มองขอบเขตวิจารณ์นายกฯ
 


มองขอบเขตวิจารณ์นายกฯ


มองขอบเขตวิจารณ์นายกฯ
วันที่ 09 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 ปีที่ 23 ฉบับที่ 8197 ข่าวสดรายวัน


มองขอบเขตวิจารณ์นายกฯ


รายงานพิเศษ



ซ้าย-ลักขณา ปันวิชัย (คำ ผกา)

ขวา-สุขุม นวลสกุล

เป็นหัวข้อสนทนาวงกว้าง สำหรับประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งสืบเนื่องมาจากสปีชร้อนที่มองโกเลีย ว่าควรมีขอบเขตอยู่ระดับไหน



โดยเฉพาะข้ออ้าง "บุคคลสาธารณะ" แล้วใครก็สามารถแสดงความเห็นกันได้เต็มที่นั้น ในความเป็นจริงแล้วสามารถทำเช่นนั้นได้หรือ



ขณะที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ออกมาปราบเว็บที่โพสต์ข้อความดังกล่าว ถือเป็นสิ่งที่เหมาะสมเกินเลยหรือไม่ อย่างไร





ลักขณา ปันวิชัย (คำ ผกา)

นักเขียนและคอลัมนิสต์



การวิพากษ์วิจารณ์นายกฯ ไม่มีคำว่าเกินเลย เพราะเป็นความรับผิดชอบของผู้พูด ไม่ใช่ความรับผิดชอบผู้ถูกกล่าวถึง หากมองในด้านภาษาศาสตร์ ประโยคหนึ่งประกอบด้วยประธานคือผู้พูด และกรรมคือผู้ถูกพูดถึง คนที่เป็นกรรมไม่ได้มีความเดือดร้อนใดๆ เพราะไม่ใช่ผู้กระทำ



ในกรณีนี้นายกฯ ก็ไม่ได้เป็นอย่างที่เขากล่าวหา ถ้าบอกว่า นายกฯ คดโกงสิ จะต้องมาพิสูจน์ข้อเท็จจริงกัน



คำบริภาษประเภทนี้จึงเป็นเพียงการแสดงอารมณ์ของผู้พูด แสดงออกซึ่งความเกลียดชัง หรือเหยียดหยามเท่านั้น ถ้าสังคมเห็นว่าคำพูดประเภทนี้ไม่เหมาะสม ความเสียหายก็จะตกอยู่แก่ผู้พูดเอง



ตัวนายกฯ เองถ้าไม่สบายใจก็สามารถฟ้องร้องหมิ่นประมาทได้ แต่คงเป็นแค่การฟ้องเชิงสัญลักษณ์เพื่อปกป้องตัวเองเท่านั้น ไม่ใช่การฟ้องร้องเพื่อเรียกค่าเสียหาย



อีกประเด็นสำคัญคือ สังคมไทยควรหาคำใหม่ๆ มาใช้ด่ากันแทนคำที่ดูถูกเหยียดหยามเพศหญิงได้แล้ว และผู้หญิงเองก็ไม่ควรให้สิ่งเหล่านี้มาจำกัดเสรีภาพของตนเอง



กรณีไอซีทีขู่จะปิดเว็บไซต์ที่ดูหมิ่นนายกฯ นั้น ส่วนตัวไม่เห็นด้วย ประเทศเสรีประชาธิปไตยนั้นการแสดงออกไม่ควรมีข้อจำกัด แต่ควรเป็นสำนึกผิดชอบชั่วดีของเจ้าของเว็บไซต์เอง และเชื่อว่าสังคมไทยมีวุฒิภาวะพอที่จะตัดสินใจได้ว่าจะให้ความเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน



เรื่องนี้รัฐไม่ควรไปก้าวก่าย



สุขุม นวลสกุล

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

นายกฯ เป็นบุคคลสาธารณะ สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่ควรวิจารณ์ให้อยู่ในขอบเขต คือ วิจารณ์เกี่ยวกับการทำงาน ไม่ใช้ถ้อยคำที่รุนแรงไม่สุภาพเหมือนสนุกปาก



