"ปู"ยังอันตราย ระวัง"ดาบสอง"

 


"ปู"ยังอันตราย ระวัง"ดาบสอง"



วันที่ 02 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 22 ฉบับที่ 8039 ข่าวสดรายวัน


"ปู"ยังอันตราย ระวัง"ดาบสอง"





รัฐบาลผ่านศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาไปได้แบบฉลุย



โดยเฉพาะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ได้รับคะแนนโหวตไว้วางใจ มากถึง 308 เสียง



มากกว่าใครทั้งหมดในบรรดารัฐมนตรีผู้ถูกฝ่ายค้านยื่นอภิปรายด้วยกันคือ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม และ พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รมช.มหาดไทย



อย่างไรก็ตามตัวเลขผลโหวตออกมาไม่ถือว่าอยู่นอกเหนือความคาดหมาย



เพราะตั้งแต่เริ่มแรกการที่พรรคภูมิใจไทยไม่ยอมร่วมเข้าชื่อกับประชาธิปัตย์ในการเสนอญัตติ ก็เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความไม่เป็นเอกภาพของฝ่ายค้าน



ผลโหวตออกมายิ่งชัดเจน โดย เฉพาะน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่พรรคภูมิใจไทยไม่ว่ากลุ่ม นายเนวิน ชิดชอบ หรือกลุ่มมัชฌิมาของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ต่างพร้อมใจกันเทเสียงสนับสนุนให้หมดหน้าตัก 31 เสียง



ยังไม่รวมเสียงจากพรรคมาตุภูมิของ "บิ๊กบัง"พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หรือแม้แต่พรรครักประเทศ ไทยของ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ก็ยังมี 2 เสียงที่แตกออกมาโหวตหนุนรัฐบาล ส่วนพรรครักษ์สันติของ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ งดออกเสียง



เป็นเครื่องสะท้อนชัดว่าประชาธิ ปัตย์กำลังถูกโดดเดี่ยวในการทำหน้าที่ฝ่ายค้าน



ตามปกติเสียงส.ส.ฝ่ายค้านที่มีอยู่ในสภารวมกัน 197 เสียงก็ยากจะเอาชนะรัฐบาลได้อยู่แล้ว ยิ่งมาแตกกันแบบนี้ ประชาธิปัตย์ที่มีอยู่เพียวๆ 159 เสียงจะยื่นซักฟอกอีกกี่ครั้งรัฐบาลก็ไม่สะเทือน



หรือหากหวังพึ่งสถานการณ์ กรณีกลุ่มเคลื่อนไหวนอกสภาอย่างม็อบองค์การพิทักษ์สยามของเสธ.อ้าย โหมกระแสขับไล่รัฐบาล แช่แข็งประเทศ แต่สุดท้ายก็จุดไม่ติด



ต้องเลิกทัพโดยไม่ทันได้รบ



แม้ศึกซักฟอกของประชาธิปัตย์ที่เพิ่งจบไป ขณะที่ม็อบเสธ.อ้าย ก็ลาโรงไปชนิดคนดูไม่ทันได้ตั้งตัว จนทำให้สถานการณ์ที่เสมือนมีการระดมพลตีขนาบรัฐบาลพร้อมกันทั้งในสภาและนอกสภาต้องล้มเหลว



แต่หากมองจากควันหลงที่ตามมาหลังการอภิปราย ทำให้ไม่มีกล้าพูดได้เต็มปากว่ารัฐบาลรอดปลอดภัยจากภยันตรายแล้วร้อยเปอร์เซ็นต์



หนำซ้ำสิ่งที่รัฐบาลต้องเผชิญในระยะเวลา อันไม่ใกล้ไม่ไกลต่อจากนี้ หรือที่เรียกกันว่า "ดาบสอง" อาจเป็นอันตรายร้ายแรงกว่าม็อบต้านรัฐบาลนอกสภา หรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านเสียด้วยซ้ำ



นั่นคือดาบองค์กรอิสระที่เคยตวัดเชือดพรรคการเมืองใหญ่ๆ และนักการเมืองที่ว่าแน่ๆ มาแล้วนักต่อนัก จึงไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลชุดนี้จะชะล่าใจได้



อย่างที่รู้กันตั้งแต่แรกว่าประชาธิปัตย์ไม่ได้หวังผลต่อการอภิปรายครั้งนี้มากเท่าใด



จุดมุ่งหมายแท้จริงน่าจะอยู่ที่ 2 เรื่องด้วยกัน อย่างแรกคือ การเชื่อมกระแสกับม็อบเสธ.อ้าย ถึงจะไม่สำเร็จ แต่ก็ยังมีอย่างที่สองคือ การเปิด ข้อมูลใหม่ๆ



