เรียนรู้คิดใหม่"ประชานิยม"
 


เรียนรู้คิดใหม่"ประชานิยม"


เรียนรู้คิดใหม่
วันที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2556 ปีที่ 23 ฉบับที่ 8220 ข่าวสดรายวัน


เรียนรู้คิดใหม่"ประชานิยม"


รายงานพิเศษ



1.นิธิ เอียวศรีวงศ์
2.อัมมาร สยามวาลา
3.เกษียร เตชะพีระ
หมายเหตุ - สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดเสวนาสาธารณะเศรษฐกิจแห่งวันพรุ่งนี้ หัวข้อ "คิดใหม่ประชานิยมจากรัฐบาลทักษิณถึงยิ่งลักษณ์ เราเรียนรู้อะไรบ้าง" ที่ห้องประชุมสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 พ.ค.



นิธิ เอียวศรีวงศ์

นักวิชาการอิสระ



เมื่อมองย้อนกลับไปตั้งแต่จุดเริ่มของประชานิยม นิยามตามความคิดที่เราพูดถึงในเมืองไทย ค่อนข้างให้ความหมายเปลี่ยนไป สรุปลักษณะสำคัญมี 2 นิยาม คือ



1.เอาใจประชาชน เอาใจคนกำปั้นเล็กแต่เสียงแยะ เอาใจคะแนนเสียงหรือเอาใจด้วยเงิน



2.เป็นการกระจายทรัพยากรถึงประชาชนในรูปใดก็ได้ หรือการกระจายเงินไปยังประชาชนให้คนยากจน และลักษณะชาตินิยมเป็นตัวกระตุ้นให้คนเข้าร่วมได้ง่าย หรือเน้นประชาคมพลเมือง นอกจากนี้ยังมีในทุกสังคม และมีตลอดมา



ต้องเข้าใจในลักษณะนี้เท่านั้นถึงจะอธิบายได้ว่า มันจะเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะใด ส่วนการกระทำของรัฐไม่ใช่ไม่ดีหมด นโยบายรับจำนำข้าว หากทำได้จะสามารถควบคุมการระบายข้าวออกได้ดี



เมื่อไรที่เราพูดเรื่องรัฐบาล บางคนมีอคติในใจ อย่างช่วงรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับนโยบายรถคันแรก ถ้าใครอยากได้รถกลายเป็นคนไม่ดี แต่ถ้าใครต้องการความยุติธรรมจากเสื้อแดง กลายเป็นคนดี



หรือพูดอีกนัยว่าเมื่อสิ่งที่ต้องการเป็นวัตถุ กลับมองในเรื่องของราคาแพง แต่เมื่อเป็นความต้องการเรื่องอื่น กลับมองเป็นอุดมการณ์



เราควรนึกถึงนโยบายของรัฐที่ให้คนอ่อนแอที่สุด และไม่มีการสูญเสียให้กับคนที่มีฐานะอยู่แล้ว ในกระบวนการทั้งหมด สร้างอำนาจผูกขาดให้กับกลุ่มพ่อค้ารายเดียว และมีมุมมองเรื่องกลไกการซื้อขายแลกเปลี่ยนของไทย เวลานี้ตลาดส่งออกของเราลำบากมากขึ้น



นอกจากนี้เราต้องเข้าใจเรื่องประชานิยม มีเงื่อนไขที่สำคัญและจำเป็นเพราะคิดว่าเกิดขึ้นในสังคม 2 อย่าง สังคมจะยึดการผลิตสินค้าขายมากกว่าสังคมเกษตรแบบเดิม และเกิดความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นในสังคม



หลังปี 2540 การเมืองมีความมั่นคง นักการเมืองที่ฉลาดอย่างทักษิณมองเห็นการเปลี่ยนแปลง จึงนำประชานิยมเข้ามาใช้ และประสบความสำเร็จอย่างสูง



มีข้อสังเกตว่าประเทศไทยกับละตินอเมริกามีความคล้ายกัน คือเปลี่ยนมาเป็นสังคมผลิตสินค้าขายมากกว่าการเกษตร ทำให้ประชานิยมประสบความสำเร็จตลอดมา



และทักษิณกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ควรนำนโยบายที่สอนให้ประชาชนเข้มแข็งมากกว่านี้



รวมทั้งยังเห็นว่าจุดด้อยประชานิยมอาจทำให้เกิดระบบเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ และควรระวังว่าจะมีใครนำประชานิยมไปใช้ในทางที่ผิด และกลายเป็นเผด็จการ



ประชาชนมีแนวทางที่เป็นไปตามทางของเขา ทำให้ประชานิยมไม่ได้รับความสำเร็จทุกสังคม แต่ได้รับความสำเร็จบางสังคมเท่านั้น



อัมมาร สยามวาลา

นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ



เห็นด้วยกับประชานิยมในแง่การกระจายทรัพยากร แต่ที่เกิดในประเทศไทยไม่ได้เป็นอย่างนั้น



เสน่ห์ของประชานิยมไทยตั้งแต่สมัยทักษิณเป็นนโยบายระดับชาติที่เอาใจประชาชน ก่อนหน้านั้นเป็นประชานิยมในระดับพื้นที่



อย่างไรก็ตาม มันทำให้ประชาธิปไตยก้าวไปสู่จุดที่ดีขึ้น คือ รัฐบาลสัญญาอะไรกับประชาชน ได้รับเลือกตั้งมาก็ปฏิบัติตาม ซึ่งให้เกียรติกับทักษิณมาโดยตลอด เป็น accountability หรือความรับ ผิดชอบ



