ลุยพม่ากับ MAZDA BT-50 PRO (Part2)
 


ลุยพม่ากับ MAZDA BT-50 PRO (Part2)


ลุยพม่ากับ MAZDA BT-50 PRO (Part2)

ตอนที่สองในทริปคาราวานท่องเที่ยวเปิดประตูสู่อินโดจีน ขับรถตระเวนล่องพม่า เยี่ยมชมเมืองหงสาวดี นมัสการพระธาตุอินทร์แขวน...

09.15 น. เช้าวันพฤหัสบดีที่ 23 พฤษภาคม 2556 หลังจากรับประทานอาหารเช้าและฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับเส้นทางที่จะใช้ทดสอบในวันแรกของการขับรถ Mazda BT-50 PRO บนแผ่นดินพม่า ผมกับเพื่อนร่วมเดินทาง Kingsley Wijayasinha ผู้สื่อข่าวสายรถยนต์จากเดอะเนชั่น ภาษาอังกฤษ และ อมร วรมาลี คอลัมนิสต์จากหนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์ กับรถปิกอัพ BT-50 PRO รุ่นดับเบิลแค็บ เกียร์ธรรมดาขับเคลื่อนสองล้อสีเงิน Highlight Silver Metallic หมายเลขประจำรถเบอร์ 7 ซึ่งจะเป็นรถที่ใช้ทดสอบเดินทางไปจนถึงด่านพรมแดนในอำเภอแม่สอด ไม้แรกสุดเป็นหน้าที่ของอมร วรมาลี รับหน้าที่ควบเจ้า BT-50 PRO รุ่นขับเคลื่อนสองล้อตลอดระยะทาง 210 กิโลเมตร จากเมืองย่างกุ้งไปยังเมืองหงสาวดี โดยไปสิ้นสุดที่ตีนเขาทางขึ้นพระธาตุอินทร์แขวน มิติตัวถังของรถรุ่นนี้มีความยาวถึง 5,373 มิลลิเมตร สูง 1,821 มิลลิเมตร และกว้าง 1,560 มิลลิเมตร นับเป็นรถกระบะคันโตที่มีรูปร่างสูงใหญ่บึกบึน ส่วนความทรหดอดทนและความแข็งแกร่งของระบบรองรับนั้นไม่ต้องพูดถึง ทางที่โหดหินในเวียงจันทน์ไปจนถึงวังเวียงและหลวงพระบางได้พิสูจน์ประสิทธิภาพของรถรุ่นนี้มาแล้วเมื่อปี 2011


เครื่องยนต์ ดีเซลเทอร์โบ Power Common-Rail Direct-Injection Diesel ขนาด 2.2 ลิตร 2,198 ซีซี สี่กระบอกสูบ อัดอากาศเข้าท่อร่วมไอดีด้วยระบบ VN Turbo พร้อมอินเตอร์คูลเลอร์เพื่อลดอุณหภูมิของไอดีก่อนประจุเข้าไปยังห้องเผาไหม้ ให้เรี่ยวแรง 150 แรงม้า ที่ 3,700 รอบต่อนาที กับแรงบิด 375 นิวตันเมตรที่ 1,500-2,500 รอบต่อนาที แรงบิดรอบต่ำที่มาเร็วเพียงแค่ 1,500 รอบต่อนาที ทำให้การขยับเขยื้อนเคลื่อนตัวมีความว่องไวทันอกทันใจกันเสียจริง แรงบิดรอบต่ำที่มาเร็วยังช่วยให้การขับทดสอบแบบคาราวานที่ต้องวิ่งตามกันเป็นขบวนแบบงูกินหางมีความง่ายดายขึ้น จากกำลังของรถที่มีมาให้อย่างพอเพียงสำหรับการเดินทางไกล เกียร์รุ่นล่าสุดแบบ 6 สปีด กลายเป็นนวัตกรรมของระบบส่งกำลังในรถปิกอัพสมัยใหม่ที่ถ่ายเทแรงบิดทั้งหมดไปยังล้อขับเคลื่อนคู่หลังได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เกียร์ธรรมดา 6 สปีดแบบ Mazda Up Shift Indicator ใช้เกียร์ 6 ซึ่งเป็นตำแหน่งเกียร์ Overdrive คอยช่วยลดรอบของเครื่องยนต์ขณะวิ่งด้วยความเร็วเดินทางข้ามไฮเวย์ ส่วนระบบรองรับหรือช่วงล่างของ Mazda BT-50 PRO ที่เคยพาผมและเพื่อนๆ บุกตะลุยทางที่เลวร้ายสุดๆ ของ สปป. ลาว ช่วงล่าง Dynamic Enhanced Suspension System ด้านหน้าแบบอิสระปีกนกคู่ แกนปีกนกขนาดใหญ่ผลิตจากเหล็กเนื้อเหนียวคุณภาพสูงที่ผ่านการทดสอบมาแล้วทั่วโลกจนแน่ใจว่าไม่มียุบหรือย้วยอย่างแน่นอน ด้านหน้าของระบบรองรับนอกจากปีกนกคู่แล้วยังมีคอยล์สปริง เหล็กกันโคลงกับโช้คอัพแบบสองจังหวะ ส่วนด้านหลังที่เน้นการบรรทุกสัมภาระใช้แหนบแบบซ้อนกับโช้คอัพแบบสองจังหวะ วางไขว้ทแยงมุม ระบบห้ามล้อด้านหน้าจานดิสเบรกแบบมีครีบระบายความร้อน พร้อมด้วยคาร์ลิปเปอร์ลูกสูบคู่ เบรกหลังยังคงใช้ดรัมเบรกกับระบบปรับแรงดันเบรกอัตโนมัติ


