กิตติรัตน์แจงข้อสงสัยงบ"57
 


กิตติรัตน์แจงข้อสงสัยงบ"57


กิตติรัตน์แจงข้อสงสัยงบ
วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 ปีที่ 23 ฉบับที่ 8219 ข่าวสดรายวัน


กิตติรัตน์แจงข้อสงสัยงบ"57


รายงานพิเศษ



หมายเหตุ : นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ชี้แจงข้อสงสัยของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน ระหว่างการประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 เมื่อวันที่ 29 พ.ค.





หวังว่าสังคมจะไม่แปลความหมายถ้อยแถลงของนายกฯ จนเกิดความเข้าใจผิด อาทิ งบประมาณประจำปี พ.ศ.2557 เป็นงบประมาณที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์นั้น จริงๆ ทุกงบประมาณของปีก็สูงที่สุดกว่าปีที่ผ่านๆ มาอยู่แล้ว รวมทั้งในช่วงรัฐบาลก่อนๆ



จึงไม่ได้เป็นความประสงค์ของรัฐบาลที่ต้องการตั้งงบฯ สูงผิดปกติ และเป็นการเพิ่มขึ้นน้อยอย่างยิ่ง จากงบประมาณปี 2555 จำนวน 2.38 ล้านล้านบาท มาสู่ 2.44 ล้านล้านบาท ในปี 2556 เพิ่มขึ้นเพียง 2 หมื่นล้านบาท แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญ



ในปีงบประมาณ 2557 งบประมาณรายจ่ายเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเป็น 2.55 ล้านล้านบาท ซึ่งเหมาะสม และสามารถทำได้ ความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐสอดคล้องกับเป้าหมายที่จะมีรายรับ 2.75 ล้านล้านบาท และยังสอดคล้องกับจีดีพีของประเทศด้วย



ส่วนการลดการขาดดุล ความเชื่อใจในการบริหารงบประมาณขาดดุลรัฐบาลได้ทำงานให้เห็นแล้ว จากระดับการขาดดุล 4 แสนล้านบาท ขณะที่จีดีพีของประเทศอยู่ในระดับ 11 ล้านล้านบาทนั้น



ได้ดำเนินการให้การลดขาดดุลลงเหลือ 3 แสนล้านบาทในปีงบประมาณที่ผ่านมา และกำลังจะเหลือ 2.5 แสนล้านบาทในปีงบประมาณ 2557 นั้น ขณะที่จีดีพีของประเทศก็เติบโตขึ้น เราเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่ลดการขาดดุลในระดับที่ต่ำกว่าร้อยละ 2 ของจีดีพี



เรื่องการให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินไม่เกิน 2 ล้านล้านบาท การออกกฎหมายกู้เงินก็เคยมีในรัฐบาลก่อนๆ รวมถึงรัฐบาลที่ผ่านมาด้วย ย้ำว่าเรามีความละเอียด รัดกุม มีสถานะที่มีมาตรฐานสูงในการออกกฎหมาย



เมื่อผ่านชั้นหลักการมาถึงขั้นกรรมาธิการวิสามัญก็กระทำอย่างรอบคอบและใช้เวลามากที่สุด แตกต่างจากรัฐบาลที่ผ่านๆ มาด้วยซ้ำไป เรามีวินัยที่เข้มแข็งโดยไม่กู้เกิน 2 ล้านล้านบาท ระดับหนี้สาธารณะก็จะไม่เกินร้อยละ 50 ของจีดีพี



ตนไม่เห็นด้วยกับการอภิปรายของนายอภิสิทธิ์ ที่มองว่าการกู้เงินจะไปเพิ่มหนี้สาธารณะ ก่อนรัฐบาลชุดนี้จะเข้ามาหนี้สาธารณะยังทรงตัวอยู่ นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรมว.คลัง ให้มีการปรับเพดานวินัยการคลังจากที่เคยกำหนดร้อยละ 50 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 60



หากรัฐบาลก่อนๆ ไม่เข้าใจเรื่องเพิ่มหนี้สาธารณะ จะไปปรับเพดานหนี้ทำไม ซึ่งตนก็จะไม่ปรับเพดานหนี้ลดลงแต่เปลี่ยนแปลงการทำงานดูแลหนี้สาธารณะแทน



