จาตุรนต์โต้แถลงการณ์ปชป.
 


จาตุรนต์โต้แถลงการณ์ปชป.


จาตุรนต์โต้แถลงการณ์ปชป.
วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 ปีที่ 23 ฉบับที่ 8199 ข่าวสดรายวัน


จาตุรนต์โต้แถลงการณ์ปชป.


คอลัมน์ รายงานพิเศษ



หมายเหตุ : นายจาตุรนต์ ฉายแสง โพสต์ข้อความในชื่อ "แถลงการณ์ที่สูญเปล่า : ประชาธิปัตย์ขนานแท้จริงๆ" ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ตอบโต้แถลงการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ชี้แจงเกี่ยวกับคำปาฐกถาของนายกฯ ที่ประเทศมองโกเลีย



อ่านแถลงการณ์พรรคประชาธิปัตย์ต่อกรณีปาฐกถามองโกเลียแล้ว บอกได้ตามตรงว่าไม่ผิดคาดเลย ประชาธิปัตย์อย่างไรก็เป็นประชาธิปัตย์อยู่นั่น

แถลงการณ์พรรคประชาธิปัตย์ฉบับนี้ไม่น่าจะทำความเสียหายให้เกิดแก่นายกรัฐมนตรีเท่าใด ถ้าจะเกิดความเสียหาย ก็คงจะเป็นความเสียหายต่อประเทศชาติ ซึ่งก็ยังน้อยกว่าที่พรรคประชาธิปัตย์เคยทำมาก่อนหน้านี้มากนัก

ผู้ที่เสียหายมากที่สุดจากการออกแถลงการณ์ฉบับนี้น่าจะได้แก่พรรคประชาธิปัตย์และผู้นำพรรคคือนายอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) นั่นเอง

แถลงการณ์พรรคประชาธิปัตย์ฉบับนี้มุ่งตอบโต้ นายกฯ แต่คำกล่าวหาต่างๆ ไม่มีอะไรใหม่และไม่มีน้ำหนัก เป็นเพียงคำกล่าวหาเดิมๆ ที่พรรคประชาธิปัตย์ชอบใช้โจมตีนายกฯ เป็นประจำ โดยไม่ได้อิงหลักประชาธิปไตย หรือหลักนิติธรรมแต่อย่างใด

ที่น่าแปลกและไม่ทราบว่าพรรคประชาธิปัตย์จะนึกถึงหรือรู้ตัวหรือไม่ก็คือ แถลงการณ์ฉบับนี้ได้ตอกย้ำและเป็นข้อพิสูจน์ได้อย่างดีว่า ปาฐกถามองโกเลียของนายกฯ นั้นถูกต้องและเป็นความจริงอย่างแน่ชัดแล้ว

ทำไมผมจึงพูดอย่างนั้น

แถลงการณ์ฉบับนี้แสดงให้ชาวโลกเห็นว่า มีผู้ไม่เชื่อในประชาธิปไตย ผู้ที่มีปฏิกิริยาต่อการพัฒนาประชา ธิปไตย และพยายามขัดขวางทำลายประชาธิปไตยอยู่ในประเทศไทยตามที่นายกฯกล่าวไว้จริงๆ

แถลงการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ได้แก้ต่างและสร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหารในปี 2549

พรรคประชาธิปัตย์พูดถึงปัญหาต่างๆ ของบ้านเมืองก่อนการรัฐประหาร เช่น ปัญหาคอร์รัปชั่น ความขัดแย้งในสังคม และปัญหาการแทรกแซงองค์กรอิสระ เป็นต้น ในทำนองเดียวกันกับที่คณะรัฐประหารเคยกล่าวอ้างเกือบจะทุกประการ

แล้วก็พูดถึงการที่ "ฝ่ายทหารเข้าแทรกแซง" อย่างนิ่มๆ เรียบๆ แบบที่ไม่เห็นว่าเป็นปัญหาอะไรเลย