ขบวนคาราวานรถทดสอบ Mazda BT-50 PRO ทั้ง 15 คัน รวมรถของทีมพีอาร์และรถเซอร์วิส กับรถพยาบาลที่หอบหิ้ววิ่งตามขบวนกันมา จากกรุงเทพฯ ออกเดินทางจากหน้าโรงแรมที่พักไปยังเมืองหงสาวดี เพื่อไปสักการะเจดีย์ชเวมอดอ เจดีย์สำคัญของเมืองหงสาวดี รวมถึงเข้าเยี่ยมชมปราสาทราชมณเฑียรในเมืองหงสาฯ ที่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ระยะทางจากเมืองย่างกุ้งไปยังเมืองหลวงเก่าแก่ของพม่าเป็นทางลาดยางสองเลยนสวนกัน ที่มีรถราของผู้คนในท้องถิ่นวิ่งกันขวักไขว่ ทั้งรถอีแต๋น รถจักรยานยนต์ รถปิกอัพรับจ้าง และรถบรรทุกขนาดยักษ์ที่วิ่งสวนทางมาอย่างไม่ขาดสาย สภาพบ้านเมืองและผู้คนในพม่าเหมือนย้อนเวลาถอยหลังกลับคืนไปสู่อดีตอันร่มรื่น ต้นไม้ขนาดใหญ่สองข้างทาง อาคารบ้านเรือนที่ไร้ตึกสูงหรือความทันสมัย ท้องถิ่นที่ยังคงสภาพของความบริสุทธิ์ ซึ่งนับวันจะพบเห็นได้ยากยังคงมีอยู่ในพม่า อัธยาศัยของผู้คนก็ดี คุณจะพบเห็นรอยยิ้มไปตลอดทางตรงกันข้ามกับประวัติศาสตร์ของไทยที่ผมเคยเรียนอย่างสิ้นเชิง แม้จะดำเนินชีวิตด้วยความเรียบง่ายและค่อนข้างแร้นแค้นจากความยากจนที่พม่าปิดกั้นตัวเองมานานแสนนาน แต่รอยยิ้มของคนท้องถิ่นที่สามารถพบเห็นได้ตลอดระยะเวลาของการเดินทางได้กลายเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของเมืองหม่องที่ผมเข้าใจผิดมาโดยตลอด น้ำใจเล็กๆ น้อยๆ กับเสียงหัวเราะอย่างร่าเริงเมื่อขบวนรถทดสอบที่แปะป้ายทะเบียนของไทยแล่นผ่านได้สร้างความประทับใจให้กับผมและเพื่อนๆ สื่อมวลชนทุกคนที่ได้มีโอกาสมาเยือนดินแดนแห่งเจดีย์ที่เป็นเพื่อนบ้านกับไทยมาช้านานแล้ว


ระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตรเศษจากเมืองย่างกุ้งไปยังเมืองพะโค หรือเมืองหงสาวดีเป็นการขับแบบ ชิลๆ ไล่เรียงกันมาเป็นขบวนคาราวาน วิทยุติดต่อสื่อสารถูกใช้งานตลอดเวลาเพื่อแจ้งเตือนถึงทางแยกต่างๆ รวมถึงรายการวิทยุที่พูดคุยเรื่องประวัติศาสตร์พม่าโดยอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ที่ Mazda Thailand เชิญมานั่งบรรยายกันสดๆ บนรถ ทำให้การเดินทางทดสอบรถปิกอัพพันธ์ุแกร่งในครั้งนี้เต็มไปด้วยสีสันและความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชนชาติและอดีตความเป็นมาของเมืองที่ขบวนแวะเยี่ยมเยือน

 

พะโคนั้นเป็นเมืองเล็กๆ ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงย่างกุ้ง ในอดีตเคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรมอญมาก่อน ตั้งแต่ยุคกษัตริย์บินยาอู (King Byinnya U) เมื่อประมาณ พ.ศ.1908 จนกระทั่งเมืองหลวงของมอญแห่งนี้เริ่มหมดความสำคัญลง หลังจากย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่อังวะ (Innwa) เมื่อปี พ.ศ. 2178 เมืองหงสาวดี หรือ พะโค หรืออ่านออกเสียงตามสำเนียงพม่าว่า หานตาวดี ในอดีตเคยเป็นเมืองหลวงของสหภาพพม่ามาก่อน มีที่ตั้งอยู่ใกล้กับเมืองเมาะตะมะ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศพม่าและอยู่ทางใต้ของเมืองแปร เมืองคัง ยะไข่ อังวะ พุกาม นครหงสาวดีเป็นเมืองหลวงของเขตหงสาวดีก่อนที่พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้จะยึดครองได้ ในปี พ.ศ. 2082 หลังจากที่พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้เสด็จพระราชดำเนินมาทำพิธีเจาะพระกรรณที่ฐาน พระธาตุมุเตาขณะที่ยังอยู่ในเขตของมอญ และสถาปนาเมืองนี้ให้กลายเป็นศูนย์กลางอำนาจของราชวงศ์ตองอู หงสาวดีเจริญรุ่งเรืองสุดขีดในรัชสมัยของพระเจ้าบุเรงนอง เนื่องจากพระองค์ทรงมีพระบรมราชโองการให้สร้างพระราชวังที่ประทับชื่อกัมโพชธานี นับเป็นพระราชวังที่มีความใหญ่โต มีประตูทางเข้าออกถึง 10 ประตู วังหลวงดังกล่าวถูกสร้างขึ้นโดยเกณฑ์ข้าทาสจากหัวเมืองขึ้น หนึ่งในเมืองขึ้นของหงสาฯ ขณะนั้นมีเมืองเชียงใหม่และอยุธยารวมอยู่ด้วย จนถึงสมัยพระเจ้านันทบุเรง จึงเสด็จหนีพระนเรศวรจากเมืิองหงสาวดีไปประทับยังเมืองตองอู พวกยะไข่เผาทำลายหงสาวดี หลังจากนั้นไม่นาน เมืองอังวะก็กลายมาเป็นเมืองหลวงของประเทศพม่าโดยสมบูรณ์ก่อนที่พม่าทั้ง ประเทศจะเสียเอกราชให้อังกฤษ

อีกหนึ่งสัญลักษณ์ของหงสาวดี คือ พระธาตุชเวมอดอ หรือที่คนไทยนิยมเรียกว่า พระธาตุมุเตา เป็นพระธาตุที่อยู่มานานคู่กับเมืองหงสาฯ พระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองแห่งนี้ เชื่อกันว่าภายในได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าไว้ เล่ากันว่าเมื่อครั้งใดที่พระเจ้าบุเรงนองจะออกทำศึก จะต้องเสด็จมาทรงสักการะขอพรจากพระธาตุนี้ทุกครั้งไป และเมื่อครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้เสด็จพระราชดำเนินมายังหงสาวดี ก็ทรงสักการะพระธาตุนี้ด้วย


