ถอดถอนปูฝืนคำสั่งปปช.

 


ถอดถอนปูฝืนคำสั่งปปช.


ถอดถอนปูฝืนคำสั่งปปช.
วันที่ 01 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 22 ฉบับที่ 8038 ข่าวสดรายวัน


ถอดถอนปูฝืนคำสั่งปปช.


รายงานพิเศษ


ประเด็นฝ่ายค้านยื่นถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ด้วยเรื่องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.)

กรณีไม่ขึ้นเว็บไซต์ประกาศราคากลางในการจัดซื้อจัดจ้างตามเวลาที่กำหนด ทำให้ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ได้ ซึ่งไม่ใช้ข้อหาทุจริตตามที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจมาตลอด 3 วัน



นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เจตนาจริงๆ ของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้อยู่ที่เวทีซักฟอก แต่หวังผลจากการยื่นถอดถอนต่อป.ป.ช.มากกว่า เพราะถ้ามีการชี้มูลออกมาว่าผิดจริง นายกฯ จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่



สมชาย ปรีชาศิลปกุล

คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่

การยื่นถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ด้วยกรณีไม่ปฏิบัตตามคำสั่งของป.ป.ช.นั้น ค่อนข้างผิดปกติจากการยื่นถอดถอนในการอภิปรายไม่ไว้วางใจทั่วไป

เนื่องจากปกติแล้วการยื่นถอดถอนรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี จะสืบเนื่องมาจากเรื่องของการดำเนินนโยบายที่ไม่เหมาะสม

หรือไม่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน เช่น เรื่องจำนำข้าว หรือการทุจริตในโครงการต่างๆ เป็นต้น

แต่การยื่นถอดถอนในประเด็นทางกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์ในครั้งนี้ เชื่อว่ามาจากการที่พรรคประชาธิปัตย์คงไม่สามารถชนะในการโหวตในสภาได้อยู่เเล้ว หากไม่มีการแตกแถวของพรรคร่วมรัฐบาลเกิดขึ้น

จึงต้องหันมาใช้ประเด็นนี้ในการยื่นถอดถอนแทน

อีกทั้งที่ผ่านมาหลังการรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 รัฐบาลที่มาจากซีกการเมืองพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็นพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน ล้วนถูกล้มด้วยองค์กรอิสระทั้งสิ้น

จึงคิดว่าพรรคประชาธิปัตย์น่าจะหวังผลจากการใช้ช่องทางทางกฎหมายล้มรัฐบาลพรรคเพื่อไทย มากกว่ากระบวนการทางรัฐสภา เนื่องจากรัฐบาลนี้มีความเข้มแข็งในด้านเสียงสนับสนุน

ส่วนที่การอภิปรายไม่ไว้วางใจมุ่งโจมตีน.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นพิเศษนั้น พรรคประชาธิปัตย์น่าจะคิดว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นจุดอ่อนของรัฐบาลชุดนี้ เนื่องจากยังไม่มีความเจนจัดทางการเมือง

ซึ่งหากน.ส.ยิ่งลักษณ์แสดงความผิดพลาดออกมาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ อาจส่งผลต่อความนิยมกับตัวน.ส.ยิ่งลักษณ์ได้

สำหรับเรื่องที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งป.ป.ช. จะนำไปสู่การถอดถอนออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่นั้น ต้องย้อนไปดูประเด็นในข้อกฎหมายว่าเป็นอย่างไร มีผลผูกพันกับตำแหน่งนายกฯ หรือไม่



สิริพรรณ นกสวน สวัสดี

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

ที่ผ่านมาฝ่ายค้านยื่นถอดถอนประเด็นทุจริตไม่ได้ เพราะไม่ได้ทำหนังสือชี้แจงประเด็นดังกล่าวตั้งแต่ต้น กระนั้นก็ยังอยากจะยื่นถอดถอนนายกฯ ให้ได้ จึงอาศัยช่องทางกระบวนการยุติธรรมเพื่อสั่นคลอนภาพลักษณ์ของรัฐบาล

การยื่นประเด็นไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรื่องประกาศราคากลางนั้นถือเป็นสิทธิ์ที่จะทำได้ แต่ป.ป.ช.จะรับไว้พิจารณาหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์ชี้ให้เห็นว่ามีความพยายามดิ้นรนทุกวิถีทาง และทำทุกอย่างเพื่อให้ภาพของรัฐบาลมีการถูกตรวจสอบโดยองค์กรอิสระ รวมถึงศาล

ถือเป็นการทิ้งเชื้อเอาไว้ แล้วส่งไม้ต่อให้กับม็อบองค์การพิทักษ์สยาม ซึ่งล่าสุดเสธ.อ้ายก็ได้ประกาศรีเทิร์นเป็นแกนนำต่อแล้ว ไปรับลูกขยายประเด็นนี้กันต่ออีก

โดยเฉพาะให้เกิดภาพว่ารัฐบาลมีการทุจริตเชิงนโยบาย เหมือนกับสมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่มีการทำให้การทุจริตเป็นเรื่องถูกกฎหมาย

เพราะในเมื่อเสียงในสภาของพรรคร่วมรัฐบาลเป็นปึกแผ่น ฝ่ายค้านไม่มีทางสู้ได้ จึงต้องหวังพึ่งกับระบบขององค์กรอิสระที่ถูกออกแบบมาโดยกลุ่มคนที่ไม่ค่อยเชื่อมั่นในระบบรัฐสภาแทน

โดยหวังจะให้รัฐบาลสั่นคลอน ซึ่งผลจากการยื่นก็สามารถออกได้หมดทุกหน้า ถูกถอดถอนและไม่ถูกถอดถอน ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของป.ป.ช.

