เบื้องหลังสปีชร้อน"ยิ่งลักษณ์"
 


เบื้องหลังสปีชร้อน"ยิ่งลักษณ์"


เบื้องหลังสปีชร้อน
วันที่ 03 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 ปีที่ 23 ฉบับที่ 8191 ข่าวสดรายวัน


เบื้องหลังสปีชร้อน"ยิ่งลักษณ์"


สัมภาษณ์พิเศษ



หมายเหตุ - นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ชี้แจงถึงปาฐกถาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในเวทีประชาคมประชาธิปไตย ระหว่างการเยือนประเทศมองโกเลียเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งกำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางหลากหลายในเวลานี้





ที่มาที่ไปของปาฐกถานายกฯ

ทุกคำกล่าวของนายกฯ ไม่ใช่เฉพาะที่มองโกเลีย ล้วนแต่เป็นความคิดของท่าน นายกฯเป็นคนทำงานละเอียด จะพูดอะไรถือว่าเป็นคำพูดของท่าน แนวคิดก็ต้องเป็นของท่าน ดังนั้นทุกคำกล่าวนายกฯจะดูเองทั้งหมด



เหมือนกับผู้นำทุกประเทศที่ต้องมีคนยกร่าง รวบรวมข้อมูลให้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของสำนักเลขาธิการนายกฯ โดยผมและทีมงานจะช่วยร่างคำกล่าว ฝ่ายสุนทรพจน์ของนายกฯจะรวบรวมข้อมูล พร้อมประสานกับกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อมายกร่างก่อนส่งกลับให้นายกฯปรับแก้



ถ้าเป็นคำกล่าวสำคัญๆ นายกฯจะให้แนวคิดก่อนว่าต้องการพูดแบบนี้ ในเวทีนี้ ใช้หัวข้อนี้ และจะขอพูดเรื่องพวกนี้ จากนั้นพวกผมจะรวบรวมเรียบเรียงข้อมูลมา นายกฯก็จะอ่านแล้วปรับแก้



เวทีที่มองโกเลียเช่นเดียวกัน เมื่อได้รับเชิญ นายกฯบอกเลยว่าเป็นเวทีสำคัญเรื่องประชาธิปไตย จึงบอกแต่แรกว่าอยากพูดแนวคิดของท่าน อยากให้คนเข้าใจว่ามายืนอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร ความเป็นประชาธิปไตยมีความสำคัญต่อท่านแค่ไหน และมองไปถึงอดีต



ท่านอยากให้เป็นอุทาหรณ์ว่าความเป็นประชาธิปไตยไม่ได้สมบูรณ์ การได้รับการเลือกตั้งมาไม่ได้หมายความว่าประชาธิปไตยสมบูรณ์แล้ว นายกฯต้องการเห็นประชาธิปไตยเกิดขึ้น



โดยเมื่อผมและทีมงานรวบข้อมูลเสร็จ มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษ นายกฯก็กลับไปดู คิดและขอแก้บางจุดประมาณ 10 วันก่อนเดินทาง



แม้ผมและทีมงานเป็นผู้เรียบเรียง แต่การเขียนต้องสะท้อนความคิดของผู้พูด ผู้พูดเองก็ต้องสบายใจในสิ่งที่จะพูด และจะมีการปรับแก้เพื่อให้ตรงกับความคิดของตัวเอง เรามีหน้าที่ช่วยงานให้ผู้พูดพูดได้ตรงกับใจ



อุทาหรณ์ที่ว่านี้คืออะไร



ทุกวันนี้ยังมีกระบวนการหรือสิ่งที่ต้องดำเนินการต่อที่ทำให้เกิดประชาธิปไตยแท้จริงในประเทศไทย กระบวนการปรองดอง การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่แถลงต่อรัฐสภา ล้วนเป็นสิ่งที่อยู่ในใจ นายกฯว่าจะทำอย่างไรให้ประชาธิปไตยดีและแข็งแรงขึ้น



เพราะท่านมองว่าประชาธิปไตยเป็นพื้นฐาน ถ้าประชาธิปไตยมั่นคง การเมืองมีเสถียรภาพ การพัฒนาเศรษฐกิจก็เจริญก้าวหน้า ประชาชนก็ได้ประโยชน์



ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่จับต้องได้ นายกฯอยากพูดแต่บอกว่าไม่อยากพูดเชิงทฤษฎี อยากพูดในเรื่องที่จับต้องได้ อยากใช้ประสบการณ์ของท่านมาแลกเปลี่ยน



เวทีที่มองโกเลียเป็นเวทีกึ่งวิชาการ เป็นเวทีที่ตัวแทนจากทุกประเทศมานั่งคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เรียนรู้จากกัน ทุกคนเห็นตรงกันว่าประชาธิปไตยไม่สามารถเกิดได้ในช่วงข้ามคืน การพูดคุยแลกเปลี่ยนกันจะช่วยทำให้ประชาธิปไตยแข็งแกร่งขึ้น



นายกฯไม่มีเจตนาฟ้องใคร หรือฟ้องโลกว่าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย มองแต่ว่าการพูดเช่นนี้จะทำให้คนเข้าใจเรามากขึ้น และเพื่อนที่เป็นประเทศประชาธิปไตยในวันนี้ เขายอมรับว่าประเทศไทยกลับมาเป็นประชาธิปไตยแล้ว ต้องได้รับการสนับสนุนจากประเทศที่เป็นประชาธิปไตยด้วย



แต่ถูกโจมตีว่าแก้ต่างให้พ.ต.ท.ทักษิณ พี่ชาย



ไม่มีเลย เป็นบทเรียนของนายกฯที่ได้รับมา ซึ่งต้องเห็นใจท่าน ในคำกล่าวก็บอกว่าเป็นเรื่องที่ได้รับกระทบโดยตรงมากกว่าคนอื่น



ขณะเดียวกันท่านพูดชัดเจนว่า ถ้าเป็นเรื่องครอบครัวท่านคนเดียวคงปล่อยวางแล้ว แต่มันไม่ใช่เพราะกระทบเครดิตประเทศและประชาชน และการต่อสู้ของประชาชนที่ต่อเนื่องมาหลังการรัฐประหาร ก็ทำให้เกิดการสูญเสียในเหตุการณ์เดือนพ.ค.2553



หวังอะไรจากเวทีที่มองโกเลีย



การจะทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งต้องยอมรับความจริงก่อนว่าเกิดอะไรขึ้น นายกฯต้องการสะท้อนให้เห็นตัวตนและความคิดของท่านว่า ประชาธิปไตยเมื่อมาถึงจุดนี้ ยังมีอุปสรรคขวากหนามที่จะต้องแก้ไขปฏิรูป ไม่ใช่ต้องการจะคิดแก้แค้น หรือล้างแค้นใครอย่างที่มีคนพูด



หลายประเทศก็มีบทเรียนคล้ายกัน และพูดว่า 3 เสาหลักบางครั้งก็ไม่ถ่วงดุลกัน ทั้งฝ่ายนิติ บัญญัติ บริหาร และตุลาการ นางออง ซาน ซู จี ยังพูดเลยว่า 3 เสาหลักในพม่าก็ยังไม่สมบูรณ์ เพราะประชาธิปไตยเพิ่งฟื้นกลับคืนมา



นายกฯอยากให้ประชาคมโลกเข้าใจว่า นี่คือสิ่งที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ ปีที่ผ่านมาตลอดทั้งปี นายกฯใช้เวลาเดินสายต่างประเทศเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าประชาธิปไตยกลับมาแล้ว



แต่ต่างประเทศก็ยังสงสัย เพราะบางทีข่าวออกไปยังมีม็อบ มีข่าวต่อต้าน จึงเกิดความไม่มั่นใจ การจะไปหลอกว่าไม่มีอะไรแล้วมันไม่จริง จึงต้องให้เพื่อนบ้านเข้าใจสถานการณ์



แต่นายกฯพูดชัดเจนว่าความตั้งใจของท่านที่จะให้เกิดความปรองดอง เกิดสันติภาพ มีกระบวนการปฏิรูปต่างๆ ต้องมี ซึ่งประเทศไทยทั้งสภา ฝ่ายบริหาร องค์กรอิสระก็ต้องทำหน้าที่



มีการพาดพิงถึงองค์กรอิสระ



นายกฯไม่ได้ปฏิเสธองค์กรอิสระ แต่อยากอธิบายว่าการคานและดุลอำนาจเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับการตรวจสอบซึ่งกันและกันด้วย ไม่ใช่อิสระแล้วตรวจสอบไม่ได้



