TOYOTA พาชม NETZ CUP VITZ RACE GRAND FINAL
 


TOYOTA พาชม NETZ CUP VITZ RACE GRAND FINAL


TOYOTA พาชม NETZ CUP VITZ RACE GRAND FINAL

Toyota Motor Thailand นำผู้ชนะคะแนนรวมอันดับ 3-4 ของ Toyota Yaris One Make Race ประจำปี 2012 เข้าร่วมชิงชัยในรายการแข่งรถสุดมันส์ Netz Cup Vitz Race Grand Final ณ สนามฟูจิสปีดเวย์ ประเทศญี่ปุ่น โดย Toyota ยังคงสนับสนุนการแข่งขันกีฬามอเตอร์สปอร์ตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแข่งขันรถยนต์ในรายการ Yaris - Vios One Make Race ซึ่งนำไปสู่การพัฒนานักขับหน้าใหม่ของประเทศไทย...

ผมยืนห่อตัวด้วยความหนาวเหน็บอยู่ข้างกองยางของโค้ง Advan Corner พลางก้มลงมองมือข้างที่ถือขนม Tokyo Banana ซึ่งกำลังละลายกลายเป็นก้อนแป้งสีเหลืองเละๆ จากฝนที่ตกกระหน่ำมาตั้งแต่ช่วงเช้าในสนามฟูจิมอเตอร์สปีดเวย์ สนามแข่งรถความเร็วสูงที่สวยงามและตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขาสูงชันของประเทศญี่ปุ่น อุณหภูมิในช่วงสายหล่นลงไปเหลือเพียงแค่ 5 องศา พร้อมๆ ไปกับสายฝนที่โปรยปรายหนักสลับเบา รวมถึงกระแสลมที่พัดกระโชกมาเป็นระยะๆ มันคือลมหุบเขาที่เย็นจัดและทำให้มือของคุณชาได้ในเวลาเพียงไม่กี่นาที นี่คือรายการแข่งรถ Japan Super GT ที่พ่วงเอารายการแข่งของ Netz Cup Vitz Race Grand Final ซึ่งเป็นการชิงแชมป์ประจำปีในประเทศญี่ปุ่น ที่นำเอาผู้ชนะของรายการ Toyota Yaris One Make Race จากประเทศไทย ซึ่งสามารถทำคะแนนสะสมรวมทุกสนามอยู่ในอันดับ 3-4 แล้วส่งลงแข่งขันกับทีมแข่งและนักแข่งจากประเทศญี่ปุ่น โดยใช้รถยนต์ Toyota Vitz โมเดลรถเล็กแบบแฮตช์แบ็ก 5 ประตู ที่บ้านเราเรียกกันจนติดปากว่า Yaris เป็นการแข่งขันที่ค้นหาดาวรุ่งนักขับ ตลอดจนเป็นการส่งเสริมกีฬามอเตอร์สปอร์ตของค่าย Toyota ซึ่งจัดขึ้นทุกๆ ปีในสนามสุดท้ายของรายการ Japan Super GT


บริษัท Toyota Motor Thailand co,ltd. ดำเนินการสนับสนุนการแข่งขันกีฬาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแข่งขันรถยนต์ซึ่งนำไปสู่การพัฒนานักขับหน้าใหม่ของประเทศไทยและผลักดันให้เทคโนโลยีจากสนามแข่งขันมาปรับใช้ในผลิตภัณฑ์ยานยนต์รุ่นใหม่ๆ โดยตรงนั้น นอกจากการจัดแข่งขันรายการ Toyota Motor Sport เพื่อเก็บคะแนนสะสมชิงแชมป์ประจำปีทุกปี กระจายสู่ 5 ภูมิภาคภายในประเทศ และเดินทางไปแข่งขัน ณ สนาม เซปังอินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต ประเทศมาเลเซีย สนับสนุนทีมแข่งขัน Toyota Team Thailand ในรายการซุปเปอร์คาร์ไทยแลนด์ อีกหนึ่งในกิจกรรมที่นับเป็นความสำเร็จอย่างต่อเนื่องมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา ก็คือ การเปิดโอกาสให้นักแข่งไทยได้แสดงความสามารถเพื่อคัดเลือกตัวเป็นตัวแทนของประเทศไทย เดินทางสู่ประเทศญี่ปุ่นเพื่อร่วมการแข่งขันรายการใหญ่ Netz Cup Vitz Race Grand Final ณ สนามฟูจิสปีดเวย์ ประเทศญี่ปุ่น