การกู้เงินเพื่อชดเชยงบประมาณขาดดุลซึ่งกำลังมีแนวโน้มลดลง จนเป็นเป้าหมายที่จะสมดุลในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า รวมถึงการกู้เงินต่างๆ ของรัฐบาลเราจะดำเนินการควบคุม ดูแลหนี้สาธารณะให้อยู่ในกรอบดังเดิม



กฎหมายกู้เงินฉบับนี้เป็นไปเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ตั้งแต่ระบบบริหารจัดการน้ำ ระบบขนส่งมวลชน ล้วนเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานระยะยาว และวางแผนลดเงินต้นตามลำดับ



จึงไม่ใช่เรื่องการวางโครงการกระจัดกระจาย แต่เกิดประโยชน์ต่อประเทศ และไม่ได้แกล้งมองข้ามว่าหนี้ที่เกิดขึ้นไม่ต้องคำนวณว่าจะถูกชำระคืนในกี่ปีก็ได้อย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต



ส่วนแนวทางที่อาจถูกเข้าใจผิด เรื่องวิธีการเพิ่มรายได้ 1.75 แสนล้านบาท จะมาจากการเพิ่มภาษีด้านหนี้นั้น รัฐบาลไม่มีความประสงค์ปรับระดับอัตราภาษีเพิ่ม ยกเว้นการปรับเหล่านั้นเป็นประโยชน์ต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค



รัฐบาลเคยปรับภาษีสินค้าสรรพสามิตบางชนิด เพื่อจูงใจให้การบริโภคสินค้าลดลง หรือแม้แต่น้ำมันดีเซล ที่รัฐบาลพยายามดูแลเสถียรภาพราคาน้ำมันปลีกดีเซล



ผู้ประกอบการภาคขนส่งก็มั่นใจจนกำหนดอัตราค่าบริการให้มีเสถียรภาพที่ดีได้ จึงดูแลให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ในภาวะที่มีเสถียรภาพที่ดีด้วย



ขณะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งทะยานสูงขึ้น ถ้ารัฐบาลจะปล่อยราคาน้ำมันให้เป็นไปตามกลไกตามที่บางส่วนคิดว่าเป็นวิธีที่ถูกเสมอ คิดว่าราคาน้ำมันในประเทศก็คงจะยิ่งทะยานสูงขึ้นอีก



ส่วนราคาก๊าซหุงต้มที่ฝ่ายค้านอภิปรายว่ามีต้นทุนต่ำแต่รัฐบาลพยายามทำให้มีราคาสูงขึ้น ความจริงแล้วต้นทุนก๊าซหุงต้มมีราคาที่สูงกว่าราคาขายปลีกที่ดำเนินการควบคุมอยู่มาก เมื่อเทียบเคียงกับหลายประเทศ



สิ่งที่รัฐบาลนี้ต้องคิดคือทำให้ผู้บริโภคตระหนักถึงการบริโภคเหล่านั้น เช่น การใช้ไฟฟ้าฟรีสำหรับผู้มีรายได้น้อยเพื่อลดรายจ่าย แต่การกำหนดให้ใช้ฟรีมากเกินไปจะกลายเป็นทำให้ผู้บริโภคไม่ระมัดระวังช่วยกันประหยัด



เราไม่ได้มีเจตนาทำร้ายผู้มีรายได้น้อยในทางกลับกันกำลังเตรียมการให้ประชาชนเกิดความตระหนักในระดับหนึ่งก่อน หากต้องเผชิญกับภาวะราคาต้นทุนที่สูง มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภค



ขณะเดียวกัน รัฐบาลทำงานควบคู่โดยเพิ่มรายได้ค่าครองชีพแก่ผู้มีรายได้น้อยตามภาวะเงินเฟ้อ แม้จะถูกมองว่าค่าแรงขั้นต้นเพิ่มเป็น 300 บาท อาจเป็นดาบ สองคมก็จริง แต่มันกลายเป็นรายได้ของประชาชนและผู้ที่มีรายได้น้อยและยังช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น



และอาจกลายเป็นรายรับของภาคธุรกิจต่อๆ กันด้วย ซึ่งการดำเนินการทางเศรษฐกิจ เป็นแนวคิดเชิงองค์รวมมหภาคที่ต้องสอดคล้องจุลภาคอยู่แล้ว



