล้ำเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูนางประมาณพันกว่าไร่

 

 

พื้นที่การเกษตรอันแห้งแล้วของเชียงม่วน ปลูกพืชได้เฉพาะฤดูฝน

 

 

แนวเขาด้านหลังเมืองเชียงม่วนคือบริเวณที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำน้ำปี้


 บนเนินเขาอีกด้านหนึ่งของเมืองเราขึ้นไปยืนมองภูมิทัศน์ที่จะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เห็นภูเขาสลับซับซ้อนด้วยโตรกลึกเป็นฉากหลังโอบล้อมเมืองเอาไว้ ป่าสีเขียวเหลือน้อยมาก ฉันนึกภาพอนาคตไกลไปถึงวันที่มีน้ำขังอยู่เต็มอ่าง ภูเขาแล้งโล้นข้างหน้าก็จะเปลี่ยนภูมิทัศน์ไปอีกแบบ กลายเป็นทะเลสาปชุ่มฉ่ำ...

 


ฉันไม่เคยเห็นหรือได้ยินว่ามีชนชาติใดในโลกนี้ที่รังเกียจทะเลสาป ไม่ว่ามันจะเล็กจ้อยหรือใหญ่มหึมา

 

 

อธิบายแผนผังอ่างเก็บน้ำ

 

 



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.