Kasuya Ohsima

Kasuya Ohsima

Takuto Iguchi

Takuto Iguchi

อลงกรณ์ ยั่งยืน

อลงกรณ์ ยั่งยืน

เดชพล ทองพูน

เดชพล ทองพูน

Toyota Motor Sport Thailand

Toyota Motor Sport Thailand


ก่อนการแข่งขัน Netz Cup Vitz Race Grand Final จะเริ่มต้นขึ้นในช่วงบ่าย บริษัท Toyota Motor Thailand ทำการเปิดตัวสองนักแข่งสุดยอดฝีมือชาวอาทิตย์อุทัยที่จะร่วมลงชิงชัยในรายการ Race of champion Thailand 2012 วันที่ 14-15-16 ธันวาคม 2555 รวมถึงรายการบางแสนสปีดเฟสติวัลในวันที่ 19-23 ธันวาคม 2555 นักขับทั้งสองคนจากทีม Toyota Gazoo Racing คนแรกชื่อ Kasuya Ohsima ดีกรีแชมป์แข่งรถยนต์ทางเรียบหลากหลายรายการในประเทศญี่ปุ่น รวมถึงการร่วมชิงชัยในรายการ 24 h Nürburgring และอันดับที่หนึ่งของปี 2011 ในรายการ Japan Super GT Class -TG500 ในสนามที่ 5 ส่วนนักขับยุ่นจากทีม Toyota Gazoo Racing อีกคนคือ Takuto Iguchi เจ้าของแชมป์ Formula Challenge Japan ประจำปี 2007 และแชมป์จากรายการ 24 h Nürburgring SP-3 Class GT86 รวมถึงยังเป็นนักขับของค่าย Toyota ในรายการ Japan Super GT Class GT300 อีกด้วย ในส่วนของการขับโชว์นั้น ทีม Toyota Gazoo Racing จะใช้รถแข่ง Lexus LFA มูลค่าเกือบๆ ร้อยล้านบาทมาโชว์สมรรถนะอันสุดยอด รวมถึง Toyota GT86 อีกด้วย Mr.Kasuya Ohsima คือนักแข่งดาวรุ่งของทีม Toyota อายุ 25 ปี ที่จะลงควบรถ LFA โชว์สมรรถนะให้กับแฟนๆ ขาซิ่งในเมืองไทย ส่วน Takuto Iguchi อายุ 24 ปี การันตีในเรื่องของความสามารถด้านการควบคุมรถจากประสบการณ์ในสนามแข่งขันยาวนานนับสิบปี จะควบคุมรถแข่ง Toyota GT86 ในรายการบางแสนสปีดเฟสติวัล นับขับยุ่นทั้งสองคนจะเดินทางถึงประเทศไทยภายในวันที่ 11 ธันวาคม 2555 หลังจากนั้นจะลงซ้อมในสนามจริงเพื่อสร้างความคุ้นเคยก่อนการแข่งขันทั้งสองรายการใหญ่ที่ถูกจัดขึ้นในช่วงปลายปีบนแผ่นดินไทย ทีม Toyota TRD รับผิดชอบในการปรับแต่งรถ รวมถึงการเตรียมทีมงานสำหรับการแข่งขันทั้งสองรายการให้มีความพร้อมอย่างสูงสุด


