เช็กแนวโน้มเลือกตั้งปลายปี
 


เช็กแนวโน้มเลือกตั้งปลายปี


เช็กแนวโน้มเลือกตั้งปลายปี
วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 ปีที่ 23 ฉบับที่ 8208 ข่าวสดรายวัน


เช็กแนวโน้มเลือกตั้งปลายปี


รายงานพิเศษ



ซ้าย-สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

กลาง-วิโรจน์ อาลี

ขวา-พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

การวิเคราะห์ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่เห็นว่าการเลือกตั้งครั้งถัดไปอาจจะมีขึ้นปลายปีนี้



นายอภิสิทธิ์ประเมินจากการเคลื่อนไหวของรัฐบาลในพื้นที่ การโฟนอินหรือสไกป์ของพ.ต.ท.ทักษิณ ที่พูดเรื่องยุบสภาบ่อยขึ้น การพยายามผลักดันเรื่องร้อนๆ ของรัฐบาล



และยังเป็นช่วงเวลาที่สมาชิกบ้าน 109 กำลังจะพ้นโทษแบน



ปัจจัยที่หนุนนำความเชื่อของนายอภิสิทธิ์ข้างต้น ตามความเห็นของนักวิชาการ เพียงพอหรือไม่ที่จะสั่นคลอนสถานะของรัฐบาล จนนำมาสู่การยุบสภาเลือกตั้งใหม่



สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

อักษรศาสตร์ จุฬาฯ



เท่าที่ผมจำได้ พรรคเพื่อไทยไม่เคยพูดเรื่องการยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ช่วงปลายปี คงต้องถามนายอภิสิทธิ์ว่าการที่ออกมาระบุแบบนี้ประเมินจากปัจจัยอะไร



อำนาจการยุบสภาเป็นสิทธิ์เด็ดขาดของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คนเดียวร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นจะให้ประเมินหรือคาดการณ์ล่วงหน้าว่าจะมีการเลือกตั้งช่วงปลายปีหรือไม่นั้น คงไม่สามารถประเมินได้



ข่าวการยุบสภาที่มีออกมาขณะนี้เป็นเพียงการคาดการณ์ของนายอภิสิทธิ์เท่านั้น โดยหลักการรัฐบาลอาจยุบสภาก่อนล่วงหน้าได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลเองว่าจะประเมินสถานการณ์อย่างไร



ส่วนขบวนการที่พยายามจ้องล้มรัฐบาล ไม่ว่ายุคไหน สมัยไหน ทุกรัฐบาลมักจะเจอกับขบวนการลักษณะนี้ รวมไปถึงม็อบกลุ่มต่างๆ จึงมองว่าเป็นเรื่องปกติที่ทุกรัฐบาลต้องรับมือได้และไม่หวั่นไหว



ไม่เช่นนั้นเวลาที่เจอม็อบหรือขบวนการกดดันต่างๆ แล้วต้องยุบสภาเลือกตั้งใหม่ทุกรัฐบาลก็คงต้องยุบสภากันหมดแล้ว ดังนั้น ช่วงนี้จึงไม่มีปัจจัยอะไรเลยที่นายกฯ จะยุบสภา



วิโรจน์ อาลี

รัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์



ส่วนตัวไม่ทราบถึงความคิดของนายอภิสิทธิ์ ที่บอกว่าปลายปีนี้อาจได้เห็นการเลือกตั้งใหม่ว่าใช้ปัจจัยอะไร ถึงทำนายในลักษณะนั้น



แต่ถ้าดูตามบริบท สิ่งที่อาจสร้างความระส่ำระสายให้กับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ คือการผลักดันกฎหมายปรองดอง หรือ พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ที่มีผู้เสนอร่างออกมาหลายฉบับ



และรัฐบาลยังไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจนว่าใช้ฉบับใด จะรวมแบบเหมาเข่ง หรือหาฉบับที่ดีที่สุด ประเด็นนี้ยังถือว่ารัฐบาลให้ความชัดเจนไม่ได้



หากการหาทางออกว่าจะปรองดองหรือนิรโทษกรรมให้ชัดเจนไม่ได้ อาจส่งผลทำให้เกิดแรงกระเพื่อมที่จะสั่นคลอนรัฐบาล เพราะประเด็นนี้เป็นประเด็นล่อแหลม ที่ฝ่ายตรงข้ามจ้องโจมตีและพร้อมที่จะออกมาประท้วงต่อต้าน



อีกทั้ง องค์กรอิสระทำหน้าที่ตรวจสอบที่เป็นผลผลิตของรัฐธรรมนูญปี 2550 ต่างพร้อมเคลื่อนไหวหาทางจับผิดรัฐบาล หากกฎหมายปรองดองหรือนิรโทษกรรมเข้าสู่กระบวนการรัฐสภา มีโอกาสเป็นไปได้สูงว่าศาลรัฐธรรมนูญจะเข้ามายุ่งเกี่ยว เหมือนกับการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ



พอองค์กรที่กล่าวมานี้เริ่มเคลื่อนไหว ฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาลก็จะออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุน จนเป็นเหตุทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม ซึ่งสามารถเป็นปัจจัยที่ตรงกับคำทำนายของนายอภิสิทธิ์ได้ ถ้าวิเคราะห์จากบริบททางการเมือง



เพราะฉะนั้น รัฐบาลต้องอธิบายประเด็นนี้ให้ชัดเจน มีเหตุ มีผล เพื่อเป็นการสร้างความกระจ่างให้ทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายตรงข้าม ได้เกิดความเข้าใจ



อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเป็นไปได้ยากที่จะเกิดการเลือกตั้งใหม่ แม้จะมีการร่อนจดหมายเปิดผนึกว่ามีคนจำนวนมากไม่พอใจการบริหารของรัฐบาล



