ชำแหละบทบาทโฆษกปชป.

 


ชำแหละบทบาทโฆษกปชป.


ชำแหละบทบาทโฆษกปชป.
วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 22 ฉบับที่ 8033 ข่าวสดรายวัน


ชำแหละบทบาทโฆษกปชป.


คอลัมน์ รายงานพิเศษ


กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์วงกว้างสำหรับการทำหน้าที่โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ของ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต ว่าผิดฟอร์มไปจากยุคก่อนๆ

เพราะพรรคประชาธิปัตย์ได้ชื่อว่าเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ เป็นสถาบันการเมืองคู่ประเทศมาเกือบ 70 ปี ผลิตนักการเมืองคุณภาพและทำประโยชน์ให้ประเทศมากมาย

แต่วันนี้ในยุคของโฆษกชวนนท์ กลับกลายเป็นว่าข้อมูลที่นำไปแถลงข่าวนั้น หลายครั้งไม่มีมูลความจริง อีกทั้งบทบาทการตรวจสอบรัฐบาลก็อ่อนยวบ ขาดข้อมูล เนื่องจากเน้นจับผิดประเด็นหยุมหยิมไร้สาระมากกว่า

เรื่องดังกล่าวจะส่งผลเสียหายต่อพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ อย่างไร



จิตติพจน์ วิริยะโรจน์

ส.ว.ศรีสะเกษ


อาวุธที่ทรงประสิทธิภาพทำให้ประชาชนเชื่อถือคือ ความจริง พรรคประชาธิปัตย์เปรียบเหมือนรถโรลสรอยซ์ เป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ แฟนคลับมาก

แต่ตัวแทนหรือกระบอกเสียงของพรรคกลับเป็นแค่เด็กวัยน้อย หัดขับ ต้องแบกภาระภาพลักษณ์พรรค

การพูดอะไรออกไปเท่ากับพรรคพูด อย่าลืมว่าสวมหมวกใบใหญ่อีกใบไว้ แต่กลับพูดโจมตีฝ่ายตรงข้ามรายวัน แทนที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบในฐานะฝ่ายค้านตรวจสอบรัฐบาล

หลังปี 2544 จุดยืนของพรรครางเลือนไปมาก อดีตคนเก่าแก่ของพรรคเคยสร้างฐานความเข้มแข็งจนเป็นพรรคการเมืองอันดับต้นๆ แต่วันนี้แม้แต่เรื่องปลีกย่อยยังนำมาตีเป็นประเด็นถูกๆ ผิดๆ

ไม่ว่าเรื่องแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ที่กล่าวลอยๆว่าได้เส้นตั้งคำถามผู้นำสหรัฐ ตรงนี้ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะไม่ใช่สาระที่ควรนำมาพูดในนามพรรค

แม้แต่ประเด็นอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ยังไม่ชัดเจน ไม่แน่ใจว่ามีปัญหาในกระบวนการทำงานหรือไม่ เพราะถ้าเป็นเมื่อก่อน ป่านนี้คนเก่าแก่ของพรรคออกมาเปิดประเด็นให้รัฐบาลหัวหมุนจนแทบตั้งตัวไม่ทันแล้ว

แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา พูดวนไปเรื่อย พูดเอาแต่สนุก ซึ่งอาจทำให้ประชาชนสนใจ แต่ไม่ได้ช่วยสร้างความนิยมให้พรรคเลย

จึงไม่อยากเห็นตัวแทนพรรคเดินหลงทางอีก อยากเห็นการเมืองพรรคประชาธิปัตย์กลับสู่สภาวะปกติ เห็นการแข่งขันของพรรครัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้านที่แท้จริง โต้กันด้วยน้ำหนัก เหตุผล หลักฐาน ไม่ใช่คำพูดรายวัน

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ควรรู้จักเลือกใช้อาวุธที่ถูกต้อง เร่งดึงความเป็นพรรคการเมืองที่น่าเชื่อถือกลับคืนมา ใช้จุดแข็งของพรรคสร้างความก้าวหน้า ทำงานอย่างจริงจังเสียที



สุขุม นวลสกุล

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์


พรรคประชาธิปัตย์ต้องยอมรับว่า การได้เป็นรัฐบาลครั้งที่ผ่านมา เป็นการได้มาที่เกิดจากความเคลือบแคลง ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากขาดความเชื่อมั่นในระบอบรัฐสภา

ภาพลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์เสียไปตั้งแต่ตอนนั้น และเมื่อมาทำหน้าที่ฝ่ายค้านก็มีขบวนการคัดค้านนอกสภาคู่ขนานกันไปด้วย

ซึ่งภาพในส่วนนี้เหมือนกับว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่ฝ่ายนำในการตรวจสอบ แต่เป็นฝ่ายที่ตามกระบวนการนอกสภามากกว่า ความโดดเด่นของพรรคประชาธิปัตย์ด้านการตรวจสอบจึงลดลง

ปัจจุบันการตรวจสอบของพรรคประชาธิปัตย์ มีลักษณะพร่ำเพรื่อ เล่นทุกเรื่องไม่มีหมัดเด็ด บางครั้งการออกมาเปิด เผยข้อมูลของโฆษกพรรคก็ถูกบ้างผิดบ้าง จึงไม่เป็นประโยชน์มากนัก

แต่จะมองว่าภาพลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์แย่ลง เพราะทีมโฆษกเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ ซึ่งการแก้ไขจะต้องแก้ที่โครงสร้างทั้งหมด โดยดึงกลุ่มอื่นในพรรคนอกจากทีมโฆษกมาร่วมด้วย จึงจะทำให้พรรคโดดเด่นขึ้นมาได้อีกครั้ง