อลงกรณ์ ยั่งยืน นักขับไทยจาก Toyota Yaris One Make Race กับรถ Toyota Vitz Netz Cup สีขาวคาดสติกเกอร์สีน้ำเงินหมายเลข 101 และเดชพล ทองพูน เจ้าของรถ Toyota Vitz Netz Cup หมายเลข 102 ทำเวลาในรอบจับเวลาหาอันดับที่ดีที่สุดในการสตาร์ต ด้วยตำแหน่ง 28 และ 43 ตามลำดับจากรถแข่งทั้งหมด 45 คันที่ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ ก่อนหน้าที่จะถึงวันแข่งจริงในช่วงบ่ายวันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน นักขับไทยทั้งสองคนมีเวลาซ้อม 6 ครั้ง โดยแบ่งเป็นวันพุธที่ 14 พฤศจิกายน เช้า 1 ครั้งบ่าย 2 ครั้ง และวันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน รอบเช้าซ้อมได้ 2 ครั้ง และบ่ายอีก 1 ครั้ง เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยกับสนามและรถยนต์มากที่สุด สำหรับรถยน์ที่ใช้ในการแข่งขันปีนี้ เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นได้เปลี่ยนโมเดล Yaris เป็นรุ่นใหม่โมเดล 2012 ซึ่งแม้จะเป็นเครื่องยนต์ 1NZ-FE VVT-I เช่นเดียวกัน แต่ด้วยตัวรถที่ยาวและใหญ่ขึ้นทำให้มีความแตกต่างในด้านของการขับขี่อยู่พอสมควร ความไม่คุ้นชินกับตัวรถที่ใช้แข่งขัน สนามแข่งที่มีสภาพผิวทางที่ค่อนข้างลื่นเมื่อเกิดฝนตก นักแข่งไทยทั้งสองจึงต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน ซึ่งแต่ละครั้งที่ออกไปซ้อม โค้ชชาวญี่ปุ่นจะนำข้อผิดผลาดต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาพูดคุยเพื่อเป็นการแนะนำหลังแข่งเสร็จทุกครั้ง ทำให้เวลาของนักแข่งไทยดีขึ้นตามลำดับ เริ่มจาก 1.19 วินาทีเศษ ก็ลดลงเหลือ 1.18 วินาที ส่วนรอบจับเวลาในช่วง 8.45 น. ของเช้าวันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งเป็นการวิ่งจับเวลาหาอันดับสตาร์ตครั้งสุดท้าย มีขึ้นท่ามกลางสภาพสนามแข่งที่มีผิวทางปกคลุมไปด้วยน้ำฝนและอุณหภูมิที่ลดต่ำเหลือเพียงแค่ 5 องศา สร้างปัญหาให้กับการควบคุมรถพอสมควร และทำให้อันดับของนักแข่งไทยทั้งสองคนร่วงรูดลงมากว่า 4-5 ตำแหน่ง มาอยู่ที่ 28 และ 43 การสตาร์ตท่ามกลางสายฝนและละอองน้ำจากรถคันนำ ทำให้ทัศนวิสัยการมองเห็นย่ำแย่ลงไปมาก ผิวแทร็คที่เปียกชื้นยังยากต่อการทำความเร็วบนทางโค้ง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นโค้งความเร็วสูงแทบทั้งสิ้น


