ดูลิง-กินหอย-คอยโกโบริ ซึมซับความสุข @ เมืองสุราษฎร์
 


ดูลิง-กินหอย-คอยโกโบริ ซึมซับความสุข @ เมืองสุราษฎร์


 ดูลิง-กินหอย-คอยโกโบริ ซึมซับความสุข @ เมืองสุราษฎร์

คอลัมน์ บันทึกเดินทาง โดย อรปวีณ์ วงศ์วชิรา



ย่างเข้าฤดูร้อน ฤดูหลักของไทย หลายคนวางแผนจับจองพื้นที่สร้างสุขเพื่อพาตัวเองไปปะทะกับอากาศเย็นๆ ไม่ว่าจะเป็นทะเล น้ำตก หรือแม้แต่ยอดดอยและยอดภูต่างๆ

หากเลือกทะเล "สุราษฎร์ธานี" คงเป็นปลายทางของหลายคนได้พิสูจน์ว่าเป็นเมืองร้อยเกาะ หอยใหญ่ ไข่แดงฯ อย่างคำขวัญที่เขียนไว้รึเปล่า

นับเป็นโอกาสดี เมื่อการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยหรือ "ททท." จับมือ "แอร์เอเชีย" พาเราบินลัดฟ้าไปยังจังหวัดริมอ่าวไทยที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งอาหารทะเลแห่งหนึ่งของไทย... "จะรีรออะไร"

ตั้งหลักกันบนเรือที่จะมุ่งหน้าไปยัง "ปากอ่าวบ้านดอน" ปากอ่าวที่สำคัญของสุราษฎร์ฯ กินพื้นที่อำเภอไชยา ดอนสัก และอำเภอเมือง หากนั่งเรือไปยังใจกลางปากอ่าวจะสามารถเห็นเกาะเล็กเกาะน้อย รวมถึงเกาะชื่อดังอย่างสมุยด้วย

ขนำใหญ่ใจกลางปากอ่าว จุดเริ่มต้นของการท่องเที่ยวครั้งนี้ เป็นฟาร์มเพาะเลี้ยงหอยนางรม "สินมานะ ฟาร์มสเตย์" มานานกว่า 50 ปี เป็นการเลี้ยงหอยผ่าน 3 น้ำทอง คือ น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ทำให้ได้หอยตัวใหญ่ ขาวนวล อ้วนสะอาด และยังว่ากันว่า "หอยที่อ่าวบ้านดอนอารมณ์ดีกว่าที่อื่น"... จริงหรือเปล่าไม่รู้

ระหว่างนั่งเรือ สายตาพลันเห็นป่าโกงกางที่สะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ และสายน้ำที่ใสสะอาด เกิดการท่องเที่ยวแบบชุมชนซึ่งช่วยให้ชาวบ้านร่วมกันรักษาความสมบูรณ์ของธรรมชาติไว้เป็นอย่างดี เช่น ปักทางมะพร้าวให้เป็นที่พักพิงของปลา ไม่ทิ้งขยะลงทะเล เป็นต้น ธุรกิจนี้เน้นความสุข ไม่หวังผลกำไร

ขนำหรือกระท่อมชั่วคราวกลางเวิ้งน้ำที่ชาวประมงสร้างขึ้นนั้น ไม่ใช่ที่พักตากอากาศแต่เป็นอาคารอเนกประสงค์ ให้ชาวประมงได้พักเรือในยามที่คลื่นลมแรง และใช้เป็นที่ประชุมของ อบต. เป็นเคล็ดว่าผู้เข้าประชุมไม่สามารถโดดประชุมได้ (อย่างสบายๆ) เคล็ดนี้น่านำมาใช้ในกรุงเทพฯ ให้การประชุมมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เมื่อเราถึงฝั่ง ลองจับเนื้อตัวดูรู้สึกแปลกใจ ทำไมตัวไม่เหนียวเหนอะหนะเพราะลมทะเล เจ้าของฟาร์มหอยนางรมคนเดิมได้ที บอกว่าลมทะเลที่อ่าวบ้านดอนลมแรงทั้งปี แต่ไม่ทำให้ตัวเหนียวสักนิด แน่จริงต้องไปพิสูจน์กัน

