“ชวนนท์” กรีดรัฐบาลไม่สนปัญหาปากท้อง ปชช.
 


“ชวนนท์” กรีดรัฐบาลไม่สนปัญหาปากท้อง ปชช.


“ชวนนท์” กรีดรัฐบาลไม่สนปัญหาปากท้อง ปชช.
">วันนี้ (27 เมษายน 2556) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า เรื่องการจัดลำดับความสำคัญของปัญหาประเทศขณะนี้ ซึ่งรัฐบาลมีความพยายามที่จะเดินหน้าผลักดันในเรื่องที่เป็นประเด็นการเมืองในช่วงปิดสมัยประชุมสภา แต่รัฐบาลกลับไม่สนใจปัญหาที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชนอย่างแท้จริง
 เช่น พรรคเพื่อไทยจะเปิดเวทีปราศรัยโดยเน้นเรื่อง การแก้รัฐธรรมนูญ การออกกฎหมายนิรโทษกรรม และเรื่องกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ตรงนี้เป็นจุดที่ชี้ให้เห็นว่าพรรคเพื่อไทยทราบดีว่า เรื่องเหล่านี้ไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ประชาชน แต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของนักการเมือง หรือผู้ที่อยู่เบื้องหลังรัฐบาล จึงเป็นเหตุให้มีการจัดเวทีบิดเบือนข้อเท็จจริงเป่าหูประชาชน
 
 
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เพื่อให้คล้อยตามสภาและยินยอมในสิ่งที่รัฐบาลจะดำเนินการในช่วงเปิดสมัยประชุมสมัยหน้า จะเห็นว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องประโยชน์ของนักการเมืองล้วนๆ ทั้ง 3 ประเด็น ดังนั้นสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์จะดำเนินการต่อไป ในช่วงปิดสมัยประชุม คือ การเดินหน้าเวทีผ่าความจริง พูดถึงสิ่งที่รัฐบาลกำลังสร้างความเสียหายกับประชาชนแล้ว พรรคก็จะเรียกร้องเพิ่มเติมในประเด็นต่างๆ ที่รัฐบาลควรกลับมาให้ความสำคัญกับประชาชน ดังนี้ 1.ปัญหาภัยแล้ง ขณะนี้มีพื้นที่ถึง 49 จังหวัดทั่วประเทศ หรือ 20,000 กว่าอำเภอ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ขอเรียกร้องให้รัฐบาลลงมาแก้ปัญหา ผ่านกระบวนการที่รัฐบาลได้กู้เงิน เพื่อแก้ไขสถานการณ์น้ำ 3.5 แสนล้านบาท โดยมีการกู้มากองไว้ล่วงหน้ากว่า 16 เดือน แต่ยังไม่สามารถนำเงินก้อนดังกล่าว มาแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ทั้งเรื่องของนำท่วมหรือน้ำแล้ง สิ่งเหล่านี้พรรคก็จะเดินสายเปิดประเด็นให้ชาวบ้านเข้าใจว่า รัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอที่จะดูแลแก้ไขปัญหาให้ประชาชน แต่สิ่งที่ประชาชนต้องประสบปัญหาภัยแล้งขณะนี้ ก็เพราะรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจยังอยู่ในขั้นตอน กำหนดร่างขอบเขตของงาน หรือทีโออาร์เพื่อให้ง่ายต่อการทุจริตคอรัปชั่น หรือผู้ที่มารับงาน 
 
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า 2. สถานการณ์ของแพงที่ย้อนกลับมาอีกครั้ง และเป็นสภาวะที่แพงกว่าทั้งแผ่นดิน ซึ่งปีนี้แพงกว่าปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นผักชนิดต่างๆหรือสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐาน ทั้งนี้จากการตรวจสอบกับกรมการค้าภายใน ส่วนใหญ่ราคาแพงกว่าหน้าร้อนปีที่แล้วทั้งสิ้น 3. ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะราคายางพาราที่ตกต่ำต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการใช้เงินพยุงราคายางไปแล้วกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่ปลายสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะจนถึงปัจจุบัน ราคาตกไปกว่าร้อยละ 50 แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลใช้เงินไปโดยไม่มีประสิทธิภาพ มีการใช้เงินงบประมาณถึง 2.5 หมื่นล้านบาท แต่ไม่สามารถพยุงราคายางให้ขึ้นมาได้เลย แม้เพียง 1% ราคากลับดึ่งลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพรรคต้องเปิดเผยให้เห็นว่า มีการนำเงินอุดหนุนราคายางไปใช้ในการเวียนเทียนยางเพื่อทุจริตคอรัปชั่น จึงเป็นเหตุให้ราคาไม่ผงกหัวขึ้นเลยในรัฐบาลนี้
 