สนาม ฟูจิสปีดเวย์ เป็นสนามแข่งรถที่ได้มาตรฐานระดับโลก เคยใช้เป็นสังเวียนในการแข่งขันรถยนต์ฟอร์มูล่าวันมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ก่อนจะย้ายไปแข่งที่ซุซุกะเซอร์กิต ฟูจิสปีดเวย์เป็นสนามแข่งรถมีตำแหน่งที่ตั้งอยู่ใกล้กับเชิงภูเขาไฟฟูจิ ในเขตเมืองโอยามา จังหวัดชิซึโอะกะ ประเทศญี่ปุ่น สนามแข่งรถความเร็วสูงแห่งนี้เป็นของ Toyota Motor หลังจากซื้อต่อมาจาก Mitsubishi ในปี พ.ศ.2543 ปัจจุบันใช้เป็นสถานที่แข่งขันรถสูตรหนึ่งเจแปนกรังด์ปรีซ์ NASCAR และโมโตจีพี หลังจากว่างเว้นการจัดแข่งขันรายการใหญ่นานถึง 29 ปี และได้รับการปรับปรุงสภาพสนามใหม่ทั้งหมด และผลักดันให้ Toyota แย่งชิงสถานะการเป็นเจ้าภาพการแข่งรถ F1 จากสนามซูซูกะเซอร์กิตของ Honda Motor สนามฟูจิสปีดเวย์เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2506 เพื่อใช้จัดการแข่งขันรถในรูปแบบเดียวกับ NASCAR ของสหรัฐฯ ในระยะแรกนั้น สนามมีความยาวทั้งสิ้นรวม 4 กิโลเมตร (2.5 ไมล์) เปิดใช้งานเมื่อ พ.ศ. 2508 โดยมีการปรับปรุงใหม่หลายครั้ง และได้ใช้เป็นสถานที่จัดแข่งขันรถสูตรหนึ่งเป็นครั้งแรกในญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ.2519 ก่อนจะถูกย้ายไปจัดที่ซูซูกะเซอร์กิต เนื่องจากปัญหาเรื่องความปลอดภัย และเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงบ่อยครั้ง สนามฟูจิสปีดเวย์ได้รับการปรับปรุงครั้งล่าสุดในปี พ.ศ.2546 จากการออกแบบโดย Hermann Tilke ชาวเยอรมนี โดยปรับรูปแบบของโค้งและพื้นที่เพื่อความปลอดภัยในระดับสูงสุด สนามแห่งนี้ได้รับการรับรองจากสมาพันธ์ยานยนต์นานาชาติ หรือ FIA ซึ่งรับหน้าที่ดูแลจัดการแข่งขันรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ตลอดจนควบคุมกฎกติกาให้เป็นไปตามมาตรฐานของกฎข้อบังคับเพื่อไม่ให้มีการได้เปรียบหรือเสียเปรียบเกิดขึ้น


14.00 น. เริ่มต้นการแข่งขันในรอบสุดท้ายซึ่งเป็นรอบชิงชนะเลิศ รถแข่ง Toyota Vitz Netz Cup ทั้ง 45 คันออกสตาร์ตท่ามกลางลมฝนที่ตกกระหน่ำคล้ายกับพายุ กระแสลมเย็นเฉียบกับเม็ดฝนพุ่งทแยงเป็นแนวม่านสีขาวปกคลุมทั้งสนามแข่งฟูจิ จนบางครั้งโฟกัสของกล้อง Nikon D4 ไม่สามารถทำงานได้ ผมยืนอยู่ตรงโค้ง Advan Corner เพื่อรอบันทึกภาพ ไม่มีการแข่งรถรายการใดในเอเชียที่จะหนาวไปมากกว่านี้อีกแล้ว ลมที่เชิงเขาฟูจิในฤดูใบไม้ร่วงทำให้อุณหภูมิพื้นผิวหล่นลงไปเหลือแค่ 3 องศาเซลเซียส ตั้งแต่ออกจากเส้นสตาร์ต รถแข่งทุกคันต่างตั้งหน้าตั้งตาหวดกันอย่างเต็มที่แบบไม่มีใครยอมใคร รถหมายเลข 101 ของอลงกรณ์ ยั่งยืน ที่ออกจากเส้นสตาร์ตในอันดับที่ 28 สามารถแซงรถคันอื่นๆ ขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 25 เมื่อผ่านรอบแรก ส่วนรถหมายเลข 102 ของ เดชพล ทองพูน สามารถแซงพรวดเดียวในรอบแรกถึง 6 คัน ขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 37 ละอองน้ำจากกลุ่มคันนำกระจายคลุมแทร็คจนขาวโพลนและสร้างปัญหาในการมองให้กับนักขับไทยทั้งสองไม่น้อย ที่นี่คือฟูจิสปีดเวย์ที่ขึ้นชื่อในเรื่องของความโหดจากสภาพอากาศ มันคือเซอร์กิตสุดอันตรายที่พลาดเพียงแค่ครั้งเดียวทุกอย่างก็จะจบเห่ลงอย่างรวดเร็ว รถหมายเลข 101-102 ของทีมไทยพยายามอย่างสุดความสามารถ โค้งบางโค้งที่เคยเข้าด้วยความเร็วที่สูงกว่าปกติในตอนซ้อม เมื่อลงแข่งจริงในสถานการณ์ที่เปียกแฉะกลับต้องประคองไม่ให้รถหมุนคว้างจากผิวทางที่ลื่นราวกับราดด้วยน้ำมันเครื่อง