ไม่ใช่ว่าไปเรื่อย ว่าแบบเสียๆ หายๆ บางครั้งก็วิจารณ์กันแรงเกินไป



และบางครั้งการวิจารณ์ก็ไปสะเทือนถึงอาชีพอื่นด้วย คนที่วิจารณ์ไม่ได้เข้าถึงอาชีพนั้นๆ แต่ก็ไปเปรียบเปรยกับนายกฯ สะท้อนให้เห็นว่าอาชีพนั้นไม่ดี ทำแบบนี้มันก่อให้เกิดปัญหามากกว่า



การใช้ถ้อยคำในลักษณะดูถูกเหยียดหยาม ไม่ว่าจะหมายถึงใครย่อมไม่ใช่เรื่องดีทั้งนั้น ถ้าวิจารณ์กันแบบนี้เข้าข่ายการหมิ่นประมาท นายกฯ มีสิทธิ์ฟ้องร้องกับผู้วิพากษ์วิจารณ์ที่เกินขอบเขต ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ



และไม่ควรตำหนิท่านว่าเป็นการปกป้องตัวเอง เพราะทุกคนล้วนมีสิทธิ์ปกป้องตัวเองด้วยกันทั้งนั้น



การควบคุมดูแลตามขอบเขตของกฎหมายเป็นสิ่งสำคัญ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรช่วยกันดูแล เช่น การทำงานของสื่อมวลชนควรพิจารณาว่าเนื้อหาใดควรเผยแพร่หรือไม่ควรเผยแพร่ สถานีโทรทัศน์ก็ควรกลั่นกรอง



ไม่ใช่ว่าใครอยากจะพูดอะไรก็พูดได้หมด ทุกหน้าที่ควรกระทำให้อยู่ในขอบเขต จะอ้างว่าเป็นสิทธิเสรีภาพอย่างเดียวไม่ได้ เพราะบางครั้งสิทธิเสรีภาพมันไปกระทบถึงคนอื่น ละเมิดถึงชื่อเสียงเกียรติยศ



การใช้ถ้อยคำหยาบคายดูหมิ่นในโลกอินเตอร์เน็ตนั้นถูกใช้กันอย่างเคยชิน หากกระทรวงไอซีทีจะปิดเว็บผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณา แต่ต้องชี้แจงประชาชนให้ครอบคลุมทุกประเด็นที่มีข้อสงสัย

ซ้าย-นฤมล ศิริวัฒน์

ขวา-สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง





ผมมองว่าเฟซบุ๊กที่มีการวิจารณ์ตอบโต้กันไปมา ดูแล้วยิ่งไม่มีความรับผิดชอบ หากเฟซบุ๊กนั้นมีการกล่าวหาให้ร้ายคนอื่นบ่อยๆ ก็ควรพิจารณาปิดไปเลย ไม่ควรปล่อยให้มีช่องทางการสื่อสารแบบนี้ เกิดขึ้น



ซึ่งการดำเนินการทางกฎหมายลักษณะนี้ก็เหมือนกับการบังคับใช้กฎหมายทั่วไป เพราะเป็นการสร้างความเสียหายแก่บุคคล





นฤมล ศิริวัฒน์

ส.ว.อุตรดิตถ์

ขณะนี้การวิพากษ์วิจารณ์นายกฯ ถือเป็นเรื่องใหญ่โตเกินเลยไปแล้ว การที่นายกฯ พูดอะไรออกไป คนที่มีวุฒิภาวะย่อมรับผิดชอบคำพูดตัวเอง จึงไม่จำเป็นต้องไปกดดันผู้นำประเทศขนาดนั้น



ถ้าบอกว่านายกฯ ขายชาติ ก็ให้พูดกันด้วยเหตุผลบนความเป็นจริงของการทำงานว่านายกฯ กระทำการขายชาติอย่างไร ไม่ใช่ออกมาพูดปาวๆ อย่างเดียว



ดิฉันไม่ได้มองว่าเรื่องนี้ละเมิดสิทธิสตรี เพราะไม่ใช่การละเมิด แต่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำประเทศที่ไม่อยู่ในขอบเขตเหมาะสมมากกว่า