ฝ่ายบริหารถูกตรวจสอบได้ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ และองค์กรอิสระก็ต้องถูกตรวจสอบได้ เช่นกัน



ส่วนที่ไปสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงกับศาลรัฐธรรมนูญนั้น เป็นจังหวะทางการเมือง ไม่ได้หมายความว่าเราจะไปผสมโรง แต่ทุกคนคาด หวังว่านายกฯต้องเป็นทั้งนายกฯและผู้นำทางการเมือง



ดังนั้นนายกฯก็ต้องมีจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน ซึ่งความจริงท่านมีมาตลอด แต่หลายครั้งในการให้สัมภาษณ์สั้นๆ อาจไม่มีโอกาสได้เล่าเรื่องทั้งหมด ครั้งนี้ท่านเลยบอกว่าต้องเอาให้ชัดในจุดยืนของนายกฯที่ชื่อยิ่งลักษณ์



เสียงวิจารณ์ว่าเลือกภาพที่เป็นข้อเสียประ เทศไปพูดเวทีโลก



ไม่ใช่ นายกฯไม่ได้ไปประจานใคร ที่มองโกเลียเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ไม่ได้เป็นเวทีโฆษณาชวนเชื่อ นักการเมืองในอดีตหลายคนเดินสายต่างประเทศ โฆษณาชวนเชื่อทำให้เกิดความเข้าใจผิด ทั้งที่เป็นถึงระดับรัฐมนตรี เป็นระดับนายกฯก็มี อันนั้นถือเป็นการประจานตัวเอง



ที่มองโกเลียผมนั่งแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยทั้งหมด แล้วให้นายกฯดูแล้วแก้นิดหน่อย พร้อมส่งให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบว่ามีผลเสียหายต่อประเทศหรือไม่ เสี่ยงจะถูกการฟ้องร้องหรือไม่



ฝ่ายค้านจะทำหนังสือชี้แจงทุกประเด็นส่งกลับไปยังเวทีที่มองโกเลีย




ก็แล้วแต่ฝ่ายค้าน อยากทำก็เป็นสิทธิ แต่จะทำอะไรต้องสะท้อนดูตัวเองก่อนว่า เคยทำอะไรไว้บ้างในอดีต และทำอะไรไว้กับคนอื่นบ้างที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดในสังคม



เลยทำให้น่าสงสัยว่าทำไมจึงร้อนตัวขนาดนั้น หรือที่กล่าวหากันเป็นเรื่องจริง



รัฐบาลคงไม่ทำเอกสารชี้แจงอะไร เพราะวันนี้มีการเผยแพร่คำกล่าวของนายกฯมากแล้ว ต้องขอบคุณสื่อมวลชนที่เผยแพร่จำนวนมาก ทำให้คนเข้าใจ นายกฯมากขึ้น จะเห็นด้วยหรือไม่นั้นก็เป็นสิทธิ เราพร้อมรับฟัง



ปฏิกิริยาจากต่างประเทศเป็นอย่างไร



ถือว่าดี ทุกคนตอบรับเพราะเป็นเวทีที่ทุกคนได้พูดและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ไม่ใช่เวทีข้อสรุปว่าใครถูกหรือผิด



ท่านประธานาธิบดีมองโกเลีย สมัยเป็น นายกฯ และเดินทางมาประเทศไทยในยุคพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ หลังจากนั้น 5 ปี ท่านแทบไม่ได้ยุ่งกับไทยเลยหลังรัฐประหาร ท่านตั้งใจเชิญนายกฯยิ่งลักษณ์ไปในเวทีนี้ เพราะเห็นว่าประชาธิปไตยของไทยกลับคืน มาแล้ว



ในการหารือทวิภาคีทั้งกับประธานาธิบดีและ นายกฯมองโกเลีย ซึ่งเป็นประธานการประชุม ชัดเจนว่าให้เกียรตินายกฯไทย



ยอมรับว่าเป็นผู้นำมาจากระบอบประชาธิปไตยที่ได้รับการเลือกตั้งมาอย่างถูกต้อง



ถึงได้เชิญมาในเวทีนี้


หน้า 3




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.