เสนอแก้ไข"ม.68"ผิดหรือไม่?
 


เสนอแก้ไข"ม.68"ผิดหรือไม่?


เสนอแก้ไข
วันที่ 03 มิถุนายน พ.ศ. 2556 ปีที่ 23 ฉบับที่ 8222 ข่าวสดรายวัน


เสนอแก้ไข"ม.68"ผิดหรือไม่?


รายงานพิเศษ



ซ้าย-สมชาย ปรีชาศิลปกุล

ขวา-จาตุรนต์ ฉายแสง

ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา ที่ขอให้พิจารณาสมาชิกรัฐสภาที่เข้าร่วมเป็นกรรมาธิการแก้ไขเพิ่มเติม ม.68



เกิดคำถามตามมาว่า ในเมื่อ ผู้ร่วมแก้รัฐธรรมนูญไม่ผิด แล้วส.ส.-ส.ว. 312 คน ในฐานะ ผู้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณาก่อนหน้านี้ จะผิดด้วยหรือไม่?



โดยมีเสียงสะท้อนและข้อคิดเห็นดังต่อไปนี้





สมชาย ปรีชาศิลปกุล

คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่



อย่าแปลกใจที่ศาลยกคำร้องนายเรืองไกรที่ขอให้พิจารณาสมาชิกรัฐสภาเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการ แก้ไขเพิ่มเติม ม.68 แต่กลับรับคำร้องผู้ที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว



แม้โดยหลักการ ศาลไม่มีอำนาจรับคำร้องเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้พิจารณาวินิจฉัยตั้งแต่ต้น เพราะเป็นการก้าวล่วงอำนาจนิติบัญญัติ แต่ในเมื่อรับไปแล้วก็ต้องปล่อยให้ศาลดำเนินการต่อไป



การยกคำร้องของนายเรืองไกรนั้น เนื่องจากคำร้องของกลุ่มส.ว.ที่คัดค้านการแก้ไข ม.68 ซึ่งศาลรับไว้ตั้งแต่แรก ยังไม่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาวินิจฉัยว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง หรือไม่



จึงเป็นเรื่องที่ยังไม่ได้ข้อสรุป ดังนั้นคำร้องที่เอาผิดผู้เป็นกรรมาธิการยังถือว่าห่างไกลในการรับไว้พิจารณา



ถ้ารับคำร้องของนายเรืองไกร แล้วต่อไปหากศาลพิจารณาว่าการแก้ไข ม.68 ไม่เป็นการล้มล้างการปกครอง หรือลิดรอนสิทธิประชาชนตามที่กล่าวอ้าง



คำร้องอื่นๆ ที่เชื่อมโยงหรือเกี่ยวพันกับการแก้ไข ม.68 ก็จะไม่มีความหมายใดๆ



สิ่งสำคัญที่ควรจับตาขณะนี้คือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าพิจารณาว่าการแก้ ม.68 เข้าข่ายมีมูลความผิด ศาลอาจต้องรับแรงกดดันและกระแสต่อต้านจำนวนมาก เนื่องจากได้ไปก้าวล่วงอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติตั้งแต่แรก



และการแก้ ม.68 นี้ ไม่ได้เป็นการลิดรอนสิทธิประชาชนหรือล้มล้างการปกครองใดๆ เพราะบทบัญญัติก็ไม่ได้ระบุว่าปิดช่องทางการยื่นคำร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญ โดยให้ยื่นผ่านอัยการสูงสุดทางเดียว เพียงแต่ให้อัยการเป็นด่านแรกในการกรองคำร้อง



อย่างไรก็ตาม หากศาลชี้ว่าการแก้ ม.68 ไม่มีมูลความผิด ก็จะกลายเป็นการวางระเบียบ กฎเกณฑ์ และบรรทัดฐาน ในการรับคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญ



และจะยิ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของรัฐสภา ไม่ควรดึงศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาข้องเกี่ยวใดๆ ซึ่งประเด็นนี้อาจพัฒนามาตรฐานในการรับคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญให้ดีขึ้น



จึงต้องหวังให้ศาลวินิจฉัยแบบมีหลักการ หาข้อยุติในเรื่องนี้โดยไม่เกิดความขัดแย้ง และที่สำคัญ นี่คือบรรทัดฐานที่ทุกฝ่ายต้องเข้าใจว่าฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ



ย่อมมีขอบเขตในอำนาจหน้าที่



จาตุรนต์ ฉายแสง

แกนนำพรรคเพื่อไทย



เหตุผลไม่รับคำร้องของนายเรืองไกรโดยระบุว่า ไม่มีมูลหรือยังไม่เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น แสดงถึงความสับสนในหลักเหตุผล



จะทราบได้อย่างไรว่าส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ที่ร่วมเป็นกรรมาธิการ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยในประเด็นไหน อย่างไร แต่ทั้งๆ ที่ยังไม่ทราบก็ยังวินิจฉัยไม่รับคำร้อง



ปัญหาที่ตามมาคือ ขณะนี้กรรมาธิการที่พิจารณาร่างดังกล่าวได้แก้เนื้อหาสาระของร่างไปแล้วอย่างมีนัยสำคัญ ศาลรับทราบแล้วหรือยัง ถ้าทราบแล้วเห็นว่าร่างที่แก้ไขแล้วยังเป็นการล้มล้างการปกครองอยู่หรือไม่



ถ้าเห็นว่ายังเป็นการล้มล้างการปกครองอยู่ดี ก็มีคำถามตามมาว่า แล้วส.ส.ประชาธิปัตย์ที่เห็นด้วยกับการแก้ไขในชั้นกรรมาธิการจะไม่ผิดไปด้วยหรือ



