นานาทรรศนะ"ม็อบสเตเดี้ยม"

 


นานาทรรศนะ"ม็อบสเตเดี้ยม"


นานาทรรศนะ
วันที่ 03 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 22 ฉบับที่ 8040 ข่าวสดรายวัน


นานาทรรศนะ"ม็อบสเตเดี้ยม"


รายงานพิเศษ


แนวคิดการจัดสร้างอาคารขนาดใหญ่ไว้รองรับม็อบ กลายเป็นคำถามของสังคมอีกครั้ง เมื่อมีรายงานผลสำรวจของสำนักโพลถึงตัวเลขผู้สนับสนุนแนวทางดังกล่าวสูงกว่าร้อยละ 70

ในแง่ความเหมาะสมของการใช้งานจะเป็นอย่างไร ความต้องการของ "ผู้จัด" จะโดนใจ "ผู้ใช้" หรือไม่ มีความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้



สุภรณ์ อัตถาวงศ์

รองเลขาธิการนายกฯ

แนวคิดดังกล่าวมีการพูดคุยตั้งแต่รัฐบาลก่อนๆ แต่ตอนนี้ทุกฝ่ายเห็นว่าเมื่อรัฐบาลดำเนินนโยบายและช่วยเหลือประชาชนอย่างดี และเชื่อว่าม็อบจะน้อยลง นอกจากม็อบจัดตั้ง



นายกฯ จึงเน้นย้ำให้ผมดูแลความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกร และความเดือดร้อนด้านอื่นๆ ล่าสุดมีแนวคิดลงพื้นที่ที่ประชาชนเดือดร้อนด้วยตัวเองเพื่อพบปะแกนนำและมวลชนโดยตรง ไม่รอให้เข้ามาถึงทำเนียบ



การสร้างอาคารไว้ใช้เป็นสถานที่ชุมนุมนั้น เป็นเรื่องดี แต่ม็อบหรือกลุ่มผู้ชุมนุมตามหลักจิตวิทยาต้องการมาสถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์ มีสื่อทำข่าวจำนวนมาก เช่น ทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา การจัดสถานที่ให้ม็อบคงไม่ไป



ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลไม่สนใจให้มีศูนย์รับร้องเรียนจากประชาชน เรื่องนี้คุยกับนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกฯ แล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้หารือผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น



แต่หากตัดสินใจและจำเป็นที่จะก่อสร้างอาคาร น่าจะเป็นลักษณะของศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์และความเดือดร้อนของประชาชน โดยสถานที่ต้องกว้างโล่ง อำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้



เป็นไปได้น่าจะอยู่แถวรังสิต จ.ปทุมธานี เพราะประชาชนที่เดือดร้อนส่วนใหญ่มาจากภาคอีสาน ไม่ว่ากลุ่มเกษตรกรที่เดือดร้อนจากปัญหาที่ทำกิน ชาวนา ชาวไร่ แต่ไม่ได้หมายความว่าภาคอื่นจะไม่มี



รูปแบบอาคารควรเป็นโดมกว้างๆ ไม่ร้อน ระบายอากาศได้ดี รองรับคนได้จำนวนมากๆ เพราะคนที่เดือดร้อนหากเข้ามาอยู่ในสถานที่แออัด จะยิ่งปลุกเร้าอารมณ์ได้



เดิมนั้นพูดคุยกันว่า น่าจะใช้ประโยชน์จากสนามบินดอนเมือง แต่เมื่อขณะนี้มีการใช้สนามบินดอนเมืองเป็นสนามบินแห่งชาติแห่งที่ 2 จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะนำมาใช้ในเรื่องนี้



น่าจะหาพื้นที่อื่น เพราะปัจจุบันเวลาที่มีการชุมนุม นอกจากความเดือดร้อนของประชาชนที่มาร้องเรียนแล้ว ยังมีปัญหาการจราจรและพื้นที่ชุมนุมไม่เพียงพอ



การจัดหาพื้นที่ สร้างศูนย์ ต้องสะดวกทั้งคนมาชุมนุมและหน่วยงานที่จะไปรับเรื่องราวร้องทุกข์ เพื่อเข้าไปจัดการแก้ปัญหาให้ประชาชนได้



ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

นักวิชาการอิสระ



ทุกครั้งหลังชุมนุมใหญ่มักมีการพูดถึงประเด็นก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ไว้รองรับ เพื่อให้ผู้ชุมนุมอยู่ในกรอบและกฎเกณฑ์ สามารถควบคุมได้



ความคิดเห็นดังกล่าวน่าจะมาจากคนที่เป็นกลางทางการเมือง ซึ่งได้รับผลกระทบจากการชุมนุม โดยมองว่านี่คือปัญหา มาก กว่าจะมองว่าเป็นการรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องต่อรองทางการเมือง



แต่คงไม่แปลก เพราะการชุมนุมในปัจจุบันเป็นเพียงการแสดงพลังเท่านั้น



ส่วนตัวแล้วไม่เห็นด้วยกับแนวคิดสร้างอาคาร ยังเชื่อมั่นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานทั้งทางการเมืองและสิทธิมนุษยชนที่พึงมี แต่การชุมนุมจะต้องเคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นด้วย



อันเป็นสิ่งที่ผู้จัดการชุมนุมต้องจัดการให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ผ่านการชุมนุมอย่างมีอารยะ