ออกจากเมืองหลวงเก่าแก่ของพวกมอญและอดีตราชธานีของพระเจ้าบุเรงนอง ขบวนรถทดสอบ BT-50 PRO วิ่งด้วยความเร็วต่ำผ่านตรอกซอกซอยที่คับแคบและเต็มไปด้วยบ้านเรือนของผู้คน ตรงดิ่งเข้าไปยังปราสาทพระราชวังหงสาวดีที่ถูกบูรณะขึ้นมาใหม่ทั้งหมด วังเก่าแห่งนี้สร้างจากไม้สักทั้งหลังซึ่งผุพังไปตามกาลเวลาจากสภาพดินฟ้าอากาศและสงคราม พระราชวังแห่งนี้ เดิมทีนั้นพระเจ้าบุเรงนองทรงโปรดให้สร้างขึ้น ในปี พ.ศ.2109 เพื่อรองรับกับอำนาจที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการขยายหรือต่อเติมขึ้นอีกมากตามจำนวนของพระมเหสี พระเจ้าลูกเธอ และข้าราชบริพารที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย พระราชพงศาวดารเล่าว่า ถึง พ.ศ. 2142 พระเจ้านันทบุเรงถูกหลอกให้ไปประทับ ณ เมืองตองอู ก่อนไปก็กวาดต้อนเอาทรัพย์สมบัติไปด้วยจนเมืองแทบร้าง พอพระเจ้านันทบุเรงเสด็จออกนอกเมืองหงสาวดีไปแล้ว ทหารของพระเจ้ายะไข่ ซึ่งซุ่มคอยท่าอยู่ก็เข้าปล้นสะดมเมืองหงสาวดี ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในกำแพงเมืองเกิดการต่อต้านรบพุ่งเพื่อรักษาเมืองเอาไว้ ทหารของพระเจ้ายะไข่จึงจุดไฟเผาผลาญพระราชวังของมหาจักรพรรดิบุเรงนอง วอดวายภายในพริบตาเดียว ปีที่เมืองหงสาวดีถูกเผาก็คือปี พ.ศ.2142 หลังจากนั้นอีกไม่กี่เดือน พระเจ้านันทบุเรงก็ถูกวางยาพิษ สิ้นพระชนม์ที่เมืองตองอู อาณาจักรหงสาวดีของมหาราชบุเรงนองก็ถึงกาลอวสานนับจากนั้นเป็นต้นมา


พระบรมมหาราชวังหงสาวดีแต่เดิมนั้นนิยมสร้างด้วยไม้สักและไม้เนื้อแข็งอื่นๆ บริเวณพระราชวังนั้นกว้างขวาง จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่าวัดพระธาตุมุเตาก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของพระบรมมหาราชวัง มีประตูไม้สักขนาดยักษ์มากถึง 20 ประตู และมีพระตำหนักบริวารอีก 54 หลัง สันนิษฐานว่าเป็นพระตำหนักพระมเหสีหรือสนมที่บรรดาเจ้าเมืองต่างๆ ส่งเจ้าหญิงมาถวายในฐานะหัวเมืองประเทศราช (เมืองขึ้น) แต่บางตำนานกล่าวว่าพระเจ้าบุเรงนองทรงมีพระมเหสีและสนมเป็นจำนวนมากถึง 500 นาง เมื่อพระราชวังถูกเผาลงคราวนั้นจนเหลือแต่ตอไม้ เสาไม้ไหม้ไฟ นับต่อจากนั้นอีกเพียงไม่กี่ปี บริเวณนี้ก็ถูกป่าไม้เบญจพรรณเข้าปกคลุมจนไม่มีใครสนใจอีกต่อไป กระทั่งไม่นานมานี้รัฐบาลพม่าได้เข้าขุดค้นสำรวจรังวัด จึงพบว่าฐานตอม่อเสาไม้สักในพระราชวังของพระเจ้าบุเรงนองยังคงหลงเหลืออยู่ เจ้าหน้าที่ของพม่าได้เข้าขุดค้นพบเสาไม้แก่นจำนวนมากเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นถึงที่ตั้งอันแท้จริงในเขตวังเก่า จึงได้ดำเนินการฟื้นฟูพระราชวังแห่งนี้ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด โดยอาศัยตำราโบราณที่ระบุถึงรูปทรง ขนาดและตำแหน่งที่ตั้งเดิมมาปรับปรุงให้มีความสง่างามเหมือนดังเดิม ปราสาทราชมณเฑียรตรีมุขที่ถูกสร้างขึ้นใหม่นี้ มีสถาปัตยกรรมของหลังคาลดหลั่นกัน 2 ชั้น โดยชั้นแรกนั้นเป็นอาคารใหญ่จำนวน 3 หลัง ส่วนชั้น 2 นั้นทำเป็นรูปยอดปราสาท มียอดเพิ่มเข้ามาอีก 2 ยอด ตรงกลางด้านใต้นั้น เพื่อจะปกปิดส่วนสูงของอาคารหลังกลาง ซึ่งมีสัดส่วนของความสูงมากกว่า ทางการของพม่าจึงสร้างหน้ามุขยื่นออกมาอีกชั้นหนึ่งเพื่อให้ดูยิ่งใหญ่สมกับอดีตเมืองหลวงของพม่า