ระหว่างทางที่มุ่งหน้าไปยัง ตำบลตะเคียนทอง อำเภอกาญจนดิษฐ์ สองข้างทางเต็มไปด้วยต้นกล้วยและมะพร้าว เป็นสัญญาณว่าใกล้ถึง "ศูนย์ฝึกลิงเพื่อการเกษตรกระแดะแจะ" แล้ว

"ลือศักดิ์ พัฒนวัฒน์" ผู้ฝึกเลี้ยงลิงกังเพื่อเก็บมะพร้าว บอกว่าลิงกังในสุราษฎร์ฯมีเยอะมาก ที่จดทะเบียนกว่า 500 ตัว ส่วนใหญ่อยู่กับชาวบ้านที่เป็นเจ้าของสวนมะพร้าว จึงมีการฝึกให้ลิงเป็นผู้ช่วย บางตัวสร้างสถิติเก็บได้ถึง 2,300 ลูก ภายใน 1 วันทีเดียว!

ส่วนใหญ่จะฝึกลิงเพศผู้ที่มีอายุ 2-5 ปี เพราะร่างกายแข็งแรงสามารถเก็บได้เยอะ ฝึกนาน 2-3 ปีจนแก่ประสบการณ์ สามารถเก็บลูกได้เอง กระโดดข้ามยอดมะพร้าวไปเก็บอีกต้นได้อย่างต่อเนื่องและปริมาณสูง

สิ่งสำคัญในการฝึกลิง คือ เชือก ใช้ดึงและออกคำสั่งของผู้ฝึก ทั้ง "ขึ้น-ไป-มา-เอา-เร็ว-ลง" เมื่อได้ยินเสียงผู้ฝึก และบางทีสังเกตเห็นว่าเพียงแค่ลิงและคนจ้องตากัน เจ้าจ๋อตัวนั้นก็ทำตามคำสั่งทันที นอกจากฝึกเก็บลูกมะพร้าวแล้วยังมีการฝึกเลือกอีกด้วย ดูว่าลูกไหนใช้ได้ ลูกไหนเป็นมะพร้าวห้าว โดยการเขย่าลูก หากมีเสียงน้ำแสดงว่าใช้ได้ ทั้งยังมีการฝึกให้ลิงแกะเงื่อนตาย เพราะหากเจอสถานการณ์คับขันบนยอดมะพร้าว เจ้าของไม่สามารถช่วยได้

"ลิงจะเก่งหรือไม่นั้น ลักษณะของลิงบ่งบอกได้ ลิงที่ดีและเหมาะกับการฝึกต้องมีขาเหยียดตรง หัวกลม นิ้วไม่เรียว หางเรียว ฟันเสมอกัน" ลือศักดิ์อธิบาย

ได้เวลาล้อหมุนอีกครั้ง มุ่งหน้าไปยัง "วนอุทยานเขาท่าเพชร" ซึ่งเป็นที่ตั้งของจุดชมวิวที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลถึง 210 เมตร สามารถมองเห็นตัวเมืองสุราษฎร์ อ่าวบ้านดอน เกาะสมุย และเกาะพะงัน นอกจากชมวิว ยังได้สักการะ "พระธาตุศรีสุราษฎร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์" ปูชนียสถานองค์แรกของชาวเมืองสุราษฎร์ สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ.2500 เป็นสถาปัตยกรรมทรงศรีวิชัย แปดเหลี่ยม ลักษณะเรียวสูงคล้ายลำเทียน ส่วนยอดบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 2 องค์

น้ำย่อยในกระเพาะส่งสัญญาณว่าหิวแล้ว เป็นสัญญาณว่าได้เวลาพิสูจน์ผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อ "ไข่เค็ม" ว่า ใหญ่และแดง แค่ไหน

