ชี้การศึกษาไทยแย่ลง นร.บ้าแฟชั่น-วัตถุนิยม
 


ชี้การศึกษาไทยแย่ลง นร.บ้าแฟชั่น-วัตถุนิยม


ชี้การศึกษาไทยแย่ลง นร.บ้าแฟชั่น-วัตถุนิยม

"นิด้าโพล" เผยคนส่วนใหญ่กังวลพฤติกรรมเด็กนักเรียนในเรื่องยาเสพติด อบายมุขมากสุด ตามด้วยบ้าแฟชั่น วัตถุนิยม เห็นว่าคุณภาพการศึกษาปัจจุบันแย่ลง ส่วนหนึ่งเพราะครูไม่มีคุณภาพ เกินครึ่งเห็นด้วยนักเรียนชายไว้ผมรองทรงและนักเรียนหญิงไว้ผมยาว...

เมื่อวันที่ 20 พ.ค.2556 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "คุณภาพการศึกษาไทย" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 17-18 พ.ค.2556 จากประชาชนที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป ทั่วประเทศ ทุกภูมิภาค จำนวน 1,253 หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ เกี่ยวกับพฤติกรรมที่น่าเป็นห่วงของเด็ก คุณภาพของระบบการศึกษาไทย และการออกกฎระเบียบทรงผมของเด็กนักเรียน โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐานไม่เกินร้อยละ 1.4 พบว่า สิ่งที่ประชาชนเป็นห่วงหรือกังวลมากที่สุดเกี่ยวกับพฤติกรรมเด็กนักเรียนประถมศึกษา และมัธยมศึกษาในขณะนี้ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 17.40 กังวลในเรื่องของยาเสพติดและอบายมุขต่างๆ รองลงมา ร้อยละ 14.05 เป็นการยึดติดแฟชั่นต่างชาติ วัตถุนิยม เทคโนโลยีต่างๆ  ร้อยละ 13.33 ความมีระเบียบวินัย ร้อยละ 9.18 ความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น และร้อยละ 8.22 การมีคุณธรรม จริยธรรม ซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น

ทั้งนี้ ร้อยละ 42.86 เห็นว่า คุณภาพการศึกษาในโรงเรียนปัจจุบัน เมื่อเทียบกับในอดีตที่ผ่านมาแย่ลง เพราะเด็กไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ เน้นท่องจำ ขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ ครูที่สอนไม่มีคุณภาพ ไม่เอาใจใส่หรือสอนไม่เต็มที่ เด็กติดเทคโนโลยีและไม่ใส่ใจการเรียน ขณะที่ร้อยละ 41.74 เห็นว่าดีขึ้น เพราะทุกวันนี้มีสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัยมากขึ้น มีการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการสอน มีหลักสูตรที่เข้มข้น และตัวเด็กมีการแข่งขันกันสูงทำให้เด็กหันมาเอาใจใส่กับการเรียนมากขึ้น และร้อยละ 10.69 ระบุว่า เท่าเดิม เพราะยังมุ่งเน้นแต่หลักสูตรการสอนที่มีเนื้อหาด้านวิชาการมากกว่าเนื้อหาด้านคุณธรรมจริยธรรม ขาดการพัฒนาบุคลากรครูและนโยบายของรัฐที่ไม่ต่อเนื่อง

เมื่อถามถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้คุณภาพการศึกษาในโรงเรียนมีการพัฒนาดีขึ้น พบว่าร้อยละ 40.92 ระบุว่า เป็นที่สื่อการเรียนการสอน รองลงมา ร้อยละ 22.37 เป็นหลักสูตรการเรียนการสอน ร้อยละ 14.72 เป็นครูผู้สอน และการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจ และร้อยละ 9.37 เป็นที่ตัวเด็กนักเรียน ส่วนปัจจัยสำคัญที่ทำให้คุณภาพการศึกษาในโรงเรียนที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมีพัฒนาการแย่ลงนั้น ร้อยละ 29.80 ระบุว่า เป็นที่ตัวเด็กนักเรียน รองลงมา ร้อยละ 24.21 เป็นครูผู้สอน และการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจ ร้อยละ 12.85 เป็นหลักสูตรการเรียนการสอน และร้อยละ 10.24 เป็นสื่อการเรียนการสอน 

