ฉลาดตั้งแต่เล็ก เลี้ยงเด็กด้วยทฤษฎีพหุปัญญา
 


ฉลาดตั้งแต่เล็ก เลี้ยงเด็กด้วยทฤษฎีพหุปัญญา


ฉลาดตั้งแต่เล็ก เลี้ยงเด็กด้วยทฤษฎีพหุปัญญา

สำหรับพ่อแม่แล้ว นอกจากความเป็นห่วงเรื่องความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายลูกน้อย เชื่อว่าทุกคนก็คงอยากให้ลูกๆ มีความสมบูรณ์ในเรื่องของพัฒนาการด้วยเช่นกัน จะฉลาดไหม จะเลี้ยงง่ายหรือไม่ ฯลฯ ก็ต้องดูที่ปัจจัยหลายๆ ด้าน ทั้งจากพันธุกรรมที่ได้รับจากพ่อแม่ และที่สำคัญคือสภาพแวดล้อมในการเลี้ยงดู โดยเฉพาะในช่วง 3-6 ปีแรก สมองของเด็กยังสามารถเติบโตและพัฒนาได้อย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งตามทฤษฎีที่เกี่ยวกับสมองของมนุษย์นั้นมีอยู่หลายทฤษฎี ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “ทฤษฎีพหุปัญญา” หรือ Multiple Intelligence ของศาสตราจารย์ Haward Gardner จากมหาวิทยาลัย Harvard สหรัฐอเมริกา ซึ่งกล่าวไว้ว่า “สติปัญญาของมนุษย์มีหลายด้าน และมีความสำคัญเท่าเทียมกัน ขึ้นอยู่ว่าใครจะโดดเด่นด้านไหน  และแต่ละด้านผสมผสานกันแสดงออกมาเป็นความสามารถเรื่องใด ซึ่งตรงนี้จะกลายเป็นลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละคน โดยพัฒนาการออกเป็น 8 ด้านคือ ภาษา, ตรรกะและคณิตศาสตร์, มิติสัมพันธ์, ร่างกายและการเคลื่อนไหว, มนุษยสัมพันธ์, การเข้าใจตนเอง, ธรรมชาติ และดนตรี

การสร้างพัฒนาการให้ลูกน้อย อันดับแรกที่ พญ.สินดี จำเริญนุสิต กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการ และพฤติกรรมเด็ก โรงพยาบาลเวชธานีจะพูดถึงในวันนี้ก็คือเรื่องของความฉลาดด้านร่างกาย และการเคลื่อนไหว โดยอธิบายว่า


ช่วงแรกของชีวิตเด็ก พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อ และการเคลื่อนไหวเป็นสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงชัดเจน เด็กเล็กต้องอาศัยพัฒนาการกล้ามเนื้อในการสำรวจสิ่งแวดล้อมรอบตัว ไล่ตั้งแต่ศีรษะลงไปจนถึงเท้า เช่นช่วงอายุ 3-4 เดือนเด็กจะเริ่มชันคอเพื่อมองเห็นสิ่งต่างๆ ในมุมมองที่กว้างขึ้น, ช่วง 5-9 เดือนจะเริ่มพลิกตัวจนนั่งเองได้มั่นคงขึ้น และเคลื่อนไหวไปยังสิ่งที่ต้องการ จนกระทั่งช่วง 12-18 เดือน ก็จะเริ่มเดินได้ ซึ่งหากลูกเรามีทักษะในการเคลื่อนไหวร่างกาย และมีสัมผัสประสาทหยิบจับได้คล่องแคล่ว ชอบใช้ทักษะในการสำรวจสิ่งต่างๆ รอบตัว ก็มีแนวโน้มว่าเด็กเหล่านี้จะมีทักษะด้านกีฬา หรือการเต้น

ทั้งนี้ พ่อแม่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาการความฉลาดด้านร่างกายให้กับลูกน้อยได้ไม่ยาก และสามารถทำได้ดังนี้

•    ปล่อยให้ลูกสำรวจสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง ภายใต้การดูแลของพ่อแม่ ควรจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม เช่น การจัดห้องให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดความเจ็บน้อยที่สุด (บุขอบโต๊ะ, ปูพื้น ฯลฯ) และให้ลูกได้ลองผิดลองถูก อาจมีล้มก็ควรปล่อย เพื่อให้เขาได้รับประสบการณ์เหล่านั้น
•    ปล่อยให้ลูกสนุกสนานกับการเต้นให้เต็มที่
•    เล่นซ่อนหากับลูก เพื่อให้เขาได้ฝึกการเคลื่อนไหวมองหาเรา
•    ส่งเสริมการใช้ประสาทสัมผัสของเด็ก โดยพาะเด็กเล็กที่ต้องอาศัย ตาดู (ดูหน้าพ่อแม่ได้ลางๆ ในระยะ 8-12 นิ้วตั้งแต่แรกเกิด) หูฟัง (ได้ยินเสียงตั้งแต่ในท้อง) สัมผัสรักจากพ่อแม่ เช่นการได้รับรสน้ำนมจากแม่ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัวอย่างมีประสิทธิภาพ.

 



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.