สำหรับนักแข่งไทย นี่คือความใฝ่ผันที่กลายมาเป็นความจริงในการซิ่งรถแข่งไปบนแทร็คของฟูจิส ปีดเวย์ รถแข่ง Toyota Vitz Netz Cup สีแดงหมายเลข 43 เข้าโค้ง Advan Corner ด้วยความเร็วที่มากจนเกินไปและเสียการควบคุมจนเกือบจะไปปะทะกับรถเบอร์ 101 ของอลงกรณ์ แต่โชคยังดีที่นักขับญี่ปุ่นสามารถควบคุมรถให้ออกไปนอกแทร็คและไม่สร้างปัญหาให้กับรถที่ตามกันมาเป็นขบวนนับสิบๆ คัน โค้งสุดทางตรงลงเขาคือช่วงที่ค่อนข้างอันตราย ซึ่งหากขับลงมาด้วยความเร็วสูง บนทางที่เปียกลื่น รถอาจหลุดจากการควบคุมแล้วหมุนไปจมอยู่กับกองทรายจนไปต่อไม่ได้ ความยาวต่อรอบ 4.563 กม. ซึ่งรถแข่ง Toyota Vitz (Yaris 2012) จะต้องขับเคี่ยวกันทั้งหมด 11 รอบสนามทำให้ทั้งอลงกรณ์และเดชพลต้องใช้ความระมัดระวังประคับประคองรถแข่ง เพื่อขับให้จบการแข่งขัน รอบที่สอง-สามของการแข่งขัน อลงกรณ์โดนรถของนักขับญี่ปุ่นหมายเลข 37 ไล่บดบี้ชิงอันดับคืน ทำให้หล่นลงไปอีกหนึ่งตำแหน่งมาอยู่ที่ 26 ส่วนเดชพล ทองพูน ยังคงรักษาอันดับที่ 37 เอาไว้อย่างเหนียวแน่น ฝนที่ซาในช่วงแรกกลับตกหนักลงมาอีกพร้อมๆ กับกระแสลมที่พัดตัดขวางสนามทำให้คนดู ทีมงาน สื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่สนามต้องผจญกับสภาพอากาศที่เลวร้ายลงไปอีก ผมยกกล้อง Nikon D4 ที่ถูกคลุมทับด้วยพลาสติกใสเพื่อป้องกันน้ำฝนด้วยมือที่แข็งเกร็งจนแทบจะกดชัตเตอร์ไม่ลง กลิ่นน้ำมันเชื้อเพลิง กลิ่นเบรกที่ไหม้จากความร้อนและกลิ่นของยางที่เสียดสีไปบนแทร็คที่เคยสูดดม ตลอดการทำข่าวมอเตอร์สปอร์ตของ Toyota หายไปอย่างสิ้นเชิงและแทนที่ด้วยความหนาวในระดับช่องแช่แข็งของตู้เย็น ลมหายใจที่ออกจากรูจมูกกลายเป็นไอสีขาวจากความเย็นในระดับใกล้ศูนย์องศาเซลเซียส ถึงแม้จะทรมานแต่มันคือประสบการณ์การทำข่าวในช่วงชีวิตของการเป็นสื่อมวลชนสายยานยนต์ที่หาไม่ได้จากที่ไหนอีกแล้วบนโลกใบนี้