วันนี้คนลืมไปแล้วว่าใครเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งที่ในอดีตตำแหน่งนี้ถือเป็นกระบอกเสียงที่น่าเชื่อถือของพรรคประชาธิปัตย์มาตลอด

แต่ขณะนี้ไม่ว่าจะมีประเด็นปัญหาอะไรก็จะให้ทีมโฆษก หรือที่เรียกกันว่าแก๊งไอติมออกมาพูดซึ่งขาดความน่าเชื่อถือ เพราะไม่ว่ามีอะไรก็จะพูดหมดโดยที่ไม่ได้ตรวจสอบเชิงลึก



อัษฎางค์ ปาณิกบุตร

นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์


การทำหน้าที่โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะกระบอกเสียงฝ่ายค้านของนายชวนนท์ที่ผ่านมา เน้นการตอบโต้มากกว่าเนื้อหาหลัก ทำให้การแถลงข่าวหลายๆ ครั้งไม่มีเนื้อหา มีแต่น้ำ ทั้งที่ประชาชนอยากรู้ความจริง

ฝ่ายค้านมีหน้าที่ตรวจสอบการบริหารงานรัฐบาลที่อาจเกิดข้อผิดพลาด แล้วเสนอให้ประชาชนทราบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนอยากรู้

ซึ่งประเด็นการหาข้อเท็จจริงมานำเสนอนั้น นายชวนนท์ยังทำได้ไม่ดี ขาดความรอบคอบ ทำให้ประชาชนไม่เชื่อถือเท่าที่ควร

หลายครั้งที่นายชวนนท์พูดโดยไม่มีหลักฐานอ้างอิง เสี่ยงต่อการถูกฟ้องบ่อย จึงอยากเสนอแนะให้คนที่ทำหน้าที่โฆษก ต้องขยันค้นหาความจริงให้มากกว่านี้

บางกรณีอาจหาความจริงได้ยาก แต่ก็ต้องลงทุนลงแรงตรวจสอบค้นหาก่อนจะหยิบยกมานำเสนอต่อประชาชน

ยกตัวอย่างกรณีโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่มีแต่การแถลงโจมตีว่าเป็นโครงการที่ไม่ดี แต่กลับไม่มีรายละเอียดว่าไม่ดีอย่างไร อีกทั้งไม่มีหลักฐานยืนยันด้วย

พรรคประชาธิปัตย์ควรจ้างสถาบันการศึกษาให้วิจัยว่า โครงการรับจำนำข้าวโกงได้หรือไม่ หากโกง วิธีการเป็นอย่างไร ต้องเน้นลักษณะข้อเท็จจริงมากกว่าจ้องโจมตี หากจะให้ดีควรลงไปตรวจสอบด้วย เพราะเป็นผลประโยชน์กับประชาชน

ดังนั้นนายชวนนท์ควรเป็นคนของประชาชนทั้งหมด ต้องไม่คิดเพียงว่าเป็นคนของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งหากปรับปรุงได้ นายชวนนท์จะไปได้ไกลกว่านี้

เพราะการทำหน้าที่ในลักษณะนี้อยู่ตอนนี้ คือขาดความรอบคอบ พูดไม่ค่อยมีเนื้อ จะส่งผลต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือต่อพรรคประชาธิปัตย์อย่างแน่นอน



สุดา รังกุพันธ์

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ


เป็นวิธีการปกติของโฆษกพรรคการเมืองเก่าแก่นี้ ที่มักให้ข่าวออกมาอย่างไร้สาระเหมือนไม่ทำการบ้านก่อนนำเสนอข้อมูล เพียงเพราะต้องการสิ่งเดียวคือ ล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ไม่คำนึงถึงหลักใหญ่ใจความทางการเมืองอย่างการสนับสนุนประชาธิปไตย มีแต่การนำเรื่องหยุมหยิมเล็กน้อยมาโจมตี

อย่างกรณีวิพากษ์วิจารณ์เครื่องแต่งกายของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในการเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งมันสะท้อนออกมาว่าไม่ใช่วิถีทางในระบอบประชาธิปไตย ควรจะไปอยู่ในนิตยสารแฟชั่นนินทาดารามากกว่า

ครั้งล่าสุดที่ออกมาโจมตีรัฐบาลว่าสมรู้ร่วมคิดกับหนังสือพิมพ์ ปล่อยให้ผู้สื่อข่าวตั้งคำถามถึงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทั้งที่เนื้อหาคำถามก็วางอยู่บนหลักประชาธิปไตย และหลักสิทธิมนุษยชนระดับสากล

แต่ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะเป็นเกมที่พรรคการเมืองนี้ถนัด ทำลายฝ่ายตรงข้ามมาโดยตลอด

อาทิ เมื่อปี 2553 มีการกุผังล้มเจ้า บิดเบือนข้อมูลข้อเท็จจริงออกไปสู่ประชาชนที่รู้ไม่เท่าทันให้ออกมาสนับสนุน ซึ่งสุดท้ายแล้วศาลก็ตัดสินว่าเรื่องดังกล่าวไม่มีมูล

ฉะนั้นการทำหน้าที่โฆษกของพรรคที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทยในช่วงนี้ จึงมีแต่เรื่องไร้สาระ ไม่ได้เชิดชูสิทธิเสรีภาพ หรือส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยในสังคมการเมืองไทย

คงต้องแล้วแต่แนวทางของพรรคนั้นว่าจะมีการปรับเปลี่ยนหรือคำนึงถึงความสำคัญของระบอบประชาธิปไตยมากขึ้นหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาประชาชนที่รับข้อมูลก็มีความคิดพินิจพิจารณา

เห็นได้จากความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมา


หน้า 3



// //
Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.