ข้อสรุปจากการประชุมน้ำโลก
 


ข้อสรุปจากการประชุมน้ำโลก


ข้อสรุปจากการประชุมน้ำโลก
วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 ปีที่ 23 ฉบับที่ 8215 ข่าวสดรายวัน


ข้อสรุปจากการประชุมน้ำโลก


รายงานพิเศษ



การประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 2 หรือ Asia-Pacific Water Summit ภายใต้หัวข้อ "ภาวะผู้นำและพันธะผูกพันเพื่อความมั่นคงด้านน้ำ และการเผชิญภัยพิบัติ ด้านน้ำ"



ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 14-20 พ.ค. ส่วนการจัดแสดงนิทรรศการด้านน้ำเพิ่งจบลงเมื่อวันที่ 26 พ.ค. ที่ผ่านมา



การประชุมปิดฉากลงพร้อมข้อสรุปเบื้องต้นในการทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงน้ำสะอาด ปัจจัยขั้นพื้นฐานของการดำรงชีวิตที่เป็นความมั่นคง ทางน้ำ และรับมือกับความท้าทายด้านน้ำในรูปแบบใหม่ รวมทั้งพัฒนาองค์ความรู้ และจัดตั้งเครือข่ายแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน



แม้ที่ประชุมจะยอมรับว่า หลายปัญหายังยากต่อการจัดการและแก้ไขได้ แต่ก็พร้อมจะร่วมผลักดันวาระเรื่องน้ำเป็นนโยบายเร่งด่วนสำหรับทุกประเทศ และในระดับภูมิภาค



โดยกำหนดเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goal) ซึ่งจะเป็น เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษในอนาคต และถือเป็นประเด็นที่ไทยมีส่วนร่วมและมีบทบาทนำในเวทีโลก



ดังมีเนื้อหาตาม "ปฏิญญาเชียงใหม่" ที่ตัวแทนและผู้นำกว่า 40 ประเทศ ร่วมลงนาม ไว้ดังนี้



ผู้แทนประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เน้นย้ำถึงความสำคัญของน้ำต่อการดำรงชีพของมนุษย์ ทั้งความมั่นคงต่อสภาพแวดล้อมและเศรษฐกิจ และตระหนักถึงความจำเป็นในการรวมประเด็นน้ำเข้ากับการพัฒนาอย่างยั่งยืน



อีกทั้งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เป็นภูมิภาคที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติสูงที่สุดในโลก โดยเฉพาะภัยพิบัติด้านอุทกภัยและภัยแล้งซึ่งมีความรุนแรงและมีความถี่มากขึ้น



ขณะเดียวกัน ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอาจจะเพิ่มความรุนแรงและความถี่ของสถานการณ์ภัยพิบัติ ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคมและอาจสูญเสียชีวิต



ซึ่งเรามีความห่วงใยประเทศหมู่เกาะขนาดเล็กและกลุ่มประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล ต่อผลกระทบจากภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายสูง และเห็นความพยายามของรัฐและประเทศเหล่านี้ในการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้บรรลุผล



ทั้งนี้ จะเน้นการพัฒนาและจัดการทรัพยากรน้ำ โดยใช้หลักการมีส่วนร่วมของผู้ใช้น้ำ นักวางแผนบริหารและผู้กำหนดนโยบายในทุกระดับ และเน้นว่าสตรีมีบทบาทสำคัญในการจัดหาการบริหารจัดการและการพิทักษ์ทรัพยากรน้ำ



อีกทั้งตระหนักว่าความยั่งยืนของการผลิตอาหารขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ



เรายินดีปรับมติของการประชุมระดับผู้นำครั้งที่ 1 เมื่อปี 2007 ให้ประเด็นด้านน้ำและสุขาภิบาลขึ้นเป็น "วาระแห่งชาติ" ให้มีการจัดการน้ำและสุขาภิบาลอย่างเหมาะสม



และส่งเสริมให้การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาในระยะหลังปี 2015 เพื่อลดความสูญเสียชีวิต ทรัพย์สินที่เกิดจากภัยธรรมชาติ



อีกทั้งจะเร่งรัดแนวทางการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสนับสนุนแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในการรักษาทรัพยากรน้ำแบบดั้งเดิม



พร้อมยกระดับความร่วมมือระดับภูมิภาคในการแบ่งปัน แลกเปลี่ยนและเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีและแนวทางปฏิบัติที่ดีในการจัดการน้ำอย่างบูรณาการ



โดยจะให้ความสำคัญต่อการใช้ข้อมูล สารสนเทศ ในการพัฒนาระบบจัดการ เพื่อลดภัยพิบัติ เตือนภัย และสร้างชุมชนที่มีความสามารถในการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อม ด้วยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนและบริหารเงินอย่างสร้างสรรค์



อีกทั้งส่งเสริมการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ การใช้น้ำเพื่อการบริโภค อุตสาหกรรม การเกษตรกรรม โดยจะปรับปรุงแก้ไขระบบชลประทานที่ใช้น้ำมากเกินไปให้มีการใช้อย่างมีประสิทธิภาพและนำกลไกที่เหมาะสมมาใช้ในการลดมลพิษด้านน้ำ



นอกจากนี้ จะส่งเสริมการสร้างเครือข่ายระหว่างรัฐ เอกชนและภาคส่วนอย่างเหมาะสมในการจัดการน้ำและป้องกันแหล่งน้ำ รวมทั้งใช้ประโยชน์จากน้ำอย่างสมเหตุสมผล



ทั้งนี้ เรียกร้องให้องค์กรความร่วมมือด้านน้ำแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ขับเคลื่อนแนวทางสร้างสรรค์เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามมติ



โดยเฉพาะการศึกษาประเมินความเสี่ยงทางเศรษฐกิจจากภัยพิบัติด้านน้ำ และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ การส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการจัดตั้งระบบคลังข้อมูลด้านน้ำของภูมิภาคเอเชีย



เราสนับสนุนการดำเนินงานของทุกประเทศเพื่อปฏิบัติตามข้อตกลง



ความร่วมมือด้านน้ำ ยังสะท้อนผ่านถ้อยแถลงของผู้นำต่างๆ ในการประชุมครั้งนี้



สมเด็จพระราชาธิบดี ฮัสซานัล โบลเกียห์ ประมุขแห่งบรูไนชี้ว่าจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นแต่ขาดการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำ ให้เกิดประสิทธิภาพและสอดคล้องกับปริมาณการอุปโภคและบริโภค ทำให้เกิดปัญหา



ดังนั้น ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญและร่วมมือกันทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก รวมถึงการสร้างหลักประกันในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม



และโลกต้องบูรณาการให้เกิดแนวทางร่วมกัน จัดลำดับความสำคัญและเร่งรัดการดำเนินการให้เป็นรูปธรรม



รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ส่งผลร้ายต่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และความรับผิดชอบร่วมกัน



นายราตู เอเพลี ไนลาติเกา ประธานาธิบดีฟิจิกล่าวว่า ประเทศที่เป็นเกาะประสบปัญหาน้ำแล้งทุกปี รัฐบาลได้ออก พ.ร.บ.บริหารจัดการน้ำ เพื่อคุ้มครองการใช้น้ำ เพื่อให้ประชากรเข้าถึงน้ำที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น



นางชีก ฮาสินา นายกฯบังกลาเทศกล่าวว่า ปัญหาการบริหารจัดการน้ำมีประเด็นสำคัญ เช่น ต้องมีการวางแผนในระดับชาติ ให้ความสำคัญกับสิทธิบัตร เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับน้ำ การบริหารจัดการเชิงวัฒนธรรมเพื่อการใช้น้ำอย่างเหมาะสม การสร้างความตระหนักถึงคุณค่าของน้ำเพื่อความมั่นคงในทุกมิติ และปัญหาของประชากรที่อาศัยอยู่ตามลุ่มน้ำ ต้องมีการติดตามและวางแผนดูแล



การบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพต้องมีการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และมีเครือข่ายการทำงานร่วมกันในระดับต่างๆ จนถึงในมิติของสหประชาชาติ เพราะน้ำคือชีวิตและมีค่าสำหรับมนุษย์ทุกหมู่เหล่า



นายชอง ฮง-วอน นายกฯสาธารณรัฐเกาหลีระบุว่า การเปลี่ยน แปลงต่างๆ อยู่ในมือและความรับผิดชอบของทุกประเทศและทุกภาคส่วน จึงต้องมาบูรณาการด้วยความมุ่งมั่น ระดมสรรพกำลังการแลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์



นายทองสิง ทำมะวง นายกฯสปป.ลาว เห็นว่าประสบการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นนำมาซึ่งการตระหนักว่า ต้องร่วมมืออย่างใกล้ชิดและสนับสนุนกันเพื่อแก้ปัญหาและรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง หรือพายุต่างๆ



ชีก โมฮัมหมัด บิน ราชิด อัล มักทูม นายกฯยูเออีกล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำ ภาวะโลกร้อน การพัฒนาอย่างยั่งยืนล้วนแต่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน ขอชื่นชมไทยหลังปัญหาอุทกภัยครั้งร้ายแรงได้ดำเนินการอย่างแข็งขันในการวางแผนและพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำ พร้อมจะขอเรียนรู้ประสบการณ์จากไทย



นายโมอานา การ์กัส คาโลซิล นายกฯสาธารณรัฐวานูอาตูกล่าวว่า วานูอาตู ประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกต้องเผชิญกับความท้าทายจากภัยพิบัติต่างๆ พายุ น้ำท่วม และภูเขาไฟระเบิดที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำอยู่เสมอ จึงเชื่อว่าทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ประชาชนและภาคเอกชนต้องร่วมมือกันและเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากประเทศต่างๆ เพื่อบรรลุแนวทางการจัดการน้ำอย่างยั่งยืนร่วมกัน



นายวุก เจเรมี ประธานสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 67 ชื่นชมพระอัจฉริยภาพและพระอุตสาหะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการพัฒนาระบบชลประทาน และการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพให้แก่ประชาชนชาวไทย



และเน้นย้ำให้ทุกประเทศผลักดันนโยบายของตนสู่เป้าหมายของสหประชาชาติ ในการบรรลุการพัฒนาสหัสวรรษ หรือ Millennium Development Goal



ทั้งนี้ ยังได้ชื่นชมการจัดการน้ำของรัฐบาลไทย เมื่อเหตุการณ์อุทกภัยใหญ่ปี 2554 ที่ผ่านมาด้วย



ล้วนเป็นความเห็นที่สอดคล้องกับคำกล่าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ที่ระบุว่า "ไม่มีประเทศใดในภูมิภาคนี้สามารถจัดการกับสิ่งท้าทายเหล่านี้ได้เพียงตามลำพัง



ทางเลือกเดียวของเราคือ ต้องสร้างพลังขับเคลื่อนให้เกิดความร่วมมือที่ใกล้ชิดขึ้นในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยไทยพร้อมจะมีบทบาทร่วมอย่างเต็มที่"


หน้า 3




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.