ถ้าผิดไปด้วย ทำไมศาลจึงไม่รับฟ้องส.ส.ประชาธิปัตย์เหล่านั้น หรือศาลอาจเห็นว่าเมื่อแก้แล้ว ไม่มีอะไรเป็นการล้มล้างต่อไปแล้วก็ได้ จึงเห็นว่าส.ส.ประชาธิปัตย์ที่ร่วมแก้ด้วยไม่ผิด

ซ้าย-ดิเรก ถึงฝั่ง

ขวา-พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย





หากเป็นกรณีเช่นนี้ ส.ส. และส.ว.ผู้เสนอให้แก้ทั้ง 312 คนจะผิดด้วยหรือ ควรที่จะต้องยกคำร้องเขาด้วยหรือไม่



การพูดถึงสิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญนั้น แท้จริงแล้วพิทักษ์อะไรกันแน่ หรือเป็นการใช้รัฐธรรมนูญเพื่อเป็นเครื่องมือพิทักษ์อำนาจคนส่วนน้อย ทั้งกลุ่มพันธมิตร ส.ว.สรรหา และพรรคประชาธิปัตย์



ระบอบประชาธิปไตยนั้นการตัดสิทธิประชาชนได้ ต้องออกเป็นกฎหมายเพื่อเป็นการกำหนดสิทธิ โดยเป็นอำนาจของรัฐสภา ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญควรรู้ตั้งแต่ต้น



ขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญอยู่ในฐานะลำบาก





ดิเรก ถึงฝั่ง

ปธ.กมธ.พิจารณาร่างรธน.แก้ไขเพิ่มเติม ม.68 และ ม.237



ไม่ทราบเหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญ แต่เชื่อว่าการดำเนินการต่างๆ ของศาลย่อมต้องมีเหตุผล



เหมือนอย่างที่พวกเราที่เชื่อมั่นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เป็นอำนาจอันชอบธรรมของฝ่ายนิติบัญญัติที่สามารถแก้ไข เพิ่มเติม หรือร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ได้




อีกทั้งการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการก็ถูกต้องตามกระบวนการของสภา โดยเห็นว่าตัวบทบัญญัติของม.68 ที่กรรมาธิการดำเนินการแก้ไขนั้น ไม่ได้ล้มล้างการปกครองแต่อย่างใด



ซึ่งเรายังคงทำไปตามอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติที่เรามี ส่วนศาลรัฐธรรมนูญก็เดินไปตามกระบวนการของตัวเอง



ส่วนจะมองว่าศาลเลื่อนการวินิจฉัยออกไป เนื่องจากเนื้อหาของกฎหมายตาม ม.68 ที่กรรมาธิการพิจารณาเบื้องต้นให้กำหนดว่า หากอัยการสูงสุดพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ให้ผู้ร้องสามารถยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญเองได้นั้น



คล้ายกับข้อเสนอแนะของศาลรัฐธรรมนูญที่เคยวินิจฉัยเมื่อครั้งการเสนอแก้ไข ม.291 วาระ 3 นั้น คงจะไม่ใช่



กรณีดังกล่าวนั้น ศาลมีข้อเสนอแนะออกมาอย่างชัดเจนเลยว่า ผู้ร้องสามารถยื่นได้ 2 ทางคือ ผ่านอัยการสูงสุด หรือยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญเลย



แต่คณะกรรมาธิการของเราได้พิจารณาอย่างรอบคอบ และเป็นไปตามเจตนารมณ์เดิมของเราแล้วว่า การร้องเรียนตาม ม.68 ต้องร้องผ่านอัยการสูงสุด แต่มีเพียงกำหนดกรอบเวลาการทำหน้าที่ของอัยการสูงสุดขึ้นมา 30 วันเท่านั้นเอง



เชื่อว่าสุดท้ายแล้วศาลจะวินิจฉัยคำร้องตาม ม.68 อย่างเป็นคุณกับประเทศชาติบ้านเมือง เพราะการแก้ไขมาตรานี้ไม่ได้เป็นการล้มล้างการปกครองแต่อย่างใด





พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ



กรณีที่เกิดขึ้นเป็นเพราะผิดเพี้ยนตั้งแต่แรก ศาลต้องพิจารณาก่อนว่ามีขอบเขตอำนาจรับคำร้องหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ทำหน้าที่เป็นศาล แต่เข้ามาตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ



ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข ม.68 ตั้งแต่แรก แต่เสียงข้างมากเดินหน้าต่อไป จนมีการตั้งกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.68, 237 โดยตั้งในสัดส่วนของส.ส.ประชาธิปัตย์ด้วย



การระบุว่าไม่พบเห็นพฤติการณ์ล้มล้างระบอบประชาธิปไตยของส.ส.ที่ร่วมเป็นกรรมาธิการ จึงอาจเป็นที่มาของเหตุผลไม่รับคำร้องของนายเรืองไกรหรือไม่



กรณี 312 ส.ส.และส.ว.ที่ร่วมลงชื่อแก้ไข ม.68 หากใช้ตรรกะเดียวกับ กรณีของนายเรืองไกร ก็ไม่เห็นว่า ส.ส.และส.ว.ต้องการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยตรงไหน



สิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจึงดูเป็นการตีความที่แปลกประหลาด ทั้งสองกรณีมีฐานความคิดเดียวกัน แต่กลับตัดสินต่างกัน อย่างน้อยศาลก็ควรรับคำร้องแล้วเรียกมาสอบถามเพิ่มเติม



ซึ่งผมคิดว่าเป็นพฤติการณ์เดียวกัน ข้อกล่าวหาเดียวกัน


หน้า 3




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.