“ชาวสวนยางเดือดร้อนเพราะราคาตกต่ำที่ประมาณ 70 บาท ส่วนขี้ยางราคา 3 กิโลกรัม/100 บาท ชาวสวนยางตั้งข้อสังเกตว่า ช่วงนี้ไม่มียางจะกรีดหรือมีผลผลิตน้ำยางน้อยมาก ราคายางน่าจะปรับตัวสูงขึ้น แต่ราคากลับตกต่ำอย่างต่อเนื่อง จึงตั้งข้อสังเกตว่ามีใครในรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจไปบิดเบือนตลาดหรือไม่” นายชวนนท์ กล่าว
 
นายชวนนท์ กล่าวว่า เช่นเดียวกับเรื่องปาล์มน้ำมัน ตามที่มีประชาชนร้องเรียนมาเนื่องจากเดือดร้อนอย่างหนัก เพราะราคาที่ลานเทขณะนี้อยู่ที่ 2.60 บาท ถ้าหักราคาค่าคนตัดปาล์มไปแล้ว ชาวสวนจะได้เงินเพียง 1.90 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งราคาปาล์มตกลงกว่า 100% อย่างไรก็ตามชาวสวนปาล์มได้ตั้งข้อสังเกตว่า ระยะนี้ผลปาล์มไม่ได้ออกมาเยอะ ซึ่งโดยปกติถ้าเป็นช่วงที่ทะลายปาล์มออกน้อย ราคาน่าจะสูงขึ้นแต่ขณะนี้ราคาปาล์มตกต่ำ ผลปาล์มก็ไม่ออกสู่ตลาด จึงเกิดจากการที่รัฐบาลแอบลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบจากประเทศเพื่อนบ้าน ตามสัญญาที่ได้เคยตกลงไว้เมื่อปีที่แล้ว จึงเป็นเหตุให้มีการกดราคาหน้าสวน กดราคาปาล์มทะลาย จึงทำให้ชาวสวนปาล์มเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสอยู่ขณะนี้ ดังนั้นพรรคจะติดตามและจะเปิดเผยความจริงต่อไป
 
"ทั้งนี้ราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้น 4 เท่า จาก 300 บาท เป็น 1,200 บาท สภาวะที่ราคาตกต่ำลงกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ผมคิดว่ามีกลไกที่ไม่ปกติเข้าไปแทรกแซง จนทำให้ราคาพืชผลทั้ง 2 ตัวผิดปกติต่อเนื่อง" นายชวนนท์ ระบุ
 
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า 4. มีข่าวว่ากระทรวงพลังงานจะมีมติลอยตัวแก๊สหุงต้มในภาคครัวเรือน เรื่มต้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน โดยทยอยปรับเพิ่มขึ้นเดือนละ 50 สตางค์ จนกว่าจะครบ 6 บาทในหนึ่งปี ซึ่งจะเท่ากับราคาก๊าซแอลพีจีในภาคขนส่ง และจากนั้นก็จะปรับราคาทั้งภาคขนส่งและภาคครัวเรือน ให้เท่ากับราคาก๊าซในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งตนยืนยันจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ว่า คัดค้านการลอยตัวก๊าซหุงต้มในภาคครัวเรือน เพราะประเทศไทยมีก๊าซแอลพีจีเป็นของตัวเองในอ่าวไทย จึงไม่จำเป็นที่จะไปอ้างอิงราคาตลาดโลก เพราะเรามีทรัพยากรเพียงพอที่จะผลิต ตนจึงไม่เห็นเหตุผลว่า ทำไมเราจึงต้องนำสินค้าที่เราผลิตเอง ไปยกราคาให้เท่ากับราคาในตลาดโลก เพื่อที่จะทำให้บริษัทผู้ค้าก๊าซได้กำไรเพิ่มขึ้น จึงต้องการที่จะรวมราคาตลาดแก๊สทั้งครัวเรือน ขนส่ง และอุตสาหกรรม ให้มีราคาเท่ากันซึ่งผลประโยชน์ก็จะตกอยู่กับผู้ประกอบการ และผู้ที่ถือหุ้นในบริษัทใหญ่อย่าง ปตท. และถือหุ้นผ่านกองทุนรวมระหว่างประเทศ ที่เข้ามาถือหุ้นใน ปตท.
 
ดังนั้นตรงนี้ก็จะนำข้อมูลมาตีแผ่ให้ประชาชนเห็นว่า การที่ประชาชนต้องเดือดร้อนทุกวันนี้เพราะคนที่มีอำนาจ และคนที่มีบารมีเหนือรัฐบาลเป็นคนกำกับสั่งการ ให้ราคาและกลไกในประเทศสับสน
<

// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.