วันนั้นได้แวะ "วันชัยไข่เค็ม" ที่ได้รับคัดเลือกเป็นผลิตภัณฑ์ดีเด่นระดับ 4 ดาว ที่ใส่ใจตั้งแต่การเลี้ยงเป็ดโดยให้กินหัวกุ้งเพื่อให้ได้ไข่แดงเป็นพิเศษ จนถึงขั้นตอนการทำไข่เค็ม เลือกใช้ดินจอมปลวกเพราะสะอาดที่สุด นำมาผสมกับเกลือแล้วเคลือบไข่ แล้วคลุกกับขี้เถ้า ซึ่งจะทำให้ไข่เค็มยิ่งขึ้น

"วันชัย ชื่นในเมือง" เจ้าของธุรกิจกระซิบว่า สูตรการทำไข่เค็มของเขานั้นนำมาจากหนังสือขวัญเรียม ใช้มากว่า 30 ปี สะท้อนว่าหนังสือสามารถสร้างคน สร้างแรงบันดาลใจดีๆ ให้กับคนอ่านมานักต่อนักแล้ว

ได้เวลาของหวาน คณะมุ่งหน้าไปยัง "สละอาทิตย์" สวนสละแบบพาณิชย์แห่งแรกของภาคใต้ในอำเภอนาสาร บนพื้นที่ 135 ไร่ เป็นที่เติบโตของสละพันธุ์เนินวง ซึ่งกำเนิดที่ค่ายเนินวง ตำบลบางกะจะ อำเภอเมืองจันทบุรี ที่ผลโต กลิ่นหอม รสชาติหวานอมเปรี้ยว กินแล้วชุ่มคอ ออกผลทั้งปี ทั้งยังเปิดสวนเป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้นักท่องเที่ยวได้ชิมสละอย่างจุใจ มีไกด์เป็นชาวสวนพาเดินชม อธิบาย และสาธิตขั้นตอนต่างๆ เช่น การผสมพันธุ์ ที่ใช้เกสรตัวผู้ดีดใส่เกสรตัวเมีย, การเพาะเลี้ยงเพื่อป้องกันการกลายพันธุ์ และการติดริบบิ้นสีต่างๆ เพื่อทราบวันเก็บเกี่ยว เป็นต้น

ดูเหมือนการกินสละครั้งนี้อร่อยกว่าครั้งไหนๆ เพราะได้รู้ความเป็นมาและความพิถีพิถันในการดูแล ประคบประหงมจนได้สละเลิศรสในมือเรา

ก่อนที่หนังตาจะหย่อนไปมากกว่านี้ จึงหาวิธีคลายความเมื่อยจากการนั่งรถมาทั้งวัน ด้วยการแช่น้ำอุ่นๆ ที่ "บ่อน้ำร้อนท่าสะท้อน (รัตนโกสัย)" ในบ้านบ่อกรัง ตำบลท่าสะท้อน อำเภอพุนพิน บ่อน้ำพุร้อนธรรมชาติแห่งนี้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ อุณหภูมิราว 70 องศาเซลเซียส เปิดเป็นแห่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ให้ประชาชนมาแช่เท้าและเแช่ตัว ซึ่งเชื่อกันว่าบำบัดโรคได้ เช่น อาการปวดประจำเดือน ปวดศีรษะ บาดแผลอักเสบ เป็นต้น

ทั้งนี้ มีข้อควรระวังก่อนแช่น้ำ คือ นั่งนิ่งๆ สักพัก เพื่อให้ร่างกายสามารถปรับอุณหภูมิได้ทัน

มาถึงพุนพินทั้งที ต้องไม่ลืมของติดมืออย่าง "เครื่องจักสานจากกระจูด" จากกลุ่มผลิตภัณฑ์จักสานกระจูดท่าสะท้อน บ้านบ่อกรัง ซึ่งขึ้นชื่อมากด้วยฝีมือชั้นครูจากผู้สูงอายุในพื้นที่

