ลุ้นต่อ2ล้านล. จุดเปลี่ยนรัฐบาล
 


ลุ้นต่อ2ล้านล. จุดเปลี่ยนรัฐบาล


ลุ้นต่อ2ล้านล. จุดเปลี่ยนรัฐบาล
วันที่ 02 มิถุนายน พ.ศ. 2556 ปีที่ 23 ฉบับที่ 8221 ข่าวสดรายวัน


ลุ้นต่อ2ล้านล. จุดเปลี่ยนรัฐบาล





การเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2557 วงเงินกว่า 2.5 ล้านล้านบาท

ผ่านไปแบบไม่มีสิ่งใดพลิกความคาดหมาย

พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลยังแสดงถึงความเป็นปึกแผ่นด้วยการโหวตรับหลักการวาระแรกท่วมท้น 292 ต่อ 155 เสียง

พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญฯ ตามสัดส่วนรวมทั้งสิ้น 63 คน แบ่งเป็นโควตา รัฐบาล 15 คน พรรคเพื่อไทย 25 ประชาธิปัตย์ 15 ภูมิใจไทย 3 ชาติไทยพัฒนา 2 ชาติพัฒนา 1 พลังชล 1 และ 5 พรรคเล็กรวมกันอีก 1

กำหนดกรอบเวลาแปรญัตติ 30 วัน

ก่อนประธานสภาจะอ่านพระบรมราชโองการปิดสภาสมัยวิสามัญทันที โดยไม่มีการสอดไส้หยิบยกร่างกฎหมายอื่นขึ้นมาพิจารณาต่อ

ไม่ว่าร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ร่างพ.ร.บ.ปรองดอง หรือร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เหมือนที่มีการตั้งแง่หวาดระแวงกันไว้แต่แรก

จะอย่างไรก็ตามในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ถือโอกาสแปรเปลี่ยนการอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ครั้งนี้ เป็นเวทีซ้อมใหญ่อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลไปในตัว

ถือว่าเข้าเป้าพอสมควร

โดยเฉพาะการถล่มนโยบายรับจำนำข้าว ที่เป็นภาคต่อจากการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

นอกจากทวงสัญญานายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรมว.คลัง ที่เคยประกาศว่าหากโครงการรับจำนำข้าวเสียหายเกิน 6 หมื่นล้าน

จะแสดงความรับผิดชอบ

ครั้งนี้ฝ่ายค้านยังเปิดข้อมูลตีวงแคบเข้าหาตัวบุคคลระดับเลขานุการรมว.พาณิชย์ ที่เข้าไปมีส่วนพัวพันผลประโยชน์ในโครงการ

บวกกับการซื้อขายข้าวที่บางส่วนอยู่ระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือป.ป.ช.

แน่นอนว่าถึงเนื้อแท้นโยบายรับจำนำข้าวจะช่วยให้เกษตรกรชาวนามีรายได้เพิ่มมากขึ้น ขณะที่เรื่องการทุจริตยังลากไปไม่ถึงตัวรัฐมนตรีหรือนายกฯ โดยตรง

แต่ถ้าดูจากป.ป.ช.องค์กรอิสระที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยมาตลอด

นโยบายรับจำนำข้าวจึงถูกมองว่าเป็น 1 ในประเด็นชี้เป็นชี้ตาย

ที่รัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะชะล่าใจไม่ได้เด็ดขาด

นอกจากเรื่องจำนำข้าว ยังมีเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญที่รัฐบาลยังต้องรอวัดดวง

รวมถึงการผลักดันร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม และร่างพ.ร.บ.ปรองดอง ที่คาดว่าจะเป็นประเด็นฉุดให้อุณหภูมิการเมืองพุ่งขึ้นถึงระดับปรอทแตกทันทีที่เปิดสภาสมัยสามัญเดือนส.ค.

ในส่วนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญถึงจะมีความคืบหน้าตามลำดับในชั้นแปรญัตติของคณะกรรมาธิการร่วมส.ส.และส.ว.