จากเมืองหงสาวดี รถ BT-50 PRO ทั้ง 15 คันออกเดินทางต่อไปยังจุดจอดรถที่จะขึ้นไปสักการะพระธาตุอินทร์แขวน ทางในช่วงนี้ยังคงขรุขระและเป็นทางลาดยางมะตอยแบบสองเลนสวนกันเหมือนเดิม ระยะทางที่ยังเหลืออีก 100 กิโลเมตรกระจ่างต่อสายตามากยิ่งขึ้นเมื่อเมฆฝนเริ่มจางหายไปเมื่อวิ่งออกจาก เมืองหงสาฯ ได้ไม่นานนัก แสงแดดช่วงบ่ายส่องกระทบกับสองข้างทางซึ่งเป็นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่สุดลูกหู ลูกตา มีไร่นาและบ้านเรือนของชาวพม่าในท้องถิ่นปลูกสร้างอยู่ไกลๆ บริเวณแถบสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดีแห่งนี้เมื่อครั้งที่เกิดภัยพิบัติพายุไซโคลนนาร์กิสพัดเข้าถล่มด้วยความเร็วลมเกิน 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและชีวิตของผู้คนในแถบนั้นเป็นจำนวนมหาศาล พายุไซโคลน "นาร์กิส" ( NARGIS) เริ่มต้นจากการเป็นพายุโซนร้อนความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางประมาณ 35 นอต หรือประมาณ 65 กิโลเมตร/ชั่วโมง เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2551 แล้วเคลื่อนตัวจากมหาสมุทรอินเดีย และเปลี่ยนเป็นพายุไซโคลนความเร็วใกล้ศูนย์กลาง ประมาณ 90 นอต หรือประมาณ 167 กิโลเมตร/ชั่วโมง เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2551 หลังจากนั้นจึงเคลื่อนเข้าสู่สหภาพพม่าแถบสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี รวมทั้งเมืองย่างกุ้ง ด้วยความเร็วใกล้ศูนย์กลาง ประมาณ 110 นอต หรือประมาณ 204 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2551


จำนวนของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์พายุนาร์กิสพัดถล่มไม่ได้รับการยืนยันชัดเจนนัก แต่ทางการพม่าเปิดเผยว่ามียอดผู้เสียชีวิตประมาณ 43,320 คน สูญหายอีกกว่า 28,000 คน พื้นที่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดีซึ่งได้รับความเสียหายจากไซโคลนนาร์กิสก่อให้เกิดน้ำท่วมขังกินบริเวณกว้างถึง 5,000 กิโลเมตร จากการประเมินคาดว่ามีชาวพม่าไร้ที่อยู่อาศัยราว 2 ล้านคน สาเหตุหลักที่ทําให้เกิดการสูญเสียอย่างมหาศาลจากพายุไซโคลนนาร์กิส เพราะขาดการแจ้งเตือน และการเตรียมความพร้อมทั้งในด้านบุคลากรการบริหารจัดการในการแก้ไขปัญหา วิกฤติ เครื่องมืออุปกรณ์ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยรวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐาน ในการบริหารงานของรัฐบาลทหารพม่าในยุคนั้นที่ค่อนข้างล้าหลัง จึงทําให้ไม่สามารถส่งความช่วยเหลือเข้าไปได้ทันเวลา นอกจากนั้นความเสียเปรียบในเรื่องของลักษณะที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ ซึ่งเป็นบริเวณราบลุ่ม ไม่มีแนวป่าโกงกางเป็นกําแพงธรรมชาติกันแรงลมและคลื่น พายุซัดฝั่ง การทําลายและรุกล้ำชายฝั่งอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความไม่ใสใจต่อการแจ้งเตือนจากประชาคมภายนอก ทั้งๆ ที่สํานักงานอุตุนิยมวิทยาของอินเดีย (India Meteorological Department) ได้แจ้งเตือนภัยให้ทราบก่อนที่พายุจะพัดขึ้นฝั่งนานถึง 48 ชั่วโมง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความสูญเสียอย่างร้ายแรงในครั้งนั้นคือรัฐบาลทหารในขณะนั้นไม่ยอมรับให้องค์กรนานาชาติเข้าช่วยเหลือ ยกเว้นไทยและจีน เนื่องจากเกรงว่าจะเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนญูนั่นเอง