ที่มาของสินค้าขึ้นชื่อ เกิดขึ้นเพราะบ้านบ่อกรังมีทุ่งกระจูดจำนวนมาก ชาวบ้านจึงเริ่มนำมาสานเป็นเสื่อปูพื้น ต่อมามีการรวมกลุ่มแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่า ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋า ตะกร้า จนได้รับความนิยมทั้งในและต่างประเทศ กระทั่งได้รับการคัดเลือกเป็นหมู่บ้านหัตถกรรมใน พ.ศ.2545

จับจ่ายอย่างจุใจ เวลาก็เดินมาถึงโปรแกรมสุดท้ายในช่วงพลบค่ำพอดี ต้องบอกลาพระอาทิตย์ขณะล่องเรือใน "คลองร้อยสาย" (พื้นที่ในบางแม่น้ำตาปี) ชมบรรยากาศของเมืองสุราษฎร์ยามค่ำคืน ชมหิ่งห้อยที่แข่งกันกะพริบแสง สร้างบรรยากาศโรแมนติกไม่แพ้ล่องเรือในคลองดำเนินสะดวกและคลองอัมพวาเลย

ชื่อคลองร้อยสาย มีที่มาจากคลองซึ่งทอดยาวอยู่ในตัวเมืองสุราษฎร์ นับ 100 สาย ในพื้นที่ 6 ตำบล คือ บางใบไม้ บางชนะ บางไทร บางโพธิ์ คลองน้อย และคลองฉนาก ชาวบ้านจึงดำเนินชีวิตท่ามกลางธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ทั้งทำสวน ทำประมงพื้นบ้าน หัตถกรรมจากกะลามะพร้าวและผักตบชวา ทั้งยังมีการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ชมหิ่งห้อยที่เกาะใต้ต้นลำพูสองฝั่งแม่น้ำตาปี ให้นักท่องเที่ยวได้ชมตลอดทั้งปี

"ครั้งนั้น คล้ายจะเห็นเงาลางๆ ของโกโบริ บอกรักอังศุมาลินใต้ต้นลำพู"

ฉันเข้าใจความหมายของ "สุราษฎร์ธานี" ขึ้นมาทันทีที่ทริปต้องจบลง นั่นคือ "เมืองแห่งความสุข"

ที่มอบความสุขมาให้ฉัน

 

 

+++++++++++++++

"พิธีกรรม"กับหอยนางรม

"สมชาย" เจ้าสินมานะ ฟาร์มสเตย์ แนะวิธีการกินหอยนางรมให้อร่อย ต้องมีออปชั่นเสริมอย่างมะนาว 1 ซีก และยอดกระถิน 1 ยอด เป็นวิธีที่อยู่ระหว่างดำเนินการจดสิทธิบัตรของไทยด้วย

ว่าแล้วคุณสมชายก็ยื่นหอยนางรมมาให้ 1 ฝา แล้วใช้มีดตัดหอยทั้งตัวเทลงในช้อน เขย่าช้อนนั้นแล้วจับเวลา 10 วินาที น้ำของหอยจะออกมาเต็มช้อนเมื่อนำขึ้นมาดมจะได้กลิ่นหอมมาก จากนั้นบีบมะนาวใส่แล้วเทเอียง 45 องศาใส่ปาก อมไว้ 10 วินาที ระหว่างนั้นต้องหายใจลึกๆ เคี้ยวครึ่งหนึ่งแล้วกัดยอดกระถินตาม เคี้ยวทั้งหมดพร้อมกัน

พิธีกรรมนี้ ทำให้รสชาติของหอยนางรมที่ได้ไม่เหมือนที่เคยกินมาก่อน หวาน อร่อย เข้ากันได้ดี แม้ว่าวิธีกินจะยิบย่อยเหมือนพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ แต่ถ้าลองดูสักครั้งแล้วจะติดใจ

ถ้าจะกินให้อร่อยขึ้นแนะให้หันหน้ามองทะเล อรรถรสในการกินหอยนางรมตัวนั้นจะเพิ่มขึ้นทันที ฟันธง!

หน้า 13,มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ 27 เมษายน 2556



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.