แต่อีกส่วนหนึ่งก็ยังคาราคาซังอยู่กับ 5-6 คำร้อง ที่มีผู้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขมาตรา 68 อาจเข้าข่ายการล้มล้างการปกครอง

ล่าสุดคำร้องของพรรคประชาธิปัตย์ที่เพิ่งจะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อต้นสัปดาห์ก่อน

เป็นการขอให้วินิจฉัยว่า การกระทำของประธานรัฐสภาและสมาชิกรัฐสภา 312 คน ที่ร่วมสนับสนุนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และ 237

เป็นการกระทำที่ล้มล้างการปกครองหรือไม่

พร้อมกันนี้ยังขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง 3 ประเด็น คือ ให้ยกเลิกการแก้ไขมาตรา 68 และ 237 ให้ยุบ 6 พรรคการเมืองที่สนับสนุนการแก้ไข

และขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้รัฐสภาระงับการพิจารณาแก้ไข 2 มาตราดังกล่าวไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

มีการตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดพรรคประชาธิปัตย์ถึงเพิ่งจะมาตื่นตัวยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการแก้ไขมาตรา 68 ตอนนี้

ทั้งที่ก่อนหน้านั้นมีผู้ยื่นคำร้องในประเด็นเดียวกันนี้คาไว้แล้วถึง 4 คำร้อง และศาลรัฐธรรมนูญเองก็มีมติเสียงข้างมากรับไว้ทั้งหมดโดยให้รวมคำร้องเข้าด้วยกัน

โดยโยงเข้ากับกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาให้สัมภาษณ์วิเคราะห์ว่าอาจมีเหตุบางอย่างให้รัฐบาลต้องยุบสภา

จัดเลือกตั้งใหม่ภายในปีนี้

นักวิเคราะห์การเมืองมองว่ามีความเป็นไปได้ที่พรรคประชาธิปัตย์ได้รับ?สัญญาณพิเศษ?บางอย่าง

ที่เป็นอันตรายกับรัฐบาล และอาจส่งผลให้การเมืองถึงจุดพลิกผัน

ต้องเปลี่ยนโฉมหน้าอีกครั้ง

ขณะที่สถานการณ์การเมืองนอกสภาได้ก้าวเข้าสู่บรรยากาศอึมครึมอีกครั้ง

นอกจากม็อบต่างๆ จะขยับเคลื่อนไหว

เสียงระเบิดย่านรามคำแหงปากซอย 43/1 ที่ยังไม่ทันคลี่คลายว่าแท้จริงแล้วเป็นฝีมือการกระทำของใครกันแน่ มีส่วนเกี่ยวโยงกับการเมืองหรือไม่

ก็ยังมาเกิดกรณีมือดีปล่อยข่าวทางโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก อ้างข้อมูลของทางตำรวจว่าจะมีการวางระเบิดตามศูนย์การค้าที่มีคนพลุกพล่าน

เดือดร้อนรัฐบาลฝ่ายความมั่นคงและเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเรียงหน้าออกมาปฏิเสธกันยกใหญ่ว่าเป็นแค่การปล่อยข่าว เพื่อสร้างสถานการณ์ความวุ่นวายเท่านั้น

ตั้งแต่เรื่องเว็บไซต์สำนักนายกฯ โดนแฮ็ก มาถึงกรณีหน้ากากขาว และล่าสุดการปล่อยข่าวระเบิดป่วนกรุง

เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำมากกว่าจะเป็นฝ่ายรุกไล่ ในสงครามโจมตีทางการเมืองในโลกไซเบอร์

กระนั้นก็ตามสำหรับแฟนพันธุ์แท้รัฐบาลมองว่าสงครามในโลกไซเบอร์ไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลเพื่อไทยต้องวิตกกังวล เพราะอย่างมากก็เป็นแค่การด่าทอกันไปมา

ไม่ได้สร้างความเสียหายอย่างเป็นรูปธรรม

ชะตากรรมของรัฐบาลยังเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับองค์กรอิสระและองค์กรตุลาการอย่างศาลรัฐธรรมนูญมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบายจำนำข้าว หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

ล่าสุดพรรคประชาธิปัตย์ประกาศเป็นโรดแม็ปชัดเจนว่า ถัดจากการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความแก้ไขรัฐธรรม นูญ มาตรา 68 และ 237

จะเป็นคิวร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ จากนั้นจะเป็นร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมกับร่างพ.ร.บ.ปรองดอง

โดยเฉพาะร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านมีเสียงกระซิบว่าให้จับตาดูดีๆ

เพราะถึงอย่างไรรัฐบาลมาถึงขั้นนี้แล้วคงไม่ถอยแน่ เช่นเดียวกับฝ่ายค้านที่ได้รับสัญญาณพิเศษสั่งให้เดินหน้าขัดขวางอย่างถึงที่สุด

ตรงนี้เองคือจุดพลิกผันการเมืองของจริง


หน้า 3




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.