วิ่งมาได้สักพักก็มาถึงช่วงที่ขบวนจะต้องข้ามสะพานข้ามแม่น้ำสะโตง แม่น้ำแห่งประวัติศาสตร์ของชนชาติทั้งสองซึ่งมีเรื่องเล่าขานเป็นตำนานอันยิ่งใหญ่ สองฝั่งบริเวณไหล่ทางมีปลาช่อนตากแห้ง อาหารยอดนิยมของคนท้องถิ่นวางขายกันเกลื่อนไปหมด แม่น้ำสะโตงมีสะพานข้ามสร้างจากคอนกรีตเสริมเหล็กและมีโครงเหล็กห่อหุ้มอยู่ คล้ายกับสะพานข้ามทางรถไฟของเมืองไทย สะพานแห่งนี้อังกฤษสร้างไว้ตั้งแต่พม่ายังอยู่ภายใต้อาณานิคม หลังจากได้เอกราชกลับคืนมาแล้วรัฐบาลพม่าได้ซ่อมแซมจนกลับมาอยู่ในสภาพที่แข็งแรงอีกครั้ง แม่น้ำสะโตงแห่งนี้มีความยาวประมาณ 420 กิโลเมตร ความกว้างในช่วงถดูน้ำหลากประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นแม่น้ำที่แบ่งเขตการปกครองระหว่าง เมืองพะโค และรัฐมอญ สะโตงชื่อนี้มีประวัติศาสตร์สำคัญเกี่ยวกับตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ความว่า

ขณะนั้นสมเด็จพระนเรศวรมีพระชนมายุ 29 พรรษา มีรับสั่งถามพวกมอญชาวเมืองแครงว่าจะเข้าข้างไหน พวกมอญโดยมากยอมเข้ากับไทย พระนเรศวรจึงตรัสรับสั่งให้พระยาเกียรติ พระยาราม จัดไพร่พลนำข้าหลวงแยกย้ายกันไปตามตำบลที่พวกไทยอยู่ข้างนอกเมืองหงสาวดี บอกให้รู้ว่าจะทรงพากลับไปบ้านเมือง แล้วเสด็จฯ ยกทัพออกจากเมืองแครง ข้ามแม่น้ำสะโตงไปยังเมืองหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีทรงทราบว่าพระนเรศวรโปรดให้เที่ยวกวาดครัวเรือนแล้วถอยทัพกลับไป ก็จัดทัพให้สุรกรรมาเป็นกองหน้า พระมหาอุปราชเป็นกองหลวง ยกติดตามกองหน้ามาทันที่แม่น้ำสะโตง พระนเรศวรพาครัวไทยข้ามฝากมาแล้วจึงตรัสสั่งให้พวกครัวเรือนล่วงหน้ามาก่อน ส่วนกองหลวงตั้งรอต่อสู้ข้าศึกอยู่ที่ริมแม่น้ำสะโตง สุรกรรมากองหน้ามาถึงท่าข้ามฝั่ง กองทัพไทยเอาปืนยิงยับยั้ง ยิงต่อสู้กันอยู่ที่ริมแม่น้ำสะโตง แรงปืนที่พลทหารยิงไม่ถึงฝั่งด้วยกันทั้งสองฝ่าย พระนเรศวรทรงประทับยิงพระแสงปืนยาวนกสับถูกสุรกรรมานายทัพหน้าของข้าศึกตาย อยู่กับคอช้าง พวกรี้พลพม่าเห็นแม่ทัพนายกองถูกยิงตายต่อหน้าต่อตาก็พากันครั้นครามพระบารมี ต่างพากันเลิกทัพกลับไปทูลความแก่พระมหาอุปราชซึ่งเสด็จตามมา ทรงเห็นว่าจะติดตามพระนเรศวรต่อไปไม่สำเร็จ ก็เลิกทัพกลับไปหงสาวดี และพระแสงปืนซึ่งทรงยิงถูกสุรกรรมาตายครั้งนั้นได้นามปรากฏต่อมาว่า “พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง” นับเป็นพระแสงอัษฎาวุธ อันเป็นเครื่องราชูปโภคสำหรับแผ่นดินตราบจนถึงทุกวันนี้