เพื่อกรุยทางนำไปสู่การยื่นถอดถอนรัฐบาลต่อองค์กรตรวจสอบอิสระ อาทิ ศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น



ซึ่งองค์กรเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นขบวนการเดียว กับที่อดีตรัฐบาลไทยรักไทยและพลังประชาชนเคยโดนลงดาบมาแล้วทั้งนั้น



ดังจะเห็นได้จากการที่ล่าสุดมีการรับ-ส่งลูกกันในกลุ่มบุคคลฝ่ายต่อต้านรัฐบาล นำข้อมูลการอภิปรายเรื่องส่อทุจริตรับจำนำข้าวเข้ายื่นร้องต่อป.ป.ช.ให้ตรวจสอบเอาผิดกับนายกฯ และรัฐ มนตรีที่เกี่ยวข้อง



ทั้งยังดำเนินไปในทิศทางเดียวกันในเรื่องของงบน้ำท่วม 1.2 แสนล้าน ตลอดจนการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจอย่างไม่เป็นธรรม เอื้ออำนาจและผลประโยชน์ให้พวกพ้องของตน



ล้วนเป็นข้อหาฉกาจฉกรรจ์ทั้งสิ้น



ไม่รวมถึงญัตติถอดถอนที่ประชาธิปัตย์ยื่นไว้ก่อนการอภิปราย กรณีนายกฯ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งป.ป.ช. ในการขึ้นเว็บไซต์ประกาศราคากลางในการจัดซื้อจัดจ้าง



ที่เชื่อกันว่าป.ป.ช.เงื้อดาบสองรอฟันอยู่แล้ว



การส่งไม้ต่อให้องค์กรอิสระเหล่านี้ น่าจะเป็นความหวังเดียวที่เหลืออยู่ของฝ่ายค้าน ที่ยังพอให้พึ่งพาได้ในยามถูกโดดเดี่ยวจากเกมในสภา



เพราะจากสภาพความเป็นจริงจะเห็นว่า กลุ่มบุคคล 3-4 กลุ่มที่เคยเป็น "นั่งร้าน" ให้ประชาธิปัตย์สมัยเป็นรัฐบาล ปัจจุบันเริ่มเอาใจออกห่าง



พรรคภูมิใจไทยชัดเจนมากที่สุดจากพฤติกรรมในสภาเมื่อ 4-5 วันก่อน ส่วนกองทัพก็มีสายสัมพันธ์กับรัฐบาลแบบดีวันดีคืน



ส่วนกลุ่มพันธมิตรฯ ถึงจะเกลียดรัฐบาลชุดนี้เข้าไส้แต่ก็ต่างคนต่างอยู่กับประชาธิปัตย์ บางจังหวะยังหันมาฟัดกันเองด้วยซ้ำ



สำหรับความหวังที่เคยฝากไว้กับกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม หรือม็อบเสธ.อ้าย ก็ดับวูบลงไปในเวลาอันรวดเร็วน่าใจหาย และไม่รู้ว่าจะฟื้นกลับมาได้หรือไม่



ที่เหลืออยู่จึงมีแต่องค์กรตรวจสอบอิสระที่พรรคประชาธิปัตย์พอจะแอบมีความหวังได้



หลายคนวิเคราะห์ว่าประชาธิปัตย์ ลุ้นอย่างสุดใจ กับการยื่นเรื่องต่อองค์กรอิสระนี้หวังให้เห็นผลโดยเร็ว



เพราะนอกจากจะเป็นการเพิ่มน้ำหนักเกมซักฟอกในสภา ซึ่งถูกกองเชียร์รัฐบาลดูแคลนว่าเป็นการอภิปรายที่มีน้ำมากกว่าเนื้อ



อีกอย่างก็เพื่อกลบกระแสคดีความ 99 ศพ



ที่ล่าสุดในคดีไต่สวนการตายของ นายชาญณรงค์ พลศรีลา ศพที่ 2 ต่อจากในรายของนายพัน คำกอง ที่ศาลอาญามีคำสั่งชี้ว่า ตายเพราะถูกกระสุนปืนเจ้าหน้าที่รัฐขณะปฏิบัติหน้าที่คุมม็อบตามคำสั่งของ ศอฉ.



ซึ่งดีเอสไอเตรียมใช้เป็นสารตั้งต้นดำเนินคดีกับ "ผู้สั่งการ" ในข้อหาฆาตกรรม



จึงต้องเร่งจังหวะผ่านทางองค์กรอิสระเพื่อล้มกระดานให้ได้



สถานการณ์ดังกล่าวนอกจากทำให้รัฐบาล ต้องตกอยู่ในสถานะไม่ปลอดภัย ยังส่งผลให้เกมการเมืองร้อนแรงข้ามปีอีกด้วย


หน้า 3



// //
Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.