กองทัพม้าศึก ควบขย่ม"ปู3"

 


กองทัพม้าศึก ควบขย่ม"ปู3"


กองทัพม้าศึก ควบขย่ม
วันที่ 04 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 22 ฉบับที่ 8011 ข่าวสดรายวัน


กองทัพม้าศึก ควบขย่ม"ปู3"





ผ่านการปรับขบวนทัพครั้งใหญ่ไปได้แบบฉลุย ทั้งในส่วนของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย

ในการปรับครม.ยิ่งลักษณ์ 3 มีรัฐมนตรีใหม่ทั้งสิ้น 23 คน

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นำทั้งหมดเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อหน้าพระพักตร์ เป็นที่เรียบร้อยเมื่อเย็นวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

จากนั้นวันรุ่งขึ้นก็ได้เรียกประชุมครม.นัดพิเศษเป็นทางการครั้งแรก

นอกจากเกลี่ยงานใหม่ให้กับบรรดารองนายกรัฐมนตรีหน้าเก่าหน้าใหม่ 6 คน ยังจัดวางคนเข้าดำรงตำแหน่งเลขานุการและที่ปรึกษารัฐมนตรีอีกจำนวนมาก



ชนิดสายฟ้าแลบรวดเร็วพอๆ กับการจัดวางคนลงในตำแหน่งรัฐมนตรี ทั้งนี้ เพื่อให้รัฐบาลสามารถเดินหน้าทำงานต่อได้ทันที ไม่ต้องขาดตอนหรือทิ้งช่วงนาน

ทั้งนี้ หากดูจากจำนวนรัฐมนตรี ที่ปรับเปลี่ยนกว่าครึ่งค่อนคณะ เทียบกับสัดส่วนแรงกระเพื่อม ครั้งนี้ถือว่า น้อยเกินคาด



อาจมีในส่วนของคนเสื้อแดงที่น้อยใจ และไม่พอใจอยู่บ้าง จากกรณี "เดอะตู่"จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำชื่อหลุดโผไปแบบพลิกความคาดหมาย

จนแกนนำเสื้อแดงบางคนเตรียม นำเรื่องไปทวงถามกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มีข่าวจะบินมาฉวัดเฉวียนแถวท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า ในอีก 3-4 วันข้างหน้า

แต่ในที่สุดแกนนำรัฐบาลกับแกนนำเสื้อแดงก็ปรับความเข้าใจกันได้โดย ที่เรื่องไม่ต้องไปถึงนายใหญ่



นายกฯยิ่งลักษณ์ ยืนยันว่านายจตุพรเป็นคน มีอุดมการณ์ มีความรู้ความสามารถและทำงาน ดูแลประชาชนมาตลอด แต่ด้วยเหตุผลและ ความจำเป็นในเรื่องช่วงเวลา เชื่อว่านายจตุพร อยู่ตรงไหนก็ยังดูแลประชาชนเหมือนเดิม

ขณะที่นายจตุพรเองก็บอกว่า การพลาดหวัง จากเก้าอี้เป็นแค่เรื่องขี้หมา ยืนยันคนเสื้อแดง จะยังให้การสนับสนุนรัฐบาลชุดนี้ต่อไป ภายใต้เงื่อนไข"3 ไม่"

ไม่ทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่ลุแก่อำนาจ ไม่ทรยศประชาชน



ขณะเดียวกันการปรับขบวนทัพใหม่ในพรรคเพื่อไทยก็ราบรื่น

ที่ประชุมใหญ่พรรคมีมติผ่านการลงคะแนนลับ เลือกนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ แทนนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ที่ลาออก และเลือกนายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นเลขาธิการพรรค แทนนายจารุพงศ์



สำหรับรองหัวหน้าพรรค ประกอบด้วย นาย กิตติรัตน์ ณ ระนอง นายปลอดประสพ สุรัสวดี พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ พล.อ.วรวิทย์ ชินะนาวิน และนายเกรียง กัลป์ตินันท์

นอกจากกรรมการบริหารพรรคใหม่ 19 คน ที่ประชุมยังเลือกคณะกรรมการตามพ.ร.บ.พรรค การเมือง อีก 3 ชุด ประกอบด้วย



1.คณะกรรมการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นประธาน นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ เป็นรองประธาน นายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นเลขานุการ



2.คณะกรรมการนโยบายพรรค นายจาตุรนต์ ฉายแสง เป็นประธาน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นรองประธาน นายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นเลขานุการ



3.คณะกรรมการส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยในพรรค นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา เป็นประธาน พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย เป็นรองประธาน นายสามารถ แก้วมีชัย เป็นเลขานุการ