แต่การขยายผลประเด็นดังกล่าวเชื่อว่าน่าจะทำให้รัฐบาลอยู่ในสภาวะไม่ปลอดภัย การเมืองตั้งแต่ต้นปีหน้าร้อนแรงแน่นอน



วีรพัฒน์ ปริยวงศ์

นักกฎหมายอิสระ

ยังเร็วเกินไปที่จะเชื่อว่าการอภิปรายโครงการรับจำนำข้าว กรณีที่รัฐบาลไม่ปฏิบัติตามความเห็นของป.ป.ช. ที่เสนอให้ประกาศและคำนวณราคากลางเผยแพร่ต่อประชาชน จะนำไปสู่การถอดถอนนายกฯ และล้มล้างรัฐบาลในที่สุด

เนื่องจากกระบวนการตรวจสอบของป.ป.ช.ต้องใช้เวลา ทั้งการสอบสวนเพื่อให้เกิดความชัดเจนของข้อมูล เพราะหากป.ป.ช.ไม่มีความชัดเจนพอในการชี้มูล ย่อมสุ่มเสี่ยงต่อการถูกส.ส.พรรคเพื่อไทยเข้าชื่อยื่นถอดถอน

อีกทั้งยังต้องใช้เวลาพอสมควรระหว่างกระบวนการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการส่งฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญา หรือการส่งเรื่องให้วุฒิสภาได้ลงชื่อถอดถอนนั้น

ก็มีตัวอย่างจากกรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ แล้วว่าเป็นเรื่องยากเพียงใด ถือเป็นเรื่องปกติที่พรรคฝ่ายค้านจะนำองค์กรอิสระมาเป็นเครื่องมือตรวจสอบรัฐบาล

แต่สิ่งที่ต้องตั้งคำถามคือ ป.ป.ช.เป็นใคร มีอำนาจมากน้อยแค่ไหน สามารถดำเนินการก้าวล่วงเข้ามายังอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการได้หรือไม่

นี่คือสิ่งที่ยังเป็นปัญหาของการแบ่งแยกอำนาจระหว่างองค์กรอิสระกับตัวรัฐธรรมนูญ เป็นปัญหาเชิงทฤษฎีที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งสภายกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 นั้นไม่ไว้ใจในอำนาจฝ่ายบริหาร

จึงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาต่อไป และหากมีการผลักดันร่างรัฐธรรมนูญวาระ 3 เมื่อไร ต้องนำประเด็นนี้มาพิจารณาด้วย

ไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับการมีองค์กรอิสระ หรืออยากให้ยกเลิก แต่เพื่อความอิสระ และประสิทธิภาพอย่างแท้จริงในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล โดยปราศจากการแทรกแซงการคานกันของอำนาจอธิปไตยทั้ง 3

และนับว่าเป็นเรื่องดีสำหรับรัฐบาลเสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้ง จะได้ชี้แจงกรณีดังกล่าวต่อสังคมว่าเป็นอย่างไร อีกทั้งยังเป็นบรรยากาศที่ดีสำหรับการเมืองไทยที่ฝ่ายค้าน และองค์กรอิสระ

ไม่ว่าป.ป.ช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือศาลรัฐธรรมนูญ ยังสามารถตรวจสอบรัฐบาลได้



อัษฎางค์ ปาณิกบุตร

นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์

ประเด็นที่ยื่นถอดถอนน่าจะเข้าข่ายตามกฎหมาย เป็นสิทธิ์ที่สามารถทำได้ ก็ต้องไปว่ากันตามกระบวนการต่อไป

โดยกรณีให้ประกาศราคากลางนั้น จะต้องดูว่าเป็นคำสั่งได้หรือไม่ เพราะการไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะ กับการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายนั้นแตกต่างกัน

จึงต้องดูว่ากฎหมายมีอำนาจสั่งการนายกฯ ให้ต้องปฏิบัติตามหรือไม่ หรือเป็นเพียงข้อเสนอแนะให้ปฏิบัติตามเท่านั้น ดังนั้น การที่นายกฯ ส่งให้กฤษฎีกาตีความจึงถือว่าถูกต้องแล้ว รอบคอบอย่างยิ่ง

ส่วนตัวมองว่าประเด็นที่ยื่นถอดถอนนั้นหยุมหยิมมาก น่าจะมีเจตนาอื่นแอบแฝง เป้าหมายที่แท้จริงน่าจะเป็นการตัดหัวขบวนครม. หวังล้มกระดานมากกว่า เพราะถ้าให้ยกมือในสภาก็ไม่มีทางชนะ

แต่เชื่อว่านายกฯ ยิ่งลักษณ์น่าจะผ่านอุปสรรคนี้ไปได้ เพราะเป็นคนระมัดระวังตัวเองสูง นอกจากกระจายอำนาจแบ่งงานให้รัฐมนตรีคนอื่นๆ รับผิดชอบหมดแล้ว ยังมีทีมงานที่ดีคอยวางระบบป้องกันนายกฯ คนนี้ไว้ค่อนข้างรัดกุม

อย่างไรก็ตามการยื่นถอดถอนดังกล่าวก็ประมาทไม่ได้เช่นกัน ถือว่ารัฐบาลเดินเข้าสู่จุดเสี่ยงอีกก้าว โดยเฉพาะการที่ต้องเผชิญกับอำนาจทะมึนบางอย่างที่อยู่เบื้องหลัง

ซึ่งน่าจะรู้กันอยู่แล้วเป้าหมายของเขาคืออะไร


หน้า 3



// //
Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.