ประเทศพม่ามีที่ตั้งอยู่บนละติจูดที่ 28 องศา 30 ลิปดา ถึง 10 องศา 20 ลิปดาเหนือ ภูมิประเทศอยู่ตามแนวอ่าวเบงกอลและทะเลอันดามันทำให้มีชายฝั่งทะเลยาวถึง 2,000 ไมล์ และมีชายหาดที่สวยงามเก่าแก่บริสุทธิ์อยู่หลายแห่ง พม่ามีชายแดนด้านตะวันตกเฉียงเหนือติดกับบังกลาเทศและอินเดียทางรัฐยะไข่ และทางตะวันออกเฉียงเหนือติดกับทิเบตและจีน ส่วนทางตะวันออกติดกับลาว และทางตอนใต้ติดกับไทย รูปพรรณสัณฐานเหมือนกับว่าวที่มีหางยาวล้อมรอบเกือกม้าขนาดใหญ่คือแนวเทือกเขามหึมา และภูเขาที่อุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้ มียอดเขาสูงอยู่มากมายตามแนวเทือกเขาของพม่า และมีหลายยอดที่สูงเกินกว่า 10,000 ฟุต ตามแนวชายแดนหิมาลัยทางเหนือของพม่าที่ติดกับทิเบตเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดใน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชื่อ “ฮากากาโบ ราซี” ระดับความสูง 19,314 ฟุต ต่ำลงมาจากแนวเขาเหล่านี้เป็นที่ราบกว้างใหญ่ภายในประเทศพม่า รวมทั้งเขตแห้งแล้งกินอาณาเขตกว้างตอนกลางของพม่า และยังมีที่ราบลุ่มบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดีที่อุดมสมบูรณ์ทอดยาวลงไปทางตอนใต้เชื่อมกับอาณาเขตของสยามประเทศ ทางลาดยางมะตอยที่มีผิวราวกับโลกพระจันทร์ในแถบรัฐมอญไม่ใช่ปัญหาของ Mazda BT-50 PRO การนั่งโดยสารแม้จะพบกับความสั่นสะเทือนบ้างในบางจังหวะแต่ก็เกิดจากสภาพผิวถนนที่ค่อนข้างแย่ ใกล้ครบระยะทาง 210 กิโลเมตรจากเมืองย่างกุ้งล่องลงใต้มายังพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี อย่างที่เคยบอกว่าผู้คนที่เป็นมิตรตลอดสองข้างทางจะทำให้คุณประทับใจ คนพม่าโดยเนื้อแท้แล้วเป็นคนที่มีอัธยาศัยใจคอน่ารักและจริงใจ สภาพบ้านเมืองที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดมานานกว่า 150 ปี เมื่อประเทศยังไม่ได้ถูกเปิดออกสู่สายตาของโลกภายนอก มันอาจกัดกร่อนจิตใจของคนพม่าอยู่บ้างจากความแร้นแค้นในบางห้วงเวลาที่เกิดขึ้นจากการปกครอง แต่ไม่ได้ทำให้ความร่าเริงและความศรัทธาต่อศาสนาพุทธลดลงแม้แต่น้อย ผมประทับใจกับภาพที่ได้เห็นตลอดเส้นทาง ทำให้ความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับคนพม่าเปลี่ยนแปลงไปจนหมดสิ้น


