ปมม็อบรุนแรงฉุดเศรษฐกิจ?

 


ปมม็อบรุนแรงฉุดเศรษฐกิจ?


ปมม็อบรุนแรงฉุดเศรษฐกิจ?
วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 22 ฉบับที่ 8029 ข่าวสดรายวัน


ปมม็อบรุนแรงฉุดเศรษฐกิจ?


รายงานพิเศษ


ทิศทางเศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณดีขึ้นเรื่อยๆ หลังจากผู้นำหลายประเทศทยอยเดินทางมาเยือนไม่ ขาดสาย



ยิ่งในปี 2558 จะมีการรวม 10 ประเทศเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งไทยถูกจับตาจากชาติมหา อำนาจให้เป็นหัวแถวในภูมิภาคนี้ ถือเป็นโอกาสแห่งความก้าวหน้าครั้งสำคัญ



แต่ปัจจัยการเมืองโดยเฉพาะม็อบต่อต้านรัฐบาลที่สนับสนุนการปฏิวัติแช่แข็งประเทศ ซึ่งนัดชุมนุมวันที่ 24-25 พ.ย. ท่ามกลางความกังวลว่าจะมีมือที่สามยั่วยุสถานการณ์ให้รุนแรง เพื่อเปิดทางให้ทหารออกมาปฏิวัติ



เรื่องดังกล่าวจะสร้างความเสียหายต่อประเทศชาติและฉุดเศรษฐกิจไทยให้ดิ่งลงเหวอีกหรือไม่





พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล

รองประธานหอการค้าไทย



ประเทศผู้นำทยอยมาเยือนไทยขณะนี้ เป็นการมาเนื่องจากเป็นช่วงต่อเนื่องกับการประชุมอาเซียน ซัมมิท ที่กัมพูชา ซึ่งอยู่ใกล้กับประเทศไทย



ขณะนี้ภูมิภาคของเรามีความสำคัญ ทุกประเทศมหาอำนาจก็ต้องการรักษาฐานอำนาจของตนเองไว้ โดยเฉพาะสองประเทศมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐ เพราะภูมิภาคนี้มีประชากรหลายพันล้านคน หลายประเทศต่างต้องการจะเข้ามามีอิทธิพลในแถบนี้ เพราะต้องการปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง



ถือเป็นการมาเยือนอย่างมีวาระ ซึ่งอาจต้องการให้ไทยเข้าร่วมในข้อตกลงระหว่างประเทศเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ดังนั้นรัฐบาลไทยต้องพร้อมรับมือกับแต่ละข้อตกลง



หากรัฐบาลรีบกระโดดเข้าร่วมในข้อตกลงใดตกลงหนึ่ง แต่ประเทศไม่มีความพร้อมก็อาจทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสในการทำการค้า เพราะไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงทางการค้าที่ได้ลงนามไว้กับนานาประเทศได้ เนื่องจากอนาคตการกีดกันทางการค้าในรูปแบบของภาษีนั้นจะไม่มีอีกแล้ว แต่จะเน้นเรื่องความปลอดภัย ความมั่นคง ความยั่งยืน และสิ่งแวดล้อม



สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้ ไม่อยากให้อะไรมากระทบ เราได้บทเรียนมามากแล้วจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก เพราะทุกครั้งผู้นำประเทศก็ต้องออกไปต่างประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนมา



ผมเห็นด้วยกับการชุมนุมทางการเมือง แต่ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย ไม่สร้างความวุ่นวายให้กับบ้านเมือง หรือกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ





ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ



เศรษฐกิจไทยขณะนี้ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่กำลังมีปัญหา เราเหมือนหลายประเทศในเอเชียที่แวดล้อมด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน โดยเฉพาะสหรัฐที่ยังไม่ชัดว่าวิกฤตรอบ 2 จะเกิดขึ้นในปีหน้าหรือไม่



ทั้งนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศไทยยังถือว่าเป็นไปตามสภาพ คือนักลงทุนต่างชาติยังมองว่าเป็นที่ที่ปลอดภัย จึงเอาเงินเข้ามามาก



ในแง่ของการเมือง การชุมนุมที่จะมีขึ้น 24-25 พ.ย. ถ้าไม่มีความรุนแรงขนาดเสียเลือดเสียเนื้อ เหมือนที่เกิดขึ้นในปี 2553 ก็คงเป็นสถานการณ์ที่นักลงทุนคาดคะเนไว้อยู่แล้ว ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการลงทุน



เพราะต่างประเทศเข้าใจว่าประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่มีความไม่แน่นอนสูง และต่างชาติก็รับสภาพนี้ จะเห็นได้จากทุนต่างประเทศที่เข้ามาขณะนี้ล้วนเป็นทุนระยะสั้น



การชุมนุมจึงไม่น่าจะส่งผลอะไรมากนัก หรืออย่างมากนักลงทุนก็เปลี่ยนไปลงทุนในหุ้นมากขึ้น ส่วนตัวยังมองว่าการชุมนุมภายในประเทศจะไม่ส่งผลกระทบมากเท่ากับภาวะเศรษฐกิจจากภายนอก