แม้เราไม่ได้กำหนดตายตัวว่าแค่ไหนจึงเรียกว่าพอดี แต่อยู่ที่สามัญสำนึกของคนมากกว่าที่ต้องเคารพกันในระดับหนึ่ง



ไม่ใช่ใช้อารมณ์ และคารมมาเชือดเฉือนผู้นำประเทศตัวเอง หรือวิพากษ์วิจารณ์จนไม่เหลือช่องว่างเลย



ถ้าการวิพากษ์วิจารณ์ล้ำเส้นเกินไป และไม่มีโอกาสต่อสู้ นายกฯ ก็มีสิทธิ์ใช้ช่องทางกฎหมายปกป้องตัวเองได้เช่นกัน เพื่อลดผลกระทบ แต่ไม่ใช่ปกป้องผู้บริหารอย่างเดียวจนไม่สามารถแตะต้องได้



อย่างกรณีการปิดเว็บหมิ่นประมาทนายกฯ เป็นเรื่องที่สามารถทำได้เช่นกัน ส่วนจะเกิดการต่อต้านจากสังคมออนไลน์หรือไม่คิดว่าโซเชี่ยลแซงก์ ชั่น (social sanction) หรือวิธีการสร้างระบบการควบคุมและลงโทษทางสังคม



ก็ยังคงมีอยู่ระดับหนึ่ง



สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล

กรณีบุคคลทั่วไปหรือบุคคลสาธารณะ การวิพากษ์วิจารณ์ต้องยึดหลักกฎหมายเป็นสำคัญ ดังนั้น ขอบเขตการวิพากษ์วิจารณ์ย่อมถูกบังคับโดยกฎหมายอาญาเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท อยู่แล้ว



เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนายกฯ นั้น สังคมไทยมีความละเอียดอ่อนในเรื่องเพศหญิง เพศชาย และให้คุณค่าแตกต่างกัน ดังนั้น การออกมาแสดงความเห็นต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญและศีลธรรมอันดีงามด้วย



แม้จะอ้างว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์บุคคลสาธารณะ แต่ควรคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก ที่สำคัญต้องอยู่ในขอบเขตของกฎหมาย เพราะเมื่อมีคนไปโพสต์ในเว็บให้เกิดความเสียหาย ถือว่านายกฯ เสียหายแล้ว สามารถใช้สิทธิ์ฟ้องร้องเพื่อปกป้องตนเองได้



ส่วนตัวมองว่าบางข้อความไม่ค่อยเหมาะสม เพราะทุกอาชีพล้วนมีเกียรติยศศักดิ์ศรี ทุกคนที่ทำงานถือว่ามีคุณค่า จึงไม่ควรเอามาโยงเป็นประเด็นการเมือง



ฝากถึงคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ให้ระวังคำพูดในเรื่องเพศ เพราะมีความอ่อนไหว อย่าลืมว่ากฎหมายให้สิทธิ์ในการวิจารณ์ แต่ไม่ได้ให้สิทธิ์ในการไปด่าคนอื่น ในต่างประเทศเวลาที่เขาวิจารณ์กันก็วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ ไม่เอาประโยชน์ตัวเองเป็นที่ตั้ง



สังคมไทยคนพูดเก่งเยอะ แต่พอพูดแล้วต้องรับผิดชอบคำพูดของตัวเองด้วย อีกทั้งการวิจารณ์ต้องไม่นำมาใช้เป็นผลประโยชน์ทับซ้อนกับหน้าที่การงาน การทำอะไรควรต้องใช้วิจารณญาณให้มากเสียก่อน



ดิฉันจึงสนับสนุนการปกป้องสิทธิของตัวเองโดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหวเรื่องสตรี



ส่วนการดำเนินการนอกจากฟ้องร้องแล้วนั้น สำหรับหน่วยงาน อื่นๆ คงต้องดูว่ามีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการอะไรได้บ้าง ถ้าทำตามหน้าที่โดยไม่ได้ไปละเมิดใครก็สามารถทำได้


หน้า 3




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.