ชิ้นส่วนยานยนต์ไทยจ่อโคม่า
 


ชิ้นส่วนยานยนต์ไทยจ่อโคม่า


ชิ้นส่วนยานยนต์ไทยจ่อโคม่า

รถคันแรกหมดเชื้อ-ถูกบริษัทญี่ปุ่นแย่งตลาด

กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนตบเท้าเตรียมถกบีโอไอ หลังเปิดทางบริษัทญี่ปุ่นกรีธาตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนในไทยทำเอสเอ็มอีไทยหายใจไม่ทั่วท้อง ส่อต้องปิดโรงงานกราวรูด ด้านค่ายรถยนต์-ชิ้นส่วนยานยนต์เตรียมปรับลดกำลังการผลิตสู่โหมดปกติ หลังทยอยส่งมอบรถคันแรกข้ามปี หลายค่ายเริ่มสำรวจตลาดครึ่งปีหลังก่อนแถลงเป้าหมายการผลิตใหม่ มิ.ย.นี้

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) เปิดเผยว่า หลังจากที่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ได้หารือกับค่ายรถยนต์ในเบื้องต้น พบว่าในเดือน ส.ค.นี้ คาดว่าผู้ผลิตรถยนต์ทุกค่ายจะปรับอัตราการใช้กำลังการผลิตลงมาสู่ภาวะปกติเฉลี่ย 80-90% จากที่ผ่านมามีการใช้อัตรากำลังการผลิตเกิน 100% เนื่องจากต้องเร่งผลิตรถยนต์เพื่อส่งมอบตามโครงการรถคันแรกของรัฐบาล แต่ขณะนี้โครงการดังกล่าวเริ่มทยอยหมดลงแล้ว และในเร็วๆนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ จะทำหนังสือถึงค่ายรถยนต์ ให้ช่วยกันประเมินกำลังการผลิตรถยนต์ในครึ่งปีหลังเพื่อนำข้อมูลมาประมวลภาพการผลิตรถยนต์ของทุกค่ายตลอดปีนี้อีกครั้งว่า จะสามารถร่วมกันผลิตรถยนต์ให้ได้รวมกัน 2.8 ล้านคันได้หรือไม่ หรือว่าจะคงระดับการผลิตที่ 2.55 ล้านคัน

“ในปีที่ผ่านมากำลังการผลิตรถยนต์ของประเทศไทย มีการผลิตรวมสูงถึง 2.45 ล้านคัน เป็นประวัติศาสตร์ของประเทศไทย เพราะกำลังการผลิตส่วนหนึ่งมาจากยอดรถยนต์ที่ตกค้างจากปัญหาน้ำท่วมโรงงานในปี 2554 ทำให้ค่ายรถยนต์หันมาเพิ่มกำลังการผลิตในปีที่ผ่านมา รวมทั้ง อานิสงส์จากโครงการรถยนต์คันแรกของรัฐบาลทำให้กำลังการผลิตรถยนต์ของประเทศไทยสูงอย่างไม่เคยมีมาก่อน เพราะตลอดปีที่ผ่านมาทุกค่ายรถยนต์ มีการเปิดกะการผลิตเพิ่มขึ้น หรือเรียกว่าโอเวอร์ไทม์เพิ่มขึ้นจากเวลาการผลิตปกติอีกวันละ 4 ชั่วโมง”

นายประสาทศิลป์ อ่อนอรรถ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย กล่าวว่า คาดว่าอีก 1-2 เดือนจากนี้ไป มีแนวโน้มว่าผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ก็จะมีการปรับลดกำลังการผลิตลงจากผลของยอดการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศที่เริ่มชะลอตัวลงหลังสิ้นสุดนโยบายรถคนแรก ประกอบกับการส่งออกเริ่มได้รับผลกระทบจากภาวะค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น แต่จะมากน้อยเพียงใด คงต้องรอเป้าหมายการผลิตของค่ายรถยนต์อีกครั้ง

ทั้งนี้ โครงการรถยนต์คันแรกของรัฐบาล ช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมรถยนต์ในปีที่ผ่านมาเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเห็นว่า หากจะให้เป็นการเติบโตที่ยั่งยืน การผลิตรถยนต์ในประเทศก็ไม่ควรจะเกินระดับ 1.5-1.6 ล้านคันต่อปีและค่อยๆ เติบโตทีละก้าว เนื่องจากผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ โดยเฉพาะที่เป็นบริษัทของคนไทย จะสามารถปรับตัวในด้านต่างๆได้ดีกว่า โดยเฉพาะเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี และการพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งโครงการรถคันแรกที่ผ่านมาทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จำนวนหนึ่ง ต้องหันไปนำเข้าแรงงานต่างด้าวมากขึ้น

นายประสาทศิลป์ กล่าวว่า ขณะนี้สมาคมฯอยู่ระหว่างการเตรียมข้อมูลเพื่อที่จะเข้าไปหารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อให้แนวคิดเกี่ยวกับการส่งเสริมการลงทุนกิจการขนาดกลางและย่อมหรือเอสเอ็มอี ที่เห็นว่า หากเป็นธุรกิจที่คนไทยทำได้อยู่แล้ว ก็ไม่ควรจะให้การส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ที่พบว่า เอสเอ็มอีที่เป็นกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์จากประเทศญี่ปุ่นกำลังเข้ามาลงทุนในประเทศไทยจำนวนมากหากปล่อยไว้แบบนี้ต่อไปในระยะยาว ธุรกิจไทยจะไปไม่รอด เพราะขณะนี้ผู้ผลิตรถยนต์บางค่ายประกาศรับซื้อชิ้นส่วนยานยนต์เฉพาะที่ผลิตจากผู้ผลิตของประเทศญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนตั้งโรงงานในประเทศไทยเท่านั้น.



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.