พระธาตุอินทร์แขวนที่คณะสื่อมวลชนไทยกำลังมุ่งหน้าขึ้นไปนั้น ตั้งอยู่ที่เมืองไจ้ก์โถ่ อำเภอสะเทิม เขตรัฐมอญของประเทศพม่า ก้อนหินแกรนิตสูง 5.5 เมตร หนัก 600 ตัน ฉาบด้วยสีทองและเจดีย์ทองมียอดฉัตรที่งดงามสุกปลั่งตั้งอยู่บนยอดเขา Paung Laung เหนือระดับน้ำทะเล 3,615 ฟุต หรือประมาณ 1,200 เมตร พระธาตุอินทร์แขวนนับเป็น 1 ใน 5 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ชาวพม่าต้องไปสักการะ และยังเป็นพระธาตุประจำคนที่เกิดในปีจออีกด้วย สำหรับเมืองไจ้ก์โถ่ ที่ตั้งของเจดีย์พระบรมธาตุอินทร์แขวน อยู่ห่างจากนครย่างกุ้ง เมืองหลวงเก่าของพม่า 210 กิโลเมตร 15.45 น. รถทดสอบ BT-50 PRO ทั้ง 15 คันรวมรถทีมงานพีอาร์ Mazda ก็เดินทางมาถึงยังหมู่บ้านคินพุน (Kinpun) ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ใกล้กับเจดีย์พระธาตุมากที่สุดแล้ว ระยะทาง 16 กิโลเมตรเป็นทางขึ้นเขาที่ซับซ้อนวกวนและค่อนข้างอันตราย สำหรับเส้นทางขึ้นพระธาตุอินทร์แขวนนี้ทางการของพม่าไม่อนุญาตให้นำรถส่วนตัวขึ้นไป โดยทางเดียวที่จะขึ้นไปยังตัวพระธาตุคือต้องโดยสารรถหกล้อแบบเปิดหลังคา คล้ายๆ กับรถหกล้อบรรทุกดินในบ้านเรา เส้นทางสำหรับรถใช้ขึ้นเขาได้นั้นถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2542 เป็นเส้นทางเลนเดียวสวนกันไม่ได้ที่มีความลาดชันและเต็มไปด้วยทางโค้งที่อันตราย รถโดยสารหกล้อเจ้าถิ่นต้องใช้เวลาเกือบชั่วโมงกว่าจะตะกายขึ้นไปถึงยอดเขา


จอดรถฝากไว้ที่วัดแห่งหนึ่งใกล้กับจุดรับส่งของรถโดยสารขึ้นพระธาตุ คณะคาราวาน Mazda BT-50 PRO โดดขึ้นรถหกล้อแบบกระบะเปิดโล่ง ที่นั่งอันคับแคบทำให้การโดยสารตลอดระยะทาง 16 กิโลเมตรซึ่งเป็นทางขึ้นเขาตลอดช่วงเกิดความเมื่อยขบเมื่อที่นั่งไม่ได้ออกแบบให้รองรับกับก้นของผู้โดยสาร แถมทางที่ปูลาดด้วยปูนซีเมนต์กลับผุพังในบางช่วงของไหล่เขาจากสภาพอากาศที่มีเมฆหมอกปกคลุมและมีฝนตกชุกตลอดเวลา เนื่องจากเป็นเขตมรสุมพาดผ่าน รถเหวี่ยงไปเหวี่ยงมาอยู่สี่สิบนาทีเศษก็มาถึงเอาเกือบๆ ยอดเขา ต่อจากนี้ไปผมและคณะต้องเดินเท้าขึ้นเขาไปอีก 600 เมตร เพื่อไปยังโรงแรมที่พัก การเดินเท้าขึ้นไปยังเจดีย์พระธาตุอินทร์แขวนจะพบก้อนหินแกรนิตจำนวนมากบนเขา ตั้งอยู่ในตำแหน่งหมิ่นเหม่ สองข้างทางมีวิวทิวทัศน์แบบเทือกเขาสูงทางภาคเหนือของไทย ในวันที่อากาศดีแบบนี้คุณสามารถมองเห็นยอดเขาและกลุ่มเมฆที่ลอยอยู่ในระดับที่ต่ำลงไปคล้ายกับอยู่ในสวรรค์ อากาศที่ร้อนอบอ้าวบริเวณพื้นราบด้านล่างเทียบไม่ได้เลยกับอากาศที่เย็นและสดชื่นสุดๆ บนยอดเขา Paung Laung ซึ่งมีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 3,615 ฟุต อุณหภูมิ 18 องศา ในเดือนพฤษภาคมในช่วงกลางวัน และจะลดต่ำลงอีกในช่วงกลางคืน ทำให้ผมคิดถึงยอดเขาค้อและแถบภูทับเบิกที่มีอากาศข้างบนคล้ายกันมาก ลมช่องเขาที่พัดอย่างรุนแรงยังหอบเอากลุ่มเมฆที่เต็มไปด้วยละอองน้ำและฝนหนักสลับเบาซึ่งเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาบนยอดเขาที่ตั้งของหินเจดีย์พระธาตุ อากาศจะเปิดและปิดอย่างรวดเร็วจนตั้งตัวแทบไม่ทัน สว่างโล่งโจ้งอยู่ชั่วครู่ก็มืดมิดขาวโพลนไปทั่วเมื่อกลุ่มเมฆหมอกถูกลมพัดมาปะทะบนยอดภูแห่งนี้.

อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail [email protected]
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom

 



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.