งาน"ต้อนรับ-เลี้ยงช้าง"สุดยิ่งใหญ่ ขนคชสารตราตรึงทั่วไทยและต่างแดน
 


งาน"ต้อนรับ-เลี้ยงช้าง"สุดยิ่งใหญ่ ขนคชสารตราตรึงทั่วไทยและต่างแดน


งาน
จังหวัดสุรินทร์ มีช้างเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณ คนพื้นเมืองมีการนำช้างมาใช้งานเช่น การพาหนะ การขนส่ง รวมถึงช้างมีบทบาทในการประกอบพิธีทางศาสนาและวัฒนธรรม ทำให้ชาวบ้านเลี้ยงไว้อย่างใกล้ชิดเปรียบเสมือนเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัว จนได้รับการขนานนามว่า “สุรินทร์ เมืองช้าง” และดังคำขวัญที่ว่า “สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมงาม ประคำสวย ร่ำรวยปราสาท ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม งามพร้อมวัฒนธรรม”

ด้วยความใกล้ชิดของคนกับช้าง และความแสนรู้ ฉลาดเฉลียวของช้างที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ ทำให้มีการนำช้างมาจัดแสดงโชว์ครั้งแรกเมื่อปี 2503 ในอำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ต่อมาทางภาครัฐได้เข้าไปช่วยเหลือและยกระดับการแสดงช้างจนเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศและนานาชาติเรื่อยมายาวนานกว่า 50 ปีแล้ว

ต่อมาในปี 2535 ทางจังหวัดสุรินทร์ โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ได้จัดงานต้อนรับและเลี้ยงอาหารช้างขึ้น ก่อนวันแสดงช้างจริง 2 วัน เพื่อต้อนรับช้างทุกเชือกที่เดินทางเข้าสู่ตัวเมืองสุรินทร์เพื่อเตรียมแสดงในวันจริง และโอกาสที่ครบรอบ 40 ปี แสดงช้างเมื่อ ปี 2543 ได้มีการจัดงานต้อนรับและเลี้ยงช้างอย่างยิ่งใหญ่ ด้วยการต้อนรับและเลี้ยงอาหารช้างที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีช้างมาร่วมงาน 250 เชือก ใช้พืชอาหารช้าง 60 ตัน ใช้ผ้าไหมลายโบราณที่มีความยาว 2,000 เมตร เป็นผ้าปูโต๊ะอาหารเลี้ยงช้าง สร้างความตื่นตาตื่นใจแก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเป็นอย่างมากและที่ถือเป็นไฮไลต์และความทรงจำที่ดีเยี่ยมของชาวสุรินทร์และประเทศไทย คือ ปี 2546 ที่มีการบันทึกในกินเนสส์บุ๊กเรคคอร์ด (Guinness Word Record) ว่า เป็นการเลี้ยงบุฟเฟ่ต์อาหารช้างที่ยิ่งใหญ่และยาวที่สุดในโลก ซึ่งในปีนี้มีการจัดงาน ระหว่างวันที่ 15-16 พ.ย.นี้ ก่อนวันแสดงช้าง (17-18 พ.ย.) โดยในวันที่ 15 พ.ย.55 มีการจัดประกวดขบวนรถอาหารช้างเคลื่อนที่ ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ตระการตาไปด้วยผักผลไม้ที่นำมาประดับตกแต่งขบวนรถอย่างอลังการแล้ว

ส่วนในวันที่ 16 พ.ย. 55 จะมีการจัดขบวนแห่ต้อนรับช้างเข้าเมือง มีช้างกว่า 300 เชือก ร่วมขบวนอย่างยิ่งใหญ่ และจะมีการเลี้ยงโต๊ะอาหารช้างความยาวกว่า 400 เมตร น้ำหนักอาหารกว่า 50 ตันด้วย ซึ่งในการทำกิจกรรมนี้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติจะได้สัมผัสความใกล้ชิด แสนรู้ของบรรดาช้างที่มาร่วมงานอย่างแนบแน่นสร้างความแปลกใหม่และประสบการณ์ที่ดีทั้งนักท่องเที่ยวและบรรดาควาญช้างด้วย

นายกิตติภัทร์ รุ่งธนเกียรติ นายก อบจ. สุรินทร์ กล่าวว่า การจัดงานต้อนรับและเลี้ยงอาหารช้างสุรินทร์ได้จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2543 เพื่อดูแลช้างก่อนทำการแสดงจริงและได้จัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีจนถึงปัจจุบัน นับเป็นเทศกาลงานประเพณี เอกลักษณ์ที่โดดเด่นดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวจังหวัดสุรินทร์ นอกจากการต้อนรับและเลี้ยงอาหารช้างแล้ว ในงานยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านอีกด้วย