ท้ายสุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกกฎระเบียบ อนุญาตให้เด็กนักเรียนชายไว้ผมรองทรงได้และเด็กนักเรียนหญิงไว้ผมยาวได้ แต่ต้องรวบให้เรียบร้อย พบว่าส่วนใหญ่เกินครึ่ง หรือร้อยละ 56.03 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะการไว้ผมสั้นหรือยาวนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลการเรียนแต่อย่างใด ซึ่งก็ถือว่าเป็นสิทธิของเด็กนักเรียนที่ยังรักสวยรักงาม และเด็กอาจจะลดพฤติกรรมการต่อต้านลงได้ ขณะที่ร้อยละ 39.19 ไม่เห็นด้วย เพราะดูไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย เด็กอาจจะสนใจเรื่องความสวยความงามมากกว่าการเรียน กฎเดิมก็ดีอยู่แล้ว ควรไปแก้ไขในเรื่องระบบการศึกษามากกว่า

รศ.ดร.ดุจเดือน พันธุมนาวิน อาจารย์ประจำคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญ และความตระหนักในเรื่องพฤติกรรมของเด็กนักเรียนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเป็นอย่างมาก เพราะยาเสพติดเป็นบ่อเกิดของปัญหาอื่นๆ ตามมา แต่ผู้ปกครองบางส่วนยังมองข้ามในเรื่องของการคบเพื่อนที่อาจจะชักนำพาไปสู่ในทางที่ไม่ดี โดยเฉพาะยาเสพติดและอบายมุขต่างๆ ดังนั้น ผู้ปกครองจึงควรเอาใจใส่ดูแลในส่วนนี้ด้วย สำหรับปัญหาพฤติกรรมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการยึดติดแฟชั่น วัตถุนิยม ความมีระเบียบวินัย ความรับผิดชอบ คุณธรรมจริยธรรม ฯลฯ สามารถใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ การระเบิดจากข้างใน เข้ามาช่วยในการแก้ไขและพัฒนาเด็กได้

ทั้งนี้ คุณภาพการศึกษาในโรงเรียนปัจจุบัน เมื่อเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่ามีแนวโน้มที่จะแย่ลง ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยที่ว่าเด็กไม่มีคุณภาพทางการศึกษา อันเนื่องมาจากตัวครูผู้สอนที่ต้องรับผิดชอบเด็กในชั้นเรียนที่มีจำนวนมากเกินไป บางห้องมีมากถึง 40 กว่าคน ส่วนหนึ่งครูต้องรับผิดชอบในเรื่องการทำงานด้านบริหารและงานวิจัยไปด้วย อาจจะทำให้ดูแลไม่ทั่วถึง รวมไปถึงครูยังขาดองค์ความรู้ หรือทักษะที่จะถ่ายทอดวิชาให้กับเด็ก อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองจะผลักภาระทั้งหมดนี้ไปให้ครูคนเดียวไม่ได้ ผู้ปกครองควรที่จะเอาใจใส่ดูแลบุตรหลานของตนด้วย

นอกจากนี้ ควรใช้ความหวังดีในการเป็นพ่อแม่เข้ามาซักถามถึงเรื่องราวที่พบเจอในแต่ละวัน หรือปัญหาต่างๆ ของเด็กให้มากขึ้น และให้รางวัลเมื่อเด็กทำความดี ควรใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ในการอบรมสั่งสอน แต่อย่างไรก็ตามทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีก็ได้เข้ามามีส่วนทำให้ระบบการศึกษาพัฒนาไปในระดับหนึ่ง เด็กมีการค้นคว้าข้อมูลได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น มีแหล่งข้อมูลที่มีความหลากหลาย ทำให้เด็กได้ความรู้มากยิ่งขึ้น

สำหรับข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันแก้ไขแบบบูรณาการครบวงจร คือ 1) รัฐบาลควรพัฒนาส่งเสริมครูให้มีศักยภาพ มีองค์ความรู้ คู่คุณธรรมจริยธรรม มีจรรยาบรรณและรักในความเป็นครู รวมไปถึงเงินเดือนสวัสดิการและความเป็นอยู่ต่างๆ ของครูให้มากขึ้น ปรับสัดส่วนงานสอน งานบริหาร และงานวิจัยให้สอดคล้องกัน 2) ส่งเสริมผู้ปกครองหรือครอบครัวให้เข้ามามีส่วนร่วมการพัฒนาทางการศึกษาของเด็ก โดยมีโรงเรียน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ชุมชน องค์กรในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมด้วย แต่ให้พัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป

และ 3) การพัฒนาตัวเด็กและหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดรับกับพฤติกรรมและจิตวิทยาของเด็ก ซึ่งข้อเสนอแนะเพื่อกำหนดนโยบายต่างๆ รัฐบาลควรนำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมาศึกษาเพื่อหาแนวทางในการกำหนดนโยบายที่ตรงตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย อีกทั้งควรทำอย่างต่อเนื่องด้วย



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.