จับตาทิศทางเศรษฐกิจ หลังศึกชิงทำเนียบขาว
 


จับตาทิศทางเศรษฐกิจ หลังศึกชิงทำเนียบขาว


จับตาทิศทางเศรษฐกิจ หลังศึกชิงทำเนียบขาว
">ช่วงค่ำของวันที่ 7 พฤศจิกายน คนไทยจะได้ทราบว่าใครมีโอกาสจะคว้าชัยชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกาที่มีขึ้นในวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้  ระหว่างนายบารัก โอบามา  ประธานาธิบดีคนปัจจุบันจากพรรคเดโมแครต  กับ  มิตต์ รอมนีย์ จากพรรครีพับลิกัน ผู้ท้าชิง

 
    หากคาดการณ์โดยยึดผลสำรวจของสำนักข่าวต่างๆที่ออกมาตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา    ประธานาธิบดีโอบามา นำ รอมนีย์เล็กน้อย           แต่กระนั้นก็ตาม ไม่ว่าใครจะชนะในศึกชิงทำเนียบขาวครั้งนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศทั่วโลกรวมถึงไทยด้วยสหรัฐฯเป็นมหาอำนาจทางการเมืองโลก เป็นผู้บริโภครายใหญ่ของโลก  ด้วยขนาดมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี มากเป็นอันดับ 2 ของโลกกว่า 20 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การปรับเปลี่ยนทิศทางใดๆก็ตามย่อมส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโลกรวมทั้งประเทศไทย  ซึ่งสัดส่วนตลาดส่งออกไปสหรัฐฯสูงถึง 10.1 % ของมูลค่าส่งออกรวม     
*แบงก์ชาติจับตาใกล้ชิด
    นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ติดตามผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯที่จะมีขึ้นในวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้ อย่างใกล้ชิด ซึ่งขณะนี้หลายฝ่ายเริ่มกังวลว่า หากรอมนีย์ ผู้ท้าชิงจากพรรครีพับลิกัน พลิกได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีจริง ก็อาจส่งผลต่อนโยบายด้านต่างๆ ของสหรัฐอเมริกาได้  รวมถึงผลกระทบต่อตลาดการเงินไทยเพราะนโยบายการเงินของทั้ง 2 ฝ่ายมีความแตกต่างกัน 
    ด้านนายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)   ให้ความเห็นว่านโยบายของโอบามา และรอมนีย์ มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยนโยบายของโอบามาจะเน้นการดูแลคนระดับกลางและล่าง ผู้ที่มีรายได้มากกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะต้องเสียภาษีอย่างต่ำ 30% อีกทั้งจะไม่ได้รับสวัสดิการด้านที่อยู่อาศัยและสุขภาพ  ส่วนผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 2 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ การันตีจะไม่เสียภาษีเพิ่มแน่นอน
alt    ส่วนนโยบายของรอมนีย์  เน้นการดูแลธุรกิจมาตรการเอาใจคนรวยและธุรกิจ เห็นได้จากนโยบายลดภาษีนิติบุคคลจาก 35 % เหลือ 25% เทียบกับนโยบายของโอบามาลดเหลือแค่ 28% รวมถึงยกเลิกสวัสดิการด้านสุขภาพของโอบามา     ทั้งนี้ตามรายงานของสศค. ที่เสนอนายกรัฐมนตรีประเมินไว้ว่าโอบามาจะได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯต่ออีก 1 สมัย และไม่มีมาตรการที่รุนแรงเหมือนกรณีของรอมนีย์ 
*กองเชียร์ "รอมนีย์"
     แม้หลายสำนักให้น้ำหนักโน้มไปทางโอบามา แต่นายบันลือศักดิ์  ปุสสะรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังกลับมองว่า  หากรอมนีย์ล้มแชมป์ยึดทำเนียบขาวได้สำเร็จไทยจะได้ประโยชน์มากกว่า โดยเฉพาะภาคส่งออก      จากนโยบายเปิดตลาดการค้าใหม่ อีกทั้งยังส่งผลต่อการเปลี่ยนตัวประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)ในปี 2557
    ขณะเดียวกันมีโอกาสที่จะยกเลิกมาตรการคิวอี   ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยตก ผลตอบแทนตราสารหนี้จะเพิ่มและเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า นอกจากนี้สหรัฐฯจะมีการปรับโครงสร้างภาษีและปิดช่องว่างให้ต่ำลงขณะที่มาตรการลดหย่อนภาษีหรือชดเชยการว่างงานนั้น ก็อาจปรับลดบางส่วน สำหรับFiscal Cliffที่จะหมดเดือนธันวาคมสิ้นปีนี้
     นายบันลือศักดิ์ วิเคราะห์ต่อว่า   หากโอบามา เป็นประธานาธิบดีต่ออีกสมัย นโยบายเน้นการค้าขายภายในประเทศ  ขณะที่ Fiscal Cliff  หน้าผาการคลัง ( การเผชิญหน้ากับการเพิ่มขึ้นของอัตราภาษีและผลกระทบจากการลดรายจ่ายของรัฐ)   อาจตัดบางมาตรการ เช่น ยกเลิกชดเชยการว่างงานโดยยกเว้นภาษีค่าจ้างจากคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 2 แสนดอลลาร์สหรัฐฯหรือ 2.5แสนดอลลาร์สหรัฐฯต่อครอบครัว 