สำหรับงาน “มหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์”  (งานแสดงของช้าง) ประจำปี 2555 เปิดฉากการแสดงด้วยการแสดงกายกรรมช้าง เล่นสนุก น่ารัก คึกคัก ขบขัน ด้วยกลิ่นอายแบบอีสานโดยช้างแต่งกายแนวแฟนซีไทยอีสานประยุกต์  พร้อมแฟชั่นโชว์ช้าง และแสดงความสามารถพิเศษ เช่น ชักเย่อ เตะฟุตบอล เซิ้งกระติบยักษ์ เป่าแคนยักษ์ ร้องคาราโอเกะ  รวมถึงการแสดงคล้องช้าง  การจำลองขบวนช้างศึกสงครามยุทธหัตถี เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการแสดงฉากที่ยิ่งใหญ่ 7 ฉาก หรือ 7 องก์ ประกอบด้วย องก์ที่ 1 ชื่อว่า “คชสารรวมใจ ถวายชัยองค์ราชันย์” เป็นการแสดงให้เห็นถึงความอลังการของช้างสุรินทร์ โดยจะให้ช้างเดินวนอยู่ในสนามทั้ง 200 เชือก และจะแสดงให้เห็นถึงการเทิดทูนและเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 85 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้า
สิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา

องก์ที่ 2 “อัมรินทร์ปิ่นสวรรค์ ทรงเอราวัณผ่านฟ้า” เป็นฉากที่แสดงถึงคติความเชื่อการก่อกำเนิดช้างไทย โดยมีช้างเข้าร่วมในการแสดง จำนวน 18 เชือก เริ่มการแสดงด้วยเสียงที่เต็มไปด้วยมนต์ขลังของความศักดิ์สิทธิ์และศรัทธา ต่อสิ่งอันเป็นที่เคารพยิ่ง ทั้งเสียงลม เสียงกังสดาล พร้อมทั้งกลุ่มควันลอยจากฝั่งประตูเมือง ดุจดั่งสรวงสวรรค์ องก์ที่ 3 “ชาวกูยตำนานว่า โพนช้างป่าจากพงพี” แสดงถึงวิถีชีวิตชาวกูยที่มีความผูกพันกับช้าง โดยใช้ช้างร่วมแสดง จำนวน 39 เชือก มีภาพของงานประเพณีบวชนาคในรูปของขบวนแห่อย่างสนุกสนาน และพิธีเซ่นศาลประกำ ก่อนออกคล้องช้างป่า ซึ่งเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษนับหลายร้อยปี

องก์ที่ 4 “วีรชนคู่ธานี สุรินทรภักดียิ่งใหญ่” กล่าวถึงวีรกรรมของผู้นำชาวกูย นามว่า เชียงปุม ที่จับช้างเผือก ช้างคู่บ้านคู่บารมีของแผ่นดินกลับสู่วังหลวงได้สำเร็จ และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงสุรินทร์ภักดี และได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง ผู้ครองเมืองสุรินทร์สืบมา และแสดงถึงประเพณีวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธ์ุทั้ง 3 ชาติพันธุ์ ของจังหวัดสุรินทร์ คือ ชาวเขมร ชาวลาว และชาวกูย หรือ กวย องก์ที่ 5 “มหัศจรรย์ช้างไทย เกรียงไกรก้องโลกา” แสดงถึงความสามารถความน่ารักของช้างเลี้ยงสุรินทร์ มีช้างร่วมแสดงไม่น้อยกว่า 30 เชือก เป็นการแสดงความสามารถของช้างเลี้ยงสุรินทร์ เช่น ช้างเล่นฮูลาฮูป ช้างวาดรูป ช้างปาลูกดอก เป็นต้น

องก์ที่ 6 “โหมระทึกช้างศึกไทย” ขบวนตีกลองศึกปลุกใจ ก่อนจะออกไปรบ  และ องก์ที่ 7 “คเชนทร์ชัยป้องนครา พยุหโยธาอลังการ” การแสดงแสนยานุภาพของช้างไทยในอดีต ขบวนทัพไทย ในเครื่องแต่งกายอย่างนักรบโบราณและชมการรบที่ยิ่งใหญ่สมจริง กองทหารทั้งสองฝั่ง เข้ารบประจัญบาน และการสัประยุทธ์ที่เป็นสุดยอดของการรบบนหลังช้างที่เรียกว่า ยุทธหัตถี ซึ่งได้สร้างวีรกรรมแก่ช้างไทยจนดังไปทั่วโลก

ทั้งนี้ด้วยความห่วงใยจากหลายฝ่ายที่เกรงว่าอากาศที่ร้อนและแปรปรวนอาจจะทำให้ช้างตกมันนั้นเพื่อป้องกัน ทาง อบจ.และจังหวัดสุรินทร์ มอบหมายให้ตำรวจจัดการซ้อมแผนเผชิญเหตุร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับมือกรณีเกิดเหตุช้างตกมัน หรือช้างทำร้ายนักท่องเที่ยว รวมถึงให้มีการคัดเลือกช้างที่มีนิสัยดีมาร่วมงาน เพื่อให้การจัดงานมหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ยิ่งใหญ่ และสร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยวทุกคนด้วย.

วิจิตร ชุณหกิจขจร



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.