สปีชยิ่งลักษณ์ บทพิสูจน์ปชต.
 


สปีชยิ่งลักษณ์ บทพิสูจน์ปชต.


สปีชยิ่งลักษณ์ บทพิสูจน์ปชต.
วันที่ 05 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 ปีที่ 23 ฉบับที่ 8193 ข่าวสดรายวัน


สปีชยิ่งลักษณ์ บทพิสูจน์ปชต.





การปาฐกถาบนเวทีประชาคมประชาธิปไตย ที่มองโกเลีย

เปลี่ยนภาพ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จาก "สมันน้อย" ทางการเมือง ให้กลายเป็น"นางสิงห์"

เนื้อหาคำปาฐกถาสะท้อนความไม่สมบูรณ์ของประชาธิปไตยในไทย เนื่องจากถูกตีกรอบจำกัด โดยรัฐธรรมนูญฉบับจากการรัฐ ประหาร 19 ก.ย. 2549

เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนและคนเสื้อแดงลุกขึ้นต่อต้าน นำมาสู่เหตุการณ์สลายการชุมนุมในปี 2553 มีผู้บริสุทธิ์ถูกยิงด้วยสไนเปอร์เสียชีวิตเกือบร้อยศพ

ที่สำคัญคือ ถึงพรรคเพื่อไทยจะฝ่าด่านกลไกกับดักดังกล่าวมาได้ ด้วยการคว้าชัยจากการเลือกตั้งในเดือนก.ค.2554 แต่ยังมีความชัดเจนว่า

ผู้ที่มีปฏิกิริยาต่อต้านประชา ธิปไตยยังอยู่

ตัวอย่างประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์นี้เห็นได้จากครึ่งหนึ่งของวุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง อีกครึ่งหนึ่งกลับได้รับการแต่งตั้งโดยกลุ่มคนเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง

ยิ่งกว่านั้นกลไกองค์กรอิสระ ยังใช้อำนาจเกินขอบเขตแทนประชาชนเจ้าของอำนาจที่แท้จริง ดำเนินการเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากกว่าเพื่อคนส่วนใหญ่ของสังคม

ตรงนี้คือความท้าทายประชาธิปไตยไทยในปัจจุบัน

การปาฐกถาของน.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นที่ถูกอกถูกใจของฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล แต่ก็สร้างความขุ่นเคืองให้คนอีกกลุ่มที่เคยได้รับผลประโยชน์จากการรัฐประหารของคมช.

เห็นได้จากการที่มีส.ว.จำนวนหนึ่งออกแถลงการณ์เรียกร้องให้น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวขอโทษประชาชนต่อคำปาฐกถาดังกล่าวที่เป็นการบิดเบือน ทำให้สังคมโลกเข้าใจผิดและสร้างความแตกแยกในสังคมไทย

อันเป็นท่าทีเดียวกับซีกฝ่ายพรรคประชา ธิปัตย์ที่เตรียมทำจดหมายเปิดผนึกตอบโต้ปาฐกถาของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ส่งไปยังมองโกเลียและประชาคมโลก

นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการ นายกฯ และ นพ.ทศพร เสรีรักษ์ โฆษกรัฐบาล มองว่า

การทำจดหมายเปิดผนึกชี้แจงตอบโต้การปาฐกถาของนายกฯ เป็นสิทธิของฝ่ายค้านสามารถทำได้ แต่ทำแล้วประชาคมโลกจะเชื่อหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เพราะไม่ว่าเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 โค่นล้มรัฐบาลทักษิณที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่ในค่ายทหาร

กระทั่งคำสั่งสลายการชุมนุมประท้วงในเดือนเม.ย.-พ.ค. 2553 ด้วยกระสุนจริงและสไนเปอร์ ทำให้มีคนตาย 99 ศพ บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน

สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ในสายตาของอารยประเทศทั่วโลกตั้งแต่แรก

การโต้แย้งข้อเท็จจริงเหล่านี้ โดยส.ว.สรรหาหรือกลุ่มนักการเมืองที่เคยได้รับผลประโยชน์จากเผด็จการรัฐประหารจะเป็นการประจานตัวเองซ้ำซาก

หรือการปาฐกถาของน.ส.ยิ่งลักษณ์คือการบิดเบือนประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยหรือไม่ เชื่อว่าสังคมโลกรู้คำตอบดีอยู่แล้ว

การปาฐกถาของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกมองว่าเป็นการแสดงนัยยะสอดคล้องกับสถานการณ์ภายในประเทศขณะนี้ โดยเฉพาะต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

จากจุดเริ่มต้น กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับ คำร้องคัดค้านการแก้ไขมาตรา 68 ไว้วินิจฉัย ว่าเข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองประชาธิปไตย มีโทษให้ต้องถูกยุบพรรค ตัดสิทธิการเมืองหรือไม่

สถานการณ์ได้พัฒนาเข้าสู่ขั้นเผชิญหน้าตึงเครียด จนหลายคนวิตกกังวลว่าอาจกลายเป็นชนวนความ ขัดแย้งรุนแรงรอบใหม่

รัฐบาลเพื่อไทยและส.ว.เคย "ถอย" ให้กับศาลรัฐธรรมนูญมาแล้ว

ในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จนกลายเป็นปัญหาค้างคาในรัฐสภา ไม่สามารถลงมติวาระ 3 ได้จนถึงตอนนี้

ตอนนั้นมีนักการเมืองและนักกฎหมายหลายคน ชี้ตรงกันว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นการก้าวก่ายอำนาจรัฐสภาโดยตรง

แต่ที่รัฐบาลเพื่อไทยยอมถอยเพราะไม่อยากให้ความขัดแย้งบานปลาย

ทั้งยังเชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังมีทางออกเหลืออยู่ คือการแก้ไขแบบรายมาตราตามที่ศาลรัฐธรรมนูญให้ข้อแนะนำไว้เองว่าสามารถทำได้

แต่พอถึงเวลาจริงกลับไม่เป็น เช่นนั้น

ทันทีที่มีผู้ไปยื่นร้องคัดค้านการแก้ไขแบบรายมาตราของรัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญก็มีมติรับไว้วินิจฉัยด้วยเสียงข้างมากที่ไม่เป็นเอกฉันท์

ล่าสุดศาลฯ ยังได้มีมติ 5 ต่อ 3 รับ คำร้องของพล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ไว้เพิ่มเติมอีก 1 คำร้องต่อจากของนายสมชาย แสวงการ และนายบวร ยสินทร

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของฝ่าย ไม่ยอมรับมติศาลรัฐธรรมนูญก็มีความ เข้มข้นไม่แพ้กัน

ไม่ว่าความเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทยที่ครั้งนี้ยืนยันเดินหน้าสู้ไม่ถอย โดยอาสาเป็นหัวหอกให้กับสมาชิกรัฐสภา 312 ส.ส.และส.ว.

ออกแถลงการณ์ไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ

เพราะมั่นใจว่าการรับคำร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาไว้พิจารณาเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการแบ่งอำนาจ 3 ฝ่าย นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ

การแก้ไขรัฐธรรมนูญถือเป็นอำนาจหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ตามมาตรา 291

นอกจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีอำนาจรับคำร้องตามมาตรา 68 ไว้พิจารณาเองโดยไม่ผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากอัยการสูงสุด

การพิจารณารับคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68 เป็นไปโดยเร่งรัด ผิดปกติ ขาดหลักความเสมอภาค ไม่สอดคล้องหลักการตีความกฎหมายและรัฐธรรมนูญ

เป็นมาตรฐานที่ไม่อาจยอมรับได้

และที่ต้องจับตาก็คือม็อบหน้าศาลรัฐธรรมนูญ ครั้งนี้ปักหลักชุมนุมในนามกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ กวป.

ได้ประกาศยกระดับการชุมนุมครั้งใหญ่วันที่ 8 พ.ค.นี้ เพื่อกดดันให้ 9 ตุลาการฯ ยุติบทบาทการทำหน้าที่ ด้วยการลาออกให้ได้

สถานการณ์ขัดแย้งนี้จะเดินต่อไปในทิศทางใด จะคลี่คลาย หรือขึงตึงยิ่งกว่าเดิม คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคือปัจจัยชี้ขาดสำคัญ

บทบาทศาลรัฐธรรมนูญนับจากนี้ จะเป็นหลักฐานยืนยันได้ดีถึงสิ่งที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวปาฐกถาบนเวทีประชาคมประชาธิปไตยที่มองโกเลีย

เป็นหลักฐานชัดเจนกว่าจดหมายใดๆ ทั้งสิ้น


หน้า 3




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.