แต่ที่ค้านมาโดยตลอดคือ รับผิดชอบครึ่งเดียว เพราะนโยบายทุกอย่าง มีคนได้ เขาจะพูดแต่ว่าใครได้อะไร แต่ไม่มีการพูดถึงข้อเสีย เพราะหน้าที่นักการเมืองต้องพยายามรวมเสียงได้เกินครึ่งอยู่แล้ว



นายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ ก็ทำ เป็นตรรกะที่มาจากประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง และเป็นผลดีด้วยหากมีการตรวจสอบ คานเสียงกันอย่างเต็มที่



บังเอิญสหรัฐมีประเพณีปฏิบัติด้านการเมืองว่า รัฐบาลไม่ควรทำอะไรบ้าง แต่ไทยไม่มีแบบนั้น เราต้องการทำให้รัฐบาลทำได้ทุกอย่าง



อยากให้เสื้อแดงได้สิ่งที่ต้องการ นั่นเป็นความต้องการจากรัฐ อาจเป็นความลำเอียงของผม แต่ผมให้ความหวังกับรัฐมาก เพราะเป็นองค์กรสูงสุดของประเทศ



ถ้าหากว่ารัฐบาลประชานิยมไหนๆ ก็ตาม มีนโยบายชัดเจนว่าฉันจะพยายามเจาะจงไปที่คนยากจน คนด้อยโอกาส เราควรจะนึกถึงนโยบายรัฐบาลที่จะให้กับคนที่อ่อนแอที่สุดในทางเศรษฐกิจ โดยพยายามให้ผลได้ต่อเขามากที่สุด



และไม่สูญเสียไปให้กับคนที่ฐานะดีอยู่แล้ว







เกษียร เตชะพีระ

คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์



ประชานิยมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นเสน่ห์ของประชานิยมที่มาจากทักษิณเอาใจประชาชน และทำให้ประชาธิปไตยก้าวข้ามมาอีกหนึ่งระดับ ทักษิณทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน จึงทำให้เป็นที่นิยมในช่วงนั้น



ส่วนด้านประชานิยมที่เน้นแค่ครึ่งเดียว ไม่มีการต่อสู้ทางการเมืองที่จะตกลงเรื่องความต้องการของประชาชน และหน้าที่ของนักการเมืองคือต้องรวบรวม ประเมินนโยบายเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นประเพณีปฏิบัติของนักการเมือง



ย้อนไปเมื่อ 12 ปีที่แล้ว ประชานิยมถือเป็นกระแสของทั้งโลก ปัญหาจึงไม่ใช่ประชานิยมแต่อยู่ที่อำนาจนิยมมากกว่า และการเมืองแบบเดโมแครตไม่อาจคัดค้านประชาธิปไตยได้



เปรียบเหมือนมือคู่กับเท้าฉันใด ประชาชนห้ามทะเลาะประชานิยมฉันนั้น เดโมแครตไม่อาจคัดค้านประชานิยมได้ ดังนั้น ต้องใช้อำนาจให้ถูกหลักประชานิยม ทั้งเดโมแครตและประชานิยม



ประชานิยมเป็นกระแสโลก เป็นเรื่องปกติ ระดับโลก เป็นผลจากการแพร่ขยายแนวทางเสรีนิยมใหม่ ท่าทีแบบประชานิยม ด้านหนึ่งเดินตามเสรีนิยมใหม่ที่แย่ง ชิงทรัพยากรจากส่วนรวม



อีกด้านออกประชานิยมทำเพื่อให้คนตัวเล็กๆ สามารถอยู่ได้



แต่ในประเทศไทยมีปัญหาเฉพาะตัว ประชานิยมแบบนี้ทำมานานท่ามกลางความเป็นประชาธิปไตย ปัญหาแท้จริงไม่ใช่ประชานิยม



การติดสินบนเอาใจผู้เลือกตั้ง แก้ไขได้ถ้ากระบวนการกำหนดเปิดต้อนรับกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ แต่ในสมัยทักษิณเป็นกระบวนการปิดแคบ ใครที่คิดต่างจะถูกกีดกันออกไป มองพวกคิดต่างเป็นเอเลี่ยน



ดังนั้นถึงแม้อาจมาแบบไม่ชอบธรรม แต่ ก็สามารถนำปัญญามาใช้ให้ถูกหลักเพื่อ ประโยชน์สาธารณะที่ดีได้



แต่ที่น่ากลัวคือ นิยามความบริสุทธิ์ของประชาชนคือ คนดี คนไม่ดี ระบบแบบนี้ไม่มีพื้นที่ให้ดีเบต ถ้าจะแก้ปัญหาไม่ใช่ทะเลาะนโยบายแต่ละเรื่อง แต่ต้องฟันลงไปที่การเมืองแบบประชานิยม ไม่อย่างนั้นเปิดพื้นที่ให้กลุ่มต่างๆ มาถกเถียงไม่ได้



ผมเห็นด้วยที่มวลชนทั้งสองฝ่ายยังไม่อาจปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ เพราะมีเรื่องตกค้างเยอะ ทั้งเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ และคดี 91 ศพ แต่รู้สึกว่าจำนวนมากเหมือนสร้างผีหลอก ระวังรัฐประหาร ระวังล้มเจ้า เพื่อตรึงมวลชนไว้



เอาเข้าจริงอุปสรรคมันไม่ได้สูงขนาดนั้น


หน้า 3




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.