สังคมไทยยังมีความเข้าใจไม่สมดุลกัน ประชาชนที่ร่วมชุมนุมมักนึกแต่เพียงสิทธิเสรีภาพของตนเอง โดยปราศจากการคำนึงถึงความเคารพสิทธิเสรีภาพของคนอื่น ขณะที่ประชาชนที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมจะมองว่า ม็อบสร้างความเดือดร้อนวุ่นวาย ซึ่งนั่นก็เป็นสิทธิเสรีภาพอย่างหนึ่ง



อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการผลักดันเรื่องนี้คงไม่สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลพรรคเพื่อไทยหรือประชาธิปัตย์ เพราะการไม่มีมาตรการหรือสถานที่ควบคุมผู้ชุมนุมนั้น จะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลเองมากกว่า



ในการนำกฎหมายพิเศษอย่างพ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกมาใช้ได้ในการปกป้องความมั่นคงของตนเอง





สมบัติ บุญงามอนงค์

บ.ก.ลายจุด



อยากให้แนวคิดนี้เป็นเพียงทางเลือกหนึ่งในการใช้สิทธิ์ เพราะสิ้นเปลืองงบฯ โดยใช่เหตุ เข้าใจว่าเป็นแนวคิดที่ดีที่ประชาชนคงไม่อยากให้ม็อบมาอยู่ตามท้องถนน



ผมก็เห็นเช่นนั้นว่าการจัดม็อบเป็นรูปแบบที่เชยแล้ว ควรสร้างความแตกต่างด้วยการเปลี่ยนเป็นการสื่อสารสาธารณะ หรือการสื่อสารเชิงสัญลักษณ์ที่สร้างความสนุกสนานได้มากกว่า



ส่วนการชุมนุมเรียกร้องเพื่อกดดันให้บรรลุเป้าหมายบางอย่าง โดยต้องการสื่อสารให้ประชาชนรับทราบปัญหาว่าเพราะเหตุใดจึงต้องออกมา แต่หากไม่มีคนสนใจ นักข่าวก็จะไม่มาทำข่าว



ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาเรื่องการสื่อสารกับประชาชน จนไม่สามารถสร้างแรงกดดันได้ สิ่งที่ตามมาคือจะไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ



ดังนั้นแทนที่รัฐบาลจะนำงบฯ ไปสร้างอาคารสำหรับการชุมนุม น่าจะอนุญาตให้ใช้สถานที่ชุมนุมตามที่ร้องขอจะดีกว่า รวมถึงสนับสนุนเครื่องเสียง การถ่ายทอดสด และการบันทึกเทป เพื่อให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพ



ไม่ได้หมายความว่า การไปปิดล้อมหน้ารัฐสภา ทำเนียบฯ จะเป็นแนวทางที่ถูกต้องหรือดีที่สุด แต่เราต้องไม่ยึดติดหรือผูกขาดเรื่องสถานที่จัดการชุมนุมว่าจะเป็นที่ไหน เพราะไม่ว่าจะจัดการชุมนุมสถานที่ใด สำคัญที่สุดคือประเด็นหรือรูปแบบการนำเสนอ



<<>b>แต่หากสุดท้ายแล้วมีการสร้างสถานที่ชุมนุมจริง ผมก็อยากลองใช้ดูเหมือนกันว่าจะเป็นอย่างไร



สมปอง เวียงจันทร์

แกนนำปากมูน เครือข่ายสมัชชาคนจน



ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง แม้จะสร้างม็อบ สเตเดี้ยมขึ้นมา ดิฉันก็ไม่เอาด้วย ไม่ไปเคลื่อนไหวอยู่ตรงนั้นแน่นอน เพราะละเมิดสิทธิประชาชนที่จะชุมนุมที่ไหนก็ได้ภายใต้กรอบของกฎหมาย



ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนนั้น มีความหลากหลายและแตกต่างกัน บางครั้งเป็นปัญหาเฉพาะตัว ที่สำคัญแต่ละปัญหามีหน่วยงานรับผิดชอบแตกต่างกันออกไป



นั่นจึงเป็นเหตุให้เราไปเรียกร้องกดดันกับหน่วยงานและกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตามหัวข้อเรื่องที่เคลื่อนไหว เช่น ทำเนียบรัฐบาล กระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตรฯ ฯลฯ



ถือเป็นยุทธศาสตร์การชุมนุม ไม่ใช่ไปนั่งเรียกร้องอยู่ภายในอาคารที่รัฐจัดเตรียมให้ ซึ่งไม่เกิดประโยชน์และไม่มีพลังในการเคลื่อนไหว



หากรัฐอยากอำนวยความสะดวกก็น่าจะมีวิธีอื่น เช่น ส่งตัวแทนลงพื้นที่รวบรวมปัญหาว่ามีอะไร แล้วเสนอต่อส่วนกลาง ถ้าเป็นปัญหานโยบายก็ให้เสนอรัฐมนตรี ตรงนี้จะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นทาง



ที่ผ่านมาส.ส.ไม่ค่อยไปรับฟังปัญหาชาวบ้าน ส่วนใหญ่ชอบออกงานสังคมแนะนำตัวกับผู้คนตามงานแต่ง งานศพมากกว่า เลยทำให้คนที่เดือดร้อนไม่มีที่ระบาย ต้องออกมาชุมนุม



อีกวิธีคือตำรวจจะต้องเป็นกลาง คอยอำนวยความสะดวกผู้ชุมนุมที่เดินทางไปร้องเรียนตามสถานที่ราชการ โดยแทนที่จะกีดกันขัดขวางไม่ให้เข้าไป ก็พาผู้ชุมนุมไปหาคนที่รับเรื่องร้องเรียนแทน



หากทำได้จะช่วยลดบรรยากาศความขัดแย้ง และการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่


หน้า 3



// //
Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.