ที่รัฐบาลไม่ได้จัดงบฯ อุดหนุนเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพราะเห็นว่าปัจจุบันมีกฎหมายตาม พ.ร.บ.กองทุนประกันสังคม มาตรา 40 ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบของภาครัฐ และเอกชน สามารถส่งเงินสมทบร่วมกับภาครัฐได้



เพียงแต่ขณะนี้มีสมาชิกอยู่แค่ 1.2 ล้านคน จึงไม่สามารถทำให้ผู้มีอาชีพอิสระสนใจการออมได้ รัฐบาลจึงต้องมีมาตรการระยะยาวเตรียมเสนอต่อคณะรัฐมนตรี มีแนวคิดว่าผู้ที่มีอาชีพอิสระสามารถรับสิทธิ์คู่ขนานการออมมากกว่า 1 หน่วยงานได้หรือไม่



การไม่ส่งเงินให้ กอช.ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะละเลย ไม่ให้ความสำคัญกับการออมของประชาชน แต่หากจะดำเนินการเรื่องใหม่ควรต้องสะสางปัญหาเก่าก่อน ซึ่งมีให้เห็นอยู่ในการบริการงานของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)



ส่วนการเก็บภาษีที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง ฝ่ายค้านอภิปรายราวกับว่าตนพยายามประวิงเรื่องนี้เพื่อดูแลกลุ่มนายทุนที่มีทรัพย์สินที่ดินมหาศาล ยืนยันรัฐบาลมีนโยบายลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ



แต่การเก็บภาษีที่มีมาแต่อดีต ใครให้เช่าที่ดินต้องจ่ายภาษีโรงเรือน 12.5% แต่ถ้าเจ้าของที่ดินอยู่อาศัยเอง การจ่ายภาษีต้องเท่ากัน การดำเนินต้องรอบคอบ ไม่เป็นภาระต่อครัวเรือน หรือผู้ที่มีทรัพย์สินเป็นของตัวเอง



ส่วนการจัดตั้งกองทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของรัฐ เพื่อสำรวจที่ดินรกร้างว่างเปล่าและไม่มีการพัฒนาเพื่อปรับปรุงให้เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์และปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะ เพื่อให้เกิดรายได้กับรัฐ เป็นเงินทุนหมุนเวียนให้กองทุน ไม่ได้เอื้อประโยชน์นายทุนรายใหญ่



ที่มองว่ารัฐบาลปรับลดงบประมาณงานวิจัยลงบางส่วน ไม่ได้แปลว่ารัฐบาลให้ความสำคัญน้อยลง แต่เงินที่ลงทุนในอนาคตต้องเป็นผล เรากำลังส่งเสริมภาคเอกชนที่มีงานวิจัยแล้วขึ้นหิ้ง หรือถูกเก็บไว้จนกลายเป็นฝุ่นหนา แต่ต้องสามารถใช้งานได้จริง



ที่ให้ประชาชนหักภาษีจากส่วนนี้ได้มากกว่า 1 เท่า ต้องการให้เกิดความสะดวกเพื่อส่งเสริมการวิจัยเอกชน อาจทำให้รัฐบาลเสียรายรับไปบ้าง แต่รัฐบาลยินดีเสียเพื่อเข้าหุ้นกับเอกชน เพื่อประโยชน์ต่อการดำเนินการในอนาคต



การตั้งงบประมาณชดเชยเงินคงคลังให้กับนโยบายรถคันแรก ไม่ได้เป็นการนำเงินภาษีประชาชนที่ไม่ได้ซื้อรถคันแรกมาจัดสรรให้คนซื้อรถคันแรกตามนโยบายรัฐบาล



เงินส่วนนี้เป็นเงินที่รัฐบาลจัดเก็บมาจากผู้ซื้อรถแต่แรกอยู่แล้วจากภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิต และนำมาจ่ายให้ผู้ซื้อรถคันแรกได้รับตามสิทธิ์หลังซื้อ 1 ปีเท่านั้น ไม่ได้ไปหยิบยืมจากเงินภาษีและเงินคงคลัง


หน้า 3




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.