กระตุ้นพ่อแม่ ใส่ใจลูกอาการดาวน์สามารถพัฒนาเรียนร่วมเด็กปกติได้
 


กระตุ้นพ่อแม่ ใส่ใจลูกอาการดาวน์สามารถพัฒนาเรียนร่วมเด็กปกติได้


กระตุ้นพ่อแม่ ใส่ใจลูกอาการดาวน์สามารถพัฒนาเรียนร่วมเด็กปกติได้

ศ.คลินิก นพ.โชคชัย เมธีไตรรัตน์ (กลาง) และ ศ.พญ.พรสวรรค์ วสันต์ (ที่ 3 จากซ้าย) ร่วมกันรณรงค์พัฒนาให้เด็กกลุ่มอาการดาวน์เป็นที่ยอมรับในสังคม.

เพื่อรณรงค์ให้ความรู้แก่พ่อแม่ผู้ปกครอง  เกี่ยวกับเด็กที่มีอาการดาวน์ ทั้งในเรื่องการแพทย์ การดูแล และสิทธิ์ต่างๆ ของเด็กกลุ่มพิเศษเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดงาน “ชุมนุมเด็กอาการดาวน์” ครั้งที่ 21 ขึ้นแก่พ่อแม่ที่ลูกมีความบกพร่องทางเชาวน์ปัญญา ได้มาพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ และเป็นการช่วยเหลือให้เด็กเหล่านี้มีชีวิตร่วมกับเด็กปกติในสังคมได้ และเป็นภาระน้อยที่สุด โดยในงานมีทั้งการให้ความรู้ในเรื่องสิทธิ์ทางการศึกษา,  การฝึกอาชีพ และการดูแลพัฒนาเด็กกลุ่มนี้ ณ อาคารศรีสวรินทิรา โรงพยาบาลศิริราช เมื่อเร็วๆนี้


ในงาน  ศ.พญ.พรสวรรค์  วสันต์  แพทย์ประจำสาขาเวชพันธุศาสตร์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯ ม.มหิดล และประธานชมรมผู้ปกครองเด็กกลุ่มอาการดาวน์  โรงพยาบาลศิริราช เผยว่า วิทยาการทางการแพทย์ในปัจจุบันทำให้แพทย์สามารถตรวจพบเด็กกลุ่มอาการดาวน์มากขึ้น โรคนี้ยังจัดเป็นโรคทางพันธุกรรมที่พบบ่อย จากสถิติพบเด็กกลุ่มนี้เกิดใหม่ประมาณปีละ 800- 1,000 คน จำนวนเด็กกลุ่มอาการดาวน์ไม่ได้ลดลง เพียงแต่วิทยาการทางการแพทย์ ช่วยให้เราวินิจฉัยความผิดปกตินี้ได้เร็วขึ้นเท่านั้น แม้จะแก้ไขไม่ได้ แต่สามารถช่วยเหลือพัฒนาศักยภาพเด็กกลุ่มนี้ได้ สำหรับงานนี้เราจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี  เพื่อให้ความรู้ แก่พ่อแม่ผู้ปกครอง และบุคลากรทางการแพทย์ได้ทราบถึงความก้าวหน้าใหม่ๆที่เกี่ยวกับกลุ่มอาการดาวน์  ตั้งแต่การส่งเสริมพัฒนาการในขวบปีแรก,  การฝึกพูด,  รวมทั้งการตรวจสุขภาพ  ตลอดจนเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าโรงเรียนอนุบาลใกล้บ้าน และเข้าสู่ระบบโครงการเรียนร่วมกับเด็กปกติ ในปัจจุบันเด็กเหล่านี้มีความสามารถเรียนร่วมกับเด็กปกติได้ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงประถมศึกษาปีที่ 4-6 และหลายคนสามารถเรียนต่อจนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย

ภาพวาดฝีมือเด็กอาการดาวน์.

ภาพวาดฝีมือเด็กอาการดาวน์.


คุณหมอพรสวรรค์กล่าวต่อว่า แต่ปัญหาสำคัญขณะนี้ คือ เด็กกลุ่มอาการดาวน์เมื่อเรียนจบ ป.4 หรือ ป.6 แล้ว ไม่มีโอกาสฝึกอาชีพ ต้องอยู่แต่บ้าน ทำให้สมองขาดการพัฒนาเท่าที่ควร และอาจทำให้เชาวน์ปัญญาลดลงอีกด้วย เพราะเด็กกลุ่มอาการดาวน์ต้องได้รับการกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเน้น การฝึกอาชีพ ซึ่งภาครัฐยังไม่ได้จัดให้มีบริการอย่างทั่วถึง แม้จะมีศูนย์ฝึกอาชีพในกรุงเทพฯ และในต่างจังหวัดบ้างแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่มากพอ ยิ่งกว่านั้นศูนย์ฝึกอาชีพหลายแห่ง ตั้งเกณฑ์การรับเด็กเข้าฝึกอาชีพต้องมีอายุตั้งแต่ 15 หรือ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งช่องว่างระหว่างอายุ 15-18 ปี ที่ไม่มีการฝึกอาชีพ ทำให้เด็กเกิดปัญหา เราไม่อยากเห็นสิ่งที่ช่วยเหลือกันมาตั้งแต่ต้นต้องจบลงด้วยการสูญเสียทั้งเวลา จึงขอความร่วมมือภาครัฐให้ความสำคัญกับการฝึกอาชีพของบุคคลผู้พิการทางสติปัญญาให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้เด็กหรือบุคคลกลุ่มนี้สามารถช่วยเหลือตนเองได้ และใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคม โดยเป็นภาระน้อยที่สุด รวมถึงให้สังคมยอมรับเด็กกลุ่มนี้มากขึ้นด้วย.

 



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.