รอบที่สี่และห้า อลงกรณ์เร่งความเร็วในโค้งที่ถนัดและแซงกลับคืนมาได้หนึ่งตำแหน่งโดยกลับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 25 เหมือนเดิม ส่วนเดชพลนั้นพลาดจากการเปิดช่องบริเวณโค้ง Panasonic Corner แล้วโดนนักขับยุ่นแซงทันที ทำให้อันดับหล่นลงมาหนึ่งตำแหน่งมาอยู่ที่ 38 ส่วนในรอบที่หกนั้น อลงกรณ์เสียหลักในโค้ง Dunlop Corner ทำให้โดนเสียบทีเดียวถึง 4 คัน โดนรูดมาอยู่ในอันดับที่ 29 ส่วนเดชพลเองก็โดนแซงจนหล่นไปอยู่ในอันดับที่ 41 ในรอบท้ายๆ รถแข่ง Toyota Vitz (Yaris) ของนักแข่งไทยยังคงวิ่งได้ดีและยังไม่เกิดปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น นักแข่งไทยทั้งสองคนพยายามอย่างสุดความสามารถในการเร่งความเร็วเพื่อแซงกลับคืน แต่สภาพสนามบวกกับความคุ้นชินของเจ้าถิ่นทำให้เมื่อจบการแข่งขันทั้ง 11 รอบสนาม อลงกรณ์ ยั่งยืน วิ่งเข้าเส้นชัยในอันดับที่ 29 ส่วนเดชพล ทองพูนเข้ามาในอันดับที่ 40 เป็นการวิ่งจนครบการแข่งขันทั้ง 11 รอบ โดยไม่มีอุบัติเหตุใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งนับว่าเก่งมาก


นิ้วมือของผมหมดความรู้สึกก่อนที่การแข่งขันจะจบลงไม่นานนัก ผมเดินกลับห้องผู้สื่อข่าวในสภาพหมาตกน้ำ ยื่นกล้องไปให้เจ้าหน้าที่ของ Nikon ที่มาเปิดบูธดูแลกล้องของผู้สื่อข่าวเพื่อทำความสะอาด สภาพของ D4 ไม่ต่างจากการงมขึ้นมาจากบ่อน้ำเท่าใดนัก และสำหรับนักขับไทยที่ซิ่งรถอยู่ในการแข่งขัน Toyota Motor Sport Thailand ซึ่งต้องลงไปฟาดฟันกับนักขับเจ้าถิ่นฝีมือเยี่ยมในรายการ Netz Cup Vitz Race Grand Final ประสบการณ์ที่ได้รับนั้นถือเป็นบนเรียนอันล้ำค่า ในการควบคุมรถแข่งท่ามกลางสภาพสนามและอุณหภูมิของอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ส่วนรายการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบสนามสุดท้ายของ Toyota Motor Sport Thailand ในเดือนธันวาคมกับรายการบางแสนสปีดเฟสติวัล 2012 ระหว่างวันที่ 19-23 ธันวาคม เป็นการเก็บคะแนนสะสมสนามสุดท้ายของทั้ง Super Car Thailand และ Toyota Motor Sport Vios -Yaris One Make Race ก่อนที่จะสิ้นสุดฤดูกาลซิ่ง โดยจะไปพบกันใหม่สำหรับฤดูกาล 2013 ซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นเป็นสนามแรกที่ราชมังคลากีฬาสถานเหมือนเดิม.

CAMERA.....................NIKON D4
LENS............................70-200 NANO

อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail [email protected]
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom

 



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.