    เช่นเดียวกับ นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.บีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย)ฯ ในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ที่เชื่อว่าหากรอมนีย์ชนะจะส่งผลทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯเพราะเจ้าตัวได้ประกาศระหว่างหาเสียงว่า จะปรับเปลี่ยนประธานคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐ ฯหรือเฟด
*ไฮไลต์อยู่ที่หน้าผาการคลัง
    ทั้งนี้ประเด็นที่นักเศรษฐศาสตร์จับเป็นประเด็นวิเคราะห์ถึงผลที่จะมีต่อเศรษฐกิจไทยคือ มาตรการ fiscal cliff  นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค  สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)  มองว่าปัจจัยที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯและเศรษฐกิจโลกคือ หลังการเลือกตั้งจะมีการต่ออายุมาตรการ fiscal cliff  ที่เกิดจากการลดภาษีต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงปลายวาระของประธานาธิบดีบุชในปี 2551 และกำลังจะหมดลงในเดือนธันวาคม 2555 นี้   หากไม่มีการต่ออายุ สหรัฐฯ จะต้องมีการตัดลดงบประมาณรายจ่ายและเพิ่มภาษีในทันที ซึ่งอาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะงักงันและกระทบต่อเศรษฐกิจโลก รวมทั้งการส่งออกของไทย
อย่างไรก็ตามโดยส่วนตัวเธอเชื่อว่าไม่ว่าใครจะมา  จะต้องต่ออายุมาตรการนี้เพื่อไม่ให้เสียฐานคะแนน และเพื่อไม่ให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะงักงันด้วย
*ส่งออก ไทยแฟนคลับโอบามา
    อย่างไรก็ตาม ในภาคส่งออกผู้ประกอบการเกือบทั้งหมดอยากเห็นโอบามาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯต่ออีก 1 สมัย  นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากโอบามา ชนะจะเกิดผลดีในด้านการเดินหน้าของนโยบายอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบผ่านมาตรการคิวอี 3 อย่างรวดเร็วกว่า "
    นายวัลลภ  วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า หากโอบามาได้ดำรงตำแหน่งต่ออีก 1 สมัย(4 ปี) น่าจะทำให้เศรษฐกิจของเอเชียขยายตัวดีขึ้น เนื่องด้วยในสมัยแรกของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯของโอบามาได้มีการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(TPP) กับหลายประเทศ ในจำนวนนี้มีสมาชิกจากอาเซียนซึ่งอยู่ในภูมิภาคเอเชีย อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน เวียดนาม  ฯลฯ หากมีการสานต่อการเจรจาจนสำเร็จจะส่งผลดีทำให้เศรษฐกิจของเอเชียขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งภาคการส่งออกสินค้า และบริการ  ธุรกรรมทางการเงิน ท่องเที่ยวไทยเองก็จะพลอยได้รับอานิสงส์ไปด้วย
เช่นเดียวกับ  นายพรศิลป์  พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ที่มองว่า ผลระยะสั้นหลังการเลือกตั้งคงไม่กระทบภาคส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ  แต่ระยะยาวหากโอบามาได้เป็นตำแหน่งอีก 1 สมัย นโยบายการค้ารวมถึงกฎระเบียบทางการค้าต่างๆ ที่ค่อนข้างประนีประนอมของโอบามา ได้รับการสานต่อ การส่งออกของไทยไม่น่าได้รับผลกระทบมาก แต่หากรอมนีย์ได้เป็นประธานาธิบดีกฎระเบียบทางการค้าต่างๆ น่าจะเข้มงวดมากขึ้น เพราะนโยบายการค้าของรอมนีย์เป็นลักษณะยื่นหมูยื่นแมวแลกเปลี่ยนผลประโยชน์  เห็นได้จากการประกาศที่จะตอบโต้ทางการค้ากับจีน
    ขณะที่ นายวุฒิชัย  ดวงรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก ให้ความเห็นว่า ไม่ว่าใครจะได้รับชัยชนะเชื่อว่าคงไม่มีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในช่วง 2 เดือนสุดท้ายหรือในระยะสั้นๆ แต่ในระยะต่อไปหากโอบามาชนะคงกระทบบ้างในกรณีมาตรการคิวอี 3 อาจทำให้เงินบาทแข็งค่ากระทบต่อราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น แข่งขันได้ยากขึ้น
    ประมวลภาพจากความเห็นข้างต้นแล้วเราคงได้คำตอบว่าทำไม ภาคธุรกิจไทยจึงลุ้นให้โอบามา กลับมาเป็นประธานาธิบดีต่ออีก 1 สมัย   และถ้าเป็นไปตามนั้นภาพเศรษฐกิจไทยคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ  เว้นแต่ต้องจับตาเงินร้อนจากคิวอี3ที่จะเข้ามาปั่นป่วนตลาดเงินตลาดทุนเป็นระลอก แต่ถ้าล็อกถล่มรอมนีย์กำชัยคงต้องทบทวนภาพเศรษฐกิจกันอีกที



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.