แต่ถ้าอิงตามโครงสร้างและผลงานของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ถือว่ามีความแข็งแกร่งมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางการเมือง การดำเนินการต่างๆ ยังคงเดินหน้าต่อไปได้เรื่อยๆ



แม้จะมีสะดุดกับอุปสรรคบ้างเล็กน้อย แต่ไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะสมาชิกแต่ละคนยังให้การสนับสนุน



อีกทั้งยังไม่เรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น หรือการทำเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ตามที่ฝ่ายตรงข้ามกล่าวอ้าง



ระบบเศรษฐกิจก็ยังคงไปต่อและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากที่กระทรวงการคลังมีปัญหากับธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ดูท่าว่าเรื่องจะจบลงด้วยดี



ยิ่งเรื่อง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท น่าจะเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยประเทศไทยให้พัฒนาต่อไปได้ดียิ่งขึ้น



อีกทั้งเรื่องของความมั่นคง แนวคิดการเจรจากับผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ ที่เริ่มเปิดโอกาสให้คนท้องถิ่นได้มีการพูดคุยกับรัฐ ซึ่งไม่มีรัฐบาลไหนเคยทำ หากการเจรจายังดำเนินอย่างต่อเนื่อง คาดว่าปัญหาจะทุเลาและอาจเกิดความสงบได้



สิ่งที่โดดเด่นของรัฐบาลยิ่งลักษณ์คือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่ได้มีการติดต่อปฏิสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ อีกทั้งรัฐบาลต่างประเทศก็ให้การยอมรับ



ดังนั้น รัฐบาลชุดนี้ จึงมีความสามารถที่จะปรับตัว มีความยืดหยุ่น และเน้นการพัฒนา



จึงเชื่อว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์สามารถอยู่ได้ครบเทอม



พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

รัฐศาสตร์ จุฬาฯ

กระแสข่าวเลือกตั้งปลายปีที่พูดกันอยู่ตอนนี้ ส่วนหนึ่งมาจากบทสัมภาษณ์ของนายอภิสิทธิ์ ที่ระบุจะมีการเลือกตั้งใหม่ช่วงปลายปี



แต่อีกมุมคิดว่า นายอภิสิทธิ์ก็อยากให้รัฐบาลอยู่ครบวาระ เพราะเชื่อว่าหากรัฐบาลอยู่ครบวาระประชาชนจะได้เห็นว่านโยบายรัฐบาลสู้นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ที่นำเสนอไม่ได้



และหากฟังการสัมภาษณ์ของนายอภิสิทธิ์ให้จบ จะพบว่านายอภิสิทธิ์มีความเชื่อมั่นในผลการเลือกตั้งครั้งต่อไป



เป็นไปได้ด้วยว่าการที่นายอภิสิทธิ์ออกมาระบุเรื่องช่วงเวลาในการเลือกตั้ง อาจเป็นการออกมาดักทางไว้ก่อน เพื่อให้เกิดแรงกระเพื่อมภายในพรรคเพื่อไทย ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงภายในพรรคประชาธิปัตย์เอง



ส่วนตัวแล้วเห็นว่าหากมีการยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่จริง เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะได้คะแนนมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความนิยมในตัวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่เหนือกว่านายอภิสิทธิ์



และหากเลือกตั้งปลายปีนี้จริง พรรคเพื่อไทยก็จะมีขุมกำลังเพิ่มขึ้นจากการปลดล็อกของบ้านเลขที่ 109 เข้ามาเสริมอีก



ดังนั้น การที่นายอภิสิทธิ์ยิ่งออกมาพูดเรื่องการเลือกตั้งแบบนี้น่าจะสร้างความหนักใจให้กับพรรคประชาธิปัตย์เองมากกว่า เท่าที่นายอภิสิทธิ์พูดมายังไม่เห็นประโยชน์อะไรกับพรรคประชาธิปัตย์ ท่ามกลางกระแสการปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์เอง



คงไม่สามารถบอกได้ว่าจะเกิดการเลือกตั้งช่วงปลายปีหรือไม่ แต่หากนายกฯ ตัดสินใจยุบสภา ความขัดแย้งจะเพิ่มขึ้น เพราะสังคมไทยไม่เคยชินต่อการยุบสภา เพราะเหมือนกับว่ารัฐบาลคุมเสียงไม่ได้ สร้างความร่วมมือกับพรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้ สะท้อนความอ่อนแอของรัฐบาล



ที่สำคัญเราต้องไม่ลืมด้วยว่าพรรคประชาธิปัตย์อาจมีแผนตลบหลังเหมือนสมัยของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เมื่อยุบสภาพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ส่งคนสมัครรับเลือกตั้งปี 2549



อย่างไรก็ตาม หากพรรคประชาธิปัตย์ทำแบบนั้นอีกก็จะเจอปัญหา เพราะวันนี้ไม่เหมือนกับปี 2549 แล้ว



ส่วนกระบวนการต่างๆ ที่พยายามดิสเครดิตจ้องล้มรัฐบาลในขณะนี้ เชื่อว่าไม่มีผลถึงขั้นจะล้มรัฐบาลได้ และไม่มีผลต่อการเลือกตั้ง เพราะเสียงของพรรคเพื่อไทยมีอยู่มาก โดยเฉพาะในต่างจังหวัด



อย่างไรก็ตาม การที่ขบวนการต่างๆ เกิดขึ้นมากมายตอนนี้ อาจสะท้อนได้ว่าน่าจะถึงทางตันของฝ่ายตรงข้ามแล้วถึงได้ใช้วิธีการสกปรก


หน้า 3




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.