นี่เท่ากับพรรคประชาธิปัตย์ได้ย้ำทัศนคติของตนที่ว่า หากบ้านเมืองมีปัญหา การรัฐประหารก็สามารถเป็นทางออกที่ชอบธรรมได้ ทัศนคติอย่างนี้เป็นเรื่องตรงข้ามกับหลักการประชาธิปไตยที่คนทั่วโลกเข้าใจกัน

ต้องย้ำว่าฝ่ายประชาธิปไตยนั้นถือว่า ไม่ว่าบ้านเมืองที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยจะมีปัญหาอย่างไร ก็ไม่สามารถใช้ปัญหาเหล่านั้นเป็นเหตุผลให้เกิดความชอบธรรมในการรัฐประหารได้

ความจริงถ้าพรรคประชาธิปัตย์จะใช้คำอธิบายที่นายอภิสิทธิ์เคยใช้อธิบายการรัฐประหารหลังเกิดการรัฐประหารใหม่ๆ มาขยายความอีกสักหน่อยก็จะยิ่งทำให้ผู้อ่านเข้าใจจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ได้ดียิ่งขึ้น

คือควรจะบอกด้วยว่า "การรัฐประหารนั้นเป็นเผด็จการแต่เพียงรูปแบบ แต่เนื้อหาเป็นประชาธิปไตย" และ "การรัฐประหารเป็นการถอยหลังเพียงชั่วคราวเพื่อให้ประชาธิปไตยก้าวหน้าต่อไป" อะไรทำนองนี้

ที่ว่าแถลงการณ์ฉบับนี้ทำความเสียหายต่อประเทศชาติ ก็อยู่ตรงที่ไปแสดงให้ชาวโลกเห็นว่าพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่เก่าแก่ที่สุด ที่เมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งเป็นรัฐบาลมาหยกๆ ไม่มีสำนึกที่เป็นประชาธิปไตย

และจะออกแถลงการณ์ถึงประชาคมโลกทั้งทีกลับไม่เสนออะไรที่จะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างหรือพัฒนาประชาธิปไตยได้บ้างเลย

นอกจากรับรองความชอบธรรมของการรัฐประหารอย่างเป็นทางการต่อชาวโลกแล้ว แถลงการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ยังรับรอง หรือแม้กระทั่งเชิดชูมรดกที่คณะรัฐประหารมอบไว้ให้แก่ประเทศนี้

ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ หรือการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญในทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและขัดต่อหลักนิติธรรมอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

พรรคประชาธิปัตย์พูดรับรองรัฐธรรมนูญโดยไม่ได้พูดถึงที่มาและผู้ร่าง พูดถึงการลงประชามติโดยไม่พูดถึงสภาพบังคับ บีบคั้น และไม่มีทางเลือกของประชาชน

เมื่อพูดถึงการพ้นจากตำแหน่งของนายกฯ 2 คน ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนก็ให้ข้อมูลไม่ครบ จงใจไม่พูดถึงสาระสำคัญ

เช่น เมื่อพูดถึงการที่นายสมัคร สุนทรเวช ต้องพ้นจากตำแหน่งจากการกระทำซึ่งขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ได้บอกว่าการกระทำนั้นคือการทำกับข้าวออกทีวี

เมื่อพูดถึงการที่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นจากตำแหน่งนายกฯ เพราะพรรคพลังประชาชนถูกยุบในข้อหาทุจริตในการเลือกตั้ง ก็ไม่ได้บอกว่าเหตุที่ทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทั้งรัฐบาลต้องล้มไป

คือการทุจริตในการเลือกตั้งที่ว่านั้น เกิดจากการที่ กกต.เชื่อว่ากรรมการบริหารพรรคคนหนึ่งจ่ายเงินให้แก่ผู้สนับสนุนรายหนึ่งเป็นเงิน 20,000 บาท หรือประมาณ 600 เหรียญสหรัฐ ก่อนที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง

ข้อมูลที่ตกไปและผมช่วยเติมให้นี้ ใครๆ เขาก็รู้กันทั่วโลกมานานแล้ว ลองนึกดูว่า ผู้ที่ติดตามความเป็นไปของเมืองไทยได้อ่านแถลงการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์แล้ว เขาจะรู้สึกอย่างไร

พรรคประชาธิปัตย์ได้อธิบายเช่นเดียวกับที่นายอภิสิทธิ์ มักอธิบายอยู่บ่อยๆ เช่นกันว่า เป็นการสมควรและชอบธรรมแล้วที่นายกฯ 3 คนพ้นจากตำแหน่งไป

ทั้งๆ ที่นายกฯ 3 คนนั้นต่างก็มาจากการเลือกตั้ง ของประชาชน และต้องพ้นจากตำแหน่งไปไม่ด้วยการรัฐประหาร ก็ด้วยการใช้อำนาจที่คณะรัฐประหารได้มอบให้ไว้

แถลงการณ์ฉบับนี้จึงไม่ใช่การแสดงถึงการที่พรรคประชาธิปัตย์ยืนหยัดต่อหลักการว่าด้วยเสรีประชาธิปไตย

พรรคประชาธิปัตย์ยังทำลายภาพพจน์ของประเทศไปพร้อมกับการแสดงความบ้องตื้นและการไม่รับผิดชอบของผู้นำของตน ด้วยการอธิบายเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสมัยที่นายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ

ว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นเป็นการชุมนุมที่ขัดต่อกฎหมาย นำโดย พวกก่อการร้ายและกองกำลังติดอาวุธ ประชาชนและเจ้าหน้าที่บาดเจ็บล้มตายล้วนเกิดจากการกระทำของพวกก่อการร้ายและกองกำลังติดอาวุธเหล่านี้ทั้งสิ้น

ทั้งๆ ที่การพิสูจน์พยานหลักฐานที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเรื่อยมากลับไม่พบผู้ก่อการร้าย ไม่พบกองกำลังติดอาวุธ แต่กลับพบว่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่เสียชีวิต รายแล้วรายเล่า เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ที่ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลในขณะนั้น

พรรคประชาธิปัตย์และนายอภิสิทธิ์ ไม่เคยแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่ทำให้เกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง

ในการออกแถลงการณ์ต่อชาวโลกก็ยังยืนยันที่จะไม่แสดงความรับผิดชอบ หรือแม้แต่จะแสดงความเสียใจใดๆ มีแต่โยนความผิดให้ผู้อื่นทั้งที่ปราศจากหลักฐานและข้อพิสูจน์ใดๆ มารองรับ

ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ผมจึงกล่าวว่าผู้ที่เสียหายที่สุดจากการออกแถลงการณ์ของพรรคประชา ธิปัตย์ในครั้งนี้ก็คือ พรรคประชาธิปัตย์และนายอภิสิทธิ์เอง

อ่านคำแถลงฉบับนี้แล้วยิ่งรู้สึกว่าคำปราศรัยของ นายกฯ ที่มองโกเลีย เป็นการพูดความจริงที่เป็นประโยชน์ต่อประชาคมโลก ที่ทำให้เกิดความเข้าใจต่อปัญหาที่เป็นจริงของประชาธิปไตยไทย

รวมทั้งเห็นความจำเป็นที่จะต้องสร้างและพัฒนาประชาธิปไตยร่วมกันต่อไป

ขณะเดียวกัน ก็ยิ่งเห็นว่าดีแล้วที่เป็นนายกฯ ยิ่งลักษณ์ไปปราศรัยที่มองโกเลีย เพราะถ้าเป็นนายอภิสิทธิ์ไปปราศรัยในเวทีประชาธิปไตยอย่างนี้ คนไทยทั้งประเทศคงไม่รู้จะเอาหน้าไปไว้ไหน


หน้า 3




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.