หากดูจากการจัดวางตัวบุคคลลงบนตำแหน่งต่างๆ ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 3 และการปรับโครงสร้างขุมกำลังภายในพรรคเพื่อไทย

จะเห็นถึงการผสมผสานสายพันธุ์จาก 3 กลุ่ม หลักๆ คือ

กลุ่มสมาชิกบ้าน 111 ที่ถ่ายโอนมาจากยุครัฐบาลทักษิณ กลุ่มที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ปั้นมาเองกับมือ และกลุ่มที่ยึดโยงกับคนเสื้อแดง

ซึ่งทำให้เกิดข้อวิจารณ์ต่างๆ ตามมาทั้งในด้านบวกและลบ

บ้างมองว่าเป็นการปรับเพื่อกระชับอำนาจและแก้ปัญหาการเมืองภายใน โดยประชาชนไม่ได้ประโยชน์ บ้างก็ว่าเป็นการ "จัดหนัก-จัดเต็ม" เพื่อเดินหน้ายุทธศาสตร์เป็นรัฐบาลครบ 4 ปี บวกกับอีก 4 ปี



แต่จะอย่างไรก็แล้วแต่ การไม่มีเสียง"ยี้"ให้ได้ยิน ภายหลังการเปลี่ยนแปลงก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี

ทั้งยังสะท้อนว่าการเมืองปัจจุบัน ประชาชน ส่วนใหญ่ในสังคมเปลี่ยนมาให้ความสำคัญในเรื่องนโยบายการทำงานของรัฐบาล

มากกว่าจะมุ่งสนใจในเรื่องตัวบุคคล



การปรับขบวนทัพขนานใหญ่ในรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย

ยังเกิดขึ้นในจังหวะเวลาไล่เลี่ย กับความเคลื่อนไหวตามที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำทัพเสื้อแดง กล่าวว่า แค่เอาหูแนบกับพื้น ก็ได้ยินเสียงม้าศึกจากเส้นทางเดิม ควบเข้ามาทุกทิศทุกทาง

เข้ามาโค่นล้มรัฐบาลชุดนี้

อุปสรรคตามคิวที่ครม.ยิ่งลักษณ์ 3 ต้องเผชิญในห้วงเดือนพ.ย.นี้ มี เหตุการณ์สำคัญๆ ต้องจับตาหลายเรื่องด้วยกัน

เริ่มตั้งแต่การเคลื่อนไหวของสมาชิกวุฒิสภากลุ่ม 40 ส.ว. ที่ได้ยื่นญัตติ เปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ เพื่อ ให้นายกฯและรัฐบาลชี้แจงปัญหา รับจำนำข้าว

อีกทางหนึ่งยังต้องลุ้นกรณีส.ว. ขาประจำ ยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า การขายข้าวให้ต่างประเทศด้วยวิธีแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาด้วยหรือไม่

รวมถึงประเด็นหาเรื่องแต่เผื่อฟลุก กรณียื่นตีความคุณสมบัตินายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกฯ เพื่อที่จะลากโยงไปให้ถึงตัวนายกฯ ยิ่งลักษณ์ และการยุบพรรครอบ 3



โปรแกรมใหญ่ถัดไปคือ การยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของพรรคฝ่ายค้านประชาธิปัตย์ ที่คาดว่า จะมีขึ้นในราว 2-3 วันสุดท้ายก่อนสภาจะปิดสมัยประชุมวันที่ 29 พ.ย.

ตบท้ายด้วยความเคลื่อนไหวในนามกลุ่มองค์การพิทักษ์สยามของ"เสธ.อ้าย" พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ที่มาพร้อมกับภาคีเครือข่ายคนหน้าเดิม ที่เคยมีผลงานโค่นล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งมาแล้ว 3 ชุดติดต่อกัน



ครั้งนี้จึงเกิดเสียงเตือนไปยังรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ว่า

ถ้าไม่อยากมีชะตากรรมเหมือนกับรัฐบาล "ทักษิณ-สมัคร-สมชาย"แล้วล่ะก็ ห้ามชะล่าใจม็อบเสธ.อ้ายโดยเด็ดขาด



เพราะถึงในสภา รัฐบาลจะคุมเกมได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด

แต่เกมนอกสภาที่ยังไม่มีใครยอมลงให้ใคร ต่างฝ่ายต่างเชื่อมั่นในขุมกำลังของตัวเอง พร้อมเป่านกหวีดกรีธาทัพเข้าตะลุมบอนกันได้ทุกเมื่อ



จากประวัติศาสตร์การเมืองไทยในรอบ 6 ปี ที่ผ่านมา

ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถวัดกันด้วยเหตุ ด้วยผล

จึงไม่แน่ว่าฝ่ายที่มีความชอบธรรมมากกว่า จะเป็นฝ่ายชนะ


หน้า 2



// //
Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.