อย่างไรก็ตาม การประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงเพื่อควบคุมการชุมนุมนั้น ถ้ารัฐบาลหลีกเลี่ยงได้ก็ควรหลีกเลี่ยง และควรพยายามแก้ปัญหาในเชิงการเมืองมากกว่าที่จะใช้ความรุนแรง หรือมาตรการทางกฎหมาย



มิฉะนั้นจะเกิดความสับสนและเป็นต้นเหตุให้เกิดความวุ่นวายในประเทศตามมา







สมมาต ขุนเศษฐ

เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย



สภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของไทย ท้ายปีจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยจากต้นปี โดยเฉพาะแรงกระตุ้นจากภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่น รวมถึงการบริโภคช่วงปลายปีมีแนวโน้มกลับมาคึกคัก



การเดินทางมาเยือนไทยของประเทศผู้นำ เช่น นายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ ตลอดจนผู้นำจีน และเกาหลีใต้ ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์หรือความมั่นคงทางการเมืองของรัฐบาลไทยมากกว่า ไม่ได้มีนัยยะทางเศรษฐกิจเท่าใดนัก



สถานการณ์ทางการเมืองที่เริ่มมีม็อบต่อต้านรัฐบาลนั้น มองว่าปัญหาการเมืองจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในปีหน้า



ซึ่งความวุ่นวายทางการเมืองที่ภาคเอกชนกังวล ไม่ได้หมายถึงเฉพาะการเมืองนอกสภาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเมืองในสภา ที่แต่ละพรรคไม่สามารถพูดคุยหารือถึงตัวนโยบายขับเคลื่อนประเทศ เนื่องจากพรรคการเมืองไม่มีกฎกติกาในการเล่นการเมือง



ทางออกของแก้ไขปัญหาการเมือง ภาคเอกชนมองว่ารัฐบาลควรแยกเรื่องเศรษฐกิจออกจากการเมืองให้ชัดเจน อย่าอ้างว่าเป็นเรื่องเดียวกัน



เพราะช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาก็เห็นแล้วว่า เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดี แม้ว่าการเมืองจะวุ่นวายในช่วงเวลาดังกล่าว





วิโรจน์ ณ ระนอง

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย



ม็อบเสธ.อ้ายที่กำลังเคลื่อนไหวกันอยู่นั้น ไม่น่าจะส่งผล กระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน แม้ว่าม็อบอาจมีผล ต่อความอึมครึมทางการเมืองและต่อรัฐบาลบ้าง



แต่ปัจจุบันนั้นพลังที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่สำคัญในระยะสั้นคือการส่งออก ซึ่งขึ้นกับภาคเอกชนและประชาชนทั่วไปมากกว่ารัฐบาลหรือการเมือง



สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบันไม่ถือว่าอยู่ในระดับที่ดีมาก เพราะได้รับผลกระทบส่วนหนึ่งจากวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรป แต่ก็ยังเดินหน้าไปได้ในระยะสั้น



การชุมนุมของม็อบเสธ.อ้ายก็ยังอยู่ในความสงบ ไม่ได้มีการใช้ความรุนแรง และหากการเคลื่อนไหวของม็อบยืดเยื้อแต่ยังอยู่ในกติกาการชุมนุมก็ไม่น่าจะเป็นประเด็น



หรือส่งผลกระทบอะไรมากมายต่อเศรษฐกิจ ถ้าไม่มีการเล่นอะไรนอกเหนือจากกติกา รวมทั้งรัฐบาลไม่ได้ใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุม



อย่างไรก็ตาม แม้ว่าม็อบ เสธ.อ้ายจะไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่อาจส่งผลกระทบทางอ้อมโดยเพิ่มความอึมครึมทางการเมืองซึ่งมีมานานแล้วให้สูงขึ้น



เพราะกรณี พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ระบุว่าต้องการแช่แข็งประเทศไทย และสนับสนุนการรัฐประหารนั้น หากเป็นประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ ในโลก คงไม่มีประชาชนให้ความสำคัญ



เนื่องจากเป็นข้อเสนอที่ไร้สาระในประเทศประชาธิปไตย และโพลสำนักหนึ่งก็ระบุด้วยว่าคนไทยถึง 97 เปอร์เซ็นต์ ไม่เห็นด้วยกับม็อบดังกล่าว



แต่การที่รัฐบาลให้ความสนใจและแสดงความกังวลต่อม็อบเสธ.อ้ายเป็นอย่างมาก ทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ควรต้องสนใจ เพราะเป็นตัวชี้ว่ารัฐบาลหวั่นไหวกับการแทรกแซงจากการเมืองนอกระบบ



ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจสร้างปัญหาในระยะยาวต่อเศรษฐกิจไทย เพราะในปัจจุบันนี้รัฐบาลมัวแต่พะวักพะวงกับความอยู่รอดทางการเมือง จนไม่ได้ให้ความสนใจนโยบายทางเศรษฐกิจในระยะยาวมากนัก



ดังนั้น สถานการณ์ทางการเมืองที่ยังรุนแรงในปัจจุบันที่ทำให้ทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน และกลุ่มต่างๆ มุ่งถล่มกันทางการเมือง ก็ทำให้นโยบายด้านเศรษฐกิจและด้านอื่นๆ ที่สำคัญ ไม่ได้รับความสนใจจากทุกฝ่าย



และอาจกลายเป็นปัญหาของประเทศในระยะยาวได้


หน้า 3



// //
Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.